ธิดา
ถาวรเศรษฐ :
คนฆ่าประชาชนลอยนวลพ้นผิดทุกครั้งมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490
จนบัดนี้ อย่าให้สิ่งนี้เกิดกับคนไทยในปัจจุบันและภายภาคหน้าอีกเลย!!!
v เรื่องราวเหตุการณ์
“เมษา-พฤษภา’53” เป็นความต่อเนื่องของการต่อสู้เมื่อปี 2552
v ข้อแตกต่างคือ
การชูคำขวัญชัดเจนกว่า คือ “ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน”
v การชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังการสรุปบทเรียนปี
2552 ที่มีลัทธิวีรชนเอกชน ไร้วินัย แย่งกันเป็นผู้นำมวลชน โดยวิธีการไม่ถูกต้อง
จึงเกิดการประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2552 ที่ดิฉันได้ร่างนโยบาย 6 ข้อ
และยุทธศาสตร์ 2 ขา เพื่อประชาธิปไตย ทำให้องค์กร นปช.
เป็นแนวร่วมที่มีรูปการณ์ชัดเจนขึ้น เพราะมีหลักนโยบายที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน
v ดังนั้นจึงมีกลุ่มอิสระเกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายข้อ 3 ที่เน้นการต่อสู้ “สันติวิธี” ซึ่งบางกลุ่มก็เกินเลย จนมีผลต่อคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่ต้องการได้รับชัยชนะและมีผลด้านลบ ถูกฆ่า ข่มขู่ ติดคุก แต่ นปช. เป็นองค์กรมวลชนขนาดใหญ่ที่สุดที่มีการชุมนุมนับแสนคน และมีมวลชนสนับสนุนทั้งโดยการจัดตั้งแกนนำและการเปิดโรงเรียนการเมืองที่ดิฉันเป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการ เพื่อเกิดความเป็นเอกภาพในการนำ ทิศทาง นโยบาย และดูแลประชาชนให้สงบเรียบร้อยด้วยหนักนโยบาย
v ดิฉันไม่ขึ้นปราศรัย
แต่เป็นวิทยากรใหญ่ของโรงเรียนการเมืองนปช.
ซึ่งต่างกับแกนนำจำนวนมากที่คิดว่าการได้ขึ้นเวทีปราศรัย ร้องเพลง
เท่ากับเป็นแกนนำ
v ขบวนการเสื้อแดง
นปช. แม้จะมีนโยบายร่วมกัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันในวิธีคิด วิธีทำงาน
และเป้าหมายการเป็นแกนนำเพื่ออะไร หรือเพิ่มค่าตัวในพรรค
เพื่อให้นายใหญ่เห็นคุณค่าและสามารถเรียกร้องค่าตอบแทน กระทั่งหลอกลวงว่า
ตนเองมีมวลชนในสังกัดมาก นี่เป็นทั้งแกนนำนปช.ทุกระดับและกลุ่มอิสระ
สอดคล้องกับพรรคที่ต้องการใช้ นปช. คนเสื้อแดง เป็นเครื่องมือของพรรค
ก็พยายามหาวิธีติดต่อกับแกนนำเสื้อแดงให้ขึ้นกับพรรคโดยตรง เพราะนปช.ที่มีดิฉันเป็นประธาน
ดูออกว่าเป็นพันธมิตรที่อิสระ ไม่ได้เป็นคนของพรรค
และยังมีความขัดแย้งกันหลายเรื่องกับพรรคเพื่อไทย (อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550,
ปัญหาการนิรโทษสุดซอย, การให้ ICC ดำเนินการเรื่องปี 2553)
v อย่างไรก็ตาม
การที่ถือว่าทหารเข้ามาแทรกแซงการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เป็นนายกรัฐมนตรี แทนที่จะเป็นรัฐบาลเพื่อไทย ก็เป็นเหตุผลที่ฟังได้ว่า
เราเรียกร้องให้คืนอำนาจให้ประชาชน ยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่
มีเหตุผลพอที่จะชอบธรรมในการขับเคลื่อนชุมนุมในเวลานั้น (มีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม
2553)
v การชุมนุมของ
นปช. คนเสื้อแดง ตามหลักนโยบายของเราที่ใช้ “สันติวิธี”
ก็ดำเนินมาตลอดการชุมนุมจาก 13 มีนาคม 2553 – 19 พฤษภาคม 2553
ไม่มีกองกำลังอาวุธสู้รับกับเจ้าหน้าที่แต่ประการใด สื่อมวลชนทุกฝ่าย
ทูตานุทูตทุกประเทศ และนักสังเกตการณ์ทั่วไป สามารถเดินเข้าออกในที่ชุมนุมได้โดยตลอด
ไม่มีส่วนปิดบังอำพรางใด ๆ มีกองไม้ไผ่
ยางรถยนต์ของมวลชนทำขึ้นก็เพียงเพื่อป้องกันทหาร ไม่มีลักษณะรุกรานหรือสู้รบแต่ประการใด
v เหตุการณ์สำคัญในวันที่
10 เมษายน 2553 นั้น เป็นผลจากความเสียหน้าของกองทัพ ที่ถูกยึดรถและอาวุธในวันที่
9 เมษายน ที่ทหารไปยึดสถานีดาวเทียมไทยคม
มีนายทหารบางคนอ้างว่าตนเองเก่งกาจในวันนั้น
ที่แท้หนีขึ้นไปอยู่ส่วนบนหลังคาที่คนเสื้อแดงไม่ได้ตามไปเอาเรื่อง ซ่อนตัวเสร็จ
คนเสื้อแดงกลับแล้ว จึงค่อยออกมาแสดงตัวว่า “ข้าเก่งกว่าใคร” วันนั้นเรายึดอาวุธ
ถ่ายรูป แล้วคืนให้ทั้งหมด นี่น่าจะเป็นความอัปยศที่เห็นเหตุให้มีปฏิบัติการ 10
เมษายน โดยการใช้พลซุ่มยิง ใช้รถถัง และกระสุนจริง จนมีการเสียชีวิตจำนวนมาก
(รวมทั้งทหาร) ผลที่สุดที่กู้แล้วว่า ทหารถูกระเบิด M67 2
ลูก ที่เป็นระเบิดขว้าง จนบัดนี้ก็จับตัวชายชุดดำที่ถูกหาว่าเป็นผู้กระทำไม่ได้
ได้แต่มโนไป แรกก็ว่าคนเสื้อแดงมีชายชุดดำยิง M79 ต่อมาก็มโนว่ามีคนไปขว้างระเบิดที่บ้านเรือนไทยเก่าตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา
ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะพ้นสายตาทหารที่ยึดพื้นที่ตรงนั้นพร้อมรถหุ้มเกราะเต็มถนน
คิดเอาก็แล้วกันว่าใครขว้าง เพราะคนเสื้อแดงอยู่ไกลออกไปนับร้อย ๆ เมตร บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขว้างไม่ถึงหรอก ประชาชนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็เดินทางมาจากราชประสงค์ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ว่าเขาจะฆ่าประชาชนจริง ๆ จนบัดนี้ลิเกหลอก ๆ เรื่องชายชุดดำที่ทำขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 ก็เป็นมวยล้มต้มคนดูยกฟ้องหมด หรือไม่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้
เอกสารที่อัยการส่งมาให้ดูในการประชุมกรรมาธิการการกฎหมายฯ
มีการทำคดีที่ว่าด้วยเรื่องชายชุดดำหรือพวกเกี่ยวข้องคดีอื่น ๆ เช่น ขอนแก่นโมเดล,
สาธารณรัฐ ฯลฯ แต่เรื่องคนเสื้อแดงที่ถูกกระทำ
อัยการสั่งยุติคดีฟ้องร้องตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา DSI
และตำรวจก็เช่นกัน ยุติคดีหมด มีแต่คดีหาเรื่องคนเสื้อแดง
ตอนนี้ยังมีคดีเหลืออยู่บ้าง ส่วนมากยกฟ้อง หรือสั่งไม่ลงโทษ
เพราะไม่มีหลักฐานประจักษ์พยานเพียงพอ หรือพยานโจทก์ให้การขัดกันเอง
แต่คดีการทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน
181 คดี สั่งฟ้องเพียง 13 คดี สั่งไม่ฟ้อง 16 คดี งดการสอบสวน 140 คดี DSI
และอัยการต้องตอบประชาชนว่าทำไม???
v การแยกมาตั้งที่ชุมนุมอีกที่ที่ราชประสงค์
ก็เพื่อกดดันภาคธุรกิจการค้าด้วย แต่ก็ทำอย่างสันติ เดินเที่ยวเข้านอกออกในได้
มีการตรวจตราด้วยการ์ดและตำรวจ ไม่ได้พกอาวุธ ที่จับได้มีแต่พวกเจ้าหน้าที่รัฐ
v ดิฉันเห็นว่า
“กิจกรรมแรลลี่” น่าประทับใจอย่างยิ่ง ที่ได้รับการต้อนรับจากประชาชนเป็นอย่างดี
ขบวนยาวเหยียด มีความสง่างาม ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส มีรถราคาแพงไปจนกระบะธรรมดา
รถมอเตอร์ไซด์มีจำนวนมากร่าเริง ภาคภูมิใจ สง่าผ่าเผย น่าประทับใจอย่างยิ่ง
ถ้าเป็นรัฐบาลที่มียางอายก็ต้องยอมแพ้ยุติไปแล้ว ไม่เหมือนรัฐบาลพลเอกชวลิต
ยงใจยุทธ มีคนมาประท้วง 10 กว่าคนก็ลาออก ในกรณีลอยตัวค่าเงินบาท
v การชุมนุมยืดเยื้อจาก
13 มีนาคม 2553 ถึง 19 พฤษภาคม 2553
เป็นเวลายาวนานที่กระทบกระเทือนความเชื่อมั่นต่อนานาชาติ รัฐบาลอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะถูกกดดันให้เจรจากับ นปช. รวมทั้งตั้ง คอป.
ซึ่งสองอย่างนี้ก็เป็นการแสดงลิงหลอกฝรั่งนั่นแหละ ไม่ใช่เรื่องจริง
เพราะทหารเขียนชัดว่า การทำสงครามในเมืองครั้งนี้
ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองเป็นอย่างดี
ฝ่ายการเมืองไม่มีนโยบายยุติการชุมนุมด้วยการเจรจา ให้ใช้การทหารเต็มที่ ตั้งแต่
13 พฤษภาคม เป็นต้นไป (อ้างอิง : วารสารเสนาธิปัตย์ ปีที่ 59 ฉบับที่ 3
กันยายน - ธันวาคม 2553)
v ถ้ามองในเชิงการสู้รบ
(แบบที่รัฐบาลและทหารคิด) ที่ ๆ
เราชุมนุมก็กลายเป็นฐานที่มั่นในเมืองที่จำเป็นต้องล้อมปราบในที่สุด
เขาพยายามล้อมปราบที่เวทีผ่านฟ้ามาแล้ว เรียกว่า “ขอคืนพื้นที่” แต่ที่ราชประสงค์
เรียกว่า “กระชับพื้นที่” ทั้งหมดที่ทำ เป็นการใช้การทหารล้วน ๆ
ไม่ใช้แม้แต่การทหารนำการเมือง ประมาณว่ารบกันกับประชาชนมือเปล่า
เหมือนรบกับอริราชศัตรูที่ถืออาวุธด้วยกัน
หรือเหมือนปราบคอมมิวนิสต์ในป่าในยุคสงครามเย็น (ซึ่งสุดท้ายก็ต้องเจรจาและใช้มติ
66/23 ให้อภัยหมด)
ตรงข้ามกับคนเสื้อแดง มีแต่ปราบปรามเข่นฆ่าฝ่ายเดียว แล้วร้องตะโกนว่ามันมีชายชุดดำอย่างน้อย 500 คน ดังนั้นจึงต้องใช้อาวุธฆ่าคนได้ไปถึง 500 ศพ กระมัง!
v เวลาผ่านไปจนถึงเดือนพฤษภาคมจึงมาถึงจุดถกเถียงว่า
ควรยุติการชุมนุมหรือไม่? หลังจากคุณวีระกานต์ไปเจรจาอยู่หลายรอบ
แต่ก็ลากกันมาจนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม
ช่วงเวลาใกล้ 13 พฤษภาคม
ดิฉันได้รับการติดต่อจากวุฒิสมาชิกนายทหารใหญ่ แต่แกนนำคนสำคัญขอเวลาอีก 4 วัน (เพื่ออะไรไม่รู้?)
จากนั้นทางรัฐบาลบอกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์กล่าวว่า “มันสายเสียแล้ว”
เอาเป็นว่าดิฉันไม่อยากจะโทษแกนนำกันเองที่ไม่ยอมยุติในเวลาที่เหมาะสม
แต่เสียดายภาวะการนำของคุณวีระกานต์ มุสิกพงศ์
ที่มีความสุขุมและเป็นนักต่อสู้ที่เยือกเย็น การลาออกจากประธาน นปช. ของท่าน
จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะในสามเกลอ
คนที่มีวุฒิภาวะสูงสุดคือคุณวีระกานต์
ฝ่ายทหารดีใจที่จัดการคุณวีระกานต์ให้ลาออกได้
และวันที่ 13 พฤษภาคม ก็ยิง เสธ.แดง
ที่พวกเขาถือว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารของคนเสื้อแดง ทั้ง ๆ ที่ เสธ.แดง
ไม่เคยเข้าร่วมประชุมแกนนำ และไม่เคยขึ้นเวทีปราศรัยเลย
การยุติการชุมนุมในบ่ายวันที่
19 พฤษภาคม ก็ยังเป็นเหตุให้มีการตาย 6 ศพ ที่วัดปทุมวนารามอีก
อันเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมมาก ยิงฝ่ายเดียว ยิงพยาบาลอาสา ไม่มีชายชุดดำสักคน
ไม่มีกระสุนสวนมาสักนัด ยิงสบาย ๆ บนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดนั่นแหละ คงเพื่อทำตัวเลขให้ได้เกิน
100 ศพกระมัง แล้วภูมิใจว่า
นี่คือการชนะสงครามในเมืองที่เป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่น
น่าสมเพชที่สุดสำหรับทหารไทยในเวลานั้น
v และนี่เป็นเหตุที่ทำให้เราต้องพยายามฟื้นคดีความที่ถูกยุติจากปี
2557 เป็นต้นมา และต้องแก้กฎหมายพระธรรมนูญศาลทหาร
ให้ทหารที่ทำความผิดอาญาต่อประชาชนขึ้นศาลยุติธรรมพลเรือน
และนักการเมืองที่ทำความผิดอาญาต่อประชาชน (เกินกว่าการปฏิบัติหน้าที่ปกติ)
ให้ขึ้นศาลยุติธรรมพลเรือนเหมือนประชาชนทั่วไป
พวกคุณไม่ใช่พวกเทวดาที่ทำอะไรก็ถูกหมด
และพวกเราก็ไม่ใช่ไส้เดือนกิ้งกือที่เหยียบขยี้ตามใจชอบ
เราเป็นคนเท่ากันในระบอบประชาธิปไตย
อย่าให้สิ่งนี้เกิดกับคนไทยในปัจจุบันและภายภาคหน้าอีกเลย
คนฆ่าประชาชนลอยนวลพ้นผิดทุกครั้งมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 จนบัดนี้
เราทวงความยุติธรรมในอดีตเพื่อปัญหาความยุติธรรมในปัจจุบันและอนาคต