วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2568

“ศิริกัญญา” ชี้ รัฐบาลแพทองธารล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจทุกตัวชี้วัด ได้แต่ทำนโยบายรายวัน ขายผ้าเอาหน้ารอด ฝันไกลแต่ไปไม่ถึงดวงดาว หลังชนฝาก็ควักนโยบายเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาใช้ หมดหนทางก็ร้องหาแบงค์ชาติลดดอกเบี้ย

 


“ศิริกัญญา” ชี้ รัฐบาลแพทองธารล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจทุกตัวชี้วัด ได้แต่ทำนโยบายรายวัน ขายผ้าเอาหน้ารอด ฝันไกลแต่ไปไม่ถึงดวงดาว หลังชนฝาก็ควักนโยบายเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาใช้ หมดหนทางก็ร้องหาแบงค์ชาติลดดอกเบี้ย


วันที่ 25 มีนาคม 2568 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายถึงความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธาร


ศิริกัญญากล่าวว่า ก่อนอื่นตนต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้ตาสว่างแล้ว ว่ารัฐบาลเพื่อไทยไม่ได้เก่งเรื่องเศรษฐกิจจริงอย่างที่เคยโอ้อวดไว้ ในวันที่ข้ามขั้วประชาชนบางส่วนยอมหลับตาข้างหนึ่งเพราะศรัทธาในอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร แต่วันนี้ประชาชนรู้ตัวแล้วว่าคิดผิด แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้ช้ำใจเท่าความผิดมหันต์ของนายกฯ แพทองธาร คือการทำให้คนร้องหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บริหารเศรษฐกิจได้เลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปี


“ความเดือดร้อนตอนนี้เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ทั้งรายได้ที่ฝืดเคืองของเกษตรกร คนงาน ค่าครองชีพสูง หนี้ครัวเรือนท่วมท้น โรงงาน ห้างร้าน บริษัททยอยปิดตัว คนงานตกงาน ปัญหาเฉพาะหน้าแก้ไม่ได้ ปัญหาโครงสร้างไม่เคยพูดถึงอย่างจริงจัง” ศิริกัญญากล่าว


ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า ชนชั้นแรกที่ถูกแจกความสิ้นหวังอย่างเท่าเทียมคือเกษตรกร เมื่อครู่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ขึ้นมาอธิบาย ส่งข้อมูลบิดเบือนให้นายกฯ ว่าราคาสินค้าเกษตรทุกอย่างยังดี ที่โกหกหน้าตายที่สุดคือการบอกว่าราคาปาล์มอยู่ที่ 5-6 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่เป็นความจริง ท่านลองไปถามชาวสวนปาล์มดูก็ได้ หรือหน้าเว็บของกระทรวงพาณิชย์เองก็ขึ้นว่า 5-6 บาท ยังมีข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด ที่ดัชนีรายได้เปรียบเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าราคาตกหมด ทั้งที่พืชสี่ตัวนี้คือ 3 ใน 4 ของผลผลิตเกษตรกรทั้งประเทศ


ปัญหาเงินของเกษตรกรที่ลดลงทุกวันนี้ ตนไม่โทษกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะวันนี้ปัญหาอยู่ที่นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้ใส่ใจจริงจังกับการแก้ปัญหา รัฐมนตรีมารายงานอะไรก็เชื่อ ไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถให้ทิศทางการแก้ปัญหากับรัฐมนตรีได้ ไม่ได้เตรียมการอะไรล่วงหน้าเผื่อเวลาที่ราคาตก และยังไม่มีน้ำยาพอในการประสานงานให้รัฐมนตรีต่างพรรคทำงานร่วมกันได้ 


ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า หลังจากบริหารได้ 6 เดือน เมื่อถามว่าสิ่งที่ประชาชนมีความกังวลด้านเศรษฐกิจมากที่สุดคืออะไร ประชาชนกว่า 83% บอกว่าคือปัญหาค่าครองชีพสูง คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย กำลังซื้อในประเทศไม่ขยายตัว ซึ่งคนที่มีรายได้น้อยได้กระทบหนักกว่า ราคาสินค้าหลายอย่างเพิ่มขึ้นมาแล้วไม่ลด เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ค่าแก๊ส แม้ตัวเลขเงินเฟ้อจะต่ำ แต่ราคาข้าวของไม่ได้ลดลงทุกรายการเสมอหน้ากัน 3 ใน 4 ของสินค้าที่ซื้อกันยังคงราคาเดิมอยู่หรือเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป ที่แพงขึ้นไปอีกคือน้ำมันปาล์ม จาก 45 บาทเป็น 62 บาท เนื้อหมูสันนอกจาก 130 กว่าบาท ตอนนี้ 150 บาทแล้ว ฝั่งต้นทุนการผลิตก็ขึ้น ปุ๋ยยูเรียขึ้น ปูนซีเมนต์ก็เพิ่งขึ้น ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์มือถือก็ขึ้น ค่าไฟก็แพงขึ้นจากดีลกับนายทุนพลังงาน


ที่เงินเฟ้อต่ำแล้วคนยังรู้สึกเดือดร้อนขนาดนี้ ก็เพราะรายได้คนโตไม่ทันค่าครองชีพ รายได้เฉลี่ยของลูกจ้างเอกชนปี 2567 จาก 14,500 บาทเพิ่มขึ้นมาเป็น 14,600 บาท หรือ 0.8% เท่านั้น นี่คือค่าเฉลี่ยของแรงงานในและนอกระบบ 20 ล้านคนรวมกัน นายกรัฐมนตรีขยันออกมาพูดเรื่องจีดีพีว่าจะโต 3-5% แต่ชาวบ้านไม่ได้รู้สึกด้วย เพราะเงินในกระเป๋าประชาชนไม่ได้เพิ่มไปด้วย รายได้ของชาวนาชาวไร่ลดลง 40% รายได้แรงงานก็ไม่โต แล้วชาวบ้านจะสนทำไมว่าจีดีพีปีนี้จะเป็นเท่าไร


ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีนอกจากจะไม่มีความสามารถเพิ่มรายได้ให้ประชาชนแล้ว ยังชอบมาสัญญาลมๆ แล้งๆ สัญญากี่รอบแล้วเรื่องค่าแรง 400 บาท ว่าภายในปี 2567 ได้แน่นอน ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าตัวเองทำไม่ได้ พ่อนายกฯ ก็เอาไปหาเสียงทุกเวที สุดท้ายได้แค่ 4 จังหวัดกับอีก 1 อำเภอเมื่อต้นปี 2568 แต่ก็ยังให้ความหวังไม่หยุดว่าปี 2568 ได้ครบทั้งประเทศแน่ แต่ประชุมไตรภาคีมา 2-3 รอบแล้วก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะขึ้นเป็น 400 บาทได้


นายกรัฐมนตรีบริหารเศรษฐกิจอย่างไรให้เลิกจ้างแรงงานกันเป็นแถว โดยหลังจากแพทองธารขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี บริษัทเลิกกิจการเพิ่มขึ้น 11% แต่เปิดเพิ่มขึ้นแค่ 4% เข้าใจว่าเศรษฐกิจมีปัญหาและต้องใช้เวลาแก้ แต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นคือคนงานถูกเลิกจ้าง หลายโรงงานก็ไม่จ่ายค่าชดเชย ไม่มีเงินมาจ่าย หรือปิดหนีไปแบบไม่มีร่องรอย ที่ผ่านมาเราได้หาช่องทางที่นายกรัฐมนตรีจะสามารถช่วยเหลือบรรเทาให้ได้ เช่น การจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งได้น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าชดเชย แต่ก็ขอยากเย็น แรงงานที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมมาชุมนุมเรียกร้องหน้าทำเนียบรัฐบาล ท่านเคยสนใจบ้างหรือไม่ กระทรวงแรงงานแจ้งว่าจ่ายได้แต่เงินกองทุนหมดแล้ว ต้องไปของบกลางมา แต่นายกฯ และคณะรัฐมนตรีก็ยังไม่อนุมัติและเตะถ่วงอยู่ได้


ธุรกิจ SMEs ก็ประสบปัญหาไม่แพ้กัน คนไม่มีกำลังซื้อ แต่ที่ไหนที่คนมีกำลังซื้อก็ถูกทุนจีนเข้ามาตีตลาดแข่ง นำสินค้าราคาถูกล้นทะลักเข้ามา การแก้ปัญหาก็ยังช้ามาก ทุกครั้งที่ถามเรื่องนี้ท่าทีการตอบของรัฐมนตรีทุกคนก็ดูจะเกรงใจประเทศจีนอย่างมาก SMEs จมกองหนี้ สภาพคล่องก็ยังไม่มาทั้งที่ยอดการปล่อยสินเชื่อตามมาตรการรัฐบาลเยอะมาก แต่รัฐบาลเคยสำรวจหรือไม่ว่าตกถึงมือ SMEs ที่เดือดร้อนจริงหรือไม่


ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า ความสิ้นหวังไม่ได้มีแค่กับชนชั้นล่างกับชนชั้นกลางเท่านั้น แม้แต่นักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นก็ยังได้รับผลกระทบด้วยฝีมือการบริหารตลาดทุนของรัฐบาล ในวันที่แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรีตลาดหุ้นดีดขึ้นแสดงความเชื่อมั่น หลังพ่อของนายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์ในงานไทยแลนด์วิชั่น หุ้นก็ดีดอีกขึ้น เรียกได้ว่าจากวันที่รับตำแหน่งจนถึงวันแถลงนโยบายหุ้นขึ้นไป 130 จุด แต่หลังจากมีนโยบายวายุภักดิ์ 2.0 ดัชนีก็ร่วงไม่หยุดจนอยู่ต่ำในระดับเดียวกับปี 2555 ทำให้มูลค่าตลาดหายไป 3 ล้านล้านบาท


บริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ยังแทบเอาตัวไม่รอด ดูได้จากกำไรในตลาดหุ้นที่ยังหดตัวต่อเนื่อง มี 925 บริษัทที่มีกำไรลดลงจากปีก่อน โดย 1 ใน 3 ของบริษัทที่จดทะเบียนขาดทุน ปี 2567 ทั้งปีมีบริษัทที่กู้ยืมเงินในตลาดตราสารหนี้ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ 46 แห่งจาก 217 บริษัทที่ออกตราสารหนี้ สูงกว่าช่วงโควิด-19 เสียอีก เหลืออีกแค่ไม่กี่บริษัทที่ยังเติบโตได้ในประเทศนี้ ถ้าไม่มีความสัมพันธ์แนบชิดกับผู้มีอำนาจการเมืองในปัจจุบัน ก็เป็นกลุ่มที่มีสัมปทานภาครัฐที่ยังเติบโตได้ บางเจ้าทำกำไรสูงสุดตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีกเจ้าใหญ่ ธนาคาร หรือค่ายโทรศัพท์มือถือ


อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ความผิดของนายกฯ แพทองธารทั้งหมด แต่ปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการ ทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว ต่อจากนี้ไปเศรษฐกิจไทยกำลังจะเป็นขาลงแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องมีแผนการที่รอบคอบ คิดมาเสร็จแล้ว แต่คณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเอง ประชุมไปสองครั้งก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ ยังวนเวียนอยู่กับวิธีการเดิมที่รู้ว่าไม่ได้ผลแต่ก็ยังทำต่อ


ไม่ว่าจะเป็นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต การแจกเงินหมื่น 2 เฟสที่ผ่านมา 1.8 แสนล้านบาทล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในฐานะเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริโภคไม่กระเตื้อง จีดีพีไม่ขยับ แต่ก็ยังทำต่อ แต่รอบนี้เลิกประมาณการตัวเลขแล้วว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าไร เหลือเป็นแค่นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลไปแล้ว และยังลดกลุ่มคนที่จะได้รับสิทธิลงเหลือ 2.7 ล้านคน สำหรับคนที่อายุ 16-20 ปีเท่านั้น


ส่วนมาตรการอื่นๆ ก็มีพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยว ที่บอกว่าจะเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้อีก 1 ล้านคน จาก 35 ล้านคนเป็น 36.7 ล้านคน แต่สิ้นปี 2567 นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวไทยเพียง 35.5 ล้านคน รายได้ก็ไม่เป็นไปตามเป้า มาตรการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐบอกว่าจะเร่งเบิกจ่ายจาก 64% เป็น 70% วิธีการคือประชุมเร่งรัด ซึ่งไม่ได้ผล จบปี 2567 การลงทุนภาครัฐเบิกจ่ายไปได้แค่ 65% มาตรการเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชนก็เช่นกัน เร่งรัดให้นักลงทุนที่ได้บัตรส่งเสริมการลงทุนให้ลงทุนจริง ตอนนั้นยอดออกบัตรส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 8 แสนล้านบาท แต่สุดท้ายปิดปี 2567 มีการลงทุนจริงเพียง 3.2 แสนล้านบาท จีดีพีที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะถึง 3% ก็จบลงที่ 2.5%


ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า แม้สถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ แต่รัฐบาลกลับไม่ได้เรียนรู้มากพอจากอดีต ก็ยังทำเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มารอบนี้ตั้งเป้าไว้หนักแน่นว่าจะทำให้จีดีพีโต 3.5% แต่หลังๆ เริ่มไม่มั่นใจก็เลยลดเป้ามาเหลือแค่เกิน 3% ให้ได้ก่อน ส่วนมาตรการก็ยังเหมือนเดิม เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเน้นการจัดเทศกาล มีโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยว โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะเข้าประเทศ 39 ล้านคน แต่ปัจจุบันศูนย์วิจัยเศรษฐกิจต่างๆ ต่างก็ปรับลดเป้านักท่องเที่ยวกันหมดแล้วเหลือ 37-38 ล้านคน แต่รัฐบาลก็ยังคงตั้งเป้าไว้ 39 ล้านคน โดยที่มาตรการก็ไม่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้


ส่วนมาตรการเร่งรัดงบลงทุน ปีนี้บอกจะทำให้ได้ 75% แต่ในเมื่องบประมาณก้อนใหญ่ที่สุดที่เบิกจ่ายได้น้อยคืองบกลางที่กั๊กไว้ทำดิจิทัลวอลเล็ต ที่ขอสภาฯ ไป 1.8 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้เพิ่งใช้ไปได้แค่ 3 หมื่นล้านบาท นี่ผ่านมาครึ่งปีแล้วประกาศจะใช้อีกก้อนก็แค่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เหลืออีกประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ตอนนี้ยังไม่มีโครงการจะทำอะไรเลย ไม่รู้จะกั๊กทำไม อีก 6 เดือนจะหมดปีแล้วจะใช้หมดหรือไม่


ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า ส่วนการกระตุ้นการลงทุนก็เหมือนเดิมกับปีที่แล้ว คือลดภาษีให้เพิ่มอีก 50% เป็นเวลา 5 ปีถ้าลงทุนภายในประเทศได้ภายใน 1 ปี ที่ตัวเลขคำขอส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ยังไม่ได้มีการลงทุนจริง ก็เพราะก้อนใหญ่ที่สุดของคำขอที่ขอเข้ามาอยู่ที่เรื่องของดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดโดยทำสัญญาตรงกับผู้ผลิตไฟฟ้า หรือ Direct PPA แต่ 7 เดือนแล้วหลังจากรัฐบาลอนุมัติหลักการ Direct PPA ก็ยังไม่คืบไปไหน จนถึงตอนนี้ยังตกลงสูตรคำนวณกันไม่ได้ แล้วจะมีการลงทุนเพิ่มได้อย่างไร


นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบล่าสุดยังมีโครงการรายละเอียดมาด้วย 46 โครงการ มูลค่า 4.5 แสนล้านบาท แต่เป็นโครงการที่ทำไปแล้ว 7 โครงการ มีโครงการที่ทำไปแล้วแต่ยังไม่จบ 27 โครงการ และโครงการที่เสนอใหม่ 12 โครงการ แต่ดูจากชื่อแล้วก็ไม่ได้ใหม่จริง อยู่ในงบประมาณรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว แค่ไปเอาโครงการอะไรมาแล้วมาบอกว่าเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังไม่นับรวมว่า 4.5 แสนล้านบาทยังเอาเรื่องของวงเงินสินเชื่อที่เคยประกาศไปแล้ว ใช้ไปแล้ว แต่อาจจะยังใช้ไม่หมด เข้ามารวมด้วยประมาณ 3 แสนล้าน เพื่อให้ตัวเลขดูเยอะ


ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า รัฐบาลออกมาตรการแก้หนี้ไปหลายรอบ ทั้งพักหนี้เกษตรกร แก้หนี้นอกระบบ ซึ่งปัจจุบันยังแก้ไปไม่ถึงไหนแต่ประกาศจบโครงการไปแล้ว และยังมีโครงการใหม่ “คุณสู้เราช่วย” ที่มีคนลงทะเบียนกว่า 1.3 ล้านราย แต่ผ่านเงื่อนไขหลักเกณฑ์แค่ประมาณ 3 แสนราย จากที่ตั้งเป้าคนร่วมโครงการ 2 ล้านคน ตนไม่ติดที่จะช่วยประชาชนแบบนี้ แต่วันนี้กลับมีโครงการใหม่มาอีกแล้วตามที่เป็นข่าว นั่นคือการซื้อหนี้ประชาชนสำหรับผู้มียอดหนี้ต่ำกว่า 3 แสนบาทมาอยู่ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าจะทำใหม่อีกโครงการ รอให้โครงการเก่าดำเนินการไปได้สักพักก่อน จะดีกว่าหรือไม่


นโยบายไฟลนก้นรายวันยังมีเรื่องข้าว ที่แม้จะมีสัญญาณราคาตกต่ำมาตั้งแต่ประมาณปี 2567 แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย มีแค่โครงการไร่ละพัน ที่เลวร้ายกว่านั้นคือคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ มีการประชุมกันแล้วบอกว่าปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีเพิ่มขึ้น ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศให้เกษตรกรทำนาปรังเพิ่มขึ้น 1 ล้านไร่ หมายความว่าจะต้องมีข้าวเพิ่มขึ้นมาอีกราว 7-8 แสนตัน จากที่ส่งออกลดลงไปแล้วยังมีส่วนที่เพิ่มมาอีก มีข้าวที่ขายไม่ออกและไม่มีตลาดรองรับอยู่ราว 2 ล้านตัน กระทรวงพาณิชย์ก็ยังมาประกาศอีกว่าหาตลาดข้าวเพิ่มได้แล้ว 6 แสนตัน แต่ยังอยู่ระหว่างการเจรจา ยังไม่ได้ข้อตกลงสิ้นสุดเลย รู้ทั้งรู้ว่าราคาข้าวอยู่ในช่วงขาลง แล้วยังไปเชียร์ให้เกษตรกรทำนาเพิ่มอีก


นายกรัฐมนตรีก็ไม่แพ้กัน ไม่แก้ปัญหา ไม่ประสานงานแล้วยังไปโทษชาวนาอีกว่าใช้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้มีคุณภาพ ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์จากรัฐบาล ทั้งที่ชาวนาต้องใช้เมล็ดพันธุ์ปีหนึ่ง 1.4 ล้านตัน แต่ต่อให้รวมของกรมการข้าว ศูนย์ข้าวชุมชน และเครือข่ายทั้งหมดยังผลิตได้แค่ 3-4 แสนตัน ชาวนาไม่ได้ไม่อยากใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี แต่เพราะไม่มีให้ใช้ หน้าที่นายกรัฐมนตรีคือต้องสั่งรัฐมนตรีให้เตรียมการล่วงหน้า แต่ก็ไม่ทำ คนของตัวเองทำผิดไม่ด่าสักคำ เกิดปัญหามาก็ชี้นิ้วโทษชาวนาอีก


ในเรื่องอ้อย ฤดูกาลผลิตที่แล้วราคาขึ้นไปที่ 1,400 บาทต่อตันอ้อย แต่ฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาราคาตกลง 20% เหลือ 1,160 บาทต่อตันอ้อย แต่ที่ตลกคือเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีกลับหยิบเอาข่าวมติคณะรัฐมนตรีค้างเก่า ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของปี 2566-2567 มาประกาศว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายอยู่ที่ 1,404 บาทต่อตันอ้อย ทั้งที่ราคาจริงอยู่ที่ 1,160 บาทต่อตันอ้อย


ส่วนเรื่องของทุนผูกขาด เมื่อเดือนธันวาคม 2567 นายกรัฐมนตรีพูดเองว่าการผูกขาดทุกชนิดเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ประชาชนและทำให้ประชาชนยากจนลง หนึ่งในสองมาตรการคือจะปลดล็อกการผูกขาด โดยเฉพาะเรื่องข้าว ตั้งเป้าให้เกษตรกรและผู้ค้าข้าว SMEs ทุกคนสามารถส่งออกข้าวให้ทั่วโลกได้เอง ที่ต้องทำคือแก้ระเบียบการขออนุญาตประกอบการค้าข้าวว่าด้วยการกำหนดสต็อกข้าวขั้นต่ำ แต่พอประกาศออกมากลายเป็นการกำหนดสต็อกข้าวให้ยังเหลือถึง 100 ตัน ซึ่งต้องรวมผลผลิตอยู่ที่ 400 ไร่ เรื่องง่ายๆ ยังล้มเหลวขนาดนี้


ในเรื่องของตลาดหุ้นก็ลงหนัก ที่มีข่าวว่าบริษัทค้าปลีกเจ้าหนึ่งเอาเงินไปอุ้มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นบริษัทในเครือญาติโดยไม่ขอผู้ถือหุ้นรายย่อย แต่ กลต. ก็ออกมาบอกว่าไม่ผิด หนำซ้ำยังมีผู้บริหารของบริษัทนั้นใช้ข้อมูลภายในชิงขายหุ้นก่อนหุ้นตก ยังมีอีกหลายบริษัทตบแต่งบัญชี ยักยอกเอาเงินนักลงทุนรายย่อยออกมา หรือเอาหุ้นบริษัทไปค้ำประกันเงินกู้ ก็ยังไม่เห็นว่ามีมาตรการอะไรออกมา ร่าง พ.ร.ก.ที่จะให้อำนาจ กลต. ดำเนินคดีอาญา นายกฯ ก็บอกจะนำเข้าคณะรัฐมนตรีตั้งแต่อาทิจย์ที่แล้ว แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เข้า แล้วเราจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้อย่างไร


สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องไปหากินกับบุญเก่า เรียกความเชื่อมั่นด้วยความสำเร็จในอดีต เอาของเก่ามาแปะชื่อใหม่ ทั้งกองทุนหมู่บ้าน พักหนี้เกษตรกร ซื้อหนี้เสียมาไว้ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ บ้านเอื้ออาทรก็รีแบรนด์เป็นบ้านเพื่อคนไทย วันนี้ต้องยอมรับว่าเมื่อ 20 กว่าปีก่อนประเทศไทยได้รับประโยชน์จากปัจจัยภายนอกเยอะมาก แต่ตอนนี้เหตุการณ์ไม่เหมือนเดิม ส่งออกที่เคยถึง 70% ตอนนี้มาอยู่ที่ 65% เศรษฐกิจฐานรากก็มีบรรยากาศที่เปลี่ยนไปมาก ตอนนั้นเคยทำให้เศรษฐกิจเราโตถึง 6-7% มาปัจจุบันต้องใช้ฝีมือตัวเองจริงๆ ผลงานก็เลยออกมาอย่างที่เห็น


ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันดิจิทัลวอลเล็ตเปลี่ยนไปทั้งรูปแบบ หน้าตา และแหล่งทุน จนจำเค้าลางเดิมไม่ได้ พ่อนายกรัฐมนตรีบอกว่าผิดแผนเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าทำไม่ได้ แต่ก็ยังไม่ล้มเลิกความพยายาม ล่าสุดยังมีไอเดียต่อเนื่องคือการทำสเตเบิลคอยน์ (Stable Coin) ที่นายกฯ สั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปศึกษา แต่นายกฯ ควรต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าจะทำไปทำไม สเตเบิลคอยน์จะเพิ่มเงินในระบบได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อใช้แทนเงินได้จริงๆ อีกทั้งปัจจุบันปริมาณเงินในระบบก็ไม่ได้เหือดแห้ง เพียงแต่โตน้อยลงกว่าเดิมเล็กน้อย


ต่อมาคือการขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ย ซึ่งถ้าดูจังหวะเวลาดีๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยลังเลก็เพราะความไม่แน่นอนในนโยบายของรัฐบาลเอง ธนาคารโลกก็เคยออกมาบอกว่าเพราะความไม่แน่นอนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องยืดการลดดอกเบี้ยออกไปก่อน เพราะอาจเกิดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ พร้อมประเมินว่าถ้าไม่มีดิจิทัลวอลเล็ต ธนาคารแห่งประเทศไทยจะสามารถลดบอกเบี้ยได้อีก 50 สตางค์ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ปีที่แล้วที่คุยกันว่าจะมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาทในไตรมาส 4 ของปี 2567 จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศเคยมีมายกเว้นในช่วงวิกฤต ซึ่งจะทำให้จีดีพีโต 1.2-1.8% จะเกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ คำถามคือถ้าโตดีขนาดนี้แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดดอกเบี้ยทำไม 


ศิริกัญญากล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลทำตัวเองแท้ๆ ด้วยความไม่แน่นอน ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไม่สามารถตัดสินใจได้ ทั้งที่แนวโน้มเศรษฐกิจเห็นมาสักระยะแล้ว เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนมาแจกเงินสด เม็ดเงินจาก 5 แสนล้านบาทเหลือ 1.4 แสนล้านบาท สองสัปดาห์ถัดมาคณะกรรมการนโยบายการเงินจึงลดดอกเบี้ยทันที ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาให้เห็นแล้วว่าโครงการแจกเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ คณะกรรมการนโยบายการเงินก็ลดดอกเบี้ยอีก 25 สตางค์ และด้วยฝีมือการบริหารเศรษฐกิจของนายกรัฐนตรีและพ่อนายกรัฐมนตรี ตนเชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบาย 0% คงอยู่อีกไม่ไกลแน่นอน


พายุเศรษฐกิจของจริงกำลังจะมาจากสงครามการค้า ประเทศไทยอยู่ในรายชื่อลำดับต้นๆ ที่ต้องถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มจากสหรัฐอเมริกา ตามความเสี่ยงประเทศไทยต้องถูกขึ้นภาษีแน่นอนแล้วไม่ต่ำกว่า 10% ผลกระทบจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้แล้ว และจะรุนแรงที่สุดในช่วงต้นปี 2569 และจะยังมีผลกระทบอีกระลอกจากสินค้าจีนที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้แล้วต้องไหลทะลักเข้ามายังไทยด้วย


ศิริกัญญากล่าวว่า ตนไม่คาดหวังการชี้แจงอะไรอีกแล้ว ประชาชนเบื่อจะฟังคำแก้ตัวแบบบิดเบือนด้อยค่าประชาชนแล้ว ไม่ต้องยกตัวเลขแล้วว่าเศรษฐกิจยังดี ตลาดหุ้นมีพื้นฐาน เราแค่ยังไม่ฉลาดพอ รายได้คนเพิ่มขึ้น เราจะรวยกันแล้ว ไม่อยากฟังคำแก้ตัวแล้วว่าค่าครองชีพเรามันต่ำ ของอะไรก็ถูกไปหมดเพียงแค่ต้องเลือกกินให้ถูกตัว ยิ่งพูดยิ่งสะท้อนว่านายกรัฐมนตรีและบรรดารัฐมนตรีของท่าน กับประชาชนเหมือนอยู่คนละโลกกัน 


“เราให้เวลา ให้โอกาสกับพวกท่านมามากพอแล้ว แต่ท่านทำไม่เคยได้ ท่านก็ยังทำนโยบายรายวัน ขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ ฝันไกลแต่ก็ไปไม่ถึงดวงดาว หลังชนฝาเมื่อไหร่ก็ไปควักนโยบายเก่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาใช้ หมดหนทางจริงๆ ก็ร้องหาแบงค์ชาติให้ลดดอกเบี้ย ท่านอย่ามาแก้ตัวว่าเศรษฐกิจมันพังมาก่อนหน้านี้นานแล้ว แบงค์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย หรือรัฐมนตรีพรรคร่วมมันเยอะเกินไปถึงทำไม่สำเร็จ ช่วยบอกอะไรที่เรายังไม่รู้เถอะ ศักยภาพของผู้นำประเทศเป็นแบบนี้ แม้ในเวลานี้ที่คลื่นลมยังไม่ปั่นป่วนมาก ท่านยังทำให้มันวิบัติได้ขนาดนี้ พายุหมุนทางเศรษฐกิจของแท้กำลังงจะมา คลื่นลมจะสูงแรงปั่นป่วนกว่านี้มาก ถ้าจะทำให้เศรษฐกิจ ประเทศ และประชาชนรอดได้ เราไม่สามารถมีผู้นำประเทศแบบนี้ได้จริงๆ” ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้าย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #อภิปรายไม่ไว้วางใจนายก