“พริษฐ์” ย้ำจุดยืนส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความแก้ รธน. ไม่จำเป็น-ไม่เพียงพอ
ยันรัฐสภาเดินหน้าพิจารณาได้โดยไม่ขัดคำวินิจฉัย 4/2564 ย้ำอุปสรรคไม่ได้อยู่ที่ข้อกังวลทางกฎหมาย
แต่อยู่ที่การขาดเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลในการผลักดัน รธน. ใหม่ให้สำเร็จ
วันที่
17 มีนาคม 2568 ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา
210 วรรคหนึ่ง (2) พริษฐ์ วัชรสินธุ
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า
จุดยืนของตนต่อญัตตินี้มีความเรียบง่าย ตนเห็นว่าการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ
“ไม่จำเป็น” และ “ไม่เพียงพอ”
ต่อการทำให้รัฐบาลประสบความสำเร็จในการรักษาคำพูดตนเองว่าจะผลักดันให้ประเทศเรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป
เหตุผลที่ตนไม่เห็นถึงความจำเป็นในการส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ
เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการที่รัฐสภาจะเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ด้วยการทำประชามติรวมกัน 2
ครั้ง ไม่มีอะไรที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
สาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 อยู่ในย่อหน้าสุดท้าย
สรุปสั้นๆ คือรัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องทำประชามติ 1 ครั้งก่อนและ 1
ครั้งหลัง
ดังนั้น
ตนยืนยันว่าการที่รัฐสภาเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
(สสร.) ตามที่พวกตนเสนอ สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลฯ
เพราะหากรัฐสภาเดินหน้าพิจารณาและให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมี สสร. ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาทันที
แต่ร่างดังกล่าวระบุชัดว่าหากรัฐสภาเห็นชอบในวาระที่ 3 ให้มี
สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจะต้องจัดทำประชามติ 1 ครั้งก่อนตามบทบัญญัติมาตรา
256(8)ว่าประชาชนจะเห็นชอบกับการมี
สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่รัฐสภาเห็นชอบหรือไม่ และหากเห็นชอบ
เราถึงจะมีการเลือกตั้ง สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเมื่อ สสร.
จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องจัดทำประชามติอีก 1 ครั้งตามบทบัญญัติในร่างมาตรา
256/21 ว่าประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ สสร.
จัดทำหรือไม่
อย่างไรก็ตาม
ตนเข้าใจว่าบางคนอาจมีความเห็นแตกต่างออกไปและมองว่าเราต้องทำประชามติเพิ่มขึ้นมาอีก
1 ครั้ง รวมเป็น 3 ครั้ง
เพราะไปตีความว่าการทำประชามติ 1 ครั้งก่อนที่อยู่ในคำวินิจฉัยศาลฯ
นั้น ไม่ได้หมายถึง “ก่อน” จะมีการจัดทำฉบับใหม่ แต่หมายถึง “ก่อน”
จะมีการเสนอญัตติหรือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. เข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา
ความจริงคนกลุ่มหนึ่งที่เคยคิดแบบนี้ก็คือประธานรัฐสภาและคณะกรรมการประธานรัฐสภา
แต่หลังจากที่ตนได้รวบรวมหลักฐานและข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม
2567 ทางคณะกรรมการฯ และประธานรัฐสภาก็เปลี่ยนใจ
หันมาเห็นตรงกับตนว่าประชามติ 2 ครั้งเพียงพอและรัฐสภาเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง
สสร. ได้
ดังนั้น
วันนี้ตนขอนำเสนอหลักฐานและข้อมูลชุดเดียวกัน
ด้วยความหวังว่าจะสามารถคลายข้อกังวลและเปลี่ยนใจสมาชิกรัฐสภาได้เช่นกัน
ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ไม่ขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
พริษฐ์กล่าวต่อว่า
หลักฐานและข้อมูลที่ตนมีเพิ่มเติมจากคำวินิจฉัยกลางมีอยู่ 3 อย่าง
(1) คำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ที่ประกอบออกมาเป็นคำวินิจฉัยกลาง 4/2564 เราจะพบว่าตุลาการเสียงส่วนใหญ่ให้ความเห็นที่ชัดเจนว่าการทำประชามติ
2 ครั้งนั้นเพียงพอ
รัฐสภาสามารถดำเนินการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร.
โดยไม่ต้องเพิ่มประชามติขึ้นมาอีก 1 ครั้งก่อนการพิจารณาในวาระที่
1
หลักฐานที่
2 คืออินโฟกราฟิกสรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ที่ถูกจัดทำโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเอง
แสดงขั้นตอนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
กระบวนการเริ่มต้นด้วยการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง
สสร. ไม่มีส่วนไหนที่บอกว่าต้องทำประชามติเพิ่มขึ้นมาก่อนจะเสนอและพิจารณาญัตติ
ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดที่ปรากฏในอินโฟกราฟิก
เป็นไปตามที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนที่ค้างอยู่ ได้เสนอไว้
หลักฐานที่
3 คือผลการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตนและ
กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ได้ขอเข้าพบประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 แม้เป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
และเป็นการประชุมกับประธานศาลฯ และตุลาการอีกคนรวมเป็น 2 คน
ไม่ได้ประชุมกับทั้งองค์คณะ แต่ตนยืนยันว่าในการพูดคุยดังกล่าวโดยละเอียด
ไม่มีใครในที่ประชุม เสนอว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง
และไม่มีใครทักท้วงว่าขั้นตอนการดำเนินการเหมือนกับที่ตนและพรรคประชาชนเสนอให้รัฐสภาดำเนินการนั้น
ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งหมดเป็นเหตุผลและหลักฐานในเชิงข้อกฎหมายที่ตนหวังว่าจะโน้มน้าวสมาชิกรัฐสภาได้ว่าทำไมเราถึง
“ไม่มีความจำเป็น” ที่จะต้องส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่นอกจาก “ไม่จำเป็น”
แล้ว การส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญยัง “ไม่เพียงพอ”
ต่อการทำให้รัฐบาลผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้สำเร็จ
พริษฐ์กล่าวต่อว่า
ที่ต้องพูดแบบนี้ เพราะถึงแม้บางคนอาจมีข้อกังวลทางกฎหมายจริง ๆ
จึงหวังจะใช้การส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อคลายข้อกังวล
แต่ตนก็เชื่อว่ามีบางคนเช่นกันที่ไม่ได้กังวลหรือสนใจเรื่องข้อกฎหมาย แต่ลึกๆ
แล้วไม่อยากเห็นการแก้รัฐธรรมนูญ จึงต้องพยายามหา “ข้อกังวลทางกฎหมาย” ให้เจอ
หวังจะใช้การยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เพื่อหวังว่าการดึงทุกคนมาถกเถียงกันเรื่องเทคนิคเชิงกฎหมาย
จะทำให้สังคมหลงลืมไปว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างไร
จะช่วยปราบโกงอย่างไร จะช่วยปลดล็อกท้องถิ่นอย่างไร
จะช่วยปกป้องสิทธิเสรีภาพอย่างไร
ดังนั้น
ตนเห็นว่าเราจำเป็นต้องเอาความจริงมาพูดว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่สำเร็จ
ไม่ใช่ “ข้อกังวลทางกฎหมาย” แต่คือ “การขาดเจตจำนงทางการเมือง” ของทุกๆ
ฝ่ายในซีกรัฐบาล ซึ่งการส่งไปศาลรัฐธรรมนูญแก้ให้ท่านไม่ได้
เหตุการณ์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ทำให้เราตั้งคำถามได้ถึงสภาวะขาด “เจตจำนง” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล
พริษฐ์ตั้งข้อสังเกตถึงเจตจำนงของ
“พรรคร่วมรัฐบาล”
โดยตั้งคำถามว่าหากเราเชื่อว่าสิ่งเดียวที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลและ สว.
หัวใจเดียวกัน ยังไม่สนับสนุนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ “ข้อกังวลทางกฎหมาย”
และหากเราเชื่อว่าสิ่งเดียวที่จะทำให้เขาพร้อมเดินหน้าต่อคือ “ความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญ”
แล้วเหตุใดเมื่อเดือนที่แล้ว สส. พรรคร่วมรัฐบาลหลายสิบคน และ สว.
หัวใจเดียวกันอีกจำนวนมาก
ถึงไม่มาลงมติสนับสนุนเพื่อเร่งให้มีการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น
หากวันนี้ทั้ง สส. และ สว. กลุ่มดังกล่าว
ยังไม่มาลงมติสนับสนุนการส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ก็ชัดเจนแล้วว่าเหตุผลที่เขาไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ไม่ได้เป็นเพราะข้อกังวลทางกฎหมายที่เขาต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยคลี่คลาย
และหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะให้ความชัดเจนเกี่ยวกับข้อกฎหมายตามที่ผู้เสนอญัตติหวัง
สส. และ สว. กลุ่มนี้ จะมาลงมติสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
พริษฐ์กล่าวว่า
ตนยังขอตั้งคำถามถึงเจตจำนงของ “นายกฯ”
เพราะก่อนที่เราจะต้องมาคุยกันเรื่องส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่หลายคนสงสัยคือนายกฯ
ได้ทำอะไรไปบ้างหรือยังเพื่อคลายข้อกังวลของพรรคร่วมรัฐบาล
เพราะนับจากวันที่ประธานสภาฯ บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน
จนถึงการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างดังกล่าวเมื่อเดือนที่แล้ว นายกฯ มีเวลาเกือบ
2 เดือน แต่ร่างของ ครม. ก็ไม่มีการเสนอเข้ามา ทั้งๆ ที่เป็นนโยบายรัฐบาล
แค่จะหารือกันภายใน ครม. เพื่อคลายข้อกังวลของพรรคร่วม ตนเข้าใจว่านายกฯ
ก็ยังไม่ได้ทำ
เพราะเมื่อสื่อมวลชนไปสัมภาษณ์หลังสภาล่มว่านายกฯ
ได้คุยกับพรรคร่วมรัฐบาลมาก่อนแล้วหรือไม่ นายกฯ ตอบเสียงแข็งว่า “คุยแล้ว”
แต่ในเย็นวันเดียวกันรองนายกฯ อนุทิน ชาญวีรกูล กลับให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า
“ท่านนายกฯ ไม่เคยมาคุยหรือหารือเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเลย” มาถึงวันนี้ยังไม่รู้ว่าใครพูดจริงพูดไม่จริง
และตนก็ไม่ได้บอกว่าการที่นายกฯ คุยกับพรรคร่วมฯ แล้วจะคลายข้อกังวลของพรรคร่วมฯ
ได้แน่นอน แต่ถ้า สส.
ฝ่ายค้านคนหนึ่งยังสามารถคลายข้อกังวลของประธานสภาได้ว่าประชามติ 2 ครั้งเพียงพอ
แล้วทำไมนายกฯ และหัวหน้ารัฐบาล จะคลายข้อกังวลของพรรคร่วมฯ ไม่ได้
ด้งนั้นถ้าผู้เสนอญัตติจากพรรคแกนนำรัฐบาลคาดหวังว่าการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญวันนี้
จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ตนอยากให้ทบทวนดีๆ
เพราะแม้ศาลรัฐธรรมนูญให้คำตอบชัดเจนว่าเราเดินหน้ากันต่อได้
ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่า สส. พรรคร่วมรัฐบาล และ สว. หัวใจเดียวกัน จะโหวตสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง
สสร. หากพวกเขายังไม่สนับสนุนญัตติของท่านในวันนี้
แต่หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใจไม่รับเรื่องไว้วินิจฉัย
เหมือนที่เคยตัดสินใจไปเมื่อตอนต้นปี 2567 หรือหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใจรับเรื่อง
แต่ไม่ได้ให้ความชัดเจนมากขึ้นกว่าที่เคยวินิจฉัยไว้เมื่อปี 2564 เราก็จะกลับมาอยู่ที่จุดเดิมในวันนี้ ที่ต้องอาศัย “เจตจำนงทางการเมือง”
ของนายกฯ ในการแก้ไขปัญหา และโน้มน้าวสมาชิกรัฐสภาในซีกรัฐบาล
ซึ่งไม่มีศาลรัฐธรรมนูญที่ไหนจะไปแก้แทนท่านนายกฯ ได้
พริษฐ์กล่าวว่า
โดยสรุปตนเห็นว่าการส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ “ไม่มีความจำเป็น”
เพราะสิ่งที่เราทำไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
และการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ “ไม่เพียงพอ”
ต่อการแก้ไขปัญหาเพราะอุปสรรคหลักของเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่ “ข้อกังวลทางกฎหมาย”
แต่อยู่ที่ “เจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาล”
ทางออกของเรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
แต่อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ดังนั้น สิ่งที่รัฐสภาแห่งนี้สมควรต้องทำมากกว่าในวันนี้
คือการส่งสัญญาณดังๆ ไปที่นายกฯ ให้แสดงภาวะความเป็นผู้นำ
และเป็นเจ้าภาพในการสร้างความเป็นเอกภาพของรัฐบาล เพื่อร่วมกันผลักดันนโยบายเรือธงของตนเองให้สำเร็จได้จริง
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #เขียนรัฐธรรมนูญ #ศาลรัฐธรรมนูญ