สส.ปชน. พร้อมนายกวิศวกรโครงสร้าง ลงพื้นที่ถนนพระราม 2 จี้ “สุริยะ” อุบัติเหตุเกิดซ้ำซาก ได้ใส่ใจแก้ปัญหาบ้างหรือไม่ หลังยอมรับเองมาตรการสมุดบันทึกตัดคะแนนผู้รับเหมายังไม่บังคับใช้ ย้ำต้องตรวจสอบสาเหตุตรงไปตรงมา
วันที่ 15 มีนาคม 2568 สส.พรรคประชาชน ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.สมุทรสาคร เขต 1, เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพฯ เขต 24 และ แอนศิริ วลัยกนก สส.กรุงเทพฯ เขต 25 พร้อมด้วย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสมาคมฯ ได้ร่วมลงพื้นที่เกิดเหตุคานสะพานก่อสร้างทรุดตัวในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ช่วงด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษดาวคะนอง ทางพิเศษเฉลิมมหานคร เมื่อวันที่ 15 มีนาคมเวลาประมาณ 01:30 น. ที่ผ่านมา
ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนเองในฐานะ สส.เขตพื้นที่ ที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์คานถล่มบนถนนพระราม 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา วันนี้มาลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ใกล้เคียง ช่วงต้นของถนนพระราม 2
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ผมเป็นผู้แทนผ่านมา ไม่ถึง 4 เดือน วันนี้ก็มาเกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุการก่อสร้างขึ้นอีกแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในยุคของคุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงต้องตั้งคำถามว่า หลังจากเหตุการณ์ครั้งที่แล้ว ได้มีมาตรการอะไรเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุขึ้นอีก”
“แต่ที่น่าตกใจคือ เมื่อช่วงสาย รัฐมนตรียอมรับเองว่า มาตรการสมุดบันทึก ตัดคะแนนผู้รับเหมา ยังไม่เริ่มใช้ จะเริ่มใช้เดือนเมษายน ซึ่งก็เกิดคำถามว่าปล่อยเวลาผ่านไป ไม่ได้มีการเอาใจใส่แก้ปัญหาหรืออย่างไร แม้ผมจะเห็นว่า การใช้มาตรการสมุดบันทึกผู้รับเหมา เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาความปลอดภัย เพราะจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเกิดเหตุแล้วถึงจะตัดคะแนน แล้วก่อนก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง มีมาตรการควบคุมเพียงพอแล้วหรือไม่” ณัฐพงษ์ กล่าว
ณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า การก่อสร้างขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมีการควบคุมทุกขั้นตอน ทุกขั้นตอนมีความสำคัญและมีผลต่อความปลอดภัย เมื่อเกิดเหตุการณ์บ่อยๆ ซ้ำๆ ก็ต้องมาดูแล้วว่า มีปัญหาที่โครงสร้างหรือไม่ จึงต้องแก้ที่โครงสร้าง มาตรการควบคุมเรื่องคน เรื่องเครื่องจักรเพียงพอหรือไม่ กฎหมายมีช่องโหว่หรือไม่ ปัญหาเรื่องการไปปล่อยจ้างเหมาช่วง (subcontracting) มีหรือไม่ การให้ต้นทุนความปลอดภัยเป็นต้นทุนแฝง ไม่ได้อยู่ในข้อกำหนดเงื่อนไขของงาน (TOR) เลยแบบนี้เป็นปัญหาหรือไม่
นอกจากนี้ การเก็บหลักฐานหน้างาน ทำถูกต้องตามหลักวิชาหรือไม่ มีบุคคลที่สาม (Third Party) เข้ามาร่วมสังเกตการณ์หรือไม่ เพื่อให้การตรวจสอบสาเหตุที่เกิดขึ้น ถูกต้อง ตรงไปตรงมา เมื่อรู้สาเหตุจะได้ป้องกันแก้ไขได้ถูกต้อง
“การก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นนี้ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบทุกขั้นตอนอย่างเข้มงวด แม้ว่าเข้าใจดีว่าอยากเร่งให้เสร็จทันที่รัฐมนตรีประกาศ แต่ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งก็ควรมีการเปิดเผยข้อมูล ความคืบหน้าให้ประชาชนได้ทราบอยู่เป็นประจำด้วย”
“นอกจากนี้ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับพวกเราทุกคน เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัย อาจจะไม่ใช่แค่ที่ถนนพระราม 2 แต่อาจจะเกิดที่ไหนอีกก็ได้ หากรากเหง้าปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขที่ต้นตอ จะแน่ใจได้อย่างไรว่า คนหน้างาน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือประชาชนที่ต้องสัญจรผ่านโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จะปลอดภัย” ณัฐพงษ์ ระบุทิ้งท้าย
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พระราม2 #สะพานพระราม2 #เครนถล่ม #สะพานยกระดับถล่ม