วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2568

“วิโรจน์” ผิดหวัง “เพื่อไทย” ร่วมรัฐสภาโหวตคว่ำ พ.ร.ป. ป.ป.ช. โอนอำนาจพิจารณาคดีนายทหารทุจริตจากศาลทหารสู่ศาลอาญาเหมือนข้าราชการอื่น ชี้เป็นเครื่องยืนยันไร้ความจริงใจปฏิรูปกองทัพ ซัดลืมบุญคุณคนเสื้อแดง ไม่กล้าแตะ "กองทัพ"

 


“วิโรจน์” ผิดหวัง “เพื่อไทย” ร่วมรัฐสภาโหวตคว่ำ พ.ร.ป. ป.ป.ช. โอนอำนาจพิจารณาคดีนายทหารทุจริตจากศาลทหารสู่ศาลอาญาเหมือนข้าราชการอื่น ชี้เป็นเครื่องยืนยันไร้ความจริงใจปฏิรูปกองทัพ ซัดลืมบุญคุณคนเสื้อแดง ไม่กล้าแตะ "กองทัพ"


วันที่ 17 มีนาคม 2568 ที่อาคารรัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร และ นายเอกราช อุดมอำนวย สส.กทม.พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการ กมธ. ร่วมแถลงหลังจากที่ประชุมร่วมของรัฐสภาลงมติไม่รับร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่มีสาระสำคัญในการยกเลิกข้อยกเว้น ที่ให้ศาลทหารเป็นผู้พิจารณาคดีทุจริตในกรณีข้าราชการทหาร ให้เป็นอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตเหมือนข้าราชการพลเรือน ข้าราชการท้องถิ่น และข้าราชการการเมืองทั้งหมด


นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กล่าวว่า สาระสำคัญในการแก้ไขมีเพียงมาตราเดียว ยืนยันว่าเราได้ดำเนินการอย่างละเมียดละไมและปราณีตที่สุด การร่างกฎหมายนี้มีการปรึกษาหารือกับนักนิติบัญญัติและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสำนักกฎหมายของรัฐสภา พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลและกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา เรารู้ถึงความลักลั่นของการพิจารณาและกระบวนการยุติธรรมของศาลทหารอยู่แล้ว โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่เคยต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องคนเสื้อแดง ย่อมรู้ถึงพิษสงของความยุติธรรมภายใต้ศาลทหารว่ามีหรือไม่ อย่างไร 


การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้หลักสำคัญคือ หากมีการกระทำการทุจริต โดยปกติแล้วข้าราชการพลเรือน ข้าราชการท้องถิ่น ข้าราชการการเมือง ก็จะขึ้นศาลอาญาทุจริต มีเพียงทหารหรือข้าราชการในส่วนของกลาโหมเท่านั้นที่ขึ้นศาลทหาร และเป็นที่ทราบกันดีว่า การพิจารณาคดีของศาลทหารที่มีต่อจำเลยที่เป็นทหารชั้นนายพลจะมีตุลาการร่วมเข้ามาประกบตุลาการพระธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติแล้วตุลาการร่วมที่เป็นนายทหารชั้นนายพลที่ร่วมพิจารณาคดีแทนที่จะอำนวยความยุติธรรม หลายกรณีถูกตั้งข้อสงสัยว่าประพฤติตัวเป็นการกดดันตุลาการพระธรรมนูญเสียเอง เพราะตุลาการพระธรรมนูญปกติจะเป็นนายทหารพระธรรมนูญ จะไม่มีรุ่น เพราะไม่ได้ผ่านโรงเรียนเตรียมทหาร ไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อยพระจุลเกล้า โรงเรียนนายเรือ หรือโรงเรียนนายเรืออากาศ จึงไม่ได้นับรุ่นกับจำเลย แต่ปรากฏว่าตุลาการร่วมพระธรรมนูญสามารถนับรุ่นพี่รุ่นน้องกับนายพลที่เป็นจำเลยได้ และในแวดวงทหารมีการพูดกันว่า ผิดกฎให้เปิดใจ ผิดใจให้เปิดกฎ นั่นหมายความว่าหากรุ่นพี่รุ่นน้องผิดใจกันเมื่อไรจะเปิดกฎดูตัวอักษรตามระเบียบกฎหมาย แต่หากผิดกฎให้เปิดใจเพราะความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องแน่นแฟ้น ต่อให้ผิดระเบียบ ผิดกฎหมายก็สามารถเปิดใจช่วยเหลือกันได้ แต่ความผิดในกรณีทุจริต หลายกรณีทุจริตต่อแผ่นดิน ทุจริตต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงจะมาใช้หลัก ผิดกฎให้เปิดใจ ผิดใจให้เปิดกฎไม่ได้ เพราะความเสียหายเกิดขึ้นกับประชาชน หากเป็นเช่นนี้จะอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างไร


หากไม่แก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้เป็นกฎหมายหมุดหมายแรกก่อนที่จะไปแก้ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ และหากจะทำให้รอบคอบกว่านี้ ต้องไปแก้ไขที่รัฐธรรมนูญอย่างน้อยคือมาตรา 199 ในฐานะผู้เสนอร่าง ผิดหวังอย่างมากกับบทบาทของพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคเพื่อไทยรู้ดีที่สุดว่าศาลทหารมีความยุติธรรมมากน้อยเพียงใดและเป็นปัญหาอย่างไรเกี่ยวกับคดีทุจริต


โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดงที่สู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด เหตุการณ์ในวันนี้จึงเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีความจริงใจที่จะปฏิรูปบ้านเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่หลุดจากเยื้อมือของทหารและอำนาจที่มองไม่เห็นต่าง ๆ และไม่คิดว่าคนที่สู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนคนเสื้อแดงจะขาดความตระหนักได้ถึงเพียงนี้ ซึ่งเรื่องนี้จะมีผลกระทบต่อไปอย่างแน่นอน และผู้ที่ต้องตอบคำถามมากที่สุดคือ นายชลน่าน ศรีแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งมาจากพรรคเพื่อไทย 


ทั้งนี้ มั่นใจว่าหากพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ผลึกกำลังกันกับ สว. ฝ่ายประชาธิปไตย ร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถผ่านไปได้และจะเป็นหมุดหมายที่สำคัญที่สุดที่จะนำทหารออกจากการเมือง ยกเลิกความเป็นรัฐซ้อนรัฐของทหาร โดยพรรคประชาชนจะหาทางดำเนินการกับ พ.ร.บ. ที่เหลือคือ พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร และการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 199 หากแก้ไขได้จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญที่จะทำให้เราสามารถหวนกลับมาแก้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ และอาจจะต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้ทหารเลิกเป็นรัฐซ้อนรัฐและมีกระบวนการยุติธรรมที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องตนเองให้ได้


นางอังคณา ลีละไพจิตร กล่าวว่า ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมาตรานี้ได้ใช้เวลาในการพิจารณาหลายสัปดาห์ และเชื่อว่ามาตราที่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของสภามีความสำคัญมากในเรื่องเกี่ยวกับจำกัดอำนาจของทหารเพื่อให้คดีทุจริตได้มาตรฐานเดียวกันกับคดีทุจริตทั่วไป ดังนั้นจึงมีการเสนอให้คดีทุกคดีต้องขึ้นกับศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งนี้ ไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐสภาจึงไม่ให้ความเห็นชอบ หากเป็นเช่นนี้ ต่อไปเราจะแตะการบริหารงานของทหารได้อย่างไร


นายเชตวัน เตือประโคน กล่าวว่า ในการพิจารณาวาระแรก ตนได้อภิปรายเรื่องนี้โดยยกเหตุผลอย่างละเอียดว่าเหตุใดคดีทุจริตของทหารควรขึ้นศาลอาญาทุจริต นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกองทัพที่พวกเราต้องการเห็น คือการทำให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ ประชาชนกับทหารมีความเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนดีขึ้นและทำให้การปฏิรูปกองทัพสำเร็จ


นายเอกราช อุดมอำนวย กล่าวว่า ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย มีความเสียใจอย่างยิ่งที่รัฐสภาคว่ำร่างกฎหมายที่จะนำทหารที่ทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นศาลพลเรือน และเรื่องนี้ต้องการให้สื่อมวลชนติดตามเพราะมีความพยายามจากรัฐบาลและกรมพระธรรมนูญทหาร ในการต่อสู้เพื่อให้คดียังคงอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ทั้งนี้ การตัดสินใจคว่ำร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องทางการเมืองที่สะท้อนว่ารัฐบาลนี้ถูกค้ำยันโดยทหาร และรัฐบาลนี้ไม่กล้าปฏิรูปกองทัพ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #กฎหมายปปช #ปฏิรูปกองทัพ #คนเสื้อแดง