วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2568

“ณัฐพงษ์” ย้ำความจำเป็นลดเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย เสนอ 5 มิติรัฐลงทุนด้านการศึกษาให้ “เร็วขึ้น นานขึ้น ใกล้ขึ้น กว้างขึ้น ลึกขึ้น”

 


“ณัฐพงษ์” ย้ำความจำเป็นลดเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย เสนอ 5 มิติรัฐลงทุนด้านการศึกษาให้ “เร็วขึ้น นานขึ้น ใกล้ขึ้น กว้างขึ้น ลึกขึ้น” 


วันนี้ (15 มี.ค. 68) นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โพสข้อความระบุว่า 


ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน เชียงราย ผมได้มีโอกาสกล่าวปาฐกถาเปิดงานในหัวข้อ “บทบาทของท้องถิ่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยในภาวะวิกฤต” และแลกเปลี่ยนการพัฒนาเมืองเชียงรายกับพี่น้องประชาชนในวันนี้


โดยครั้งนี้ผมได้มาพร้อมกับ สส. พรรคประชาชนหลายท่านที่เป็นตัวแทนจากกรรมาธิการต่าง ๆ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่โดยมีประเด็นสำคัญคือเรื่องของการสร้างการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาในภาวะวิกฤติ


สำหรับประเทศไทยนั้นเราลงทุนกับการศึกษาเป็นอย่างมาก คิดเป็น 4.7% ของ GDP ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD แต่การลงทุนมูลค่าสูงนี้กลับยังไม่ตรงเป้างบประมาณ ไม่ได้ลงไปถึงนักเรียน งบประมาณส่วนมากยังเป็นรายจ่ายประจำ อีกทั้งงบประมาณยังไม่เสมอภาคเพราะคิดเป็นรายหัว ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้รับบประมาณสนับสนุนเทียบเท่ากับโรงเรียนที่ขนาดใหญ่กว่าทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันของการศึกษาไทย


ความเหลื่อมล้ำในการศึกษาส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่างจังหวัดเชียงรายที่กำลังเกิดภาวะสมองไหล คนในพื้นที่ออกไปเรียนที่จังหวัดอื่น เมื่อเรียนจบก็มีผู้คนจำนวนน้อยที่จะกลับมาประกอบอาชีพในจังหวัดของตนเอง ภาคเอกชนก็ไม่กล้าลงทุนในพื้นที่เพราะกลัวจะไม่มีแรงงานมากพอ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาของไทย


ผมและพรรคประชาชนจึงมีข้อเสนอ 5 มิติในการลงทุนด้านการศึกษาให้ “เร็วขึ้น นานขึ้น ใกล้ขึ้น กว้างขึ้น ลึกขึ้น”


การลงทุนที่ “เร็วขึ้น” คือ การลงทุนในการศึกษาปฐมวัย ซึ่งปัจจัยสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาการลงทุนอย่างการเพิ่มขยายวัน - เวลาเปิดให้บริการของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทั้งการเปิดให้นานขึ้น เปิดตลอดสัปดาห์ หรือเปิดตลอดปี และการลงทุนเพื่อเพิ่มศูนย์ดูแลเด็กอ่อนต่ำกว่า 2 ปี เพื่อให้มีพื้นที่เสริมสร้างพัฒนาการของเด็กได้มากขึ้น


การลงทุนที่ “นานขึ้น” คือ การลงทุนในการยกระดับทักษะหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปัจจุบันหลายคนยังไม่มีโอกาสเข้าถึงคอร์สเรียนเพื่อยกระดับทักษะตนเอง รัฐอาจออกให้เป็นคูปองฝึกทักษะแบบประเทศอินโดนีเซีย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะตามที่ผู้เรียนต้องการซึ่งเป็นการเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณแบบ Supply side ที่รัฐเป็นคนกำหนดว่าจะพัฒนาทักษะอะไร เปลี่ยนเป็นแบบ Demand side ที่ผู้เรียนสามารถเลือกเองได้ว่าอยากพัฒนาทักษะอะไร


การลงทุนที่ “ใกล้ขึ้น” คือ การกระจายอำนาจการตัดสินใจการใช้งบประมาณ แก่สถานศึกษาได้ตัดสินใจเองว่าจะใช้งบกับการลงทุนด้านอะไร และที่สำคัญคือให้ครูตัดสินใจได้เองมากขึ้น ว่าอยากใช้งบอบรมทักษะด้านไหน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนโรงเรียน คุณครู และนักเรียน


การลงทุนที่ “กว้างขึ้น” คือ การลงทุนในการดูแลคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนที่นอกเหนือจากด้านวิชาการ ทั้งการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ถูกหลักโภชนาการการเข้าถึง การดูแลเรื่องสุขภาพจิตที่อาจเป็นผลกระทบจากทั้งปัญหาที่สถานศึกษาและที่บ้าน รวมถึงการกระจายแหล่งเรียนรู้ เช่น ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์ ที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่สูง


และสุดท้าย การลงทุนที่ “ลึกขึ้น” คือ การลงทุนอย่างแม่นยำบนฐานของข้อมูลเชิงลึกที่ถูกจัดเก็บและแลกเปลี่ยนกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้รัฐสามารถจัดสรรทรัพยากรที่ตอบโจทย์ผู้เรียนรายบุคคลได้มากขึ้น


5 มิติในการลงทุนด้านการศึกษาให้ “เร็วขึ้น นานขึ้น ใกล้ขึ้น กว้างขึ้น ลึกขึ้น” นี้ ผมเชื่อว่าจะทำให้การศึกษาไทยที่กำลังติดหล่มอยู่สามารถกลับมาได้ และช่วยหยุดภาวะสมองไหลของเชียงรายได้ ในการพูดคุยครั้งนี้ ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ด้านอื่นของพรรคประชาชนประเด็นต่าง ๆ อีกด้วย ทั้งด้านการเกษตร ที่เสนอให้รัฐเข้ามาสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถสร้างผลิตผลตามมาตรฐานสากลได้ ด้านการจัดการน้ำที่จะต้องจัดการเป็นระบบโดยเฉพาะในพื้นที่เชียงรายที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำซึ่งจะส่งผลต่อทั้งสถานการณ์น้ำในประเทศ และการผลิตในภาคเกษตรให้มีความมั่นคงมากขึ้น และด้านการศึกษาที่เน้นย้ำว่าเราต้องกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนได้ นอกจากนี้ ตัวแทนพรรคประชาชนจาก กมธ. ที่ดิน ได้นำเสนอผลงาน และแผนงานดำเนินการในอนาคต เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #ผู้นำฝ้ายค้าน