วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2568

“ณัฐพงษ์” เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชี้ “ดีลแลกประเทศ” ไม่ใช่แค่พา “ทักษิณ” กลับบ้าน แต่พาประเทศถอยหลังทุกด้าน วันนี้ไม่มีแล้วสองก๊กสามก๊ก เหลือก๊กเดียวคือพรรคร่วมคณะรัฐประหาร หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน


ณัฐพงษ์” เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชี้ “ดีลแลกประเทศ” ไม่ใช่แค่พา “ทักษิณ” กลับบ้าน แต่พาประเทศถอยหลังทุกด้าน วันนี้ไม่มีแล้วสองก๊กสามก๊ก เหลือก๊กเดียวคือพรรคร่วมคณะรัฐประหาร หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน

 

วันที่ 24 มีนาคม 2568 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เป็นวันแรก ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงถึงเหตุผลในการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี


โดยผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 ประชาชน 40 ล้านคนเดินเข้าคูหาเลือกตั้งด้วยความหวังและความเชื่อมั่นศรัทธา ว่าพอกันได้แล้วกับ 9 ปีที่สูญเสียไป แต่หากใครนอนหลับไปตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 แล้วตื่นลืมตาขึ้นมาอีกทีวันนี้ ก็คงได้แต่แปลกใจว่าทำไมทุกอย่างยังเหมือนเดิม ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลจากคณะรัฐประหารก่อนหน้านี้ ทั้งการบริหารราชการแผ่นดินที่ถูกขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใกล้ชิด การใช้งบประมาณแผ่นดินแบบไร้ความรับผิดชอบ การปล่อยปละละเลยชีวิตประชาชน ปล่อยให้คนไทยต้องเผชิญปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง ตั้งแต่ปัญหาไฟป่าจนถึงปัญหาฝุ่น pm 2.5 ปัญหาทุนเทาไปจนถึงปัญหาชายแดน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้ามนุษย์ ปัญหาการศึกษา ไปจนถึงการขาดขีดความสามารถในการแข่งขัน ปัญหาปากท้อง ปัญหาค่าไฟแพง รวมไปถึงปัญหาด้านการเกษตร ปัญหาปลาหมอคางดำ และการทุจริตคอร์รัปชัน


ทำไมคนไทยจึงไม่มีโอกาสที่จะได้รัฐบาลซึ่งมีเจตจำนงแน่วแน่ ทั้งที่การเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศลงมติกันแล้วว่าอยากได้การเปลี่ยนแปลง คำตอบที่อธิบายทุกอย่างได้ก็คือ รัฐบาลชุดนี้เริ่มต้น ดำรงอยู่ และเดินหน้าเพื่อให้เกิด “ดีลแลกประเทศ” ซึ่งมีประโยชน์ของคนตระกูลชินวัตรเป็นแกนกลาง ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใกล้ชิดและเครือข่ายการเมืองเป็นแกนรอง ส่วนประเทศและประชาชนนั้นต้องรอไปก่อน ใกล้วันเลือกตั้งค่อยมาปรับบทละครกันอีกที


ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า พฤติกรรมที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัย เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาจนถึงสมัยของ แพทองธาร ชินวัตร ทำให้หลายคนวิจารณ์ว่ารัฐบาลเพื่อไทยยอมเป็น “นั่งร้าน” ให้กลุ่มอำนาจเดิมเพื่อกลับสู่อำนาจ แต่เวลาพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง อันที่จริง รัฐบาลเพื่อไทยไม่ได้เป็นนั่งร้านให้กับใคร เพราะพวกเขาได้หลอมหลวมเป็นพวกเดียวกันทั้งหมดแล้ว


พรรคร่วมรัฐบาลทำงานร่วมกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย หัวเราะร่วมวงไปด้วยกันได้ ไม่เกี่ยวกับรุ่นหรือภูมิหลังใดๆ เพราะพวกเขาใช้วิธีจัดการผลประโยชน์แบบเดียวกัน ต่อรองผ่านสนามกอล์ฟเหมือนกัน ใช้อำนาจเปลี่ยนดำเป็นขาวเช่นเดียวกัน รู้ช่องทางทำมาหากินผ่านระบบรัฐราชการเหมือนกัน พูดอีกอย่างก็คือนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดพูดภาษาเดียวกันและเล่มเกมเดียวกันมาตั้งแต่แรก เรื่องไหนที่เดินหน้ารวดเร็วได้ผิดปกติ ไม่สนคำทักท้วง รีบผลักดัน ก็คือเรื่องที่ดีลผลประโยชน์กันได้ลงตัวแล้ว อย่างเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กส์ ที่กลายมาเป็นวาระเร่งด่วนให้ความสำคัญเหนือการแก้ปัญหาชาวนาหรือการพัฒนาการศึกษาเพื่อเยาวชน


ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่าเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ที่สื่อมวลชนถามนายกรัฐมนตรีว่าคิดอย่างไรเมื่อฝ่ายค้านใช้ชื่อการอภิปรายครั้งนี้ว่า “ดีลแลกประเทศ” ท่านถามสื่อมวลชนกลับไปว่า “ตระกูลชินวัตรได้อะไร” สื่อมวลชนก็อธิบายต่อไปว่า “ได้คุณทักษิณกลับบ้าน” นายกรัฐมนตรีก็ตอบเพียงว่า “ได้คุณพ่อกลับมา อ๋อ คงเป็นเรื่องนี้เรื่องเดียวตลอดไป” อย่างน้อยที่สุด นายกรัฐมนตรีก็ยอมรับว่า ดีลในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เริ่มต้นจากการพาคุณทักษิณกลับบ้านจริงๆ แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น การอภิปรายสองวันนี้ พรรคประชาชนจะทำให้ประชาชนเห็นว่า ดีลแลกประเทศยังหมายรวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ต้องแลกด้วยผลประโยชน์ของประเทศมากมายมหาศาล


ภายใตัรัฐบาลนี้ ดูเผินๆ เหมือนว่าประเทศไทยน่าจะได้อะไรที่ดีขึ้นกว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เวลาผ่านไปเกือบ 2 ปีก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ประเทศกลับเสียมากกว่าได้ การเริ่มต้นและตั้งอยู่ของรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ทำให้ประเทศไทยต้องจ่ายต้นทุนราคาแพงทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม


ณัฐพงษ์ระบุว่า ในด้านการเมือง ดูเผินๆ เหมือนว่าประเทศไทยได้หวนคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ ได้ออกจากยุคของรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ แต่รัฐบาลเพื่อไทยทำให้ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศถดถอยลง ดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย (Democracy Index) ตกลงจากในปี 2566 จากเดิมอยู่ที่ 6.35 คะแนน เหลือเพียง 6.27 คะแนนในปี 2567 ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประชาธิปไตยบกพร่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่คืบหน้า หนำซ้ำยังโดนนานาอารยประเทศรุมประณามการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลเพื่อไทย ที่ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม กำลังทำให้ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศเสื่อมถอยลงภายใต้เปลือกของคำว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง


ในด้านเศรษฐกิจ ดูเผินๆ เหมือนจะได้รัฐบาลที่เก่งเรื่องเศรษฐกิจ หลายคนแม้จะไม่เห็นด้วยกับจุดยืนทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยก็ยังยอมปิดตาข้างหนึ่งเพื่อหวังให้รัฐบาลเพื่อไทยเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้อง แต่ก็อีกแล้ว พายุหมุนทางเศรษฐกิจไม่เคยเกิดขึ้นเพราะไม่ได้ทำการบ้านอะไรมาล่วงหน้า ที่เคยคุยไว้ว่า (การเติบโตทางเศรษฐกิจ) จะได้ 5% ก็เหลือเพียงแค่ 2.5% แต่ทิ้งไว้ด้วยราคาที่สังคมไทยทุกคนต้องจ่ายอย่างสูง


อันที่จริงแล้ว ความรุ่งเรืองสมัยไทยรักไทยในอดีตนั้นได้รับประโยชน์จาก “ปัจจัยภายนอก” เป็นหลัก ในทศวรรษ 2540 หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง รัฐบาลทักษิณได้รับอานิสงส์จากนโยบายดีๆ ที่กองอยู่บนโต๊ะ รอให้คนหยิบไปทำต่อได้ทันที ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เครือข่ายหมอชนบทขับเคลื่อนมายาวนาน ส่วนการกระจายเม็ดเงินสู่รากหญ้าก็มีบทเรียนจากประเทศญี่ปุ่นที่มาพร้อมกับโครงการมิยาซาว่า อีกด้านหนึ่งค่าเงินบาทที่อ่อนลงก็ช่วยให้การส่งออกของประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากที่การส่งออกเคยมีสัดส่วนเพียง 40% ของจีดีพีก็เพิ่มเป็น 70% ของจีดีพี กลายเป็นหัวหอกเศรษฐกิจของไทยตัวใหม่ แต่น่าเสียดายที่ในรัฐบาลเพื่อไทย นโยบายดีๆ ที่เคยกองอยู่บนโต๊ะตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว พอต้องคิดเองทำเองทั้งหมด ผลก็เลยออกมาเป็นแบบที่เป็นอยู่


ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่าในแง่การบริหารประเทศ การได้ทักษิณกลับมาอีกครั้งนี้ ดูเผินๆ เหมือนประเทศไทยจะได้ผู้นำแพ็คคู่ คนหนึ่งดูดีมีประสบการณ์ เดินสายทำงานนอกทำเนียบ ส่วนอีกคนอยู่ในตำแหน่ง เป็นคนรุ่นใหม่ ทำงานในระบบ พร้อมผสานการทำงานกับคนรุ่นเก่า แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นคือประเทศไทยกำลังมีผู้นำนอกระบบที่ทำงานนอกทำเนียบเป็นคนชี้นำวาระ ให้ข้อมูลและนโยบายนำหน้ารัฐบาลโดยปราศจากความรับผิดรับชอบใดๆ เพราะไม่ถูกถ่วงดุลตรวจสอบ วันหนึ่งเคยบอกว่าจะให้ค่าไฟ 3.70 บาท แต่ก็ไม่เคยเกิดอะไรขึ้น ผ่านไป 2 เดือนก็มาบอกอีกทีว่าจะลดให้ค่าไฟเหลือ 2.50 บาท แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น กลายเป็นคนนอกระบบ พูดไปเรื่อย ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย


ส่วนอีกคนที่อยู่ในระบบ แทนที่จะเป็นตัวแทนพลังของคนรุ่นใหม่ กลับขาดทั้งความรู้ความสามารถ วุฒิภาวะ และเจตจำนงทางการเมือง เช่น การตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องค่าเงินบาทแข็งว่าจะไปช่วยการส่งออกที่เป็นข้อผิดพลาดอย่างน่าตกใจ ขาดทั้งวุฒิภาวะ เช่น ขณะที่คนไทยทั่วประเทศรอฟังคำตอบเมื่อช่วงปลายปีว่านายกรัฐมนตรีจะเอาอย่างไรกับเรื่องค่าไฟแพง นายกรัฐมนตรีกลับตอบคำถามสื่อมวลชนว่า “เมอร์รีคริสต์มาส” อีกทั้งยังขาดเจตจำนงทางการเมือง เพราะในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นการผลักดันอะไรที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำตัวจริงเลย ตั้งแต่ฝุ่น pm 2.5 ไปจนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีแต่การลอยตัวหนีปัญหา ไม่สนไม่แคร์ความเดือดร้อนของประชาชน


เมื่อรวมผู้นำนอกระบบอย่างทักษิณกับผู้นำในระบบอย่างแพทองธารแล้ว ประเทศไทยกลับเสียสองต่อ เพราะมีแต่คนกำหนดวาระที่ทำงานลอยตัว ไม่ต้องรับผิดรับชอบ กับคนที่ถืออำนาจรัฐแต่ขาดคุณสมบัติ ผมอยากให้ท่านตระหนักรู้ไว้อยู่เสมอ ว่าทุกการกระทำของท่านส่งผลต่อความเชื่อมันของประชาชน ท่านจะทำตัวแบบเดียวกับนายกรัฐมนตรีที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร มองการเมืองในสภาเป็นเพียงเรื่องน่ารำคาญ มองวาระในสภาเสมือนก้อนกรวดในรองเท้า มองนักการเมืองมอง สส. ในสภาเป็นเพียงแค่จำนวนนับให้ท่านจัดตั้งรัฐบาลแบบนี้ไม่ได้” ณัฐพงษ์กล่าว


ณัฐพงษ์ยังกล่าวต่อไปว่า ทุกนาทีที่ แพทองธาร ชินวัตร ยังดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อ คือต้นทุนชีวิตราคาแพงที่คนไทยต้องจ่าย เรื่องที่หนึ่งคือเรื่องค่าไฟ ขณะที่ชาวนาและชาวสวนกำลังขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ต้องสูบน้ำเข้าสวนเข้านาด้วยค่าไฟที่แสนแพง แต่ภาพที่พวกเราเห็นคือนายกรัฐมนตรีตัวจริงออกไปตีกอล์ฟกับกลุ่มทุนพลังงาน เพื่อดีลสัมปทานไฟฟ้ามูลค่าหลายแสนล้านบาท สูบเงินออกจากกระเป๋าชาวนา เกษตรกร และคนไทยทุกคนไปเข้ากระเป๋าเจ้าสัว นี่คือต้นทุนที่ประชาชนต้องจ่ายไปจากดีลแลกประเทศนี้


ยังมีประเด็นเรื่องที่ดิน ที่เกษตรกรหลายล้านคนทั้งประเทศต่างเผชิญปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกินหรือโดนกล่าวหาเรื่องป่าทับที่ ตื่นลืมตาขึ้นมาก็ต้องลุ้นว่าจะโดนเจ้าหน้าที่รัฐมาฟ้องขับไล่เรียกคืนที่หรือเปล่า แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่กลับเป็นการดีลกันของ 2 พรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกรณีที่ดินมูลค่าหลายพันล้านบาท


ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า ส่วนการปฏิรูปกองทัพประชาชนหมดหวังกับรัฐบาลชุดนี้แล้ว เพราะผลงานที่ผ่านมา 6 เดือนเป็นที่ประจักษ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่มุ่งหวังให้กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน รัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทยก็ถอยไม่เป็นท่า พ.ร.ป.ป.ป.ช. ที่มุ่งหวังให้ทหารที่ทำการทุจริตต้องมาขึ้นศาลยุติธรรมไม่ต่างกับข้าราชการอื่น ไม่ใช่ไปขึ้นศาลทหาร ก็ถูกโหวตคว่ำโดยมี สส.พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นมาอภิปรายในสภาว่า “เพราะรัฐสภาแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนทหาร” เลยต้องเกรงใจทหาร ชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยได้หลอมรวมเข้าไปเป็นพวกเดียวกันกับพวกเขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมขัดขวางการปฏิรูปกองทัพทุกรูปแบบ ประชาชนหมดหวังกับการยกเลิกบังคับการเกณฑ์ทหาร ที่ผลการศึกษาชี้ชัดแล้วว่าการบังคับเกณฑ์ทหาร 1 ครั้ง ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปหลายหมื่นล้านบาท จากคนที่ถูกจับใบแดง


ในด้านความยุติธรรม ขณะที่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังรอฟังคำตอบในเรื่องการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หลายครอบครัวยังไม่ได้รับการคืนความยุติธรรมจากคดีตากใบ แต่นายกรัฐมนตรีกลับจงใจปล่อยปละละเลย ไม่เร่งรัดติดตามในการนำตัวจำเลยที่หลบหนีไปต่างประเทศกลับมาดำเนินคดีเพื่อคืนความยุติธรรม ขณะที่นายกรัฐมนตรีตัวจริงนอกระบบกลับได้รับสิทธิอยู่ในชั้น 14 เหนือกฎเกณฑ์ใดๆ เหนือระบบยุติธรรมในประเทศนี้ ที่มี แพทองธาร ชินวัตร ผู้เป็นบุตรสาวรับทราบสถานะพ่อของตัวเองมาโดยตลอด และยังมีกรณีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่กำลังรอฟังคำตอบในเรื่องการนิรโทษกรรม ที่วันนี้แม้แต่ข้อสังเกตในเล่มรายงาน พรรคเพื่อไทยก็ยังไม่กล้าโหวตรับ หมดหวังกันได้แล้วกับการทวงคืนความยุติธรรมให้กับประเทศนี้


ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า ขณะที่สังคมไทยมีฉันทามติร่วมกันแล้วว่าต้องการผลักดันการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่นายกรัฐมนตรีกลับลอยตัว ควบคุมเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ ตอกตะปูปิดฝาโลงเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าประชาชนคนไทยจะไม่มีวันมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน ที่เถียงกันในสภาเป็นเพียงแค่ละครปาหี่ว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง ทั้งที่รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นการนำข้ออ้างทางกฎหมายมาบังหน้าเหตุผลทางการเมือง เพราะพรรคร่วมรัฐบาลไม่อยากแก้ มีเสียง สว. อยู่ในมือจะแก้ทำไม ประเทศก็เลยต้องสูญเสียไปอีกครั้ง ต้องอยู่ภายใต้กติกาที่ร่างมาโดย คสช. สืบทอดกลไกที่มาจากคณะรัฐประหาร และไม่แก้ไขและดำรงไว้โดยรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร


ในขณะที่ประชาชนคนไทยต้องทนอยู่กับปัญหาที่อยู่รายล้อมรอบตัว เดินออกจากบ้านก็เจอฝุ่น pm 2.5 ใครอยู่ชายฝั่งก็ต้องเจอปลาหมอคางดำ ยังไม่นับรวมสถานการณ์สงครามการค้าโลกที่ห่วงโซ่อุปทานของโลกกำลังฉีกออกเป็น 2 ส่วน บีบให้ทุกประเทศต้องเลือกข้าง หรือผู้ประกอบธุรกิจก็ต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น ภายใต้ปัญหาประเทศที่รุมเร้า บริบทโลกที่บีบรัด เศรษฐกิจไทยกลับโตรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียน ต้นทุนในการดำรงชีวิตของประชาชนสูงขึ้น คุณภาพชีวิตแย่ลง โอกาสในการประกอบธุรกิจหมดไป ขีดความสามารถของประเทศถดถอย สิ่งที่ประเทศไทยเก่งในวันนี้คือสิ่งเดียวกับที่ประเทศไทยเคยเก่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่สามารถปรับตัวตามโลกที่เปลี่ยนไปได้


ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่าจากที่กล่าวมาทั้งหมด รัฐบาลกลับสนใจเพียงการแจกเงินกับการสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งคงไม่สามารถกู้วิกฤตให้กับประเทศนี้ได้ เพราะเงินหมื่นที่แจกไปได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแทบไม่ได้กระตุ้นการเติบโตเลย การสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ก็มองเห็นได้ล่วงหน้า ว่าจะมีผู้ได้รับผลประโยชน์อยู่เพียงเพียงไม่กี่กลุ่ม ก็คือกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล นี่คืออีกหนึ่งโอกาสที่คนไทยจะต้องสูญเสียไปจากการที่มีรัฐบาล “คิดไป ทำไป” หาทางซื้อคะแนนเสียงไปวันๆ


ดีลแลกประเทศในครั้งนี้มีเพียงคนไม่ถึง 1% ที่ได้รับผลประโยชน์ แม้จะต้องทำลายล้างระบบนิติรัฐ นิติธรรม หรือกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศ ไปถึงการยอมทำให้ประเทศไทยถูกแช่แข็ง เศรษฐกิจล้าหลัง ทิ้งเศษซากปรักหักพังไว้ให้คนอีกกว่า 99% ในประเทศนี้ ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทุกมิติ ปัญหาสำคัญของประเทศยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งเรื่องประสิทธิภาพ ความโปร่งใส ความเป็นประชาธิปไตย ที่ดัชนีตกลงทุกด้าน การทุจริตคอร์รัปชันก็ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 12 ปี ยิ่งกว่ายุครัฐบาล คสช. เสียอีก ประชาชนหมดหวังในการทำธุรกิจ การประกอบสัมมาชีพตั้งแต่ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการบริการ ปากท้องของคนไทย 99% แย่ลงทุกระดับ


ถ้ามองไปยังอนาคต ราคาที่ประเทศไทยและคนไทยต้องจ่ายให้กับรัฐบาลแพทองธารจะยิ่งสูงมากขึ้นกว่านี้อีก เพราะไทยยังต้องเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสงครามการค้าโลก รัฐบาลนี้ทำให้ประเทศไทยอ่อนแอ คนไทยไม่กล้าฝัน ไม่กล้าหวังถึงอนาคตที่ดีกว่า ต้นตอก็มาจากรัฐบาลชุดนี้ที่เกิดขึ้นจากการจัดตั้งภายใต้ ‘ดีลแลกประเทศ’ ถึงวันนี้ ไม่มีแล้ว สองก๊ก สามก๊ก เหลือแค่ก๊กเดียวคือพรรคร่วมคณะรัฐประหาร ที่พวกเขาทั้งหมดคือพวกเดียวกัน หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว” ณัฐพงษ์กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อภิปรายไม่ไว้วางใจ68 #อภิปราย151 #พรรคประชาชน