ตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหายจากกรณีทรมาน-อุ้มหาย และครอบครัวกว่า 25 กรณี ยื่นหนังสือต่อ กมธ. การกฎหมายฯ ร้องรัฐบังคับใช้กฎหมายนี้ ให้เกิดความยุติธรรม
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 เวลา 12.15 น. ตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียหายกรณีทรมาน การลงโทษหรือกระทำด้วยประการใดที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการบังคับบุคคลให้สูญหายกว่า 25 กรณี พร้อมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคมเดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือถึงชลธิชา แจ้งเร็ว โฆษกกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อทำให้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข รองผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่าเนื่องจากสองปีผ่านไปเครือข่ายยังคงเห็นความท้าทายในการนำ พ.ร.บ. ป้องกันการทรมาน-อุ้มหายไปปฏิบัติ เช่น การสืบสวนสอบสวนกรณีความผิดตาม พ.ร.บ.ฯ ที่เป็นไปอย่างล่าช้าแม้ได้รับข้อร้องเรียนถึง 125 กรณีกลับมีเพียงสองกรณีที่ฟ้องเป็นคดีสู่ชั้นศาล การมีคำสั่งยุติการสอบสวนเพื่อให้ทราบชะตากรรมกรณีผู้ถูกบังคับให้สูญหายเกือบทุกกรณี การออกระเบียบเยียวยาตามกฎหมายฉบับนี้ที่แม้จะมีการดำเนินการมามากกว่าหนึ่งปีแต่ปัจจุบันยังไม่มีการเผยแพร่และได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลัง รวมถึงการขับไล่ส่งกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชา 7 คน และชาวอุยกูร์ 40 คน ที่อาจมีความเสี่ยงว่าจะตกอยู่ในอันตรายตามมาตรา 13 เป็นต้น
เนื่องในโอกาสครอบรอบสองปี พ.ร.บ. ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย เครือข่ายผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียหายกรณีทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ และการอุ้มหาย ได้ร่วมกันสะท้อนความคิดเห็นถึงข้อท้าทายที่เผชิญจากประสบการณ์ในการดำเนินการตามกฎหมายฉบับใหม่ในฐานะผู้เสียหาย โดยกลุ่มผู้เสียหายได้เสนอแนะถึงแนวทางการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ได้จริง และเพื่อให้มั่นใจว่าจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการนำมาซึ่งความยุติธรรมและยุติความทุกข์ทรมานของผู้เสียหายและครอบครัวในทุกมิติ
น.ส.ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข รองผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า “สองปีผ่านมายังจำได้ดีวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ทุกคนหน้าชื่นตาบาน รัฐบาลได้ใช้เป็นกระเช้าของสมนาคุณไปอวดคนทั่วโลก แต่ในกล่องไม่มีผลผลิตจริงๆเลย”
ผู้สื่อข่าวรายด้วยวว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้ มีการเผยแพร่เนื้อความในหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับความท้าทายและข้อเสนอแนะอันเป็นเสียงสะท้อนจากเครือข่ายผู้เสียหายต่อสาธารณชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรเครือข่ายจึงขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจติดตามการยื่นหนังสือในครั้งนี้เพื่อติดตามความคืบหน้าของ พ.ร.บ. ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย หลังมีการบังคับใช้มาแล้วสองปี ผ่านมุมมองผู้เสียหายโดยตรง เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถยุติการกระทำทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ และการอุ้มหาย และปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริงตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนและต่อประชาคมโลก
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธกฎหมาย