วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2568

“หมอเหวง” พร้อมทนาย นำคณะประชาชนทวงความยุติธรรม ปี 53 ยื่นกมธ.กฎหมายฯ นักการเมืองที่ทำผิดอาญาต่อประชาชนต้องขึ้นศาลพลเรือน และ ติดตามขอเอกสารผู้เสียชีวิตเหตุสลายชุมนุม53 จากดีเอสไอ-สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนและป้องกันการเกิดรัฐประหารในอนาคต

 


หมอเหวง” พร้อมทนาย นำคณะประชาชนทวงความยุติธรรม ปี 53 ยื่นกมธ.กฎหมายฯ นักการเมืองที่ทำผิดอาญาต่อประชาชนต้องขึ้นศาลพลเรือน และ ติดตามขอเอกสารผู้เสียชีวิตเหตุสลายชุมนุม53 จากดีเอสไอ-สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนและป้องกันการเกิดรัฐประหารในอนาคต


วันนี้ (13 มีนาคม 2568) ภายหลังนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะ กมธ. การทหาร รับยื่นหนังสือจาก นายเหวง โตจิราการ และคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 แล้วนั้น


จากนั้น เวลา 14.30 น. นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ รองประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากนายแพทย์ เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และคณะประชาชนทวงคืนความยุติธรรม 2553 (คปช.53) ขอให้ติดตามความคืบหน้าและขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และเอกสารที่เกี่ยวกับความเห็นให้งดการสอบสวนและสั่งไม่ฟ้องจากสำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึง แก้ไขกฎหมายกรณีที่นักการเมืองทำความผิดอาญาต่อประชาชนให้ขึ้นศาลพลเรือน


สืบเนื่องจากประธาน คณะ กมธ. การกฎหมายฯ ได้บรรจุข้อเรียกร้องของคณะประชาชนฯ เพื่อพิจารณาติดตามการดำเนินคดีเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553 เพื่อเสนอแนวทางในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ เมื่อวันพุธที่ 18 กันยายน 2567 นั้น


กรมสอบสวนคดีพิเศษมีหน้าที่ในการต้องสอบสวนให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดแต่ยังไม่ปรากฏว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษมีการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด และยังไม่ทำสำนวนสอบสวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จเรียบร้อยตามกฎหมาย คณะประชาชนฯ จึงขอเรียกร้องให้คณะ กมธ. การกฎหมายฯ ตรวจสอบการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ว่าดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และขอให้ทางคณะ กมธ. ขอเอกสารเพิ่มเติมของทุกศพจากกรมสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวกับสำนวนสอบสวนและคำสั่ง รวมทั้งขอรายละเอียดจากสำนักงานอัยการสูงสุดเกี่ยวกับสำนวนและคำสั่งต่าง ๆ คำสั่งงดการสอบสวน และให้สอบสวนภายในอายุความ เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกคนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อสร้างมาตรฐานทางกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย รัฐไม่สามารถใช้อำนาจและกองกำลังติดอาวุธมาทำการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนที่มาเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญอย่างสงบปราศจากอาวุธ เพื่อจะได้ไม่เป็นเช่นกรณีเดียวกับคดีตากใบ


นายแพทย์ เหวง กล่าวว่า เป็นที่น่าเสียใจที่ DSI ส่งเพียงข้อสรุปที่ได้ดำเนินการมาโดยไม่มีรายละเอียดและข้อสรุปที่ส่งมานั้น ปรากฏว่าไม่ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายด้วย กรณีที่ดีเอสไอส่งเอกสารแจ้งว่าได้สรุปผลผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุม 88 ศพ แต่ไม่ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เช่น 31 ศพ เจาะจงว่า ศพที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หรืออยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ ต้องชันสูตร


โดยพนักงาน 4 ฝ่าย คือ ตำรวจ อัยการ แพทย์ และฝ่ายปกครอง แต่หลังจากชันสูตรแล้วมีเพียง 6 ศพ ที่ระบุว่าอัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง โดยไม่มีรายละเอียด ส่วนอีก 25 ศพ ระบุว่าอัยการให้งดการสอบสวน ซึ่งน่าสงสัยว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติ ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ต้องส่งฟ้องเพื่อให้ศาลตัดสิน ซึ่งกรณีนี้ไม่มีการส่งรายละเอียดใด ๆ มาประกอบเช่นกัน ส่วนเอกสารที่ทางอัยการส่งมา เป็นรายละเอียดของการฟ้องผู้ชุมนุมจำนวนมากในเรื่องการก่อความไม่สงบสร้างความวุ่นวายและพกพาอาวุธสงครามในเมือง ซึ่งศาลได้ยกฟ้องไปทั้งหมดแล้ว แต่กลับไม่มีรายละเอียดของ 88 ศพ


นอกจากนี้ ยังขอให้แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้นักการเมืองที่มีส่วนร่วมในการสังหารประชาชนต้องขึ้นศาลพลเรือน พร้อมนำเสนอร่างส่งให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายดังกล่าว จากเดิมต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง


ด้าน น.ส. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่าประเด็นที่ทางคณะประชาชนฯ ได้มายื่นในวันนี้มีอยู่ 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก ติดตามความคืบหน้าในการขอเอกสาร ซึ่งกรณีนี้เคยนำเข้าคณะกมธ. การกฎหมายฯ แล้ว และได้มีการขอเอกสารเกี่ยวกับคดีไปยังอัยการสูงสุดและกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว ถึงแต่เอกสารที่ได้มายังไม่เป็นรายละเอียดที่ต้องการ ประเด็นที่สอง คือการแก้ไขกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยทางคณะประชาชนฯ ได้นำเสนอร่างกฎหมายมา ซึ่งตนจะนำเรื่องที่ได้รับบรรจุในวาระเพื่อพิจารณา และคาดหวังว่าคดีของเสื้อแดงจะไม่หมดอายุความเหมือนคดีตากใบที่ไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธกฎหมาย #คนเสื้อแดง #คปช53 #เมษาพฤษภา53


หนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน








สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. คำโต้แย้งของอธิบดีศาลอาญาคดี 93 ศพ เมื่อได้ตรวจสำนวนคดีหมายเลขดำ ที่ อ.4552/2556 และ คดีหมายเลขดำ ที่ อ.1375/2557









สิ่งที่ส่งมาด้วย 2. ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 (ฉบับที่......) พ.ศ............. (ร่างชั้นต้น)