วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2568

สส.ปชน.ร่วมสมาคมวิศวกรโครงสร้างตรวจสอบความเสียหายอาคารบ้านเอื้ออาทร ชี้ข้อสังเกตการตรวจสอบอาคารควรเพิ่มกรณีความเสี่ยงไฟฟ้าลัดวงจร แนะจัดสรรวิศวกรตามลำดับความสำคัญ

 


สส.ปชน.ร่วมสมาคมวิศวกรโครงสร้างตรวจสอบความเสียหายอาคารบ้านเอื้ออาทร ชี้ข้อสังเกตการตรวจสอบอาคารควรเพิ่มกรณีความเสี่ยงไฟฟ้าลัดวงจร แนะจัดสรรวิศวกรตามลำดับความสำคัญ


วันที่ 31 มีนาคม 2568 ที่โครงการบ้านเอื้ออาทรติดนิคมสมุทรสาคร ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.สมุทรสาคร เขต 1 พรรคประชาชน พร้อมด้วย คณะอาสาจากสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับ พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน และผู้นำชุมชนในพื้นที่ เข้าตรวจสอบอาคารในโครงการบ้านเอื้ออาทรติดนิคมสมุทรสาคร ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร จากที่มีประชาชนที่อาศัยอยู่ในโครงการแจ้งเข้ามาว่า อาคารในโครงการได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวจนเสียหายมากขึ้น ซึ่งผลการตรวจสอบเบื้องต้นจากวิศวกรพบว่าอาคารบางส่วนเห็นเหล็กโผล่ออกมาจากปูน มีสาเหตุมาจากปัญหาระบบน้ำประปา เมื่อเกิดการรั่วซึมลงมาทำให้โดนเหล็ก เมื่อเหล็กเป็นสนิมจึงระเบิดออกมาจนเห็นเหล็กโผล่ ข้อแนะนำเบื้องต้นจำเป็นต้องมีการแก้ที่ระบบน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก และมีข้อกังวลเรื่องไฟฟ้าลัดวงจร หากน้ำหยดลงมาที่แผงไฟ นอกจากนี้เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว ทำให้ปัญหาที่เดิมมีอยู่แล้วได้รับผลกระทบมากขึ้น หลังจากนี้จะได้ทำรายงานตรวจสอบอาคารส่งกลับไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป


ในส่วนของพริษฐ์ กล่าวว่าวันนี้เป็นส่วนหนึ่งความพยายามของพรรคประชาชนที่จะช่วยเติมกำลังในพื้นที่ปริมณฑล ช่วยจัดสรรวิศวกรอาสาจากทางสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยมาตรวจความปลอดภัยของอาคารตามคำร้องขอของนิติและผู้พักอาศัย ซึ่งจากการมาตรวจอาคารเอื้ออาทรที่สมุทรสาคร มี 2 ข้อสังเกตสำคัญที่ต้องขบคิดต่อในเชิงข้อเสนอภาพใหญ่ 


ประการแรก การประเมินความปลอดภัยของอาคาร อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่การประเมินเรื่องความปลอดภัยเชิงโครงสร้างเพียงอย่างเดียว - จากการตรวจสภาพโครงการบ้านเอื้ออาทร แม้แผ่นดินไหวจะไม่ได้กระทบต่อตัวโครงสร้างอาคารมากนัก แต่แผ่นดินไหวได้ส่งผลกระทบให้ปัญหาน้ำรั่วที่เป็นปัญหามาอยู่ก่อนหน้านี้ เกิดอาการรั่วหนักยิ่งกว่าเดิม ซึ่งไปเพิ่มความเสี่ยงที่จะรั่วจนไปโดนสายไฟและทำให้เกิดอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจรได้ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการซ่อมแซมเป็นการต่อไป


ประการที่สองคือข้อจำกัดสำคัญในการตรวจอาคารโดยเฉพาะในพื้นที่ปริมณฑลคือเรื่องของจำนวนวิศวกร โดยปัจจุบันช่องทางในการขอวิศวกรถูกแบ่งออกเป็นหลายช่องทาง ในระดับจังหวัดมีการเปิดให้อาคารเอกชนขอวิศวกรได้ผ่านโยธาธิการจังหวัด ในขณะที่โครงการเอื้ออาทรถูกกำหนดให้วิศวกรผ่านการเคหะฯ ได้ - สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือการมีเจ้าภาพที่ชัดเจนในการรวบรวมวิศวกรที่สามารถตรวจอาคารในพื้นที่ดังกล่าว และการจัดสรรวิศวกรให้แต่ละประเภทอาคารตามลำดับความสำคัญ


ทั้งหมดนี้เป็น 2 ข้อสังเกตที่ สส.พรรคประชาชนจะนำไปเสนอเพิ่มเติมให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป


ด้านณัฐพงษ์กล่าวว่าในฐานะ สส.พื้นที่ ตนขอขอบคุณสมพรและคณะอาสาจากสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ที่สละเวลามาช่วยตรวจอาคารและจัดโครงการในการรวบรวมวิศวกรมาอาสาช่วยสังคมในช่วงเวลาวิกฤตสำคัญของประเทศ พวกเราล้วนต้องการช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อก้าวผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกันด้วยความปลอดภัย หลังจากนี้ในกรณีของ ตึก 12 ปี โรงพยาบาลสมุทรสาคร จะได้ทำหน้าที่ประสานข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนกรณีโครงการบ้านเอื้ออาทรติดนิคมสมุทรสาคร จะนำปัญหานี้ประสานในระดับจังหวัด และจะนำเรื่องนี้ที่เป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนปรึกษาหารือในสภาเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขโดยเร็วต่อไป


ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า ณัฐพงษ์ และ สมพร พุทธิชัยกุล หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ในฐานะวิศวกรอาสาจากสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ร่วมกับบุคลากรจากหน่วยราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าตรวจสอบโครงสร้างอาคาร 12 ปี โรงพยาบาลสมุทรสาคร ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา


เบื้องต้นพบว่าโครงสร้างหลักของอาคารไม่ได้รับผลกระทบ พบรอยร้าวของผนังปูนฉาบและก่ออิฐเป็นจุดๆ ตั้งแต่ช่วงชั้นที่ 1-5 และเริ่มน้อยลงตั้งแต่ชั้นที่ 6 เป็นต้นไป และแทบไม่มีความเสียหายจากชั้นที่ 8 เป็นต้นไป ฝ้าและบริเวณคอเสาต่างๆ ไม่พบปัญหาแตกร้าว จึงคิดว่าในเรื่องความแข็งแรง น่าจะปลอดภัยดีอยู่ หลังจากนี้จะมีการส่งข้อมูลกลับไปให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยให้เข้ามาพิจารณาและออกหนังสือรับรองให้อีกครั้งเพื่อดำเนินการซ่อมแซมต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #แผ่นดินไหว










นายกรัฐมนตรี ติดตามการช่วยเหลือ ผู้ติดค้างในตึก สตง. ถล่ม พร้อมให้กำลังใจทีมไทยและทีมอาสาต่างชาติ ย้ำ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงาน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

 


นายกรัฐมนตรี ติดตามการช่วยเหลือ ผู้ติดค้างในตึก สตง. ถล่ม พร้อมให้กำลังใจทีมไทยและทีมอาสาต่างชาติ ย้ำ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงาน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว


วันนี้ (31 มีนาคม 2568) เวลา 12.00 น.นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้ลงพื้นที่เขตจตุจักร เพื่อติดตามความคืบหน้า อาคาร สตง. ถล่ม เพื่อติดตามสถานการณ์และรับฟังรายงานล่าสุด


โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้พบกับอาสาสมัครจากหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งผู้แทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนของกองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมรับฟังรายงานล่าสุด ซึ่งมีข่าวดีว่าเจ้าหน้าที่ตรวจพบสัญญาณชีพเพิ่มเติม จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินไปที่จุดของหน่วยกู้ชีพซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว


โดยนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับทีมอาสาชาวต่างชาติ ว่า หากต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มเติม ขอให้ติดต่อมาได้ทันที รวมทั้ง ได้สอบถามเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับวิธีการลำเลียงผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ซึ่งพบว่า เส้นทางนำส่งผู้ประสบภัยไม่มีความซ้ำซ้อนกับเส้นทางหลัก โอกาสนี้ ได้พบปะหารือกับนางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่เดินทางมาร่วมให้กำลังและคอยสังเกตการณ์ในพื้นที่ เนื่องจากทางการอิสราเอลได้นำเครื่องมือพิเศษสแกนหาสัญญาณชีพมาร่วมในปฏิบัติค้นหาผู้ติดค้างตึกถล่มในครั้งนี้ด้วย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #แผ่นดินไหว









รำลึก #15ปีเมษาพฤษภา53 ตอนที่ 6


รำลึก #15ปีเมษาพฤษภา53 ตอนที่ 6

 

จากบทบรรยาย ยุทธการขอคืนพื้นที่ เมษา 53

(เหตุการณ์ 13 มีนาคม 2553 ถึง 10 เมษายน 2553)

 

สถานการณ์ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนนั้น มีมูลเหตุของเหตุการณ์และลำดับความรุนแรงมาโดยลำดับจากวันที่ 7 เมษายน 2553 ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอ้างว่าได้มีผู้ชุมนุมบางส่วนของกลุ่ม นปช. ได้บุกรุกเข้าไปในรัฐสภา ซึ่งมูลเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดจากการที่ผู้ชุมนุมที่ปราศรัยด้านหน้าประตูรัฐสภานั้นได้ถูกขว้างกระป๋องระเบิดเพลิงใส่ผู้ชุมนุม และปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมนั้นเข้าไปในรัฐสภา และเป็นการเข้าไปเพียงเพื่อหาคำตอบจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ สิ่งที่ผู้ชุมนุมได้พบเห็นคือ การ์ดส.ส.และเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งถืออาวุธสงครามคุ้มกันนายสุเทพปืนกำแพงรั้วรัฐสภาเพื่อขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกไป หลังเหตุการณ์ กลุ่มผู้ชุมนุมนปช.ก็ได้ออกจากรั้วรัฐสภาอย่างสงบไร้ความรุนแรงใด ๆ ทั้งสิ้น

 

ต่อมากลุ่มผุ้ชุมนุม นปช. ก็ได้เคลื่อนไปยังสถานีดาวเทียมไทยคม เพราะว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์นั้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปยึดและตัดสัญญาณการออกอากาศของสถานี PEOPLE CHANNEL นับเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข่าวสารของประชาชน รวมถึงสั่งการให้ปิดสถานีวิทยุชุมชน จนเป็นเหตุของการเคลื่อนกำลังของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ไปที่สถานีดาวเทียมไทยคม และนี่คือมูลเหตุเพียงอย่างเดียวที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ใช้ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ศอ.รส. ถูกยกระดับไปเป็น ศอฉ. เพื่อใช้เป็นความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจต่อไป

 

หลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายสาธิต วงศ์หนองเตย ได้ให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลจะดำเนินการเคลียร์พื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ปิด PEOPLE CHANNEL, จับกุมแกนนำ นปช.และเพิ่มมาตรการเข้มข้นป้องกันการก่อวินาศกรรม

 

หลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเช้าวันต่อมาคือวันที่ 8 เมษายน 2553 ก็ได้มีการออกหมายจับแกนนำ นปช. ที่นำมวลชนไปบุกรัฐสภา 7 คน และต่อมาก็ได้ออกหมายจับแกนนำเพิ่มเติมอีก 7 คน และ ศอฉ. ยังสามารถตัดสัญญาณสถานีโทรทัศน์ PEOPLE CHANNEL ซึ่งเป็นสื่อเพียงช่องทางเดียวที่เหลืออยู่สำหรับให้ประชาชนได้รับรู้ความจริงในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.

 

ผลพวงจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การยกระดับให้ศูนย์อำนวยความสงบเรียบร้อยหรือ ศอ.รส. เป็นศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ ดำเนินงานด้วยงบประมาณถึง 3,700 ล้านบาทและการดำเนินงาน 2 เดือนพบว่า ใช้งบประมาณไปกว่า 5,000 ล้านบาท และได้ตัดกำลังทหารเพื่อเข้าร่วมภารกิจครั้งนี้ถึง 54,000 นาย ซึ่ปงระกอบไปด้วยทหารจากกองพลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

1. พล.รอ. จำนวน 21 ร้อย.รส. โดยมีทหารจาก มทบ.11 จากกองทัพภาคที่ 3 เข้าร่วมจำนวน 11 ร้อย.รส. ควบคุมพื้นที่ แยกจปร. แยกเทวกรรม ไปยังสะพานมัฆวานรังสรรค์ และรักษาแนวที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ

 

2. พล.ร.รอ. จำนวน 14 ร้อย.รส. โดยมี พล.ร.จำนวน 10 ร้อย.รส. และพล.ม. 2 รอ. จำนวน 1 ร้อย.รส. ขึ้นควบคุมทางยุทธการกับ พล.ร.รอ. ควบคุมพื้นที่แยกคอกวัวไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และจากรายงานข่าวพบว่ามีการนำรถบัส รถน้ำ และรถจี๊บที่ใช้ในราชการของกองทัพมาจอดขวางทางขึ้นสะพานปิ่นเกล้าจากฝั่งธนบุรี ระบุได้ว่า ร.29 พัน 1 และทหารราว 5-6 กองร้อยจาก (เป็นหน่วยในสังกัดของ พล.ร.9) บนถนนอรุณอัมรินทร์ ทางที่จะมุ่งหน้าไปโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง จึงคาดเดาได้ว่าน่าจะมาจาก ร.29 พัน 1 เช่นกัน

 

3. ทหารจากทางด้านสะพานพระราม 8

 

4. นปอ. จำนวน 18 ร้อน.รส. ควบคุมพื้นที่แยกการเรือนแยกอู่ทองแยกวังแดงแยกวัดเบญจมบพิตรแยกอุทัยแยกเสาวนีย์แยกเทวกรรม

 

5. นปพ.ทบ. จัดชุดปฏิบัติการพิเศษ ปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยบินเฉพาะกิจ ศอฉ. ในการตรวจการและการใช้แก๊สน้ำตาทางอากาศเพื่อสนับสนุนภารกิจของ ทภ.1/กกส.รส.ทภ.บริเวณพื้นที่ชุมนุมตามขั้นตอนของกฎการใช้กำลัง

 

6. สยก.ศอฉ. และ สกร.ศอฉ. จัดชุม ปจว. ทางอากาศปฏิบัติภารกิจโปรยเอกสารคำชี้แจงของ ศอฉ. สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่กลุ่มผู้ชุมนุม

 

การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงฉบับนี้ทำให้แสดงถึงเจตนาของรัฐบาลที่จะใช้ความรุนแรงสูงสุดปราบปรามประชาชนอย่างไร้เหตุผลพอสมควร เพราะยังไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงใด ๆ เกิดขึ้นในเวลานั้น การเข้าไปในรัฐสภาของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จำนวนหนึ่ง ก็ไม่มีเรื่องความรุนแรงใด ๆ นอกจากนี้ประชาชนยังได้ขาดความเชื่อมั่นต่อองค์กรอิสระหลายองค์กร โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ละเลยที่แสดงบทบาทคัดค้านอำนาจรัฐที่ประกาศพระราชบัญญัติความมั่นคงตั้งแต่ 9 มีนาคม และกรณี 7 เมษายน 2553 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ ต่อการออก พ.ร.บ. และ พ.ร.ก. ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ออกมาในขณะเหตุการณ์นั้น มีเพียงคำพูดที่ออกมาจากปากประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพียงสั้น ๆ ที่บอกว่ายังงง ๆ อยู่เมื่อถูกถามว่าทำไมไม่คัดค้าน พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นี่คือข้อแก้ตัวที่ต่อมาภายหลังก็ได้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมและความลำเอียงกับกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. กับรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ชื่อว่า รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มนปช.ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งถือว่าเป็นจุดยืนและทัศนคติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดนี้ ซึ่งได้มาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 เน้นการกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง มีชายชุดดำ รัฐบาลจึงมีความชอบธรรมในการใช้กำลังทหารปราบปราม เป็นการปกป้องรัฐบาล เป็นทัศนะที่อคติ เลือกข้างฝ่ายการเมืองอย่างชัดเจนจนนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างตามมาต่อรายงานฉบับนี้

 

การต่อสู้ของกลุ่ม นปช. นั้นแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้แบบสันติวิธีไม่ใช้ความรุนแรงใด ๆ ดังจะเห็นได้จากกรณีของการรับข่าวสารว่ามีทหารได้มีการแทรกแซงเข้าไปซ่อนตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร และซุกซ่อนอาวุธตามวัดและสถานที่ราชการต่าง ๆ ในรอบ ๆ บริเวณพื้นที่ชุมนุม และได้มีการขอเข้าไปตรวจค้นจากคนเสื้อแดง ซึ่งนำโดยนพ.เหวง โตจิราการ และก็ได้มีการขัดขวางการเข้าไปขอตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ หลัง ศอฉ. ได้ทำการตัดสัญญาณสถานีโทรทัศน์ PEOPLE CHANNEL ได้สำเร็จและส่งทหารเข้าควบคุมสถานไทยคมที่ลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี

 

ขอบคุณภาพ : มติชน, บีบีซี, ประชาไท

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คปช53 #นปช #คนเสื้อแดง




รำลึก #15ปีเมษาพฤษภา53 ตอนที่ 5


รำลึก #15ปีเมษาพฤษภา53 ตอนที่ 5

 

ปรับปรุงจากบทบรรยาย ยุทธการขอคืนพื้นที่ เมษา 53

(เหตุการณ์ 13 มีนาคม 2553 ถึง 10 เมษายน 2553)

 

เมษายน 2553 ท่ามกลางการเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากเดือนมีนาคมซึ่งเหตุการณ์เป็นไปด้วยความสงบและสันติวิธี มีการเจรจาระหว่างแกนนำและรัฐบาล โดยฝ่ายของ นปช. เองมีจุดยืนเพียงแค่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์นั้นยุบสภาแล้วลาออกและให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่


แต่การเจรจานั้นต้องล้มเหลวเพราะรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่ได้แยแสต่อข้อเรียกร้องของกลุ่ม นปช. และการเจรจาครั้งนั้นล้มเหลวเพราะเป็นการพูดโชว์หน้าโทรทัศน์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธานนปช. ได้เปิดเผยในภายหลังว่า การเจรจาระหว่างรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และแกนนำนปช.ครั้งนั้น เป็นเสมือนการแสดงละครหน้าจอโทรทัศน์ ที่นายอภิสิทธิ์ยอมเจรจาก็เพื่อความชอบธรรมที่แสดงให้กองเชียร์ฝ่ายตนเห็นว่าฝ่ายรัฐบาลจริงใจและต้องการเจรจาเพื่อหาทางออก เมื่อการเจรจาเป็นเพียงการแสดงละครของนายอภิสิทธิ์เช่นนั้น แกนนำนปช.ที่ไม่ได้อยู่ในวงเจรจาและเฝ้าดูอยู่ทางโทรทัศน์เห็นว่าไม่ได้เกิดประโยชน์อันใด จึงได้แจ้งให้ยุติการเจรจาดังกล่าวเสีย ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ให้สัมภาษณ์มาตลอดว่า แกนนำนปช. เป็นสมุนบริวารและทำตามคำสั่งของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่สั่งให้ยุติการเจรจาครั้งนั้น แต่เปล่าเลย...เป็นแกนนำนปช.ที่ดูการเจรจาผ่านโทรทัศน์เป็นคนโทรไปบอกให้ยุติการเจรจา ดังนั้นสิ่งที่นายอภิสิทธิ์บอกว่า ดร.ทักษิณ สั่งนั้น จึงเป็นเรื่องเท็จโดยสิ้นเชิง!


ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่นายอภิสิทธิ์พูดอยู่เสมอว่า การตายเมื่อ 10เมษา53 นั้นเกิดจากการยิง M79 แต่แท้จริงแล้วผลพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าทหารที่ตายและบาดเจ็บนั้นเกิดจากระเบิดขว้างชนิด M67 เพราะฉะนั้น นายอภิสิทธิ์ หยุดพูดโกหกเสียที!


หลังจากการเจรจาที่ล้มเหลว นายอภิสิทธิ์ก็ยังดำเนินการตามแผนทุกวิถีทางเพื่อจัดการปราบปรามผู้ชุมนุม นปช. จนนำมาสู่เหตุการณ์การปราบปรามประชาชนในวันที่ 10 เมษายน 2553


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คปช53 #นปช #คนเสื้อแดง





รำลึก #15ปีเมษาพฤษภา53 ตอนที่ 4

 


รำลึก #15ปีเมษาพฤษภา53 ตอนที่ 4


ปรับปรุงจากบทบรรยาย ยุทธการขอคืนพื้นที่ เมษา 53

(เหตุการณ์ 13 มีนาคม 2553 ถึง 10 เมษายน 2553)


เมษายน 2553 เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ได้พิจารณาแล้วถึงความเหมาะสมในการยกระดับการชุมนุม เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่ได้มีปฏิกิริยาใด ๆ ต่อกระแสของประชาชนที่ชุมนุมเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นมีจุดยืนเพียงแค่ยุบสภาแล้วลาออก คืนอำนาจให้กับประชาชนเป็นผู้เลือกว่าต้องการใครมาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ ประกอบกับจำนวนผู้ชุมนุมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากคนในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้พื้นที่ชุมนุมสะพานผ่านฟ้านั้นไม่สามารถรองรับได้ จึงมีมติเลือกพื้นที่ราชประสงค์ซึ่งมีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และกลุ่มผู้ชุมนุมนปช. มองว่าพื้นที่ราชประสงค์นั้นเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของการต่อสู้ของชนชั้นที่แตกต่าง เพราะในแถบพื้นที่นี้มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ และมีผู้คนที่มีความแตกต่างกันในด้านชนชั้นทางสังคม เป็นพื้นที่ที่รวบรวมเอาความหลากหลายในหลาย ๆ ด้านเข้าไว้ และบริเวณใกล้เคียงเป็นละแวกของคนจนเมืองอาศัยอยู่มากมาย สะดวกกับผู้ที่จะเดินทางมาชุมนุมที่มาจากด้านตะวันออก จึงเห็นชอบให้มีการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุม นปช. มาปักหลักชุมนุมยังบริเวณพื้นที่ราชประสงค์อีกหนึ่งเวที


นปช. เคลื่อนขบวนใหญ่ นำโดย วีระ จตุพร และ นพ. เหวง มุ่งหน้าไปชุมนุมที่แยกราชประสงค์ และในเวลาประมาณ 13.00 น. ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ รอบแยกราชประสงค์ต่างปิดทำการ ต่อมาช่วงเย็นแกนนำ นปช. ประกาศ 4 ข้อ

1) ให้รัฐบาลยุบสภาทันที

2) จะปักหลักชุมนุมไม่มีกำหนด

3) การชุมนุมจะเป็นไปอย่างสันติ และ

4) พร้อมฟังจุดยืนของรัฐบาล และพร้อมรับเหตุการณ์ทุกรูปแบบ


โดยในวันเคลื่อนขบวนมาปักหลักบริเวณแยกราชประสงค์ก็ได้มีภาพของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.จำนวนมากกระจายกันอยู่เต็มบริเวณผิวจราจรตั้งแต่แยกประตูน้ำด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ดต่อเนื่องไปจนถึงถนนราชดำริ และในระหว่างการเคลื่อนขบวนมาถึงพิธีกรบนเวทีก็ได้แจ้งให้กับผู้ชุมนุมว่าคืนนี้จะปักหลักชุมนุมข้ามคืน ที่แยกราชประสงค์มีการปักหลักเป็นเวทีคู่ขนานกับเวทีสะพานผ่านฟ้าจนมาถึงช่วงหลังสงกรานต์ 2553 ก็ได้ย้ายผู้คนมาชุมนุมที่เดียว คือเวทีราชประสงค์เพียงเวทีเดียวจนถึง 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นวันสลายการชุมนุม ณ บริเวณราชประสงค์


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คปช53 #นปช #คนเสื้อแดง





วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2568

“ภัทรพงษ์” เรียกร้องรัฐบาลเร่งประกาศภาคเหนือเป็นเขตภัยพิบัติฝุ่นพิษ แก้หลักเกณฑ์การใช้งบกลางเขตภัยพิบัติ เพื่อสนับสนุนกำลังคน-เทคโนโลยี เคลียร์อุปสรรคกฎเกณฑ์-งบประมาณ ย้ำต้องทำเร็ว อย่าให้ประชาชนเผชิญภัยเพียงลำพัง

 


“ภัทรพงษ์” เรียกร้องรัฐบาลเร่งประกาศภาคเหนือเป็นเขตภัยพิบัติฝุ่นพิษ แก้หลักเกณฑ์การใช้งบกลางเขตภัยพิบัติ เพื่อสนับสนุนกำลังคน-เทคโนโลยี เคลียร์อุปสรรคกฎเกณฑ์-งบประมาณ ย้ำต้องทำเร็ว อย่าให้ประชาชนเผชิญภัยเพียงลำพัง


วันที่ 30 มีนาคม 2568 ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ รองโฆษกพรรคประชาชน กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือขณะนี้ว่า ขณะที่หลายจังหวัดในประเทศไทยเผชิญภัยพิบัติแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ประชาชนในภาคเหนือก็กำลังเผชิญภัยพิบัติฝุ่นพิษ PM2.5 อย่างรุนแรงอยู่เช่นกัน สถานการณ์ตอนนี้ความรุนแรงสูงมากทุกจังหวัด โดยพื้นที่ที่ค่าฝุ่นพิษสูงขั้นร้ายแรงอยู่ที่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ค่า PM2.5 รายชั่วโมงเพิ่งทะลุ 842 AQI และ 1577 AQI ​ตามลำดับ​ แม้ว่าค่า PM2.5 สูงขนาดนี้ ในพื้นที่วิกฤตทั้งสองนี้กลับไม่มีห้องปลอดฝุ่น หรือมุ้งสู้ฝุ่นแม้แต่ชุดเดียว และที่หนักกว่านั้นเรายังไม่เห็นหน้ากากอนามัยที่แจกโดยภาครัฐแม้แต่ชิ้นเดียวด้วยซ้ำ ไม่มีการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนใดๆ จากภาครัฐเลย


เราจะปล่อยให้ประชาชนเผชิญภัยพิบัติฝุ่นพิษอย่างรุนแรงแบบนี้เพียงลำพังไปถึงเมื่อไหร่ ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร่งด่วนในเรื่องการประกาศเขตภัยพิบัติกรณีฝุ่นพิษ PM2.5 ดังนี้

(1) แก้ไขเกณฑ์จากเดิมที่รัฐบาลตั้งไว้ คือค่าเฉลี่ยรายวันมากกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่อง 5 วัน เป็นค่าเฉลี่ยรายวันมากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่อง 3 วัน

(2) เร่งออกประกาศเงื่อนไขการใช้งบกลางภัยพิบัติ (เงินทดรองราชการ) ให้สอดคล้องกับภัยพิบัติฝุ่นพิษ PM2.5 โดยด่วน เพราะมาถึงวันนี้กรมบัญชีกลาง “ยังทำไม่เสร็จ”

(3) กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ใช้เงินป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติโดยทันที (แต่ละจังหวัดจะมีเงินก้อนนี้อยู่ 10 ล้านบาท)

(4) ให้ทุกจังหวัดเมื่อประกาศเขตภัยพิบัติแล้ว สามารถใช้งบกลาง 20 ล้านบาทต่อจังหวัด ได้อย่างครอบคลุมตามสภาพปัญหา พร้อมแผนการขยายวงเงินของจังหวัดที่ประสบฝุ่นพิษอย่างรุนแรงด้วย

(5) หลักเกณฑ์การใช้เงินต้องครอบคลุมทุกส่วน นอกจากการจัดการปัญหาที่ต้นตอแล้ว ยังต้องครอบคลุมถึงผลกระทบต่อประชาชนในด้านสุขภาพด้วย เช่น การจัดทำห้องปลอดฝุ่น มุ้งสู้ฝุ่น รวมถึง การจัดซื้อหน้ากากอนามัย N95 ให้กับประชาชน หากกังวลข้อติดขัดเรื่องหลักเกณฑ์ตามระเบียบ ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆ ที่มีงบก้อนนี้ ออกหนังสือแจ้งรายการที่จำเป็นต้องใช้เงินนอกเหนือระเบียบ ไปยังกระทรวงการคลังโดยด่วน เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถใช้งบกลางช่วยเหลือประชาชนได้โดยไม่ต้องกังวลในภายหลัง

(6) กำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะระดับจังหวัด ให้จัดซื้อหน้ากากอนามัย มุ้งสู้ฝุ่น จัดทำห้องปลอดฝุ่นให้ประชาชนในพื้นที่ตามศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนเทศบาลที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ไม่มีนายกเทศมนตรี ให้กำชับไปยังปลัดท้องถิ่นให้ดำเนินการได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชน ในการดำเนินการโดยทันที


ภัทรพงษ์กล่าวว่า ต้นตอของฝุ่นพิษ PM2.5 ในภาคเหนือ ส่วนใหญ่มาจากไฟป่า จึงขอเรียกร้องรัฐบาลจัด กำลังคน เพื่อช่วยสลับสับเปลี่ยนการทำงานของทีมที่อยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน ไม่ให้เกิดความล้าสะสมเพื่อความปลอดภัย และจัดอุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่อแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์วิบากช่วยขนส่งเจ้าหน้าที่ เสบียง และอุปกรณ์ดับไฟไปยังจุดไฟป่า โดรนตรวจจับความร้อนให้การหาพิกัดหัวไฟและหางไฟให้กับเจ้าหน้าที่ และใช้ในการลาดตระเวนกลางดึกในพื้นที่ป่า ทั้งหมดจะช่วยให้การดับไฟมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น 


รองโฆษกพรรคประชาชนย้ำว่า ปัญหาภัยพิบัตินั้น จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วโดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด ฝ่ายบริหารต้องทำความเข้าใจกับปัญหาให้ถ่องแท้ เคลียร์อุปสรรค เปิดช่องทางทางกฎหมาย กำลังคนและงบประมาณ ให้กับฝ่ายปฏิบัติได้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ตนได้เสนอแนะไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่มาถึงปัจจุบันกลับไม่ได้รับการแก้ไขเตรียมการ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ยังทำไม่เสร็จ”


“อย่าให้ประชาชนต้องเผชิญภัยพิบัติเพียงลำพัง ถ้ายังเห็นคุณค่าของลมหายใจของประชาชน รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการโดยทันที ช้ามามากพอแล้ว อย่าปล่อยให้ปัญหาจบก่อนแล้วจึงแก้ไขเหมือนทุกครั้ง” ภัทรพงษ์ทิ้งท้าย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #ภัยพิบัติ #ฝุ่นพิษ

“เท้ง ณัฐพงษ์” เสนอรัฐยกระดับ “Traffy Fondue” เป็นระบบกลางให้ทุกจังหวัดใช้งานร่วมกันได้ เพื่อแจ้ง-ติดตาม-ช่วยเหลือเหตุภัยพิบัติ

 


“เท้ง ณัฐพงษ์” เสนอรัฐยกระดับ “Traffy Fondue” เป็นระบบกลางให้ทุกจังหวัดใช้งานร่วมกันได้ เพื่อแจ้ง-ติดตาม-ช่วยเหลือเหตุภัยพิบัติ


วันที่ 30 มีนาคม 2568 ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้ทุกจังหวัดเร่งสำรวจความเสียหาย ซึ่งหลายพื้นที่อาจไม่มีกลไกการแจ้งเรื่องที่ประชาชนรับรู้โดยทั่วกัน และมีประสิทธิภาพเพียงพอในการบริหารจัดการ


ต่างจากกรณีของกรุงเทพมหานคร ที่ผู้ว่าราชการฯ สามารถแถลงข่าวเพื่ออัปเดตสถานการณ์ให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ทราบโดยทั่วกันได้ตลอดเวลา ว่ามีเรื่องแจ้งเข้ามากี่กรณี ส่งวิศวกรเข้าไปตรวจสอบแล้วกี่กรณี นั่นเพราะทางกรุงเทพฯ มีระบบและการจัดการที่ต่างออกไปจากในจังหวัดอื่นๆ


ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า การสำรวจความเสียหายจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากมี “ระบบกลาง” ให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุ และติดตามสถานะได้ด้วยตัวเองอย่างสะดวกและชัดเจน ซึ่งเรามีตัวอย่างที่ดีจากกรุงเทพมหานคร ที่ใช้ Traffy Fondue เชื่อมโยงประชาชนเข้ากับหน่วยงานท้องถิ่นและวิศวกรอาสา ช่วยให้การรายงานและการลงพื้นที่ช่วยเหลือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสามารถมองเห็นภาพรวมของปัญหาได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องรอการรายงานกลับขึ้นมาจากแต่ละสำนักงานเขต


ต่างจากการบริหารจัดการในจังหวัดอื่นๆ หลายแห่ง ที่ยังมีปัญหาความทับซ้อนกันอยู่ระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ที่แต่ละหน่วยงานก็จะมีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนของตนเอง ข้อมูลขาดการบูรณาการ ประชาชนไม่รู้ว่าควรจะต้องแจ้งเรื่องหรือติดต่อไปที่ใคร


ณัฐพงษ์กล่าวว่า ตนจึงขอเสนอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้ในการยกระดับการใช้งานระบบ Traffy Fondue ออกไปยังทุกๆ จังหวัด โดยสั่งให้จังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องใช้ระบบ Traffy Fondue ในการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนจากเหตุภัยพิบัติ ในขณะเดียวกัน ให้นายกรัฐมนตรีสื่อสารต่อประชาชนทุกคนว่าให้แจ้งเรื่องเข้ามาทางระบบ Traffy Fondue เป็นหลัก ไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดใด ควบคู่ไปกับช่องทางสำรองอื่นๆ เพื่อรองรับประชาชนที่ไม่สะดวกในการแจ้งเรื่องผ่านแอปพลิเคชันไลน์


ณัฐพงษ์กล่าวด้วยว่า ระบบ Traffy Fondue เป็นระบบที่พร้อมใช้ได้ทันที ไม่ต้องมีการติดตั้งระบบใดๆ ทั้งสิ้น ในฝั่งหน่วยงานผู้รับแจ้งเรื่องสามารถเปิดบัญชีเพื่อรับเรื่องในระบบ Traffy Fondue ได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ส่วนในฝั่งประชาชน สามารถแอดไลน์ Traffy Fondue และทำการแจ้งเรื่องเข้ามาได้ทันที โดยไม่ต้องมีการติดตั้งแอปใด ๆ เพิ่มเติม


“นี่คือความพร้อมใช้ของระบบที่ถูกพัฒนาโดย NECTEC ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดความสับสน และเพิ่มความชัดเจนให้กับประชาชนในการแจ้งเรื่องและขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ ผมคิดว่าเราสามารถสร้างการบริหารจัดการเพื่อรับมือกับเหตุภัยพิบัติที่ดีในจังหวัดอื่นๆ ได้ไม่ต่างจากกรุงเทพมหานคร หากมีการสื่อสารและสั่งการจากนายกรัฐมนตรีอย่างถูกจุดครับ” ณัฐพงษ์กล่าวทิ้งท้าย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #TraffyFondue #แผ่นดินไหว #ภัยพิบัติ

คนรุ่นใหม่อุดหนุนหนังสือ“การขับเคลื่อนทวงความยุติธรรม 2553 ฯ ซักถามประวัติศาสตร์คนเสื้อแดง แลกเปลี่ยนเหตุบ้านการเมืองปัจจุบัน กับ"หมอเหวง' ที่บูธ ฟ้าเดียวกัน G43 'ต๋อม ชัยธวัช' ร่วมทักทายพูดคุย 'วัชระ เพชรทอง' ร่วมอุดหนุนหนังสือทวงความยุติธรรมฯ

 


คนรุ่นใหม่อุดหนุนหนังสือ“การขับเคลื่อนทวงความยุติธรรม 2553 ฯ ซักถามประวัติศาสตร์คนเสื้อแดง แลกเปลี่ยนเหตุบ้านการเมืองปัจจุบัน กับ"หมอเหวง' ที่บูธ ฟ้าเดียวกัน G43 'ต๋อม ชัยธวัช' ร่วมทักทายพูดคุย 'วัชระ เพชรทอง' ร่วมอุดหนุนหนังสือทวงความยุติธรรมฯ


วันนี้ (30 มี.ค. 68) ที่งานงาน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 ที่ครั้งนี้มาในธีม ย ยักษ์ อ่านใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มีนาคม - 7 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 21.00 น. ณ ฮอลล์ 5 - 8 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


เวลา 16.00 น. ที่บูธ G43 นพ.เหวง โตจิราการ ได้มาพบปะนักอ่านพร้อมแจกลายเซ็น ซึ่งได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ ที่เข้ามาซักถามเรื่องราวในอดีตของคนเสื้อแดง รวมถึงสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องราวเหตุบ้านการเมืองในปัจจุบันกับนพ.เหวง


นพ.เหวง ฝากอนุชนคนรุ่นหลัง ให้ตามเรื่องนี้ไปถึงที่สุด ทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงให้ได้ ฝากบ้านเมืองกับคนหนุ่มสาว​ หนังสือเล่มนี้คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่อยากให้มีเก็บไว้ นพ.เหวงกล่าว


ขณะที่คนหนุ่มสาวที่อุดหนุนหนังสือ​ถามคุณหมอเกี่ยวกับเรื่อง​ ICC รวมถึงแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯที่ผ่านมาด้วย


โดย ชัยธวัช ตุลาธน ที่มาเดินในงานเข้ามาทักทายสนทนากับนพ.เหวง ซึ่งนพ.เหวง ได้ส่งกำลังใจให้ในทุกสถานการณ์ที่จะต้องพบเจอ


เช่นเดียวกัน วัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ที่มาเดินในงานก็เข้ามาทักทาย​พร้อมอุดหนุนหนังสือ​การขับเคลื่อน​ทวงความยุติธรรม​ฯ ซึ่งนพ.เหวง​ได้เซ็นหนังสือให้ด้วย


สำหรับหนังสือ “การขับเคลื่อนทวงความยุติธรรม 2553 - 2566 จาก นปช. ถึง คปช.53” มีวางจำหน่ายที่

🛑 บูธ E15 สุขภาพใจ

🛑 บูธ G43 ฟ้าเดียวกัน

🛑 บูธ L15 สำนักพิมพ์ อ่าน


รวมถึงงานรำลึกและสดุดีวีรชน 15 ปี​ เมษา - พฤษภา 53 ในวันพฤหัสบ​ดี​ที่ 10 เมษายน 2568 เที่ยงเป็นต้นไป ที่ด้านหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ก็จะมีการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ด้วย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ68 #คปช53 #นปช #คนเสื้อแดง