วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2568

รมว.กต. ย้ำรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ตามกรอบ MOU ที่แตกต่างจากที่ผ่านมา เตรียมเปิดเวทีระดมความเห็น-วางแผนเจรจาให้ประสบความสำเร็จ ย้ำผลการเจรจาต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา-ยึดประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน

 


รมว.กต. ย้ำรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ตามกรอบ MOU ที่แตกต่างจากที่ผ่านมา เตรียมเปิดเวทีระดมความเห็น-วางแผนเจรจาให้ประสบความสำเร็จ ย้ำผลการเจรจาต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา-ยึดประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน


วันนี้ (8 มกราคม 2568) นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบกระทู้ถามของนายปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน ถึงการดำเนินการตาม MOU44 ระหว่างไทย-กัมพูชา โดยย้ำว่า รัฐบาลปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ที่แตกต่างหรือเพิ่มเติมไปจากการดำเนินการตามกรอบ MOU44 ที่ได้มีการพูดคุยกันในอดีตที่ผ่านมา รวมทั้งยังไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการ JTC พร้อมย้ำว่า MOU44 ไม่ได้เป็นการตกลงใด ๆ ในเรื่องการแบ่งผลประโยชน์หรือเขตทางทะเล แต่เป็นเพียงความตกลงที่ให้สองฝ่ายมาพูดคุยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาจากการที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน  


ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งในชั้นนี้อยู่ระหว่างการรับฟังข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประมวลประกอบการกำหนดท่าทีของไทยต่อไป โดยกระทรวงการต่างประเทศกำลังจะจัดเวทีเสวนา ร่วมกับคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของรัฐสภา เพื่อรับฟังความเห็นจากสมาชิกรัฐสภา และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะจัดอีกเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดการพูดคุย และวางแนวทางต่าง ๆ เพื่อให้การเจรจาประสบความสำเร็จ จึงขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างโปร่งใส และให้ความสำคัญกับการตรวจสอบของรัฐสภา


ต่อประเด็นคำถามเรื่องแนวทางการเจรจากับกัมพูชา นายมาริษ ระบุว่า จะยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการต่าง ๆ จะเป็นไปอย่างรอบคอบรัดกุม ตามกลไกที่มีอยู่ โดยจะคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชน ทั้งในมิติความมั่นคง และเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นายมาริษ ยืนยันว่า การเจรจาในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ตาม MOU44 จะอยู่บนพื้นฐานความเห็นชอบของรัฐสภา และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน 


นอกจากนี้ นายปิยรัฐ ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการให้สัมปทานเอกชนต่างชาติในการขุดสำรวจและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ OCA ตั้งแต่ปี 2511 ซึ่งผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว บริบทต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลจะมีแนวทางการดำเนินการอย่างไรกับสัมปทานดังกล่าว สามารถยกเลิกสัมปทานเหล่านั้นได้หรือไม่ ซึ่งนายมาริษ เห็นว่า กระทรวงพลังงาน น่าจะสามารถชี้แจงได้ชัดเจนที่สุดว่า จะสามารถยกเลิกได้หรือไม่ แต่รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อแนะนำและความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การดำเนินการต่าง ๆ จะตอบสนองต่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติอย่างเต็มที่ 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #MOU44 #ไทยกัมพูชา