“ประเสริฐ”
นั่งหัวโต๊ะ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมฯ”
รากฐานการพัฒนาประเทศด้านเกม - กำลังคนดิจิทัล -
เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ
วันที่
10 มกราคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
เปิดเผยถึงการเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการ (ร่าง)
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม พ.ศ. …. เพื่อเปิดพื้นที่ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน
สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเสนอความคิดเห็น
เพื่อนำไปสู่กฎหมายที่มีความสมบูรณ์และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนและประเทศไทย
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมีนายพรรณธนู วรรณกางซ้าย
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี, นายอัฐฐเสฏฐ จุลเสฏฐพานิช
เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี, นางสาวยุพาภรณ์
ศิริกิจพาณิชย์กูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ, ผศ.ดร.ณัฐพล
นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า, ดร.กษิติธร ภูภราดัย
และ นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่, นางสาวกษมา
กองสมัคร และ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่, รวมถึงคณะผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ
ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (THACCA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย
(TGA) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
(สกมช.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกม ฯลฯ
เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
นายประเสริฐ
กล่าวว่า อุตสาหกรรมเกมขยายตัวอย่างรวดเร็วและกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก
ดังนั้นการจัดทำร่าง
พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมจะเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศด้านเกม
ซึ่งเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดกรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมในทุกมิติ
ตั้งแต่การพัฒนากำลังคน
การส่งเสริมให้เกิดการยกระดับผู้ประกอบการเกมไทยผ่านกลไกต่าง ๆ
การกำหนดแนวทางป้องกันผลกระทบทางสังคม
และการดึงดูดการลงทุนของผู้ประกอบการระดับโลกเข้ามาในประเทศไทย
ดังนั้นการดำเนินการจัดทำร่าง
พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมจำเป็นต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน
ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม นักพัฒนาเกม นักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐ
ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป โดยความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับในวันนี้จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของกฎหมายฉบับนี้
เพื่อให้เกิดความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย
และตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานของอุตสาหกรรมเกม
เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศสู่ระดับสากล ต่อยอดโอกาสสู่อาชีพใหม่
อีกทั้งสร้างรายได้และเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว
ด้าน
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า
พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ
ผู้ผลิตและพัฒนา ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกระจายการจัดจำหน่าย
และสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกมในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
พัฒนามาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการกำกับ และควบคุมอุตสาหกรรมเกม
เพื่อนำไปสู่การกำกับและบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ อีกทั้งแก้ไขปัญหาต่าง
ๆ และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมตลอดห่วงโซ่อุปทานและมูลค่าเกมผ่านกองทุนส่งเสริม
ทั้งนี้
โครงของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม ประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
การปรับปรุงนิยาม การตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง การขึ้นทะเบียน การกำกับ
และกองทุนส่งเสริม
โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แต่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการปกป้องสังคม
โดยเฉพาะการดูแลเยาวชน การป้องกันผลกระทบทางจิตใจ
และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้อุตสาหกรรมเกมในเชิงบวก ซึ่ง ดีป้า
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนจะส่งผลให้
พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกมไทย
ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพ และขีดความสามารถทางการแข่งขัน
อีกทั้งผลักดันประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืนต่อไป จากนี้ ดีป้า
จะนำความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมาเร่งปรับปรุงร่างกฎหมาย โดยคาดว่าจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน
และจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2568 ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ขณะที่ผู้แทนจากภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม
พร้อมเสนอให้มีการเพิ่มประเด็นเรื่องการพัฒนากำลังคนในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
และเสนอให้มีภาคเอกชน ภาคการศึกษา
และผู้เชี่ยวชาญด้านเกมเพิ่มขึ้นในส่วนของคณะกรรมการ เนื่องจากอุตสาหกรรมเกมพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนจะทำให้คณะกรรมการสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและรับความรู้ในประเด็นต่าง
ๆ ได้รวดเร็ว ชัดเจน และถูกต้อง
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรบส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม