วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2568

บางกอกไพรด์ จัด-จดสมรสเท่าเทียม ชวนชาว LGBTQIAN+ สร้างประวัติศาสตร์จดทะเบียนสมรส 300 คู่ “นายกอิ๊งค์” Video Conference อวยพร“เศรษฐา ทวีสิน” ร่วมแห่ขบวนสมรสเท่าเทียม คนดังตบเท้าร่วมคับคั่ง

 


บางกอกไพรด์ จัด-จดสมรสเท่าเทียม ชวนชาว LGBTQIAN+ สร้างประวัติศาสตร์จดทะเบียนสมรส 300 คู่ “นายกอิ๊งค์”  Video Conference อวยพร“เศรษฐา ทวีสิน” ร่วมแห่ขบวนสมรสเท่าเทียม คนดังตบเท้าร่วมคับคั่ง


วันนี้ 23 มกราคม 2568 ที่ สยามพารากอน Bangkok Pride (บางกองไพรด์) พร้อมคณะทำงานสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน, มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ, ภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันผลักดันพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ร่วมกับกรุงเทพมหานคร, สำนักนายกรัฐมนตรี, กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  พร้อมภาคเอกชน อาทิ บริษัท สยาม พิวรรธน์ จำกัด และบริษัท Match Group (MTCH) จัดงาน “วันสมรสเท่าเทียม” (Marriage Equality Day) จดทะเบียนสมรสคู่รัก LGBTQIAN วันแรก ตั้งแต่เวลา 8.00 น. - 22.00 น. บริเวณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ  


โดยเวลาประมาณ 11.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินนำขบวนพาเหรด ขบวนชุดวิวาห์สร้างสีสันและความสวยงามแบบฉ่ำ ๆ สะท้อนตัวตนของ LGBTQIAN+ ฉลองสมรสเท่าเทียม นำโดย “อิงฟ้า วราหะ” และ “ชาล็อต ออสติน” คู่จิ้นระดับประเทศ, มินิคอนเสิร์ตจาก “ซิลวี่ ภาวิดา มอริจจิ” กับแฟนสาว “มิ้น มิณฑิตา วัฒนกุล”


จากนั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมกล่าวเปิดงานผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในนามของรัฐบาล ขอแสดงความยินดีกับคนไทยทุกคนที่ต่อจากนี้ ทุกความรักของคนไทย จะถูกรับรองทางกฎหมาย ทุกคู่จะมีชีวิตอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี บนผืนแผ่นดินไทยกว่า 2 ทศวรรษของการต่อสู้ทั้งในทางกฎหมาย การเผชิญหน้ากับอคติ และการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคม ชัยชนะในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จ จากความร่วมมือของทุกคน   


พร้อมกันนี้ นายกฯ กล่าวขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นทำงานร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเต็มที่ ตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้กับพี่น้องประชาชน  ขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภาที่ร่วมกันผลักดันกฎหมายฉบับนี้ผ่านกลไกของรัฐสภา ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่เป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ช่วยทำลายมายาคติและอคติที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ทำให้เรามาถึงวันนี้ และสำคัญที่สุด ขอบคุณภาคประชาชน พี่น้อง LGBTQIA+  ( Lesbian Gay Bisexual Transgender Queer Intersex และ Asexual ) แกนนำสำคัญที่ทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ในวันนี้ได้สำเร็จ รวมถึงความทุ่มเททำงาน สร้างการรับรู้ต่อสู้กับอคติมาตลอดหลายปี ทำให้สังคมไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศด้วยหัวใจได้อย่างแท้จริงทำให้ธงสีรุ้งปักลงบนประเทศไทยอย่างภาคภูมิ ทำให้ประเทศไทยเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชียที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม


จากนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกวันที่ประวัติศาสตร์ประเทศไทยต้องจารึกไว้ว่าการเดินทางอันยาวนานกว่า 20 ปี ได้มาถึงจุดที่พวกเราทุกคนได้แสดงออกถึงความรักซึ่งมีต่อกันโดยไม่จำกัดเพศสภาพ สามารถเชิดหน้าชูตาในสังคมได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เรื่องนี้ตนและพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญมาตลอด ตนอยากขอเน้นคำว่าเท่าเทียม พี่น้องชาวไพรด์ เราเรียกร้องสิทธิให้มีความเท่าเทียม ไม่ใช่เหนือกว่าคนอื่น ความเท่าเทียม และการเคารพเพศสภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ตนเข้าสู่การเมืองโดยอยู่พรรคเกือบสองปี ซึ่งพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมมาตลอด ตนไม่อยากใช้คำว่าชุบมือเปิดกับความสำเร็จครั้งนี้ เพราะทุกพรรคการเมืองผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้ 


“มีการเข้ารับตำแหน่งของผู้นำประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง ท่านประกาศชัดเจนในประเทศท่านมี 2 เพศเท่านั้น คงไม่เหมาะสมที่ตนจะมากล่าวขัดแย้ง หรือสร้างประเด็นเรื่องนี้ แต่ผม เราใช้คำนี้ดีกว่า เรามีประชากรกว่า 60 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจเราไม่ได้ใหญ่เท่าเขา แต่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ผมเชื่อว่าเราหัวใจใหญ่กว่าครับ  เรายอมรับกับคนที่อยากจะเป็น เราให้เกียรติ เราให้เวที เราให้พื้นที่เขา อย่างที่เขาสมควรได้รับ ถึงแม้จะรอคอยนานกว่า 20 ปี แต่สายกว่ายังดีกว่าไม่มา” นายเศรษฐา กล่าว


น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บรรยากาศในสถานที่แห่งนี้อบอวลไปด้วยความสุข ความรักที่เท่าเทียมและมีสิทธิที่จะเลือก เป็นความรักที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในฐานะตัวแทนของรัฐบาล ขอแสดงความยินดีกับทุกคน และยืนยันในความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่เดินหน้าผลักดันความเท่าเทียม และเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลเปิดทำเนียบเชิญชวนทุกภาคส่วนที่ทำงานด้านความเท่าเทียมมาหารือเดินหน้าผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้สำเร็จ การมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและจะเป็นก้าวสำคัญที่จะเดินไปสู่สังคมที่เปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลายและลดการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ใช่ให้สิทธิแค่จดทะเบียนสมรสเท่านั้น แต่หมายถึงคู่รักมีสิทธิที่จะดูแลกันและกันตามกฎหมาย เช่น ทำพินัยกรรม รับมรดก และเข้าถึงสิทธิสวัสดิการทางสังคมต่าง ๆ เช่นเดียวกับคู่รักอื่น ๆ นอกจากความเท่าเทียมแล้วตนเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นหลักประกันให้ทุกคนปลดปล่อยศักยภาพเพื่อสร้างความฝัน สร้างความมั่นคงให้กับชีวิต


ด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 มกราคมนี้ถือเป็นการยืนยันถึงความก้าวหน้าทางสังคมของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการที่เป็นจุดแข็งของประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะใช้โอกาสนี้ในการผลักดันนโยบายการท่องเที่ยวที่ต้อนรับทุกความหลากหลาย และสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางแห่งความเท่าเทียมที่โดดเด่นระดับโลก เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว”


งานบางกอกไพรด์ พร้อมเปิดให้คู่รัก LGBTQIAN+ จดทะเบียนภายในงานทั้งสิ้น 300 คู่ รวม 50 เขตในกรุงเทพมหานครมากกว่า 500 คู่ และรวมทั่วประเทศ 1,448 คู่ มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์โลกและบริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมของสำนักทะเบียน 878 อำเภอใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ และ 50 เขตในกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2568 เป็นต้นไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #สมรสเท่าเทียม #LGBTQIAN+ #บางกองไพรด์ #BangkokPride