พรรคประชาชนจัดงานเฉลิมฉลองให้แก่ความรักที่เท่าเทียมกัน
นับถอยหลัง “สมรสเท่าเทียม” มีผลบังคับใช้ 23 ม.ค.นี้ ย้ำ 4 ประเด็นที่ต้องผลักดัน-ทำงานความคิดต่อหลังกฎหมายผ่าน
เมื่อวันที่
19 มกราคม 2568 ที่ร้าน Sol Bar & Bistro อาคารอนาคตใหม่ ซอยหัวหมาก 12 กรุงเทพฯ
พรรคประชาชนจัดกิจกรรม “Save the date: มากกว่ารัก
คือสิทธิที่เท่าเทียมกัน” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองให้กับความรักของทุกคนที่เท่าเทียมกัน
นับถอยหลังอีก 4 วันก่อนที่กฎหมาย “สมรสเท่าเทียม”
จะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศในวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคมนี้
โดยในช่วงหนึ่งของกิจกรรมเป็นการเปิดวงพูดคุยสรุปเนื้อหาและสิทธิต่าง
ๆ ที่คู่สมรสจะได้รับจากกฎหมายสมรสเท่าเทียม พร้อมกับกล่าวถึงประเด็นอื่นๆ
ที่ต้องร่วมกันผลักดันต่อหลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้แล้ว
โดยในวงสนทนามี ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน, เอกราช
อุดมอำนวย สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน, ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์
กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม, และกิตตินันท์
ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้ง ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม
กิตตินันท์ได้เล่าย้อนถึงประวัติศาสตร์และเส้นทางการต่อสู้ของสมรสเท่าเทียมในประเทศไทย
ซึ่งเริ่มจากการขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคมมาตั้งแต่ช่วงปี 2545 หลังจากที่เนเธอร์แลนด์ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นประเทศแรกในโลกได้ไม่นาน
ผ่านเหตุการณ์ความผันผวนทางการเมืองไทย
ผ่านการต่อสู้ทางความคิดในสังคมมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งมีทั้งแรงสนับสนุนและแรงต้าน
รวมถึงการถกเถียงว่าการแต่งงานกันของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ควรเกิดจากการร่างกฎหมายใหม่แยกออกมาจากคู่ชาย-หญิงทั่วไป เป็น “กฎหมายคู่ชีวิต”
หรือควรเกิดจากการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เพื่อปรับแก้การแต่งงานจากชาย-หญิงเป็น “คู่สมรส” ปรับแก้สามี-ภรรยาเป็น “บุพการี”
และทำให้การแต่งงานของคู่รักทุกคู่เท่าเทียมกันผ่านกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม”
กิตตินันท์กล่าวต่อไปว่า
ต้องยอมรับว่าพรรคอนาคตใหม่เป็นผู้จุดกระแสสมรสเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งปี
2562 ทำการรณรงค์ทางการเมืองทั้งออฟไลน์และออนไลน์จนทำให้คนในสังคมเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศไทยถึงเวลาต้องมีกฎหมายฉบับนี้ได้แล้ว
และเพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกัน เราจำเป็นต้องมีกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม”
ผ่านการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ใช่ “กฎหมายคู่ชีวิต” ที่แยกออกมาจากคู่ชายหญิงอื่นๆ
จนสุดท้ายหลังการเลือกตั้งปี 2566 ทั้งพรรคการเมืองและภาคประชาสังคมต่างเห็นร่วมกันในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภาฯ
จนผ่านออกมาเป็นกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่มีคุณภาพ เป็นประเทศแรกในอาเซียน
และยังถือว่าเป็นประเทศแรกในเอเชียที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่สมบูรณ์แบบ (Marriage
Equality) ไม่ใช่จากคำสั่งชั่วคราวของศาลหรือเป็นกฎหมายคู่ชีวิตเหมือนกับในหลายประเทศ
ในส่วนของธัญวัจน์กล่าวว่า
ต้องขอแสดงความยินดีกับคู่รักทุกคนที่จะสามารถแต่งงานได้อย่างเท่าเทียมกันในวันที่
23 ม.ค. นี้ แต่ถึงแม้กฎหมายจะผ่านแล้ว
ยังมีอีกหลายประเด็นที่เราต้องช่วยกันขับเคลื่อนและผลักดันต่อ
โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้มีข้อสังเกต 4 ข้อที่ต้องเร่งจัดทำรายงานให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้
เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีนำพิจารณาต่อ ได้แก่ 1. การแก้ไขกฎหมายเรื่องอัตลักษณ์และการรับรองเพศ
2. การแก้ไขกฎหมายเรื่องเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ 3. การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่องความผิดทางเพศ และ 4. การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ
ในส่วนของข้อสังเกตประเด็นแรก
ธัญวัจน์กล่าวว่า อัตลักษณ์ทางเพศคือสิทธิมนุษยชน
คือเจตจำนงที่ทุกคนมีสิทธิในการกำหนดเพศและคำนำหน้านามของตนเองได้ (Self-determination) ดังนั้น หลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว พรรคประชาชนจะผลักดันกฎหมาย
“คำนำหน้าตามสมัครใจ” ในลำดับต่อไป ซึ่งมั่นใจว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
และต้องอาศัยการทำงานทางความคิดกับสังคมอีกมาก
แม้แต่ในคณะกรรมาธิการเองหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะกังวลเรื่องความสับสนและการหลอกลวงทางเพศ
แต่ตนต้องขอย้ำว่า ความรักไม่มีการแบ่งแยก เราคบกับใคร พูดคุยกับใคร
ทุกคนต้องรู้กันอยู่แล้วว่าเราเป็นเพศอะไร
ส่วนข้อกังวลเรื่องการหลอกลวงนั้นก็มีกฎหมายอื่นๆ
ดูแลอยู่แล้วเช่นเดียวกับคู่ชาย-หญิง ถ้าเกิดมีหลักฐานว่าคู่สมรสของเราไม่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศ
หรือจงใจทำให้เข้าใจผิด ก็สามารถฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย
“อัตลักษณ์ทางเพศคือสิทธิมนุษยชน คือเจตจำนงที่คุณแสดงออกมา
รัฐจึงต้องดูแลและปกป้อง รู้ว่าการผลักดันเรื่องนี้ไม่ง่าย
ขอให้สังคมช่วยกันติดตามว่าฝ่ายรัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้” ธัญวัจน์กล่าว
ส่วนข้อสังเกตประเด็นที่สอง
การแก้ไขกฎหมายเรื่องเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ ณธีภัสร์กล่าวว่า
คู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ต้องการสร้างครอบครัวเช่นเดียวกับคู่รักชายหญิง
ถึงแม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเปิดให้สามารถรับบุตรบุญธรรมได้แล้ว
แต่กฎหมายเรื่องเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ก็ควรต้องได้รับการแก้ไขให้รองรับเช่นกัน
เช่นการอุ้มบุญของคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ซึ่งส่วนนี้กระทรวงสาธารณสุขได้รับทราบรายละเอียดแล้ว
น่าจะเกิดการแก้ไขกฎหมายได้เร็วๆ นี้
ในประเด็นนี้
ธัญวัจน์เสริมว่า
การแก้ไขกฎหมายต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาการรับจ้างตั้งครรภ์ของผู้หญิง
เพราะต่อให้เจ้าตัวบอกว่าสมัครใจ แต่อาจจะไม่ได้สมัครใจจริงๆ
แต่ต้องทำเพื่อเงินในการดำรงชีวิต จนกลายเป็นหนึ่งในขบวนการค้ามนุษย์
ดังนั้นในการเดินหน้าแก้ไขกฎหมาย ต้องตัดวงจรและปิดช่องโหว่ในส่วนนี้ให้หมดสิ้น
เพื่อทำให้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์เป็นเรื่องของมนุษยธรรม
ไม่ใช่การพาณิชย์และการทำกำไร
ส่วนข้อสังเกตประเด็นที่สาม
การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่องความผิดทางเพศ
กิตตินันท์กล่าวว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน
เพราะกฎหมายปัจจุบันยังไม่เท่าทันการกระทำความผิดต่อบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ
เช่น หากทรานส์เจนเดอร์ถูกข่มขืน คดีอาจเหลือแค่การอนาจาร เพราะบทบัญญัติกฎหมายยังไม่รองรับถึงอวัยวะเพศที่เปลี่ยนแปลงไป
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งร่างกฎหมายที่พรรคประชาชนและภาคประชาชนกำลังผลักดันแก้ไข
รวมถึงต้องปรับปรุงบทบัญญัติเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ การคุกคามทางเพศ
การสะกดรอยตาม (Stalker)
และการคุ้มครองผู้เสียหายให้สอดรับกับความหลากหลายทางเพศด้วย
ส่วนข้อสังเกตประเด็นสุดท้าย
การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ ณธีภัสร์กล่าวว่า
กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านได้ เพราะสังคมมีวิวัฒนาการ ยอมรับ
และรับรู้ตัวตนของผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
แต่การทำงานทางความคิดเหล่านี้ยังไม่สิ้นสุด และต้องทำต่อไป
เช่นเรื่องความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ก็คงต้องให้เวลาในการปรับตัว เช่นในการทำบัตรประชาชนหรือการเปลี่ยนชื่อ
ที่ผ่านมาผู้มีความหลากหลายทางเพศก็มักจะโดนแซวว่าชื่อไม่ตรงกับรูปลักษณ์บ้าง
ไปแปลงเพศมาหรือยังบ้าง ซึ่งก็หวังว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญ จัดหลักสูตรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อทลายอคติทางเพศ
กิตตินันท์กล่าวว่า
กฎหมายกับการเลือกปฏิบัติเป็นคนละส่วนกัน แม้จะมีกฎหมายแล้ว
แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าพ่อแม่จะไม่บังคับให้ลูกที่เป็นเกย์ไปแต่งงานกับผู้หญิง
จะมั่นใจได้อย่างไรว่าบริษัทจะไม่เลือกปฏิบัติในการรับผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าทำงาน
ดังนั้น ถึงแม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่านแล้ว
ภาคประชาสังคมต้องช่วยกันผลักดันและทำงานทางความคิดกับสังคมต่อไป ให้กฎหมาย
สิทธิมนุษยชน และการยอมรับเดินทางไปพร้อมกันได้
#UDDnews
#ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #สมรสเท่าเทียม