“ปิยรัฐ” ขอความชัดเจน MOU44 ชี้เงื่อนไขหากเจรจาผลประโยชน์ทั้งที่ปักปันเขตแดนยังไม่เสร็จ ไทยอาจเสียหายในอนาคต แนะทบทวนยกเลิกสัมปทานปิโตรเลียม 50 ปีที่แล้ว เพิ่มโอกาสบริษัทไทยแข่งขันต่างชาติ
วันที่ 9 มกราคม 2568 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพฯ เขต 23 พรรคประชาชน ได้ตั้งกระทู้ทั่วไปถามนายกรัฐมนตรี กรณีข้อพิพาทพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนบริเวณอ่าวไทย ระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา หรือกรณี MOU 44 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ตอบกระทู้แทน
ปิยรัฐเริ่มต้นคำถามแรก โดยระบุว่าประเทศไทยได้กำหนดเขตแดนตามบันทึกข้อตกลงนี้บนหลักการทางกฎหมายสากล ตนยืนข้างรัฐบาลเรื่องนี้ ว่าประเทศไทยอ้างอิงเขตตามหลักการกฎหมายและหลักการวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้
คำถามแรกคือตกลงแล้ว MOU ไทย-กัมพูชาว่าด้วยเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลไหล่ทวีปนี้ ได้มีการดำเนินการไปถึงขั้นไหนแล้ว ได้มีการพูดคุยตกลงกันกี่ครั้งแล้ว เพื่อจะได้ถามคำถามต่อไปได้ MOU 44 นี้ยังดำเนินการไปตามนี้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อตกลงการแบ่งปันผลประโยชน์ปิโตรเลียมที่อยู่ใต้ทะเล และการปักปันเขตแดนมีการดำเนินการไปพร้อมๆ กันใช่หรือไม่
รมว.ต่างประเทศ ตอบคำถามแรกระบุว่า กรอบ MOU 44 มีการตกลงอย่างเดียวคือเราจะมานั่งคุยกันเพื่อแก้ปัญหาความเข้าใจและการอ้างสิทธิที่แตกต่างกัน การแก้ปัญหาตาม MOU ดังกล่าว ต้องตั้งคณะกรรมการความร่วมมือทางเทคนิคระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาชุดใหม่ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการอะไรเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ตนยินดีรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนเพื่อนำมาประมวลประกอบการกำหนดท่าทีของไทย เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน
ปิยรัฐได้ถามคำถามต่อไป โดยระบุว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากภาคประชาชนมีการทวงถามเรื่องนี้ ตนอยากให้คำตอบชัดเจนขึ้นอีก ท่านตอบว่ากรอบ MOU 44 ยังอยู่เพียงแต่รัฐบาลยังไม่ได้มีการเดินหน้าไปในทิศทางใด แต่ตนก็มีความกังวลว่าถ้า MOU 44 ยังอยู่ก็หมายความว่ากระบวนการจัดตั้งกลไกร่วมกันจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้
นำไปสู่คำถามที่สองที่รัฐบาลต้องตอบให้ชัดเจน ว่าประเทศไทยจะเดินหน้าในการเจรจจาผลประโยชน์ตามกรอบความตกลงร่วมนี้หรือไม่ ในขณะเดียวกันการแบ่งปันหรือจัดสรรปันส่วนพื้นที่ยังไม่แล้วเสร็จ หมายความว่าจะมีการคุยจัดสรรผลประโยชน์ปิโตรเลียมว่าใครจะได้เท่าไหร่ แต่พื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตรก็ยังปักปันไม่เสร็จ แต่หากวันใดมีการปักปันเขตแดนเสร็จสิ้นแล้วปรากฏว่าปิโตรเลียมจุดนั้นไม่ได้ไปอยู่ในฝั่งกัมพูชา แต่อยู่ในพื้นที่ของประเทศไทย 100% ก็จะเกิดความเสียหายขึ้นในอนาคต ส่วนนี้รัฐบาลจะทำอย่างไร จะมีกลไกอย่างไรต่อไป หรือแม้กระทั่งหากมีการเจรจาตามกรอบแล้วมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอีก ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่มาอีก ก็เป็นเรื่องที่ประเทศไทยจะไม่มีความมั่นคงเลยในการเจรจานี้
ปิยรัฐกล่าวต่อไปว่าดังนั้นนี่จึงเป็นสิ่งที่ตนอยากได้ความชัดเจน ว่าตกลงแล้วกลไกการเจรจานี้หากเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ การคุยทั้งเรื่องผลประโยชน์และเรื่องเขตแดน เอาเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกไปจากกันไม่ได้หรือคุยเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ อนาคตจะเกิดปัญหาขึ้นหรือไม่อย่างไร
ด้านมาริษได้ตอบคำถามที่สองระบุว่า ขอบคุณคำชี้แนะที่ดี พร้อมรับไปพิจารณา แต่ขอไม่ลงรายละเอียดเรื่องกรอบ MOU เพราะค่อนข้างละเอียดอ่อน อาจทำให้การเจรจายากลำบากยิ่งขึ้น ยืนยันว่ารัฐบาลอยู่ในช่วงรับฟังความเห็นที่แตกต่างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต โดยกำลังจะมีเวทีเสวนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของรัฐสภา คาดว่าเกิดขึ้นปลายเดือนมกราคมนี้
ปิยรัฐถามต่อเป็นคำถามสุดท้าย ระบุว่าเคยได้รับคำชี้แจงจากหน่วยงานที่มาตอบคำถามต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 โดยกระทรวงพลังงานได้ตอบว่าการสำรวจปิโตรเลียมที่อยู่ภายใต้พื้นที่ทับซ้อนนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2511 แต่ไม่ได้ไปสำรวจในพื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นการสำรวจพื้นที่โดยรอบโดยการคาดคะเน หมายความว่าไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าพลังงานที่อยู่ภายใต้พื้นที่นี้มีเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาต่างฝ่ายก็ต่างให้สัมปทานกับเอกชนกันไปแล้วเมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมา คำถามคือบริษัทต่างชาติที่เข้ามาได้สัมปทานนี้ สามารถยกเลิกสัมปทานก่อนได้หรือไม่ เพราะในสมัย 50 ปีก่อนที่แล้วบริษัทของไทยที่ไม่ได้สัมปทานหรือได้สัมปทานในสัดส่วนที่น้อยมาก ก็เพราะบริษัทไทยยังไม่มีเทคโนโลยีหรือความสามารถมากพอที่จะไปแข่งขันกับบริษัทต่างชาติ แต่สมัยนี้เทคโนโลยีทันสมัยแล้ว หากมีการสำรวจด้วยเทคโนโลยียุคใหม่และพบทรัพยากรมูลค่าสูง รัฐบาลจะพิจารณายกเลิกสัมปทานเดิมเพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทในไทยเข้าร่วมแข่งขันใหม่ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศได้หรือไม่?
รมว. ต่างประเทศ ระบุว่า ตนไม่มีข้อมูลเรื่องการให้สัมปทาน กระทรวงพลังงานเป็นคนรับผิดชอบและจะตอบคำถามได้ดีที่สุดว่าจะสามารถยกเลิกสัมปทานได้หรือไม่