“ณัฐพงษ์” ตั้งกระทู้จี้รัฐบาลขอความชัดเจนกระจายอำนาจแก้ปัญหาฝุ่น
ชี้เพื่อไทยชูกระจายอำนาจหาเสียงแต่นโยบายกลับสวนทาง-ล่าช้า
วันที่
30 มกราคม 2568 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณัฐพงษ์
เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ได้ตั้งกระทู้ถามต่อนายกรัฐมนตรี กรณีการแก้ไขปัญหาฝุ่น pm 2.5 และการกระจายอำนาจ โดยนายกฯ มอบหมายให้ ประเสริฐ จันทรรวงทอง
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เป็นผู้ตอบกระทู้แทน
ณัฐพงษ์เริ่มต้นการถามกระทู้โดยชี้ให้เห็นว่าจากการปฏิบัติที่ผ่านมาของรัฐบาลเพื่อไทยที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น
pm 2.5 ตั้งแต่สมัยรัฐบาลเศรษฐามาจนถึงรัฐบาลแพทองธาร มีการผ่านมติ ครม.
ไปทั้งหมด 24 ครั้ง มีข้อสั่งการ 43 ครั้ง
และมีการให้ข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการถึง 71 ครั้ง
แต่จากตัวชี้วัดที่รัฐบาลเพื่อไทยตั้งขึ้นเองในปี 2567 ผลปรากฏว่าตกเป้าทุกตัวชี้วัด
โดยเฉพาะที่ระบุว่าจะลดพื้นที่การเผาไหม้ให้ได้ 50%
รัฐบาลทราบดีอยู่แล้วว่าสถานการณ์ฝุ่นพิษ
pm 2.5 หนักหน่วงมากขึ้นและมีที่มาจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นข้ามพรมแดน
ฝุ่นจากไร่นา ฝุ่นจากไฟป่า และฝุ่นในเมือง
ซึ่งวันนี้ตนจะขออภิปรายถึงเฉพาะฝุ่นจากในป่าและในเมือง
ซึ่งเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และการกระจายอำนาจโดยตรง
ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่ากรณีของไฟป่า
นายกรัฐมนตรีได้ให้ข่าวไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่ามีการจัดสรรงบกลางไปแล้วกว่า 620 ล้านบาท
มีการตั้งพื้นที่ 14 กลุ่มป่าเป้าหมาย
แต่วันนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะจัดการไฟป่าอย่างไรในพื้นที่นอก 14 กลุ่มป่า เช่น นครราชสีมา ลพบุรี ชัยนาท และชลบุรี ที่มีปัญหาไฟป่าเช่นกัน
ส่วนกรณีฝุ่นในเมือง
กรุงเทพมหานครเพิ่งให้ข่าวว่าวันนี้ยังไม่สามารถตรวจและปรับรถบรรทุกและขนส่งโดยสารสาธารณะ
6 ล้อขึ้นไปได้ เพราะ กทม. ยังไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก
และทำได้เพียงขอความร่วมมือ ส่วนแหล่งกำเนิดฝุ่นที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม
มีการศึกษาล่าสุดพบว่าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญเช่นกัน คำถามของตนคือ
1)
แม้ปีนี้จะมีการจัดสรรงบกลาง 620 ล้านบาทไปแล้ว
แต่ก็เป็นเพียงการจัดสรรงบประมาณแบบปีต่อปีที่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี
เช่น งบประมาณปี 2568 มี อปท. ของบประมาณจัดการไฟป่ามา 1,800
แห่ง แต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปเพียง 90 แห่งเท่านั้น
จึงอยากถามล่วงหน้าถึงงบประมาณปี 2569 และปีต่อๆ ไป
รัฐบาลมีแนวโน้มออกข้อสั่งการอย่างไรให้การจัดสรรงบประมาณปีต่อปีเป็นงบประมาณประจำให้
อปท. เพียงพอต่อการจัดการไฟป่า
2)
ปัญหาฝุ่นในเมือง รัฐบาลมีแนวนโยบายที่จะให้รัฐมนตรีที่รักษาการ
พ.ร.บ. แต่ละฉบับออกคำสั่งแต่งตั้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจกำกับดูแลตาม
พ.ร.บ. แต่ละฉบับ เช่น พ.ร.บ.ขนส่งทางบก และ พ.ร.บ.โรงงาน หรือไม่อย่างไร
3)
ในการแปลผลภาพจากดาวเทียมที่ดูรอยเผาไหม้เพื่อติดตามการเผาไหม้ในพื้นที่การเกษตร
ทราบมาว่าตอนนี้ยังมีปัญหาในการแปลผลทางเทคนิค
ที่ยังไม่สามารถเอาภาพถ่ายทางดาวเทียมที่เป็นรอยเผาไหม้มาใช้ในการวิเคราะห์ได้
เรื่องนี้มีความคืบหน้าอย่างไร
ทางด้านประเสริฐ
ได้ตอบกระทู้คำถามแรกโดยระบุว่าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องฝุ่น pm 2.5 มาก
หลายข้อสั่งการได้บรรลุเป้าหมาย ส่วนเรื่องงบประมาณ เมื่อวันอังคาร 28 ม.ค. ที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติงบกลาง 620 ล้านบาท
ส่วนการจัดสรรในอนาคตนั้น การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่ามี 2 กรณี
คือกรณีป่าสงวนแห่งชาติ จะเป็นการถ่ายโอนภารกิจจากกรมป่าไม้
โดยจะมีแนวทางจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนสำหรับภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่าและจัดชุดเฝ้าระวัง
ส่วนกรณีป่าสงวน
ได้มีการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปสำหรับภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่าให้แก่
อปท. ในพื้นที่เสี่ยง 90
แห่ง งบประมาณ 122 ล้านบาท
และยังมีการจัดโครงการอบรมเสริมสร้างการแก้ไขปัญหาด้านไฟป่า หมอกควัน pm
2.5 ถึง 4 รุ่นให้ผู้นำ อปท. ในพื้นที่ 17
จังหวัดในเขตภาคเหนือ 1,700 กว่าราย
ส่วนการดำเนินการในระยะต่อไป กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมกับกรมป่าไม้
กรมควบคุมมลพิษ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า
และพันธุ์พืช อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำแนวทางให้ อปท.
จัดทำแผนป้องกันและควบคุมไฟป่าให้มีประสิทธิภาพ