วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2568

'พริษฐ์' กมธ. พัฒนาการเมืองฯ เปิดตัวโครงการ 'เซฟสิทธิ เซฟเสียง' ชวนอาสาสมัครจับตาเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. นี้แย้มเตรียมนำเสนอรายงานข้อเสนอปรับปรุงกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก.พ.

 


'พริษฐ์' กมธ. พัฒนาการเมืองฯ เปิดตัวโครงการ 'เซฟสิทธิ เซฟเสียง' ชวนอาสาสมัครจับตาเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. นี้แย้มเตรียมนำเสนอรายงานข้อเสนอปรับปรุงกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก.พ.


เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธาน (กมธ.) คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดตัวโครงการ "เซฟสิทธิ เซฟเสียง" เพื่อเชิญชวนประชาชนมาร่วมเป็นอาสาสมัครจับตาดูการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.นี้


โดยพริษฐ์ ระบุว่า ภาพรวมการทำงานของ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ ในการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้งท้องถิ่น (3 Phases)


วันนี้ ผมและ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ ได้ร่วมกันแถลงเปิดตัวโครงการ "เซฟสิทธิ เซฟเสียง" เพื่อเชิญชวนประชาชนมาร่วมเป็นอาสาสมัครจับตาดูการเลือกตั้ง อบจ. ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้


โครงการ "เซฟสิทธิ เซฟเสียง" เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการทำงานของ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ ในการติดตาม ตรวจสอบ และเสนอแนะ แนวทางการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้งท้องถิ่น


การเลือกตั้งท้องถิ่นถือเป็นการเลือกตั้งหนึ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างมาก เนื่องจากบริการสาธารณะในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว


กมธ. พัฒนาการเมืองฯ เราจึงมีการทำงานเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะการเลือกตั้งระดับ อบจ. ที่จะเกิดขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 1 ก.พ. นี้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง (phases) ด้วยกัน


[ Phase 1 (ก่อนวันเลือกตั้ง) = กระตุ้นให้เกิดความสะดวกต่อประชาชนในการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ]


ในเมื่อเราไม่สามารถโน้มน้าวให้ กกต. เปลี่ยนวันเลือกตั้งจากวันเสาร์มาเป็นวันอาทิตย์ได้สำเร็จ ทาง กมธ. เราจึงได้ดำเนินการดังต่อไปนี้ เพื่อขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเสาร์


1. ออกหนังสือถึง กกต. เพื่อ

- 1.1. ขอความชัดเจนจาก กกต. ถึงขอบเขตและแนวทางในการใช้กลไกของมาตรา 117 ของ พ.ร.บ. เลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อขอให้สถานประกอบการกำหนดให้วันเสาร์ 1 ก.พ. เป็นวันหยุดเต็มวันหรือครึ่งวัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

- 1.2. ขอให้ กกต. ประสานงานเชิงรุกไปยังองค์กรเอกชน สถานประกอบการ โรงงาน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับประเทศและในระดับจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างมีเวลาเพียงพอในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.

- 1.3. สั่งการให้ กกต. ประจำจังหวัด ประสานงานเชิงรุกกับองค์กรเอกชน สถานประกอบการ โรงงาน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างมีเวลาเพียงพอในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.

- 1.4. วางแผนล่วงหน้าและป้องกันไม่ให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันอื่นที่ไม่ใช่วันอาทิตย์ในการเลือกตั้งในอนาคต โดยเฉพาะในการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2568-2569 (เช่น เทศบาล อบต. กทม. เมืองพัทยา)


2. ออกหนังสือถึงองค์กรเอกชน (เช่น สภาอุตสาหกรรม / สภาหอการค้า / สมาคมธนาคารไทย / สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย) เพื่อขอความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างมีเวลาเพียงพอในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.


3. ออกหนังสือถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง (เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม / การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) เพื่อขอความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกให้คนทำงานในโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมมีเวลาเพียงพอในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.


[ Phase 2 (ณ วันเลือกตั้ง) = ตรวจสอบความโปร่งใสและความถูกต้องในการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ]


ทาง กมธ. เราจัดทำโครงการ "เซฟสิทธิ เซฟเสียง" เพื่อเชิญชวนประชาชนมาร่วมเป็นอาสาสมัครจับตาดูการเลือกตั้ง อบจ. ในววันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้


โครงการนี้เป็นโครงการที่ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ ทำร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า (สำนักนวัตกรรม) และ ภาคประชาสังคม (WeVis และ We Watch)


วัตถุประสงค์คือการขอเวลาพี่น้องประชาชนคนละไม่กี่ชั่วโมง เพื่อมาร่วมเป็นอาสาสมัครปกป้องเสียงของประชาชนทุกคน โดยการจับตาดูการเลือกตั้ง อบจ. ตามหน่วยเลือกตั้งใกล้บ้าน หลังการปิดหีบลงคะแนนตอน 17.00 น.


ภารกิจที่เราจะขอให้อาสาสมัครแต่ละคนช่วยจะมี 3 ภารกิจด้วยกัน:


1. เป็นหูเป็นตาและสังเกตการณ์หน่วยเลือกตั้งใกล้บ้าน ตั้งแต่ปิดหีบ (17.00 น.) เป็นต้นไป จนถึงการนับคะแนนเสร็จ

2. เช็คความพร้อมภาพรวมของหน่วยเลือกตั้งว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ตาม checklist ที่จัดทำให้

3. ถ่ายภาพผลการนับคะแนนของ ผู้สมัครนายก อบจ. และผู้สมัคร ส.อบจ. ณ หน่วยเลือกตั้ง


[ Phase 3 (หลังวันเลือกตั้ง) = จัดทำข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ]


ทาง กมธ. เราได้ทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาในการศึกษาและจัดทำรายงานเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยวันนี้หรือสัปดาห์หน้าทาง กมธ. จะมีมติรับรองรายงานดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในเดือน ก.พ.


ตัวอย่างของข้อเสนอแนะในรายงานรวมถึง:


1. เพิ่มการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน (เช่น การเลือกตั้งตามที่อยู่อาศัยจริง การเลือกตั้งล่วงหน้า การอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุและคนพิการ)

2. ลดความสับสนในการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน (เช่น สีบัตรเลือกตั้ง ข้อมลูบนบัตรเลือกตั้ง)

3. เพิ่มความโปร่งใสในการเลือกตั้ง (เช่น ปรับปรุงการจัดเก็บและรายงานผลรายหน่วยเลือกตั้ง เพิ่มการคุ้มครองสิทธิในการสังเกตการณ์เลือกตั้ง)

4. ส่งเสริมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นพร้อมกัน (เช่น ระหว่างแต่ละฝ่าย (ผู้บริหาร และ สมาชิกสภา) ระหว่างแต่ละพื้นที่ ระหว่างแต่ละระดับ)


ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. กันในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. นี้

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธพัฒนาการเมือง #จับตาเลือกตั้งอบจ #อบจ