วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2568

พริษฐ์ ชี้ ด่านแรกสำเร็จแล้ว ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไข รธน. ให้จัดทำ รธน.ใหม่ด้วยประชามติ 2 ครั้ง ชวนจับตาการพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา 14-15 ม.ค. หวังเห็น “แพทองธาร” แสดงบทบาทนำหาเอกภาพพรรคร่วมดันจัดทำ รธน.ใหม่สำเร็จ

 


พริษฐ์ ชี้ ด่านแรกสำเร็จแล้ว ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไข รธน. ให้จัดทำ รธน.ใหม่ด้วยประชามติ 2 ครั้ง ชวนจับตาการพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา 14-15 ม.ค. หวังเห็น “แพทองธาร” แสดงบทบาทนำหาเอกภาพพรรคร่วมดันจัดทำ รธน.ใหม่สำเร็จ

 

วานนี้ (2 มกราคม 2568) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคประชาชน โพสต์ข้อความ ระบุว่า ด่านแรก ทำสำเร็จแล้ว! ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไข รธน. ให้จัดทำ รธน. ฉบับใหม่ด้วยประชามติ 2 ครั้ง จ่อคิวพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา 14-15 ม.ค. โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้

 

[ ด่านแรก ทำสำเร็จแล้ว! ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไข รธน. ให้จัดทำ รธน. ฉบับใหม่ด้วยประชามติ 2 ครั้ง - จ่อคิวพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา 14-15 ม.ค. ]

 

ในช่วงก่อนปีใหม่ไม่นาน ผมได้รับแจ้งถึงความสำเร็จและความคืบหน้าเล็กน้อยเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผมได้พยายามผลักดันมาตลอด (โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของ 2567) เลยขอสรุปมาให้ทุกท่านครับ

 

1. ณ เวลานี้ ทางเว็บไซ์รัฐสภาได้มีการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้ว ว่าทางประธานรัฐสภาได้ตัดสินใจบรรจุร่างแก้ไข รธน. ที่ผมและพรรคประชาชนเสนอ เพื่อให้มีการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ด้วยประชามติ 2 ครั้ง เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ( https://shorturl.at/WYQWJ )

 

2. การตัดสินใจครั้งนี้ของประธานรัฐสภานับเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

3. ตั้งแต่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรนูญ 4/2564 ออกมาเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ทางประธานรัฐสภา (โดยคำแนะนำของคณะกรรมการของประธานรัฐสภา) ไม่เคยบรรจุร่างแก้ไข รธน. ดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เพราะไปตีความว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องทำประชามติเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ครั้ง ก่อนจะสามารถบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้ (จึงทำให้จำนวนประชามติเพิ่มขึ้นจาก 2 ครั้ง เป็น 3 ครั้ง)

 

4. แม้ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และนักวิชาการหลายฝ่าย มองว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าให้ทำประชามติเพิ่มขึ้นจาก 2 ครั้งมาเป็น 3 ครั้ง แต่หากประธานรัฐสภา (และคณะกรรมการของประธานรัฐสภา) ยังคงยืนยันคำเดิม และไม่เปลี่ยนใจหันมาบรรจุร่างแก้ไข รธน. เข้าสู่ระเบียบวาระ ประตูสู่การลดจำนวนประชามติจาก 3 เหลือ 2 ครั้ง ก็จะยังถูกล็อกไว้

 

5. เมื่อตอนต้นปี 2567 พอประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างดังกล่าว ทางพรรคเพื่อไทยได้พยายามจะเปลี่ยนใจประธานรัฐสภา โดยใช้วิธีการขอมติจากรัฐสภาให้ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยให้ชัดว่าประธานรัฐสภาบรรจุร่างดังกล่าวได้หรือไม่

 

6. แต่พอเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญตอน เม.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญกลับมีมติเอกฉันท์ไม่รับเรื่องดังกล่าวมาวินิจฉัย เลยทำให้ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ จนทำให้รัฐบาลถอดใจและ ครม. จึงมีมติให้ยอมเดินตามเส้นทางการทำประชามติ 3 ครั้ง (โดยพ่วงเงื่อนไขว่าจะไม่ทำประชามติครั้งแรกจนกว่าจะแก้ พ.ร.บ. ประชามติ เสร็จ)

 

7. แต่การแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ก็ยืดเยื้อกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้เพราะความเห็นต่างระหว่าง สส. กับ สว. (จนวันนี้ถูกเพิ่มเวลาไปอีก 180 วัน และทำให้ไม่สามารถเสร็จสิ้นได้จนถึงครึ่งหลังของปี 2568) จนทำให้ตัวแทนรัฐบาลหลายคนออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะถอดใจ ว่าการมี รธน. ฉบับใหม่ ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป (ซึ่งเป็นเป้าหมายและนโยบายของรัฐบาลเอง) เป็นไปไม่ได้แล้ว

 

8. ตอน ต.ค. 2567 ผมเลยได้เสนอว่าพวกเราทุกฝ่ายน่าจะร่วมกันลองอีกสักรอบหนึ่ง ในการลดจำนวนประชามติจาก 3 เหลือ 2 ครั้ง เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้การมี รธน. ฉบับใหม่ ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไปยังพอมีความเป็นไปได้ แถมยังเป็นการประหยัดทั้งเวลาของประชาชนในการไปออกเสียง และและงบประมาณในการจัดประชามติ 1 ครั้ง (ประมาณ 3,000 ล้านบาท)

 

9. แน่นอนว่า “ด่านแรก” ที่สำคัญคือทำยังไงให้ประธานรัฐสภา (และคณะกรรมการของประธานรัฐสภา) เปลี่ยนใจและหันมาบรรจุร่างแก้ไข รธน. (ที่เสนอให้มีการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ด้วยประชามติ 2 ครั้ง) เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา

 

10. เพื่อพยายามโน้มน้าวและเปลี่ยนใจประธานรัฐสภา (และคณะกรรมการของประธานรัฐสภา) ผมจึงได้ใช้เวลาช่วงปิดสมัยประชุม (พ.ย. 2567) ในการรวบรวมหลักฐานใหม่ๆที่คณะกรรมการไม่เคยใช้พิจารณามาก่อน ว่าทำไมการทำประชามติ 2 ครั้ง จึงไม่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เช่น

- (i) การรวบรวมคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน

- (ii) การรวบรวมความเห็นนักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญ (เช่น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ / ณรงค์เดช สรุโฆษิต)

- (iii) การขอเข้าพบประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการ

 

11. วันที่สภาฯเปิดกลับมา (12 ธ.ค. 2567) ผมและพรรคประชาชนจึงยื่นร่างแก้ไข รธน. ที่เสนอให้มีการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ด้วยประชามติ 2 ครั้ง เข้าสู่รัฐสภาอีกครั้ง เพื่อทำให้ประธานรัฐภา (และคณะกรรมการของประธานรัฐสภา) ต้องวินิจฉัยอีกรอบหนึ่ง

 

12. ในวันที่ 23 ธ.ค. 2567 ทางคณะกรรมการของประธานรัฐสภาได้เรียกให้ผมไปให้ข้อมูล - ทางผมจึงได้นำเสนอหลักฐานทั้งหมดที่รวบรวมมา และชี้แจงต่อคณะกรรมการร่วมกับคุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา (ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี) และ ตัวแทนภาคประชาชน ที่เห็นตรงกัน

 

13. ภายในวันเดียวกันนั้น ทางผมได้รับแจ้งว่าพวกเราทำสำเร็จ ในการโน้มน้าวคณะกรรมการของประธานรัฐสภา ให้หันมามีมติเสียงข้างมากให้บรรจุร่างแก้ไข รธน. ที่เสนอการทำประชามติ 2 ครั้ง จนนำมาสู่การที่ประธานรัฐสภาบรรจุร่างดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

14. การฝ่าด่านแรกนี้ได้สำเร็จ นับเป็นข่าวดีต้อนรับปีใหม่ เพราะเป็นด่านที่เรายังไม่เคยฝ่าฟันได้สำเร็จมาก่อนตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา

 

15. แต่ในวันที่ 14-15 ม.ค. 2568 นี้ เราจะต้องเผชิญกับ “ด่านที่สอง” ต่อทันที นั่นคือการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไข รธน. ดังกล่าว (ที่เสนอการทำประชามติ 2 ครั้ง) ในวาระที่ 1 - การจะฝ่าด่านนี้ได้ก็ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนของทั้ง สส. และ (อย่างน้อย 1 ใน 3 ของ) สว.

 

16. การได้เสียงสนับสนุนจาก สส. คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาเนื่องจากการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาและประชาชน ซึ่งควรจะผูกมัด สส. รัฐบาลทุกพรรค

 

17. การได้เสียงสนับสนุนจาก สว. เป็นสิ่งที่เราอาจคาดการณ์ได้ยากกว่า หรือคาดว่าจะมีความท้าทายมากกว่า

 

18. หากความเห็นต่างระหว่างสองสภาฯ มีเส้นแบ่งเดียวกัน กับความเห็นต่างระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล บุคคลที่จะต้องลุกขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการแสวงหาเอกภาพระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล (หรือเอกภาพระหว่างสองสภา ก็หนีไม่พ้นนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าของรัฐบาลผสมนี้

 

19. มารอดูกันครับว่าใน 12 วันข้างหน้านี้ นายกฯจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำและความจริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร เพื่อทำให้พรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันผลักดันยโยบายเรือธงของรัฐบาลเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ประสบความสำเร็จตามที่ได้เคยสัญญาไว้กับประชาชน

 

20. เรื่องทั้งหมดนี้ยิ่งตอกย้ำความเชื่อผมว่า “เมื่อมีเจตจำนงชัดเจน การเมืองเป็นเรื่องของความเป็นไปได้” (when there is a will, there is a way) – หวังว่าท่านนายกฯจะคิดคล้ายกัน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รัฐธรรมนูญ #ประชามติ