วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

“เท้ง ณัฐพงษ์” กระทุ้งถามรัฐบาลกรณีสถานการณ์กัมพูชา ทั้งสถานการณ์การทหาร ความมั่นคง เศรษฐกิจชายแดน - เปิดประเด็นใหม่กองทัพเคยขอกระสุนสหรัฐฯ ผ่านจัสแมกแต่รัฐบาลปัดตกเพราะเกรงใจมหาอำนาจในภูมิภาคหรือไม่

 


“เท้ง ณัฐพงษ์” กระทุ้งถามรัฐบาลกรณีสถานการณ์กัมพูชา ทั้งสถานการณ์การทหาร ความมั่นคง เศรษฐกิจชายแดน - เปิดประเด็นใหม่กองทัพเคยขอกระสุนสหรัฐฯ ผ่านจัสแมกแต่รัฐบาลปัดตกเพราะเกรงใจมหาอำนาจในภูมิภาคหรือไม่


วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ในวันแรกของการเปิดสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีการคลี่คลายความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชา โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม รักษาการ รมว.กลาโหม เป็นผู้ตอบคำถาม


ณัฐพงษ์กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤตไทย-กัมพูชาขณะนี้ ตนเชื่อว่าพี่น้องประชาชนคนไทยทั่วประเทศต้องการรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งไม่อ่อนแอ ขณะเดียวกันต้องบริหารสถานการณ์อย่างมีวุฒิภาวะ รอบคอบ ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้านให้ความเกรงใจรัฐบาลไทย โดยมาตรการที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้มีหลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การทหาร การกดดันทางเศรษฐกิจ และมาตรการที่พุ่งเป้าไปยังเครือข่ายกลุ่มผู้มีอิทธิพลของกัมพูชา ซึ่งวันนี้เราได้เห็นแล้วว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงคลิปเสียงสนทนา ล้วนเกิดขึ้นจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาด ที่ตัวผู้นำประเทศใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างครอบครัวสองประเทศ จนนำมาสู่วิกฤตที่คลี่คลายได้ยากยิ่งขึ้น


ในฐานะ พล.อ.ณัฐพล เป็นผู้อำนวยศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา (ศบ.ทก.) บริหารราชการแผ่นดินในส่วนนี้ ตามแนวปฏิบัติที่นายกฯ วางไว้ โดยนายกฯ เคยสื่อสารว่ามาตรการทางเศรษฐกิจที่บางกรณีหรือหลายกรณีส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ต้องใช้เพื่อสร้างแรงกดดันเพื่อป้องกันผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของกำลังทหารและการใช้อาวุธที่ใช้ปฏิบัติการในระยะไกลของฝ่ายกัมพูชา ซึ่งมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้หากสถานการณ์ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น


ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2568 เป็นต้นมา มีรายงานข่าวที่สอดคล้องกันทั้งไทยและกัมพูชา ว่ากัมพูชาได้ปรับถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาทแล้ว แต่เราทราบกันดีว่าขณะนี้ในเรื่องการควบคุมด่านชายแดนที่ รมช.กลาโหม อาจใช้คำว่าเป็นการ “เปิดด่านแบบจำกัดเวลา” เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจที่ด้านหนึ่งมีประสิทธิภาพ แต่อีกด้านหนึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยเป็นวงกว้าง


ตนต้องย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลต้องแสดงความเข้มแข็ง เราไม่ได้เห็นต่างในเรื่องการใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาพรรคประชาชนก็ได้เสนอข้อเสนอนี้ไปแล้ว แต่คำถามคือใช้อย่างไรให้เหมาะสม ใช้อย่างไรเพื่อแสดงออกว่ารัฐบาลบริหารจัดการอย่างรอบคอบมีวุฒิภาวะ ไม่ดำเนินการที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างเกินความจำเป็น ตนจึงอยากได้ข้อเท็จจริงจากรัฐมนตรีในวันนี้ ว่าในเมื่อหน้าข่าวเรารับทราบว่ากัมพูชาถอนกำลังทหารออกไปแล้ว และนายกฯ เคยวางแนวไว้แล้วว่ามาตรการกดดันทางเศรษฐกิจต้องใช้อย่างเหมาะสม ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ในอนาคต ดังนั้น ณ ตอนนี้สถานการณ์ระหว่างไทยและกัมพูชาตามแนวชายแดน ยังมีความกดดันทางการทหารที่กัมพูชาดำเนินการอยู่หรือไม่ ถ้ามี มีอย่างไร 


พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ถึงแม้ว่ากำลังที่เผชิญหน้าจะเคลื่อนย้ายกลับไปแล้ว แต่กำลังส่วนที่เหลือซึ่งจำนวนมากมีทั้งอาวุธหนัก รถถัง ปืนใหญ่ ยังเป็นกำลังระลอกสองที่ยังอยู่ในพื้นที่ ยังมีความเสี่ยงที่วันใดวันหนึ่งเกิดความไม่เข้าใจกันแล้วอาจทำให้สถานการณ์บานปลายถึงขั้นใช้อาวุธหนักกัน ตนเคยมีประสบการณ์ในปี 2554 กรณีเขาพระวิหาร ในครั้งนั้นอาวุธที่ทั้งสองฝ่ายมียังไม่ร้ายแรงเท่าครั้งนี้


ยอมรับว่า ศบ.ทก. และรัฐบาลหนักใจมาก เพราะสังคมปัจจุบันมี 2 กระแส กระแสหนึ่งจากการไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนตามแนวชายแดน ประสบความเดือดร้อนอย่างมาก อยากให้รัฐบาลคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็ว แต่เมื่อตนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ก็ได้เจอพี่น้องที่ส่วนกลางอีกจำนวนหนึ่งบอกว่าไม่อยากให้รัฐบาลอ่อนข้อ ดังนั้นขอความเห็นใจ การตัดสินใจแต่ละเรื่องต้องทำอย่างรอบคอบและชั่งน้ำหนักให้ดี


ส่วนที่ผู้นำฝ่ายค้านแสดงความเห็นว่ากองทัพมีอำนาจ ซึ่งตรงกับที่หลายฝ่ายเข้าใจว่ามาตรการเหล่านี้ปัจจุบันทำโดยกองทัพ เป็นเรื่องที่ลำบากใจ ตนเองก็เป็นฝ่ายการเมืองแต่พอยังมียศก็ทำให้คนมองว่าเป็นทหาร ก่อนเข้ามารับตำแหน่งนี้ ผู้ใหญ่มองว่าเป็นข้อดี คือเวลาไปอยู่กับรัฐบาลก็เป็นฝ่ายการเมือง เวลาไปอยู่กับกองทัพก็เป็นทหาร แต่ที่ผ่านมายังไม่เป็นไปตามที่คิด เวลาตนกลับไปอยู่กับกองทัพเขาก็มองว่าตนเป็นรัฐบาล เวลาตนไปอยู่กับรัฐบาลเขาก็มองว่าเป็นกองทัพ 


ประการที่ 2 สถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดน เป็นภาวะฉุกเฉินเชิงความมั่นคง ฝ่ายกัมพูชามีระบบสั่งการแบบรวมศูนย์ ผู้นำสั่งการถึงแนวหน้าตามชายแดนได้ทันที แต่ฝ่ายไทยหากยังใช้สายบังคับบัญชาตั้งแต่รัฐบาล สมช. จนถึงกองทัพ เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม การให้อำนาจบางประการแก่กองทัพเป็นมาตรการชั่วคราวเฉพาะหน้าและอยู่ภายใต้การกำกับของ ศบ.ทก. เราประชุมกันทุกขั้นตอน ไม่ใช่ปล่อยให้กองทัพมีอิสระโดยลำพังตามที่หลายฝ่ายวิจารณ์


ประการที่ 3 รัฐบาลไม่ได้มองปัญหาความมั่นคงอย่างเดียว แต่มองว่าความมั่นคงส่งผลต่อเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกัน แต่วันนี้เริ่มมีสัญญาณบวก ฝ่ายระดับสูงของกัมพูชาที่ผ่านมาไม่ยอมคุยเลย แต่ 2-3 วันนี้เขาเริ่มมาคุยว่าที่บอกว่าไทยจะเชิญไปพูดคุยในกลไกการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee) มีเงื่อนไขอย่างไร แต่ด้วยสถานการณ์ทางโซเชียลมีเดียทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา ทำให้การพูดคุยเรื่องเงื่อนไขยังไม่เป็นที่ตกลงกัน ทาง ศบ.ทก. ยืนยันว่าพยายามโน้มน้าวกัมพูชา อยู่ระหว่างประสานงาน


ณัฐพงษ์ถามคำถามที่สองต่อว่า มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจมีไว้เพื่อสร้างแรงกดดัน ไม่ใช่เพื่อการสร้างความตึงเครียด มาตรการควบคุมด่าน ณ ตอนนั้นเรามีวัตถุประสงค์เพื่อให้กัมพูชาถอนกำลังออกจากพื้นที่พิพาท และรัฐมนตรีเองก็ยืนยันว่าได้มีการถอนกำลังออกไปแล้ว ดังนั้นจึงอยากได้ข้อเท็จจริงว่าวัตถุประสงค์ชัดๆ ตอนนี้ที่รัฐบาลยังคงมาตรการควบคุมด่านอยู่ มีไว้เพื่อสร้างแรงกดดันเพื่อนำไปสู่อะไร เพราะเราเห็นว่าถ้าใช้อย่างไม่เหมาะสม แทนที่จะเป็นมาตรการสร้างแรงกดดัน จะกลายเป็นมาตรการสร้างความตึงเครียด ที่ทำให้การบริหารสถานการณ์เดินไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น


ส่วนมาตรการอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง แต่พุ่งเป้าไปยังตัวผู้นำหรือเครือข่ายผู้มีอิทธิพลของกัมพูชา คือการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์รวมถึงการดำเนินคดีกรณีการลอบสังหารนักการเมืองฝ่ายค้านกัมพูชาในประเทศไทย ตนขอความคืบหน้าว่าตอนนี้รัฐบาลดำเนินการไปถึงไหน  


นอกจากนี้ทราบว่ากองทัพได้ประสานไปยังคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย (จัสแมกไทย) ขอกำลังบำรุงและเครื่องกระสุนจากสหรัฐฯ เพื่อเตรียมประสิทธิภาพรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้หากมีการปะทะ แต่ตนทราบว่าเรื่องนี้ถูกคว่ำเนื่องจากฝ่ายการเมืองปัดตกคำขอ ในฐานะที่ รมช.กลาโหม อยู่ฝ่ายการเมือง ตนขอทราบเหตุผลว่าในเมื่อกองทัพขอรับการสนับสนุนเครื่องกระสุนไปยังสหรัฐฯ ทำไมฝ่ายการเมืองจึงคว่ำข้อเสนอ เป็นเพราะเกรงใจประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งเราทราบกันดีว่าให้การสนับสนุนกัมพูชา มีฐานทัพเรือในกัมพูชาอยู่ด้วย ใช่หรือไม่


รมช.กลาโหม กล่าวว่า มาตรการควบคุมจุดผ่านแดนของไทยมี 4 ขั้นตอน ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนจนถึงวันนี้ เราดำเนินการเพียงขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 คือจำกัดการเข้า-ออกของบุคคลและยานพาหนะ และจำกัดเวลาเปิด-ปิดด่าน ยังไม่เคยปิดจุดผ่านแดนเลย จะเรียกว่ากดดันก็แทบไม่ได้กดดันอะไรมาก ที่รู้สึกว่ากดดันมากเป็นความรู้สึกที่ทางผู้นำกัมพูชาโพสต์ในโซเชียลมีเดียซึ่งไม่เป็นความจริง 


กรณีที่ถามว่าการกดดันมีความมุ่งหมายอย่างไรกันแน่ จริงๆ แล้วเราไม่ได้กดดันทางด้านเศรษฐกิจเท่าไหร่ แต่กดดันทางด้านกระบวนการอาชญากรรมเพื่อปราบปรามสแกมเมอร์ ซึ่งจนถึงปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าสถิติสแกมเมอร์ลดลง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้องการให้เราทำแบบนี้ต่อไป แต่ถ้าเราทำแบบนี้ต่อไป พี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนจะได้รับความเดือดร้อน ส่วนการคลี่คลายคดีลอบสังหารนักการเมืองกัมพูชาในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของ สตช. ขออนุญาตไม่ชี้แจงเพราะเป็นประเด็นละเอียดอ่อน 


สำหรับการประสานจัสแมกไทย เรื่องความมั่นคงนั้นเรายึดถือนโยบายสมดุลเป็นหลัก เราพยายามระมัดระวังไม่ให้ประเทศไทยไปผูกพันกับประเทศใดประเทศหนึ่ง ปัจจุบันสื่อหลายสำนักนำเสนอว่ากัมพูชาที่ทำแบบนี้ได้เพราะได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจที่อยู่ตอนเหนือของประเทศไทย แต่ในทางการทูต ประเทศมหาอำนาจดังกล่าวชี้แจงกับเราว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เป็นเพียงความร่วมมือทางการทหารการ ดังนั้นที่ฝ่ายการเมืองยับยั้งคำขอของกองทัพ เพราะรัฐบาลมองเรื่องการรักษาสมดุล กองทัพไม่สามารถดำเนินการได้ตามลำพัง ต้องทำตามนโยบายรัฐบาล ถ้าดึงอีกประเทศเข้ามาอาจทำให้เกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้


จากนั้นณัฐพงษ์กล่าวว่า ในส่วนเรื่องด่าน ที่ รมช.กลาโหม ชี้แจงว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งที่อาจไม่ได้อยู่ตามแนวชายแดน อยากให้รัฐบาลใช้มาตรการที่เข้มข้นเข้มแข็ง แต่ประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดนเรียกร้องรัฐบาลเช่นกันว่าเขาไม่ได้อยู่บริเวณพื้นที่พิพาทขัดแย้ง ทำไมต้องได้รับผลกระทบไปด้วย ตนคิดว่าใจความสำคัญของเรื่องนี้คือการดำเนินมาตรการที่ลงรายละเอียด 


เราไม่สามารถใช้เหตุผลได้ว่าเป็นเพราะอารมณ์ของสังคมต้องการเห็นรัฐบาลแสดงออกอย่างเข้มแข็งดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้น แล้วรัฐบาลก็ไปดำเนินมาตรการตามแนวชายแดนที่ไม่ได้ลงรายละเอียดเพียงพอ สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ คือประชาชนระหว่าง 2 ประเทศซึ่งเขาอยู่ร่วมกันได้มาเป็นเวลานาน ดังนั้นสิ่งที่เป็นทางออกมากกว่า คือการที่รัฐบาลลงรายละเอียดรวมถึงสื่อสารอย่างชัดเจน แสดงออกถึงความเข้มแข็งอย่างมีวุฒิภาวะต่อประชาชนทั้งประเทศ


ตนเห็นด้วยกับรัฐมนตรีว่าวันนี้คนไทยไม่อยากเห็นว่าประเทศไทยเสียเปรียบกัมพูชา แต่วันนี้ที่เราเดินมาถึงจุดที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเห็นว่าเราเสียเปรียบ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเสียรู้ ทั้งเรื่องคลิปหลุด ทั้งการสื่อสารที่ไม่รวดเร็วไม่ชัดเจนเพียงพอ เรื่องจัสแมกนั้น ตนทราบดีว่าระหว่างไทยกับกัมพูชาอาจมีประเทศที่ให้การสนับสนุนด้านการทหารต่างกัน ซึ่งล้วนเป็นประเทศมหาอำนาจทั้งคู่ แต่ตนเชื่อว่าจุดยืนประเทศไทยขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจฝ่ายไหน เราล้วนมีความสัมพันธ์อันดีกับเขาทั้งคู่


คำถามสุดท้ายคือรัฐบาลได้เคยใช้มาตรการการทูตเชิงรุกในการประสานไปยังประเทศที่ 3 เช่นมหาอำนาจที่อยู่ตอนเหนือของประเทศไทย ที่เขาเองต้องการเสถียรภาพในภูมิภาค มีแนวนโยบายยุทธศาสตร์ที่จะเชื่อมภูมิภาคต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งอาเซียนที่มีไทยเป็นศูนย์กลางก็เป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญ รัฐบาลเคยใช้การทูตเชิงรุกลักษณะนี้ประสานไปยังประเทศที่ 3 เพื่อกดดันกัมพูชาให้กลับมาพูดคุยในระดับทวิภาคีกับประเทศไทยหรือไม่


รมช.กลาโหม ตอบคำถามสุดท้ายว่า ในกระบวนการ GBC หากสำเร็จ จะคุยกัน 2 เรื่องเท่านั้น หนึ่งคือการเคลื่อนย้ายกำลังกลับที่ตั้งปกติเพื่อหลีกเลี่ยงความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และสองคือการยกเลิกมาตรการควบคุมตามแนวชายแดน แต่เรื่องนี้ปัจจุบันรายละเอียดยังไม่ลงตัว ต่างฝ่ายต่างระแวง


ส่วนที่ผู้นำฝ่ายค้านบอกว่าเสียรู้ในเรื่องการสื่อสารนั้น เรื่องการเมืองระหว่างประเทศนั้นควรเป็นการตอบโต้กันทางหนังสือราชการ แต่ที่ผ่านมาไม่มีแม้แต่ฉบับเดียว มีแต่การตอบโต้ทางโซเชียลมีเดีย จริงๆ แล้วนายกฯ ก็อยากโพสต์ตอบโต้ แต่ตนขอว่าอย่าทำเพราะ ศบ.ทก. จะแก้ปัญหายากขึ้น เราไม่อยากตอบโต้แบบเถียงไปเถียงมา แต่ต้องการชี้แจงข้อเท็จจริง ไม่เช่นนั้นมาตรการต่างๆ จะยกเลิกได้อย่างไร


เราใช้กลไกทางการทูตแน่นอน แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยใช้ทั้งผ่านกระทรวงการต่างประเทศและผ่านผู้ช่วยทูตทหาร มีการสื่อข้อห่วงใยไปยังประเทศมหาอำนาจ โดยแจ้งว่าประเทศไทยยึดนโยบายสมดุล และเราห่วงใยการที่ประเทศเพื่อนบ้านทำลักษณะอย่างนี้ ทั้งนี้ ตนได้ทำงานร่วมกับฝ่ายค้านหลายคน ต้องขอบคุณข้อคิดที่มีประโยชน์ ซึ่งตนนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของชาติและประชาชน 


ที่มีข้อห่วงใยว่ากองทัพมีอำนาจอย่างเดียวนั้น ขอชี้แจง 3 ประการ อย่างแรก รัฐบาลทำงานยึดหลักการบริหารภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย มีรัฐบาลพลเรือนเป็นผู้นำ รัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายให้ทุกส่วนราชการปฏิบัติและใช้อำนาจของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงเป็นประธาน เป็นกลไกอำนวยการให้แต่ละหน่วยงานดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายเดียวกัน หลังจากนั้นได้ตั้ง ศบ.ทก. ขึ้นมาเพื่อบูรณาการการทำงานของทุกฝ่าย กองทัพเป็นเพียงหนึ่งในหลายหน่วยงานที่ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #ประชุมสภา #ชายแดนไทย