วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

ศาลฎีกาพิพากษายืน"ก้อง อุกฤษฏ์" นักศึกษานิติศาสตร์ คดี 112 - พ.ร.บ.คอมฯ จากการแชร์ข้อความ ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ทำให้คดีสิ้นสุด โดยปัจจุบันก้องถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวางเป็นเวลา 519 วัน แล้ว

 


ศาลฎีกาพิพากษายืน"ก้อง อุกฤษฏ์" นักศึกษานิติศาสตร์ คดี 112 - พ.ร.บ.คอมฯ จากการแชร์ข้อความ ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ทำให้คดีสิ้นสุด โดยปัจจุบันก้องถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวางเป็นเวลา 519 วัน แล้ว


วันนี้ (15 กรกฎาคม 2568) ศูนย์ทนายความรายงานว่า ศาลสมุทรปราการ นัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดี #112 - พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ "ก้อง" อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นักศึกษา ม.รามคำแหง จากกรณีแชร์ข้อความเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วง ร.10 เมื่อช่วงปี 2563


ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ทำให้คดีของเขาสิ้นสุด


คดีนี้ก้องไม่ได้รับสิทธิประกันตัวตั้งแต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษา โดยปัจจุบันก้องถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวางเป็นระยะเวลา 519 วัน แล้ว


ทั้งนี้ในวันนี้ มีพี่น้องมวลชนและครอบครัวมาร่วมรับฟังคำพิพากษาด้วย โดยต่อมาเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ได้เบิกตัวก้องมา แต่เป็นการวิดีโอคอล ซึ่งมวลชนก็ได้ให้กำลังใจแม่และครอบครัวของก้อง


สำหรับ"ก้อง" อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นักศึกษา ม.รามคำแหง ระหว่างถูกคุมขัง ก้องร้องขอสอบ 3 วิชาสุดท้ายเพื่อเรียนจบ แต่มหาวิทยาลัยไม่จัดสอบ-ศาลไม่อนุญาต


คำร้องของก้องในการขออนุญาตให้นำตัวไปสอบ ได้แถลงต่อศาลโดยสรุปว่า เขาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้ลงทะเบียนเรียนในภาคฤดูร้อนปีการศึกษา 2567 รวมจำนวน 9 หน่วยกิต (3 รายวิชา) ซึ่งหากสามารถสอบไล่ได้ครบก็จะสำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญาตามหลักสูตร


แม้ก้องจะถูกคุมขัง แต่ยังตั้งใจเรียนอย่างมุ่งมั่นภายใต้ข้อจำกัดของเรือนจำ และได้พยายามใช้สิทธิตามระเบียบมหาวิทยาลัย โดยการยื่นคำร้องต่อคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จำนวน 2 ครั้ง และสภานักศึกษายังมีหนังสือถึงมหาวิทยาลัยฯ เพื่อขอให้จัดสอบภายในเรือนจำอีกด้วย


อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีมติไม่อนุมัติคำร้องขอสอบในเรือนจำทั้งหมด โดยมีแถลงการณ์ ให้เหตุผลโดยสรุปอ้างว่าไม่สามารถจัดสอบเฉพาะบุคคลภายในเรือนจำได้ เนื่องจากอาจเกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้เรียนคนอื่นที่ประสบเหตุสุดวิสัยในลักษณะเดียวกัน


แม้ว่าก้องจะถูกควบคุมคัวในระหว่างการพิจารณา แต่ก็ยังมีสิทธิศึกษาตามรัฐธรรมนูญฯ ดังนั้นการควบคุมตัวในระหว่างพิจารณาจะทำให้ก้องเสียสิทธิการศึกษาอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ย่อมทำให้ก้องได้รับผลกระทบอย่างหนัก และจะส่งผลให้ต้องพ้นจากสภาพนักศึกษาด้วย


ขอให้อนุญาตให้ก้องออกนอกเรือนจำบางขวาง เพื่อเดินทางไปสอบที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงตามวันและเวลาในตารางสอบ โดยอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ หรือมาตรการอื่นตามดุลยพินิจ


อย่างไรก็ตามศาลมีคำสั่งในวันเดียวกัน โดยระบุเหตุผลสั้น ๆ ว่า “กรณียังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะอนุญาต ยกคำร้อง”

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #มาตรา112 #ก้องอุกฤษ์