วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

ศาลอาญายกคำร้อง ‘ธงชัย วินิจจะกูล’ ขอไต่สวนกรณี “ตรวนข้อเท้า” อานนท์ นำภา ให้การใช้เครื่องพันธนาการสอดคล้องตามเจตจำนงกฎหมาย ระบุไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 


ศาลอาญายกคำร้อง ‘ธงชัย วินิจจะกูล’ ขอไต่สวนกรณี “ตรวนข้อเท้า” อานนท์ นำภา ให้การใช้เครื่องพันธนาการสอดคล้องตามเจตจำนงกฎหมาย ระบุไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 


วันนี้ (21 ก.ค. 68) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ เวลา 09.00 น. มีนัดไต่สวนกรณีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนโดยพลันและยุติการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีของมนุษย์ ต่ออานนท์ นำภา ในกรณี “การใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขัง” เพื่อยืนยันว่าสำนักงานศาลยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์จะพิจารณาการใช้กุญแจข้อเท้าและโซ่ล่ามผู้ต้องขังรายอื่น เป็นรายกรณีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สิทธิของผู้ต้องขังได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและหลักตามสิทธิมนุษยชน ต่อมาหลังไต่สวนพยานเสร็จ ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ระบุโดยสรุปว่า ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2568 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ได้ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนโดยพลันและยุติการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อนายอานนท์ นำภา หลังพบเห็นอานนท์ปรากฏตัวในชุดนักโทษพร้อมกุญแจเท้าทั้งสองข้างระหว่างการเดินทางมาศาลและในห้องพิจารณาคดี ธงชัยมองว่าการใส่ชุดนักโทษ การใส่กุญแจเท้า หรือการใส่โซ่ล่ามระหว่างการพิจารณาคดี ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผิดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงอาจเป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 26 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และทบทวนการใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขัง โดยเฉพาะผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ให้สอดคล้องกับข้อห้ามตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 ที่มีใจความว่า “ห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง” 


สำหรับช่วงเช้าวันนี้ ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 708 มีประชาชนเดินทางมาร่วมรับฟังการพิจารณาคดีด้วย โดยศาลได้ไต่สวนพยานผู้ร้อง 4 ปาก ได้แก่ อานนท์ (ผู้เสียหาย) และพยานผู้เชี่ยวชาญ 3 ปาก (ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ, ด้านพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ, ด้านประวัติศาสตร์ราชทัณฑ์) จนเสร็จสิ้น ศาลจึงนัดฟังคำสั่งในช่วงบ่าย


ต่อมาในช่วงบ่าย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) เปิดเผยว่า ศาลมีคำสั่ง ‘ยกคำร้อง’ โดยระบุว่าข้อเท็จจริงในเบื้องต้นจากการไต่สวนรับฟังได้ดังนี้ “เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ใช้เครื่องพันธนาการ กุญแจ และโซ่ตรวนกับอานนท์ นำภา ผู้เสียหาย ในระหว่างการเบิกตัวจากเรือนจำมายังศาลอาญาเพื่อพิจารณาคดีจริง 


ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การกระทำของเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ดังกล่าวมีมูลเพียงพอจะเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำตามมาตรา 6 พ.ร.บ.ทรมานหรือไม่ เห็นว่ามีการใช้เครื่องพันธนาการ จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพและอาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้เสียหายและบุคคลอื่นอยู่บ้าง แต่จะต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิจนเกินขอบเขตแห่งความจำเป็นหรือไม่ เมื่อ พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 ได้ให้อำนาจหน้าที่ในการใช้เครื่องพันธนาการเมื่อคุมตัวผู้ต้องขังไปนอกเรือนจำ เพื่อความปลอดภัยและเพื่อป้องกันการหลบหนีได้ ดังนั้นการกระทำของเจ้าหน้าที่จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายบัญญัติไว้


ส่วนการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่ เห็นว่าการกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้จะต้องกระทำเกินเลยไปกว่าความจำเป็น ความปกติในการควบคุมตัว และมีลักษณะเป็นการจงใจลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำเป็นสำคัญ แต่จากการไต่สวนในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว 


ส่วนประเด็นที่เจ้าหน้าที่อาจมิได้จัดทำบันทึกเหตุผลความจำเป็นในการใช้เครื่องพันธนาการนี้เป็นรายการอย่างชัดเจนตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 21 อนุ 4 เห็นว่า แม้บันทึกเหตุผลจะเป็นหลักการปฏิบัติที่สำคัญ แต่ก็ยังมิอาจนำมาเป็นเหตุผลชี้ขาดว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 6 ได้โดยในทันที เพราะการวินิจฉัยความผิดตามมาตรา 6 ยังคงต้องพิจารณาจากลักษณะของการกระทำและผลการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ 


เมื่อข้อเท็จจริงชั้นไต่สวนเบื้องต้นยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่กฎหมายบัญญัติ คำร้องของผู้ร้องจึงยังไม่มีมูลเพียงพอที่ศาลจะออกหมายเรียกพยานฝ่ายผู้ถูกร้องมาไต่สวนต่อไป จึงมีคำสั่งยกคำร้อง”


เมื่อข้อเท็จจริงชั้นไต่สวนเบื้องต้นยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่กฎหมายบัญญัติ คำร้องของผู้ร้องจึงยังไม่มีมูลเพียงพอที่ศาลจะออกหมายเรียกพยานฝ่ายผู้ถูกร้องมาไต่สวนต่อไป จึงมีคำสั่งยกคำร้อง”


หลังจากฟังคำสั่งศาล ทนายความ ได้แก่ รัษฎา มนูรัษฎา, พรพิมล มุกขุนทด และพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า การย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักการสากลและที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ควรจะได้รับการพิจารณาว่ามีมูลที่จะเรียกให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์มาให้เหตุผล แต่ศาลได้สั่งยกคำร้องและแจ้งให้อุทธรณ์ต่อศาลสูง 


แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่าคดีในลักษณะนี้เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเสรีภาพของประชาชน การไต่สวนโดยพลัน มีเหตุผลสำคัญคือเพื่อที่จะยุติและป้องปรามการละเมิดสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับการใส่เครื่องพันธนาการในห้องพิจารณาคดี โดยทนายความและอานนท์ จะยื่นอุทธรณ์คดีทั้งเนื้อหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อไป 


ซึ่งในประเด็นข้อกฎหมาย พยานผู้เชี่ยวชาญได้ให้การและกล่าวถึงการพิจารณาคดีในศาลต่างประเทศ อาทิ ประเทศแคนาดา ฝรั่งเศส และเยอรมัน ไม่ได้มีการใส่เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขังคดีอาญาในศาล และประเด็นสำคัญคือตามรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” แม้ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ใช้ดุลยพินิจ แต่กฎหมายไม่ควรที่จะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด


ส่วนประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ อานนท์ยังไม่ได้เป็นผู้ต้องขังในคดีที่ถูกพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด อีกทั้งไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และเดินทางมาตามศาลทุกนัด จึงไม่มีเหตุอันสมควรในการใช้เครื่องพันธนาการ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อานนท์นำภา