วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

“ภัทรพงษ์” ซัดรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพแก้ปัญหาสารพิษแม่น้ำกก ไม่บูรณาการข้อมูลหน่วยงานรัฐให้ประชาชนเข้าถึงง่าย ไม่มีมาตรการรับมือ-เยียวยาเกษตรกร ส่วนการเจรจากับจีน-เมียนมาก็ไม่คืบหน้า ตอบไม่ตรงคำถาม โกหกประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 


“ภัทรพงษ์” ซัดรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพแก้ปัญหาสารพิษแม่น้ำกก ไม่บูรณาการข้อมูลหน่วยงานรัฐให้ประชาชนเข้าถึงง่าย ไม่มีมาตรการรับมือ-เยียวยาเกษตรกร ส่วนการเจรจากับจีน-เมียนมาก็ไม่คืบหน้า ตอบไม่ตรงคำถาม โกหกประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า


วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันแรก ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสดรองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง ถึงแนวทางและความคืบหน้าในการแก้ปัญหาสารพิษปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก ที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย


ภัทรพงษ์กล่าวว่า ปัญหาสารพิษปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก ซึ่งเกิดจากการทำเหมืองแร่ในฝั่งประเทศเมียนมา สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนตลอดทั้งสองฝั่งแม่น้ำอย่างหนักมากว่า 3 เดือนแล้ว แต่ที่ผ่านมาการสื่อสารของรัฐบาลทำได้แย่มาก ราวกับว่ากำลังละเลยปัญหานี้และทิ้งให้ประชาชนต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง ดังนั้น คำตอบของท่านรองนายกฯ ในฐานะหัวเรือที่ดูแลปัญหานี้ จะสะท้อนการทำงานของรัฐบาลให้ชัดเจนว่าที่ผ่านมาเป็นเพราะการสื่อสารที่แย่ หรือเป็นเพราะการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพกันแน่ ตนและประชาชนจะพิจารณาจากคำตอบของท่านในวันนี้


คำถามแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการภายในประเทศ ซึ่งมี 2 ประเด็นย่อย ประเด็นแรกคือเรื่องระบบฐานข้อมูล ที่ปัจจุบันเรายังไม่มีฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายเลย มีเพียงข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษหน่วยงานเดียวเท่านั้นที่แสดงข้อมูลอย่างชัดเจน แต่หน่วยงานอื่นๆ ยังไม่เข้ามาบูรณาการ ตอนแรกตนดีใจมากที่รัฐบาลริเริ่มตั้งศูนย์สื่อสาร “AIM” (Awareness Information Monitoring) ซึ่งเหมือนชื่อเล่นของ รมช.มหาดไทย ขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับประชาชน แต่การดำเนินงานของศูนย์นี้ก็เป็นเพียงการเปิดเฟซบุ๊กเพจมาสื่อสารข้อมูล ยังไม่ใช่ระบบบูรณาการฐานข้อมูลที่ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ได้ง่าย จึงขอให้ท่านรองนายกฯ ช่วยอธิบายให้ประชาชนเห็นภาพว่า ระบบฐานข้อมูลที่รัฐบาลใช้ในการวางแผน ป้องกัน และบรรเทาปัญหาอยู่ทุกวันนี้เป็นอย่างไร และจะเปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างไรบ้าง


ส่วนประเด็นที่สอง บริเวณแม่น้ำกก-สาย-รวกเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปีถึง 100,000 ไร่ คิดเป็นผลผลิตประมาณ 50,000 ตัน มูลค่ากว่า 250 ล้านบาท ซึ่งกำลังจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ถ้าหากมีการตรวจสอบพบในภายหลังว่าผลผลิตที่มีมูลค่ามากกว่า 250 ล้านบาทนี้มีสารพิษปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ท่านจะเตรียมมาตรการรับมืออย่างไร และมีแนวทางในการเยียวยาเกษตรกรอย่างไรบ้าง


ด้านรองนายกฯ ประเสริฐ ได้ตอบคำถามแรกว่า ในเรื่องระบบฐานข้อมูลนั้น ขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ซึ่งตนนั่งเป็นประธาน โดยมีการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมแผนที่ทหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดังนั้น เรื่องการบูรณาการข้อมูลนั้นรัฐบาลทำอยู่แล้ว เรามีข้อมูลเพียงพอ โดยเฉพาะข้อมูลแผนที่ดาวเทียมที่เรามีข้อมูลภาพเหมืองแร่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เปรียบเทียบเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน 


ขณะที่ในเรื่องสุขภาพประชาชน นายกฯ แพทองธารเป็นห่วงประชาชนอย่างยิ่ง โดยเรียกประชุมในเรื่องนี้ถึง 2 ครั้ง และมอบหมายให้ตนลงพื้นที่ไปตรวจสอบทั้งในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ โดยมีข้อสั่งการหลายอย่าง เช่น ให้กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบคุณภาพน้ำทุกสัปดาห์ และทำงานร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อแจ้งเตือนประชาชนกลุ่มเสี่ยง การจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในการแก้ปัญหา โดยมี รมช.มหาดไทย ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ช่วยประสาน การตั้งศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ 4 จุด เพื่อตรวจสุขภาพพี่น้องประชาชนอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการตรวจคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีค่าเกินมาตรฐาน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้ และดำเนินการทั้งเชิงรับและเชิงรุก


ภัทรพงษ์กล่าวว่า จากการตอบคำถามของรองนายกฯ ตนไม่แปลกใจเลยว่าทำไมประชาชนถึงไม่เชื่อมั่นในข้อมูลที่ภาครัฐนำเสนอ เพราะนอกจากหน่วยงานต่างๆ นอกเหนือจากกรมควบคุมมลพิษจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงง่ายแล้ว ฐานข้อมูลต่างๆ ที่ท่านบอกว่ามีการรวบรวมไว้แล้ว เราก็ยังไม่เห็นภาพว่ามีการบูรณาการกันอย่างไร ที่ท่านอธิบายมาไม่ต่างอะไรกับการขอเอกสารจากแต่ละหน่วยงานมานั่งดู ยังไม่เห็นภาพการบูรณาการใดๆ ทั้งสิ้น


ตนขอยกตัวอย่างวิธีการบูรณาการและเปิดเผยข้อมูล ซึ่งทำได้ง่ายๆ ผ่านการใช้ซอฟต์แวร์ฟรีอย่าง Google Earth รัฐบาลสามารถสร้างฐานข้อมูลโดยระบุพิกัดได้เลยว่าเหมืองแร่ที่เมียนมาอยู่จุดใดบ้าง การตรวจสอบคุณภาพน้ำจากกรมควบคุมมลพิษในแต่ละจุดมีค่าเป็นอย่างไร การตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาลจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นอย่างไร ประชาชนสามารถซูมดูเป็นรายจุดได้เลยว่าบ้านของเรา ชุมชนของเรา มีการตรวจน้ำบาดาลครั้งล่าสุดเมื่อใด ตรวจไปแล้วกี่ครั้ง แล้วแนวโน้มของสารพิษในน้ำเป็นอย่างไร เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร มีการตรวจสุขภาพในชุมชนของพวกเขาอย่างไรบ้าง และผลเป็นอย่างไรบ้าง ทำฐานข้อมูลแบบนี้ไม่ยาก ไม่ต้องใช้งบประมาณเลย ทำได้ทันที และจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการสื่อสารของรัฐบาลมากขึ้น แต่ก็ไม่ยอมทำ


ภัทรพงษ์ได้ถามต่อในคำถามที่สอง โดยระบุว่า นอกจากการบริหารจัดการในประเทศแล้ว การจัดการปัญหานี้ที่ต้นตอนอกประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยรัฐบาลควรเร่งดำเนินการเจรจากับเมียนมาและจีนผ่านกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (LMC) โดยนายกฯ แพทองธารให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 ว่า “ได้มีการคุยแล้ว ผ่านแม่โขงล้านช้าง เราคุยหมด และน้ำไม่ว่ามาจากประเทศไหนก็ไหลไปประเทศเขาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องมีความร่วมมือกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว ได้คุยแล้ว”


ต่อมาในวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 รองนายกฯ ประเสริฐกล่าวว่าท่านจะเป็นหัวหน้าในการเดินทางไปเจรจาแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และได้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศไว้แล้ว แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่นายกฯ หนีคำถามนักข่าวในประเด็นนี้ที่เชียงราย รมว.ต่างประเทศต้องออกมาช่วยแก้ว่าในสัปดาห์หน้า ซึ่งก็คือสัปดาห์นี้ รัฐบาลจะส่งที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศไป “หารือ” กับผู้เชี่ยวชาญในเมียนมา จากการเจรจารัฐต่อรัฐ จากการจะใช้กรอบ LMC พูดคุย ตอนนี้เหลือแค่การหารือระหว่างที่ปรึกษารัฐมนตรีกับผู้เชี่ยวชาญในเมียนมา ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร


ด้วยเหตุนี้ ในคำถามที่สอง ขอให้ท่านช่วยตอบว่าการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องการแก้ปัญหาที่ต้นตอ การเจรจากับประเทศจีนและเมียนมาตามกรอบความร่วมมือต่างๆ ได้ดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 ที่นายกฯ พูดว่าเจรจาไปแล้ว มาถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ที่ท่านรองนายกฯ พูดเอง จนถึงวันนี้ 3 กรกฎาคม ประชาชนยังไม่เห็นผลการดำเนินการใดๆ ที่ชัดเจนเลย ขอให้ท่านใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ตอบคำถามให้ชัดเจนด้วย


ด้านรองนายกฯ ประเสริฐ ได้ตอบคำถามที่สอง โดยระบุว่า ในเรื่องของฐานข้อมูลที่ท่านอ้างว่าประชาชนเข้าถึงไม่ได้นั้น ไม่จริง ประชาชนสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้เลยผ่านเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ นอกจากนี้ แผนที่ที่ท่านนำมาแสดงรัฐบาลก็มีครบแล้ว ในการประชุมทุกครั้งเราก็ได้นำแผนที่ที่ท่านแสดงมาพิจารณาตลอด ขณะที่ในพื้นที่หน้างานรัฐบาลก็จัดให้มีศูนย์บริการข้อมูลประชาชน ประชาชนท่านใดที่สงสัยในเรื่องสุขภาพ เรื่องตัวอย่างน้ำ หรือเรื่องสารปนเปื้อนในพืชผลการเกษตร เราก็จะตรวจสอบและให้ข้อมูลประชาชนได้ทั้งหมด


ส่วนในเรื่องการเจรจาระหว่างประเทศ เมื่อปลายปีที่แล้วท่านนายกฯ ได้ปรารภไว้ แสดงว่าท่านให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหานี้ โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา ซึ่งก็มีการทำงานต่อเนื่องกันเรื่อยมา โดยขณะนี้รัฐบาลได้รวบรวมภาพถ่ายทางดาวเทียมและตัวอย่างน้ำทั้งหมดเพื่อเตรียมใช้เจรจากับประเทศเมียนมาแล้ว และในขณะที่เรากำลังประชุมสภาฯ กันอยู่นี้ กระทรวงการต่างประเทศของไทยก็กำลังเข้าพบกับผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศเมียนมา ที่กรุงเนปิดอว์ เพื่อหารือในเรื่องประเด็นเชิงเทคนิค นอกจากนี้กรมกิจการชายแดนทหารก็จะหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาเจรจากับเมียนมาในการประชุม RBC ที่จะเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในเดือนกรกฎาคมนี้ด้วย ส่วนการเจรจาระดับนโยบายหรือระดับรัฐมนตรี ขณะนี้ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลเมียนมาแล้ว ทางฝ่ายไทยก็พร้อมแล้ว หลังหารือกันด้านเทคนิคจบก็น่าจะเริ่มได้


ภัทรพงษ์กล่าวว่า ในเรื่องฐานข้อมูลที่ท่านรองนายกฯ กล่าวว่าตนอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน ตนได้กล่าวไว้แล้วในคำถามแรกว่ากรมควบคุมมลพิษเป็นกรมเดียวที่เปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจน แต่ที่ตนถามคือยังไม่พบเห็นการบูรณาการข้อมูลอย่างเป็นระบบจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือปัญหาที่เราพูดกันในวันนี้ว่าการสื่อสารมันไม่ครบถ้วนและไม่ได้เปิดเผยให้ประชาชนรับทราบโดยง่าย ถ้าท่านกล่าวว่ามีฐานข้อมูลที่บูรณาการกันอยู่แล้ว ท่านก็แค่เปิดเผยให้ประชาชนรับทราบและเข้าถึงได้อย่างสะดวก เขาจะได้มั่นใจและเชื่อมั่นในฐานข้อมูลของภาครัฐ


ส่วนคำตอบเรื่องการเจรจาระหว่างประเทศ ตรงนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าในช่วงที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินการใดๆ ระหว่างรัฐต่อรัฐเลย จึงไม่แปลกที่ทูตจีนประจำประเทศไทยจะออกแถลงการณ์โดยระบุว่าให้ไทยไปคุยกับเมียนมาเอง เพราะฝ่ายเราไม่ได้เตรียมการดำเนินการหรือทำการบ้านใดๆ ก่อนที่จะคุยกับประเทศอื่นเลย ไม่ได้ศึกษากฎหมายของจีนเรื่องการบริหารจัดการแร่แรร์เอิร์ธว่าเป็นอย่างไร เขาตรวจสอบทั้งห่วงโซ่อุปทานอย่างไร ช่วยศึกษาก่อนแล้วค่อยไปเจรจากับเขา นอกจากนี้ สิ่งที่ท่านรองนายกฯ ตอบมาตีความได้เลยว่าที่นายกฯ แพทองธารกล่าวว่าดำเนินการเจรจาไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 เป็นการพูดโกหกประชาชนอย่างน่าไม่อาย ทั้งที่ไทยยังไม่ได้เริ่มการเจรจาอะไรเลย


ภัทรพงษ์ถามต่อในคำถามที่สาม โดยระบุว่า คำถามข้อนี้ท่านน่าจะตอบได้ชัดเจน เพราะเคยมีสมาชิกถามท่านมาแล้วในสภาฯ แห่งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม แต่ท่านบอกว่ายังไม่มีข้อมูล ขอไปหาข้อมูลมาก่อน วันนี้ผมขอทวงคำถามอีกครั้งหนึ่งว่า รัฐบาลได้มีมาตการตรวจสอบการนำเข้าแร่แมงกานีสจากการทำเหมืองแร่ในประเทศเมียนมาเข้าสู่ประเทศไทยอย่างไร รัฐบาลตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของผู้นำเข้าอย่างไรบ้าง เพราะหากอ้างอิงข้อมูลปี 2566 จากกรมศุลกากร ไทยนำเข้าแร่แมงกานีสจากเมียนมามากถึง 20,000 ตัน ส่วนในปี 2567 นำเข้า 12,000 ตัน และส่วนใหญ่ 90% มาจากเมียนมา ท่านได้ตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของแร่หรือไม่ เรามีกฎหมายระบุอยู่ว่าต้องตรวจสอบ แต่เราตรวจสอบหรือยัง 


นอกจากนี้ยังมีคำถามตกค้างจากข้อแรก ท่านระบุว่ารัฐบาลได้ตรวจสอบสารตกค้างในพืชผลการเกษตรแล้ว แต่ท่านยังไม่ได้ตอบคำถามในเรื่องข้าวว่าจะมีมาตรการรองรับข้าวนาปีกว่า 100,000 ไร่ในลุ่มน้ำกก-สาย-รวกที่จะออกมาในเดือนพฤศจิกายนนี้อย่างไร ถ้ามีการตรวจสอบย้อนกลับพบว่ามีสารพิษเกินมาตรฐาน ท่านจะมีมาตรการเยียวยาและรับมืออย่างไร ถ้าท่านยังเลี่ยงหรือไม่ตอบคำถามนี้อีก ตนจะถือว่ารัฐบาลไม่ได้เตรียมการอะไรไว้เลย


ด้านรองนายกฯ ประเสริฐตอบคำถามว่า ในเรื่องผลผลิตการเกษตร รัฐบาลได้ประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงรายได้เดินทางไปพบพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการทำเกษตรภายใต้ภาวะการปนเปื้อนโลหะ ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ได้ออกหน่วยบริการแก่พี่น้องประชาชน ให้ความรู้ด้านการทำประมง รวมถึงความรู้ด้านการเกษตร แจ้งเกษตรกรให้รับทราบถึงวิธีการปลูกข้าวนาปีว่าควรทำอย่างไร ดังนั้น ตนขอยืนยันว่าไม่ต้องเป็นห่วง รัฐบาลทำทุกมิติทั้งการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ดูแลสุขภาพประชาชน และการตรวจคุณภาพพืชผลการเกษตร


ขณะที่ในด้านการเจรจาระหว่างประเทศ รัฐบาลกำลังทำอยู่ ทุกอย่างมีขั้นตอน โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่อยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านการเมือง เป็นพื้นที่ของกลุ่มว้าแดง การเจรจาจึงต้องใช้ความละเอียดอ่อนอย่างมาก ส่วนการตรวจสอบการนำเข้าแมงกานีส ถ้าท่านต้องการตัวเลข เดี๋ยวตนจะสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ 


ภัทรพงษ์กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า ท่านรองนายกฯ ระบุว่ารัฐบาลนี้ได้ทำงานอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาสารพิษในแม่น้ำกก-สาย-รวก แต่ถ้าทำงานกันแบบที่ท่านตอบคำถามมานี้ พรรคประชาชนเรียกว่าเป็นการทำงานแบบสุกเอาเผากิน เพราะไม่ได้เห็นผลการดำเนินงานอะไรที่ชัดเจนเลย ท่านบอกว่ารัฐบาลมีมาตรการเตรียมรับมือข้าวนาปีไว้แล้ว แต่มาตรการที่ว่านั้นคือการให้เกษตรกรไปตรวจค่า pH ในดิน แล้วใช้ปูนขาวปรับดินที่เป็นกรดหรือเป็นด่างเท่านั้น ไม่ได้มีมาตรการอื่นใดเลย สิ่งที่ตนถามคือมาตรการในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหากตรวจข้าวแล้วพบสารพิษ ซึ่งท่านสามารถออกระเบียบเงินทดรองราชการกรณีผู้ประสบสาธารณภัยได้เลย แต่ก็ยังไม่ทำ ปัญหาใหญ่ขนาดนี้แต่ทำงานได้แค่นี้ ตนอยากให้ท่านรัฐมนตรีทั้งหลายมีสมาธิอยู่กับการแก้ปัญหาให้กับประชาชนบ้าง อย่ามัวแต่ใช้สมาธิไปกับการทะเลาะกัน แย่งตำแหน่ง แย่งเก้าอี้รัฐมนตรี ต่อรองเกมการเมืองกันอย่างเดียว 


“จากสิ่งที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีตอบในวันนี้ และการทำงานที่ผ่านมาทั้งหมดของรัฐบาลในการแก้ปัญหาน้ำกก-น้ำสายเป็นพิษ ผมมองเห็นทางออกอื่นไม่ออกเลยครับ นอกจากการเปลี่ยนรัฐบาล ยุบสภาแล้วคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจครับ ประชาชนชาวไทยรอตัดสินท่านอยู่” ภัทรพงษ์กล่าวทิ้งท้าย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #ประชุมสภา #แม่น้ำกก