“ขุนแผน” ร่ายกวีจากบางขวาง ครบ 1 ปี การจองจำคดี ม.112
“เพียงเกลียวคลื่นซัดใส่ให้จำนน เพียงใจคนที่พร้อมย่อมไม่กลัว” ...
“หากสุดท้ายหมายมุ่งความรุ่งเรือง ย่อมใช่เรื่องของใครไทยทุกคน”
วันนี้
(18 กรกฎาคม 2568) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2568 ทนายความได้เข้าเยี่ยม
เชน ชีวอบัญชา หรือ “ขุนแผน”
นักกิจกรรมและผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 วัย 58 ปี ที่ยังคงถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำกลางบางขวาง มาตั้งแต่วันที่
18 ก.ค. 2567 ซึ่งเป็นระยะเวลาครบ 1
ปีแล้ว
ในช่วงแรกเขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
และต้องถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นระยะเวลาหนึ่งเนื่องจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบ
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567
ก่อนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 จะถูกบังคับย้ายตัวมายังเรือนจำกลางบางขวาง
หนึ่งปีแห่งชีวิตที่เผชิญกับความไม่แน่นอนและปัญหาสุขภาพ
ขุนแผนยังคงเดินหน้าอย่างไม่ย่อท้อ ด้วยความเชื่อมั่นของเส้นทางที่เลือก
และการรักษาจิตใจให้เข้มแข็งท่ามกลางสถานการณ์ที่เคร่งครัด
เขายังได้ฝากบทกลอนที่เต็มไปด้วยพลังและความหวัง เป็นการส่งผ่านข้อความถึงสังคมภายนอกผ่านคำประพันธ์ที่คนผ่านประสบการณ์ชีวิตทั้งโลกข้างนอกและในเรือนจำอย่างเขาอยากจะให้รับรู้
ขุนแผนเดินมาด้วยท่าทีเรียบนิ่ง
สวมใส่หน้ากากอนามัย ผมสั้นเหมือนเพิ่งโกนผมมาไม่นาน
เมื่อถูกถามถึงสภาพความเป็นอยู่ เขาตอบด้วยน้ำเสียงเรียบง่าย
“ผมก็ไม่รู้ว่าจะต้องตอบอย่างไรนะครับ มันก็เหมือนเดิมแหละ ผมก็สบายดี
แต่ถ้าได้อยู่ข้างนอกก็ดีกว่า”
ระหว่างการสนทนา
ขุนแผนไอเล็กน้อย เขาอธิบายว่า “อากาศเปลี่ยนแปลง ก็เลยไอเล็กน้อย และเจ็บคอ
แต่ไม่ได้กังวลอะไรขนาดนั้นครับ ผมได้ทานยาแล้ว” สำหรับเรื่องของต้อตา
ขุนแผนแสดงท่าทีที่เข้าใจในกระบวนการและไม่เร่งรัด “ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ
แต่ผมก็ไม่ได้กังวล ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการของมันครับ”
อย่างไรก็ตาม
ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นคือการปวดบริเวณหัวไหล่
ซึ่งสืบเนื่องจากการออกกำลังกายที่บาร์โหนเมื่อ 1-2 เดือนก่อน
ขุนแผนหัวเราะเบา ๆ ขณะเล่าว่า “ผมคงเล่นมากเกินมั้งครับ
เลยปวดตั้งแต่ตอนนั้นจนตอนนี้”
เมื่อพูดถึงกรณีของอานนท์
นำภา และเก็ท โสภณ อีกสองผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ขุนแผนแสดงความเห็นใจแต่มีความมั่นใจในความเข้มแข็งของเพื่อน
“ผมสงสารอานนท์ เก็ท ที่ต้องคดีขนาดนี้ แต่ไม่ต้องห่วงเขา
เพราะผมรู้ว่าพวกเขาเข้มแข็งมาก”
สำหรับตัวเขาเอง
ขุนแผนเผยว่าได้เตรียมใจมาตลอด “ก่อนที่จะถูกดำเนินคดี
ผมรู้ตัวมาตลอดว่ามีโอกาสที่จะโดนเหมือนกัน ก็เตรียมใจในเรื่องนี้ไว้ส่วนหนึ่ง”
ขุนแผนยังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ระแวดระวังจนเกินเหตุของเจ้าหน้าที่ในแดน
เขาเล่าถึงการรื้อถอนอุปกรณ์ออกกำลังกาย
หลังจากผู้ต้องขังได้ประยุกต์ขวดน้ำบรรจุทรายเพื่อใช้เป็นดัมเบลในการออกกำลังกาย
แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาแดนเข้ามาตรวจพบ กลับมองว่าเป็นอาวุธที่อาจใช้ทำร้ายกันได้
จึงสั่งให้รื้อทิ้งไป
ขุนแผนวิเคราะห์ด้วยเหตุผลว่า
“ขวดบรรจุทรายไม่สามารถใช้ทำร้ายร่างกายได้ถึงขนาดนั้น หากมันจะมีเรื่องกันจริง ๆ
ก็ใช้แค่สองมือ สองเท้าก็สามารถทำร้ายกันก็ได้แล้ว”
ผลของการรื้อทำให้ผู้ต้องขังไม่มีอุปกรณ์ใดใช้ในการออกกำลังกาย
และไม่มีอุปกรณ์ใดมาทดแทน
ท่ามกลางสถานการณ์ที่เคร่งครัด
ขุนแผนยังสามารถหาความสนุกในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้
เขาเล่าให้ฟังเรื่องผู้ต้องขังคนหนึ่งที่ชอบวิ่งมาก
ไม่ว่าจะเวลาไหนก็ยังคงวิ่งตลอด “มีช่วงวันหนึ่งครับที่ฝนตก
และผู้ต้องขังคนนี้ก็ยังวิ่งอยู่อย่างนั้น ไม่ยอมมาหลบฝน จนเจ้าหน้าที่ต้องประกาศให้ผู้ต้องขังที่วิ่งอยู่นั้นช่วยไปหลบฝนก่อน”
ขุนแผนเล่าพลางหัวเราะ
“ผมก็แบบเออเขาก็ยังใส่ใจอยู่นะ”
ในช่วงท้ายของการเยี่ยม
ขุนแผนมอบกลอนที่เขาแต่งขึ้นเพื่อสื่อสารต่อไป
เป็นอีกครั้งที่ได้ถ่ายทอดความคิดและกำลังใจผ่านคำประพันธ์ประกาศจุดยืนทางการเมืองและความเชื่อมั่นในอนาคต
เพียงขื่อคาขังไว้ให้ขื่นขม
เพียงแรงลมกรรโชกโบกโบยฝน
เพียงเกลียวคลื่นซัดใส่ให้จำนน
เพียงใจคนที่พร้อมย่อมไม่กลัว
เมื่อฟ้าหม่นคนหมองต่างมองหน้า
ใช่เพียงว่าเซทรุดจะมุดหัว
เมื่อลูกหลานเติบใหญ่ไม่หมองมัว
ต้องยืดตัวยืนตรงอย่าลงคลาน
เหล่าขุนศึกศักดินาทรราช
ปล้นอำนาจประชาน่าสงสาร
เข้าสมสู่รวมเสร็จเผด็จการ
เป็นทางผ่านผีป่ามาครองเมือง
เอาความกล้าเพียงกายเป็นหมายหมุด
สู้ให้สุดแรงล้าอย่าหมอบเชื่อง
หากสุดท้ายหมายมุ่งความรุ่งเรือง
ย่อมใช่เรื่องของใครไทยทุกคน
ต้องฟันฝ่ากาลียุคผ่านทุกข์เข็ญ
ถึงที่สุดลำเค็ญจะเห็นผล
จะหวังพึ่งเทวาฟ้าเบื้องบน
ฟ้าเองก็พิกลปนอัปรีย์
ก็เพียงกายขังไว้ใจมีปีก
จะหลบหลีกบินไปในวิถี
สู่ที่หมายปลายฟ้ายามราตรี
เพื่อวันรุ่งพรุ่งนี้ที่งดงาม
นอกจากขุนแผนแล้ว
วันที่ 18
ก.ค. 2568 ยังครบเวลา 1 ปี
ที่เงินตรา คำแสน หรือ “มานี” ถูกคุมขังด้วยคดีมาตรา 112 เช่นกัน
จากกรณีทำกิจกรรมหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ปี 2565 ทั้งคู่ถูกศาลพิพากษาจำคุก
3 ปี 6 เดือน
และคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา
สำหรับ
“เชน” สื่ออิสระ ที่ร่วมเผยแพร่ภาพสดกิจกรรมการชุมนุมของกลุ่มราษฎร เยาวชน
นักศึกษา ตลอดจนกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองอื่น ๆ มาตั้งแต่ปี 2563 ผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก
และช่องยูทูบ “ขุนแผน แสนสะท้าน”
โดยก่อนที่จะถูกคุมขังด้วยคำพิพากษาครั้งนี้และไม่ได้รับการประกันตัว
เชนและเพื่อนมวลชนได้ร่วมกันจัดกิจกรรม #ยืนหยุดขัง ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก
ในเวลาประมาณ 16.00 - 20.00 น. ของทุกวัน
เพื่อเรียกร้องปล่อยผู้ต้องหาทางการเมือง รวมถึงส่งเสียงข้อเรียกร้องของบุ้ง
เนติพร ก่อนเสียชีวิต คือ #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ขุนแผนหรือเชน
ได้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯตั้งแต่วันศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567
ในคดีมาตรา 112 และดูหมิ่นศาล
โดยถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน
จากการร่วมกิจกรรมเรียกร้องสิทธิประกันตัวสองนักกิจกรรมทะลุวังที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้
และในเวลาต่อมาเขาถูกย้ายไปควบคุมตัวที่เรือนจำบางขวาง นนทบุรี
และทุกวันนี้กลุ่มเพื่อนขุนแผนและมวลชนยังจัดกิจกรรมยืนหยุดขัง
อย่างต่อเนื่องทุกวันในช่วงเย็น เรียกร้องสิทธิประกันตัวประชาชน
ปล่อยนักโทษการเมืองในทุกเย็น ทั้งหน้าศาลอาญารัชดา และหน้าเรือนจำคลองเปรม ด้วย
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ขุนแผนแสนสะท้าน #มาตรา112 #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน #นิรโทษกรรมประชาชน