“พูนสุข” นำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน “เราเรียกร้องการคืนชีวิตปกติให้กับประชาชน” : คำแถลงต่อสภาจากตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน รวมคดี ม.112
วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีวาระการพิจารณาร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข และพ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมทั้งหมด 5 ฉบับ รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่เข้าชื่อเสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน
พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เป็นตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน นำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ฉบับดังกล่าว โดยมีเนื้อหาการนำเสนอ ดังต่อไปนี้
.
ประเด็นที่หนึ่ง สถานการณ์และสถิติคดีการเมือง ดิฉันขอเริ่มต้นจากการวาดภาพให้ความขัดแย้งทางการเมืองและการชุมนุมขนาดใหญ่ในระยะเวลาเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมาแบบเร็ว ๆ นะคะ
กลุ่มแรก ตั้งแต่ปี 2548 มีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่รัฐบาล จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และยังมีการเคลื่อนไหวหลังจากนั้น มีผู้ถูกดำเนินคดีประมาณ 200 คน
กลุ่มที่สอง ปี 2552 เป็นการชุมนุมของกลุ่ม นปก. ซึ่งต่อมาเป็นกลุ่ม นปช. ในปี 2553 เกิดเหตุสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง และยังมีการดำเนินคดีกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่องโดยหลังปี 2553 เริ่มมีการดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง มีผู้ถูกดำเนินคดีประมาณ 1,753 ราย
จนกระทั่งปี 2557 มีการชุมนุม กปปส. มีผู้ถูกดำเนินคดีประมาณ 221 ราย และเกิดการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ประกาศให้พลเรือนถูกดำเนินในศาลทหาร ห้ามชุมนุมทางการเมือง เกิดคดีประชามติ เกิดคดีคนอยากเลือกตั้ง มีผู้ถูกดำเนินคดีมากว่า 2,408 ราย จนถึงช่วงปี 2562
ตั้งแต่ปี 2563 – มีนาคม 2568 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 1,977 คน นับเป็นระลอกล่าสุดของความขัดแย้งทางการเมือง คดีที่มีคนถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากมีสถานการณ์โควิด เมื่อมีคนไปชุมนุม ก็ถูกกวาดจับจำนวนมาก ประมาณ 1,400 คน รองลงมาคือคดีมาตรา 112 จำนวน 281 คน ซึ่งต้องบอกว่าคดี 112 ในช่วงนี้ ถูกนำมาใช้มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ตัวเลขดังกล่าวเป็นขั้นต่ำนะคะ อาจจะมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามไม่ถึงขนาดเท่ากับสถิติของหน่วยงานภาครัฐที่เคยส่งให้กับคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการตราร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะสถิติจากหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ได้พิจารณามูลเหตุจูงใจที่ทำให้เกิดคดีขึ้น
ท่านประธานคะ แต่ตัวเลขที่สำคัญที่สุดคือจำนวนนักโทษในคดีการเมืองจำนวนอย่างน้อย 51 คน ที่วันนี้อยู่ในเรือนจำ
.
ประเด็นที่สอง ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน
1) ระยะเวลาในการนิรโทษกรรม คือตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ สาเหตุที่เราเสนอ วันที่ 19 กันยายน 2549 คือวันรัฐประหารซึ่งเรามองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งตลอด ระยะเวลาเกือบยี่สิบปี อย่างไรก็ตามเราตระหนักดีว่ามีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ก่อนหน้านั้น หากจะขยายระยะเวลาเพื่อครอบคลุมกลุ่มบุคคลทั้งหมดก็สามารถทำได้
2) บุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรม ในมาตรา 4 เราเสนอให้นิรโทษกรรมประชาชน โดยไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดการสลายการชุมนุม และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ หากการกระทำนั้นกระทำการเกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามมาตรา 113
เหตุผลในการยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากเราไม่ต้องการยอมรับวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของ เจ้าหน้าที่รัฐที่สลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ และกลุ่มบุคคลที่ยึดอำนาจการปกครองไปจากประชาชน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำไปโดยสมควรแก่เหตุแล้วย่อมได้รับความคุ้มครอง และถึงแม้ร่างกฎหมายนี้จะไม่ครอบคลุม เจ้าหน้าที่รัฐ แต่เจ้าหน้าที่รัฐได้รับความคุ้มครอง และนิรโทษโทษตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2549, 2559 และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และ 2560 อยู่แล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความมุ่งหมายจะคุ้มครองประชาชน และเจ้าหน้าที่ที่สุจริตเท่านั้น
3) การกระทำที่ได้รับนิรโทษกรรม
เราพิจารณาบนฐานว่า ไทยเคยมีกฎหมายนิรโทษกรรมมา 23 ฉบับ แต่ไม่มีฉบับใดเลย ที่ครอบคลุม ระยะเวลายาวนานแบบครั้งนี้ ดังนั้นการนิรโทษกรรมโดยระบุวัน และระบุข้อหาอย่างเดียวจะไม่ตอบโจทย์ เพราะอาจทำให้แคบไป หรือกว้างเกินไป
อย่างเช่น หากระบุเพียงฐานความผิดทำร้ายร่างกาย หรือฐานความผิดเกี่ยวกับการจราจร ในระยะเวลายี่สิบปีนี้ก็จะทำให้กลายเป็นการนิรโทษกรรมคดีที่ไม่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เราจึงเสนอว่าแบ่งเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มแรก เป็นคดีที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองก็ให้ได้รับการนิรโทษกรรมได้เลยทันที ไม่ต้องผ่านการพิจารณาอีก และกลุ่มที่สอง ไม่ระบุฐานความผิด แต่ต้องใช้คณะกรรมการพิจารณา
กลุ่มแรก ที่ประชาชนเสนอว่านิรโทษกรรมทันที ได้แก่
(1) คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(2) คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 และ ประกาศ คณะรักษาความสงบฉบับที่ 38/2557
(3) คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
ปัญหาการบังคับใช้คดีมาตรา 112 มีทั้งไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานหลักฐาน ศาลสั่งตัดพยาน ปัญหาการพิจารณาโดยไม่เปิดเผย พิพากษาลับหลังจำเลย หรือพิพากษาเกินกว่าองค์ประกอบของกฎหมาย เป็นต้น
ในจำนวน 32 จาก 51 คน คือผู้ต้องขังที่ถูกดำเนินคดี 112 คิดเป็น 62 % ทวนอีกครั้งนะ ท่านจะเห็นว่า มีคนถูกดำเนินคดีหลักพัน แต่คดีมาตรา 112 เป็นประเภทคดีที่ที่มีคนติดคุกสูงสุด และจะเพิ่มจำนวนคนเข้าเรือนจำจากคดี 112 มากขึ้นอีก เพราะคดีเหล่านั้นยังไม่ถึงที่สุด
(4) คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
(5) คดีตามฐานความผิดในพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
(6) คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับ (1)-(5)
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่จะไม่ได้พิจารณาจากฐานความผิดแต่พิจารณาจากมูลเหตุและการกระทำ มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลที่
เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง
หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่อง กับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือ ให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง
หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน ชื่อเสียง หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง
4) บุคคลที่มีอำนาจในการพิจารณา ตามมาตรา 3 คือ “คณะกรรมการนิรโทษกรรม” ซึ่งประกอบไปด้วย สภาผู้แทน 14 คน ตัวแทนผู้เสียหาย 4 คน องค์กรภาคประชาชน 2 คน ทำหน้าที่พิจารณาว่า คดีใดคือคดีการเมือง และทำเรื่องการเยียวยา และกำกับตำรวจให้ลบประวัติอาชญากรรม
เหตุที่เราให้น้ำหนักกับ สส. เพราะ ความเห็นเราคือพวกท่านคือตัวแทนประชาชน และย่อมรู้ดีว่า คดีใดคือการเมืองและไม่ใช่การเมือง คณะกรรมการไม่ได้มาพิจารณาว่าคดีนั้นถูกหรือผิด แต่พิจารณาว่าคดีไหนเป็นคดีการเมืองค่ะ
และเราเสนอให้อำนาจคณะกรรมการในการพิจารณาทั้งเป็นรายบุคคล รายคดี และเหตุการณ์ ซึ่งจะทำให้พิจารณาได้เร็วขึ้น ซึ่งกำหนดระยะเวลาการทำงานไว้สองปี ขยายได้ไม่เกินหนึ่งปี และหากพ้นกำหนด ให้ศาลพิจารณา ว่าคดีใดเป็นคดีการเมือง
ประเด็นที่สาม ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคดีมาตรา 112
คดีมาตรา 112 เป็นคดีอาญา และเป็นคดีการเมือง – คดี 112 เป็นคดีอาญาเช่นเดียวกับคดีมาตรา อื่นๆ อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาเช่นเดียวกัน มีโทษจำคุกเช่นกัน
คดี 112 คือ คดีการเมืองค่ะ หลักฐานคืออะไร หลักฐานคือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ซึ่งกำหนดให้คดีมาตรา 112 ต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งประกาศว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา อันมีนัยว่าจะใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม
คดี 112 เป็นคดีความมั่นคง ถูกต้องค่ะ เช่นเดียวกับคดีมาตรา 113 มาตรา 116 ก็เป็นคดีความมั่นคงซึ่งสามารถนิรโทษกรรมได้
คดี 112 มีโทษรุนแรง ใช่ค่ะ คดี 112 มีอัตราโทษจำคุก 3-15 ปี ซึ่งนับว่าสูง แต่ไม่ได้สูงที่สุดเพราะมีมาตราอื่นที่มีโทษสูงกว่า อาทิเช่น มาตรา 113 ซึ่งมีโทษประหารชีวิต
ประเด็นที่สี่ มาตรา 112 ในทางสากล
ท่านประธานคะ ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ และในสังคม ประเด็นมาตรา 112 อาจเป็นประเด็นที่มี ความอ่อนไหว และเห็นว่าคนที่ถูกดำเนินคดีควรต้องรับโทษ จนกระทั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่อยากแม้กระทั่ง รับหลักการกฎหมายของประชาชนเข้าไปพูดคุยต่อในวาระที่สอง แต่ในสังคมระหว่างประเทศที่ยึด หลักสิทธิมนุษยชน เห็นว่า การควบคุมตัวบุคคลด้วยมาตรา 112 เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ เป็น arbitrary detention ขัดต่อหลักการในข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ท่านประธานคะ รัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน เห็นได้จากการ ที่ไทยได้ลงสมัครและได้รับเลือกเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในปัจจุบัน แต่สถานการณ์ กลับกลายเป็นว่าเราเผชิญแรงกดดันจากนานาชาติด้านสิทธิมนุษยชน จากกลไกด้านสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ จากรัฐสภายุโรป จากสหรัฐอเมริกา
ล่าสุดประเทศไทยได้ดำเนินคดีกับพลเมืองอเมริกัน ในคดีมาตรา 112 และปฏิเสธสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวน อาจารย์พอล แชมเบอร์ส ติดคุกหนึ่งคืน ทำให้อาจารย์พอลได้ประสบการณ์ไปบอกชาวโลกนะคะ ว่าเรือนจำไทยเป็นอย่างไร สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีของอาจารย์พอล
แต่ท่านประธานคะ การบังคับกฎหมายแบบนี้ที่เกิดกับอาจารย์พอล ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องแทบจะไม่เกิดกับ ประชาชนชาวไทยเลยค่ะ
ท่านประธานคะ ร่างกฎหมายฉบับประชาชนนี้ อาจจะมีคนบางส่วนไม่เห็นด้วย แต่ร่างฉบับนี้ ร่างอยู่บนพื้นฐานของหลักการสิทธิมนุษยชน และยืนอยู่ข้างเดียวกับประชาคมโลก การรับหลักการร่างประชาชนจะเปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหานี้ต่อไป
ประเด็นที่ห้า เกณฑ์ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชน
ท่านประธานคะ ร่างนิรโทษกรรมทั้งสี่ฉบับ ร่างอยู่บนเกณฑ์การพิจารณาของการกระทำและฐานความผิด เป็นไปได้มั้ยคะท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะรับหลักการร่างใดไม่รับร่างใด ดิฉันวิงวอนว่าเพิ่มเกณฑ์การพิจารณาในเรื่องของอายุ โดยไม่ต้องพิจารณาจากฐานความผิด
คดีการเมืองตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมามีเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีกว่า 286 ราย นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองที่มีเยาวชนถูกดำเนินคดีมากขนาดนี้ ถ้าเรานิรโทษกรรมผู้ใหญ่ที่ปิดสนามบิน ปิดล้อมทำเนียบฯ มีค่าเสียหายหลายร้อยล้านบาทได้ เรานิรโทษกรรมให้กับคนที่ล้มล้างการปกครองที่มีโทษประหารชีวิตได้ เรานิรโทษเยาวชน 286 รายนี้ ได้มั้ยคะ
ประเด็นสุดท้าย ชีวิตคนเป็นมากกว่าตัวเลขสถิติ
สุดท้ายค่ะ ท่านประธาน ดิฉันอยากให้รู้ว่าในตัวเลขต่างๆ ที่กล่าวมามันไม่ได้สำคัญเลย
แต่ดิฉันอยากให้ท่านรับรู้ว่าคนที่อยู่ในเรือนจำ เพราะคดีมาตรา 112 ก็เป็นประชาชนคนธรรมดาไม่ใช่กลุ่ม ไม่ใช่ขบวนการที่มุ่งหมายจะล้มล้างการปกครอง แต่พวกเขามีเลือดเนื้อ ชีวิต และมีคนรักเช่นกัน
คุณอุดม แรงงานจากปราจีนบุรี ที่ถูกดำเนินคดีไกลถึงนราธิวาส ญาติจะไปเยี่ยมก็ยากลำบาก ทั้งค่าใช้จ่าย และระยะเวลาในการเดินทาง
เช่นเดียวกับคุณ “กัลยา” ที่ก่อนฟังคำพิพากษาเธอเพิ่งเข้าทำงานในหน่วยงานรัฐและกำลังเริ่มต้นชีวิต แต่กลับถูกคุมขังอยู่ที่นราธิวาส
คุณธนพร แม่ลูกอ่อนสาวโรงงานที่ความเจ็บปวดที่สุด เพิ่งมีลูกเล็ก แต่ลูกจำหน้าแม่ไม่ได้
คุณก้อง อุกฤษฏ์ ที่กำลังหมดโอกาสสอบเพื่อจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
คุณบูม จิรวัฒน์ ที่มี ลูกเล็กและภรรยาที่กำลังป่วยเป็นมะเร็งระยะที่ 4
ลูกชายของอานนท์ นำภา ที่พูดคำว่าศาลได้ก่อนคำว่าโรงเรียน
สิ่งเหล่านี้คือความผิดปกติที่เกิดขึ้นในนามของกระบวนการยุติธรรม
การจำคุกพวกเขา ไม่ใช่แค่การจำกัดเสรีภาพ แต่การจำคุกมันหมายถึง การตัดโอกาสทางการศึกษา อาชีพการงาน สายสัมพันธ์และความเป็นอยู่ของครอบครัว และอนาคตของพวกเขาในระยะยาว
ท่านประธานและท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคะ เราอยู่ในวงจรความขัดแย้งระลอกนี้มา 20 ปีแล้ว เราทุกฝ่ายต่างเจ็บปวดจากการใช้กฎหมายและคดีความอย่างเลือกปฏิบัติเพื่อกำจัดอีกฝ่ายหนึ่ง ดิฉันหวังว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้จะไม่เป็นเหตุให้ฝ่ายนิติบัญญัติ กลายเป็นอีกองค์กรที่เลือกปฏิบัติต่อประชาชน
การตัดสินใจของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ อยู่บนทางแยกที่ว่าสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะคลี่คลายความขัดแย้ง หรือจะตอกย้ำขั้วและฝ่ายทางการเมือง ให้สังคมเกิดรอยแยกมากกว่าเดิม
ร่างกฎหมายฉบับประชาชนฉบับนี้ไม่ใช่การเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่เป็นเพียงการคืนชีวิตปกติให้กับพวกเขา คืนแม่ให้ลูก คืนสามีให้ภรรยา คืนลูกให้พ่อ โอกาสในการคลี่คลายความขัดแย้ง และคืนความปกติ ให้ประชาชนอยู่ในมือท่านผู้แทนราษฎรแล้วค่ะ ขอบคุณค่ะ
CR.ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรบนิรโทษกรรม #นิรโทษกรรมประชาชน #รวม112