วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2568

ธิดา ถาวรเศรษฐ : สถานการณ์การเมืองในปี 2568 ระหว่างอำนาจระบอบอำมาตย์ และอำนาจประชาชน

 


ธิดา ถาวรเศรษฐ : สถานการณ์การเมืองในปี 2568 ระหว่างอำนาจระบอบอำมาตย์ และอำนาจประชาชน


[ถอดเทป] Facebook Live เพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ

เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2568


สวัสดีค่ะ ขึ้นปี 2568 แล้ว ดิฉันก็คิดว่ามันต้องเป็นเวลาที่เราควรจะพูดถึงสถานการณ์ในปี 2568 และเก็บรับอดีตในปีที่ผ่านมา สิ่งที่ดิฉันจะพูดในวันนี้ก็คือ 


“สถานการณ์การเมืองในปี 2568 ระหว่างอำนาจของระบอบอำมาตย์และอำนาจประชาชน”


ดิฉันใช้คำว่าระบอบอำมาตย์นะคะ เพื่อที่จะได้เป็นภาษาที่คุ้นเคย เพราะว่าคำพูดของอาจารย์ปรีดีก็คือ ถ้าเมื่อไหร่ที่วุฒิสมาชิกยังไม่ได้รับการเลือกโดยตรงจากประชาชน ถือว่าเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตย มันก็เข้ากับบรรยากาศประเทศไทยซึ่งมันยังเป็นแบบโบร่ำโบราณ มีอำมาตย์ มีไพร่ ว่างั้นเถอะ ถ้าเป็นคนเสื้อแดงจะชินกับภาษานี้ คือระบอบอำมาตย์ก็เป็นระบอบอำมาตย์สมัยใหม่ ไพร่ก็เป็นไพร่สมัยใหม่ มันไม่ใช่ไพร่แบบเดิมที่เป็นสังกัดมูลนายแบบเดิม แต่ว่าโดยระบอบ ดิฉันใช้คำว่า “ระบอบ” นะ เป็น Regime ก็เป็นการต่อสู้กันระหว่างอำนาจของชนชั้นนำที่เป็นพวกจารีตอำนาจนิยมกับอำนาจของประชาชน


เพราะฉะนั้น ดิฉันจะเริ่มแสดงให้เห็นว่า ในประเทศไทยนั้นยังมี 2 ขั้วอำนาจ ป้ายเราคือเป็นระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง แต่ว่าในความเป็นจริงยังเป็นการต่อสู้ของอำนาจชนชั้นนำกับอำนาจประชาชน เราไม่เหมือนกับประเทศอารยะที่เจริญแล้ว เขาผ่านการต่อสู้กับพวกระบอบจารีตจนจบไปแล้ว แล้วก็เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในระบบทุนนิยมแบบใหม่ นั่นก็คือเสียงข้างมากขึ้นมาเป็นรัฐบาล แต่ของเรา เมื่อยังมีการต่อสู้ 2 ระบอบ มันก็แสดงถึงอำนาจที่ยังดำรงอยู่เป็น 2 ขั้ว ไม่ใช่ 3 ก๊กค่ะ ถ้าพูดว่า 3 ก๊ก แปลว่ายังไม่ยอมรับความเป็นจริงว่าอำนาจยังไม่ได้เป็นของประชาชน และประชาชนยังต้องดำเนินการต่อสู้เพื่อให้อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ถึงกับว่าจะเป็นพวกถูกอ้างว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นสังคมนิยมซ้ายสุดโต่ง ไม่ใช่!!! แต่เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสากลที่อำนาจเป็นของประชาชน



ตั้งแต่รัฐประหารใน 2 ทศวรรษใหม่เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ระบอบที่มีชนชั้นนำเป็นผู้ควบคุมและเป็นเครือข่าย ระบอบนี้ยังดำรงอยู่ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ระบอบอำมาตย์ก็ใช้ยุทธวิธีแตกต่างกัน บางทีก็ชนะ บางทีแพ้ มีกบฏบวรเดช อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ไล่มาจนกระทั่งดึงทหารมาเป็นพวก เป็นเผด็จการที่อยู่ร่วมกันเช่นในยุคจอมพลสฤษดิ์ แต่เมื่อมันไม่ได้เป็นเอกภาพเช่นยุคถนอม-ประภาส ก็มาร่วมกับฝ่ายภาคประชาชนและปัญญาชนเพื่อโค่นอำนาจทหาร นั่นแปลว่าการต่อสู้ระหว่างระบอบอำมาตย์และเครือข่ายจารีตเดิม มันมีการพลิกแพลงเปลี่ยนยุทธวิธีตลอด


ดังนั้น การทำรัฐประหารในช่วงสมัยใหม่ในช่วง 2 ทศวรรษนี้ คือ 2549 จนถึง 2557 จนถึงปัจจุบัน ดิฉันมองว่านี่ยังเป็นการต่อสู้ แต่ว่ายุทธวิธีของฝั่งระบอบอำมาตย์นั้นมีพลิกแพลง ดังเช่นที่เราเห็นว่านอกจากมีมวลชนจารีตนิยม นอกจากมีกองทัพที่อยู่ร่วมฝ่าย นอกจากมีพรรคการเมืองร่วมฝ่าย เราก็ยังปรากฏให้เห็นว่ามีสิ่งที่เราจะเรียกนิติสงครามก็คือ พ่วงด้วยกระบวนการยุติธรรมและอำนาจอื่น ๆ อันถือว่าเป็นโครงสร้างเครือข่ายของระบอบจารีตอำนาจนิยมทั้งหมด สิ่งนี้ยังดำรงอยู่ และเป็นด้านหลักของความขัดแย้งกับประชาชน


คือในคู่ต่อสู้ระหว่างอำนาจประชาชนกับอำนาจของฝั่งจารีตนิยม หลายคนอาจจะพูดว่าขอให้ปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถามว่าความเป็นจริงประชาชนต้องการปรองดอง อย่างทุกวันนี้อยากได้นิรโทษกรรม แต่ว่าฝั่งที่ไม่ยอมปรองดองด้วยอย่างแท้จริงก็คือฝั่งของระบอบอำมาตย์หรือจารีตอำนาจนิยม ไม่ให้แก้ 112 ไม่ให้นิรโทษกรรม 112 แปลว่าอะไร? แปลว่าเขาไม่ได้ต้องการปรองดองกับความคิดต่างทางการเมือง


แล้วถามว่าในความขัดแย้งคู่นี้ อะไรเป็นด้านหลัก? ในทัศนะของดิฉันถือว่าแม้กระทั่ง พ.ศ. นี้ ฝั่งจารีตอำนาจนิยมยังเป็นด้านหลักของความขัดแย้ง ก็คือ อำนาจเขายังดำรงอยู่ มีทั้งอำนาจกองทัพ อำนาจข้าราชการระดับสูง นายทุน ชนชั้นนำ รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ ทั้ง ซึ่งในโรงเรียนการเมืองนปช. เราเรียกว่าเครือข่ายระบอบอำมาตย์ แต่ว่าถ้าเป็นคนต่างประเทศที่มีทฤษฎีคล้าย ๆ กันเขาก็เรียกว่าเป็น monarchy network ก็คล้าย ๆ กัน


ดังนั้น มาปี 2568 ดิฉันก็คิดว่าคำว่า “ด้านหลัก” ก็คือเขาอยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำ ประชาชนยังเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ว่าเขาได้เปลี่ยนยุทธวิธี ก็คือแทนที่ผู้ทำรัฐประหารจะมาเป็นรัฐบาลโดยตรง ก็ได้เปลี่ยนยุทธวิธีดังที่เราทราบกัน ฉะนั้นยุทธวิธีที่ผ่านมาจากปี 2566 จนถึง 2567 ก็เป็นยุทธวิธีที่ดึงพรรคการเมืองฝ่ายที่เคยอยู่ข้างประชาชนผู้รักประชาธิปไตยมาอยู่เป็นพวก อันนี้ก็เป็นยุทธวิธีอีกแบบหนึ่ง



เราจะเห็นว่าฝั่งระบอบอำมาตย์หรือฝั่งจารีตนิยมไม่ได้รามือเลย แล้วก็ใช้ท่วงท่ากระบวนการต่าง ๆ และไม่ได้คิดจะปรองดอง ถ้าฆ่าได้เป็นฆ่า ถ้าฆ่าไม่ได้ก็ใช้นิติสงคราม สิ่งที่เกิดขึ้นเราก็จะเห็นว่าผู้นำของขบวนการของประชาชนของเยาวชนคนรุ่นใหม่ แล้วก็ฝ่ายที่คิดต่างก็ล้วนอยู่ในเรือนจำ ไม่ได้รับการประกันตัว แล้วก็มีโทษสูงยิ่งกว่าในระบอบยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และมีการยุบพรรคการเมืองที่ไม่พึงปรารถนาเป็นลำดับ ๆ ๆ  นี่คือทัศนะของดิฉันว่าเขายังเป็นด้านหลัก เพียงแต่ว่าจากยุทธวิธีปราบปราม มาเป็นยุทธวิธีในการที่ใช้กระบวนการยุติธรรม ใช้กฎหมายและนักกฎหมายมาควบคุมพรรคการเมืองให้อยู่ในอาณัติอีกทีหนึ่ง แล้วก็ทำให้เป็นรัฐบาลที่สามารถสืบทอดอำนาจได้ เพียงแต่แปลงร่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มาเป็นคุณแพทองธาร ไม่น่าเชื่อเลย ใครจะไปคิดว่าการหาเสียงที่ผ่านมาตอนปี 2566 ไม่มีใครคิดว่ามันจะเกิดเช่นนี้


แต่ว่าอย่างไรก็ตาม แม้นว่าจะมีลักษณะเป็นด้านหลัก แต่ในทัศนะของดิฉันก็คือมีความเสื่อมโทรมและเสื่อมถอย ดังนั้นพลังที่อยู่ในฐานะควบคุมประชาชนนั้นมันลบ และมันลด และมันเสื่อมถอยลงไปตลอดเวลา ในส่วนของประชาชนผู้ถูกกระทำ ยังถูกกระทำด้วยความรุนแรง แต่ว่าพลังด้านบวกในการเติบโตขึ้น มันเติบโตขึ้นตลอดเวลา จากเมื่อก่อนเป็นเสื้อแดง เป็นขบวนการผู้รักประชาธิปไตยที่ค่อนข้างจะถูกกระทำจากอำนาจรัฐยาวนาน แต่ในท่ามกลางด้านลบก็มีด้านบวก มันก็มีการสั่งสมความรู้ มันก็มีคนที่ทำข้อมูลวิทยานิพนธ์เรื่องราวต่าง ๆ ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจว่าประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย และอะไรที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเดินหน้าได้ อนาคตของพวกเขาทำไมไม่เหมือนกับอนาคตของพลเมืองโลกอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่เขาก็เก่งเท่ากัน หรือเขาควรจะเก่งกว่านี้ ทำไมระบบการศึกษาเป็นอย่างนี้ ทำไมเงินเดือนเขาเพียงเท่านี้ ทำไมเขาถึงไม่มีขีดความสามารถเท่าคนในประเทศอื่น ทำให้คนรุ่นใหม่กลายเป็นพลังบวก ฉะนั้น ฝั่งประชาชน อำนาจประชาชน แม้นจะถูกกระทำ แต่ว่าถ้าเป็นกราฟก็ไต่ขึ้น ในขณะที่ฝั่งของระบอบอำมาตย์กราฟอาจจะอยู่ในระดับสูงอยู่ แต่ว่ากราฟก็จะเตี้ยลง ดังนั้นในปี 2568 พลังของฝั่งอำนาจจารีตนิยมก็จะลดลง แต่เมื่อเขาลดลงเขาก็จะใช้ยุทธวิธีที่เปลี่ยนแปลง อันนี้เป็นสิ่งที่ดิฉันมอง


การดำเนินการกลยุทธ์เขาก็จะมีดำเนินการเพื่อที่เมื่อใช้ “พรรคเพื่อไทย” เข้ามาอยู่ในเครือข่ายระบอบอำมาตย์ เข้ามาอยู่แล้วนะ เมื่อก่อนเราบอก “ประชาธิปัตย์” เป็น แต่ตอนนี้ต้องถือว่าเพื่อไทยเป็นเครือข่ายระบอบอำมาตย์ด้วย ดิฉันไม่ถือว่าเป็น 3 ก๊ก ดิฉันยังถือว่าเป็น 2 ขั้วอำนาจ


นอกจากโครงสร้างของระบอบอำมาตย์ที่สำคัญเกี่ยวกับ ทุกคนรู้ว่า 1) ใช้กองทัพ 2) ใช้กระบวนการยุติธรรม แต่ดิฉันอยากจะเตือนว่ายังมีอีกอำนาจหนึ่ง คืออำนาจทางวัฒนธรรม ทางขนบธรรมเนียมประเพณี ทางอุดมการณ์และการศึกษา ซึ่งกล่อมเกลาและย้อมให้คนเป็นพลังจารีตนิยมมากขึ้น แน่นอนคนรุ่นเก่าส่วนหนึ่ง ก็คือพูดตรง ๆ ว่า จากไพร่ในระบอบเดิมก็มาไพร่ในระบอบใหม่ที่ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากความเป็นไพร่ ยังไม่ใช่เสรีชน ยังคิดว่าเป็นไพร่ฟ้า คือศัพท์โบราณ “ไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดิน” เพราะฉะนั้นจะมีคน คำหนึ่งก็แผ่นดิน คือยังไม่หลุด ถึงแม้ว่าจะเป็นไพร่สมัยใหม่


เพียงแต่คนเยนเนอเรชั่นใหม่เขาเป็นประมาณว่าเป็น global citizen ก็จะมีลักษณะพลานุภาพที่โดยเฉพาะสื่อสารออนไลน์ ทำให้เขาเรียนรู้ ดังนั้นวัฒนธรรมจารีตก็กำลังถูกทำลายด้วยวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ แต่ว่าที่ดิฉันอยากจะเตือนก็คือ มันยังครอบงำอยู่หนาแน่นมาก ดังนั้นวัฒนธรรมจารีต อุดมการณ์จารีตเหล่านี้ทั้งหมด ในความคิดของดิฉันนะ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก ก่อนหน้านี้ดิฉันก็คิดเรื่องเศรษฐกิจกับการเมืองเป็นหลัก แต่ในด้านอิทธิพลของวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดิฉันชอบใช้คำว่าบนโครงสร้างชั้นบน เป็นสิ่งที่ระบอบอำมาตย์ไม่เคยละทิ้ง แล้วทำได้ดี ทำได้ดีมากเลย



คือเขาล้มเหลวที่กบฏบวรเดช แล้วก็มาล้มเหลวในช่วงต่อมา แต่ว่าสิ่งหนึ่งก็คืออำนาจทางวรรณกรรม ยกตัวอย่างเช่น คุณจะพูดถึงสี่แผ่นดิน หรือพูดวรรณกรรมของทมยันตี, วรรณกรรมของคึกฤทธิ์ ปราโมช, สด กูรมะโรหิต แล้วก็คนที่เคยเข้าคุกตะรุเตาในช่วงก่อนหน้านั้น วรรณกรรมเหล่านี้มันก็บทบาท เพราะฉะนั้นแนวรบมันไม่ใช่แนวรบด้านอาวุธอย่างเดียว ไม่ใช่แนวรบด้านกฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นแนวรบด้านวัฒนธรรมและการศึกษาสำคัญมาก ดิฉันจึงอยากจะเตือนให้ตระหนักว่ามันเป็นแนวรบที่เราต้องช่วยกันทำ และแนวรบนี้เป็นแนวรบที่สำคัญมากสำหรับดิฉันเพราะมันเปลี่ยนความคิดคนได้ ถ้าความคิดคนไม่เปลี่ยน เขาจะไม่พยายามทำอะไรทั้งสิ้น คือคนไม่ใช่วัตถุ เพราะฉะนั้นมันก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้


ดังที่เราจะเห็นว่าพลังของฝ่ายประชาธิปไตยมากขึ้นทุกวัน แม้จะถูกแบ่งแยกและทำลายโดยยุทธวิธีของฝั่งระบอบอำมาตย์ก็ตาม แต่ว่าเราจะเห็นว่ามันเป็นกราฟขาขึ้น ในขณะที่ฝั่งของระบอบอำมาตย์เขาอยู่สูงอยู่แล้วไง แต่มันลงต่ำ!!! เพราะฉะนั้น กราฟประชาชนขึ้น แต่กราฟของฝ่ายจารีตลงต่ำ แต่สิ่งที่สำคัญดิฉันอยากให้สนใจในเรื่องอำนาจของโครงสร้างชั้นบนให้มาก เพราะว่าถ้าความคิดประชาชนเปลี่ยน ประเทศไทยก็เปลี่ยน ไม่ใช่ว่าจะแจกเงิน มีงานทำมันก็ดี แต่นั้นมันก็คือการสั่งสมของประโยชน์ส่วนตัว


แต่ว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเสพสุขอย่างเดียว สุขในการที่ชีวิตมีคุณค่า แล้วสร้างคุณค่าให้กับโลก ดิฉันคิดว่ามันเป็นความสุขที่สูงที่สุด ไม่อย่างนั้นดิฉันก็ไม่อยู่อย่างนี้หรอก ที่อยู่อย่างนี้ก็คือเรามีความสุขกับการที่เป็นผู้ช่วยกันสร้างสรรค์และเป็นผู้ให้อย่างระมัดระวังเพื่อที่จะทำให้สังคมดีขึ้น


เพราะฉะนั้นดิฉันอยากจะขอให้พวกเราสนใจว่า แนวรบของฝั่งจารีตในด้านนี้เขาหนักหน่วงมากนะ แล้วมีขีดความสามารถมาก ดังนั้น ถ้าใครสามารถทำได้ ในส่วนหนึ่งนักวิชาการได้ทำมาแล้ว แล้วสำนักพิมพ์บางส่วนก็ได้ทำมาแล้ว เช่น ในการเปิดเผยประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งที่ไม่ใช่สิ่งที่เรียนมา อันนั้นก็เป็นคุณ จึงทำให้คนเยนเนอเรชั่นใหม่มีความเข้าใจการต่อสู้ของประชาชนมากขึ้น


อันนั้นคือเป็นฝ่ายจารีต ดิฉันพูดได้อย่างเดียวว่าเขาใช้ทุกวิธี แล้วเขาจะปรับกลยุทธ์ไปเรื่อย ขณะนี้นายกฯ เป็นคุณอุ๊งอิ๊ง แต่ว่าพูดก็พูดคือ พูดในฝั่งของเครือข่ายระบอบอำมาตย์ พรรคเพื่อไทยก็จะต้องเข้าสู่การหาเสียง เพราะว่าถ้าคุณไม่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนมาก คุณก็ไม่มีค่าอะไรที่ฝ่ายระบอบอำมาตย์หรือว่าใบอนุญาตที่ 2 คือถ้าคุณได้ใบอนุญาตที่ 1 น้อยมาก คุณก็ไม่มีค่า ดังนั้น เพื่อที่จะให้ฝั่งระบอบอำมาตย์เห็นคุณค่าแล้วสามารถเป็นรัฐบาลได้มั่นคง ก็ต้องหาเสียงมาก


เพราะฉะนั้น เราจะเผชิญ ซึ่งดิฉันจะพูดในคลิปต่อไปหลังจากนี้เกี่ยวกับเรื่องทวงความยุติธรรมและนิรโทษกรรม




ดังนั้นพรรคอย่างพรรคเพื่อไทยซึ่งข้ามขั้วไปแล้ว บุคคลบางส่วนนะ ไม่ยอมรับการข้ามขั้ว ยังบอกเป็น 3 ก๊กอยู่ ช่วงนี้ขอให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจว่า “สิ่งที่พูด” กับ “สิ่งที่ทำ” มันไม่เหมือนกัน เราดูวันนี้ เราต้องดูที่เขาพูดเมื่อวานนี้เขาพูดว่าไง? แล้ววันนี้เขาทำตามที่พูดเมื่อวานนี้ไหม? แต่เขาพูดวันนี้ว่าพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้เขาจะทำ ถ้าเมื่อวานนี้ เมื่อก่อนนี้นะ เขาพูดเอาไว้แล้วเขาไม่ทำ แล้วยังจะหวังว่าพูดวันนี้แล้วจะทำในครั้งหน้า มันเป็นไปไม่ได้แน่นอน!!!


ดิฉันจึงอยากจะเรียนให้พี่น้องประชาชนเข้าใจไว้ว่า นี่เข้าสู่ฤดูหาเสียงแล้ว แล้วฤดูหาเสียงของฝั่งที่ต้องการใบอนุญาตที่ 1 มันจะทำเต็มที่เลย บางครั้งดิฉันก็งง!! เอ๊ะ ทำไมทำอะไรอย่างนี้ ดูเหมือนดีนะ แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ เราผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน ผ่านการเล่นละคร ผ่านการหาเสียงมาเป็นลำดับ แม้มันจะไม่ค่อยมีโอกาสเลือกตั้งก็ตาม แต่ให้เข้าใจว่าปี 2568 จะเป็นปีหาเสียงอย่างหนักของพรรคการเมืองในเครือข่ายระบอบอำมาตย์ เพราะต้องการใบอนุญาตที่ 1 จากประชาชนเพื่อไปขอใบอนุญาตที่ 2 คือเขาต้องการทั้งสองใบ แต่นี่คือขั้วความขัดแย้งกันระหว่างระบอบอำนาจจารีตนิยมกับประชาชน มันเป็นความขัดแย้งกัน ถ้าคุณได้อนุญาตที่ 2 แล้วคุณหวังเหรอว่าจะได้ใบอนุญาตที่ 1 จากประชาชนมาก ใช่มั้ย? ถ้างั้นมันก็จะต้องมีการโกหกรอบใหม่อีกหรือเปล่า? มีการหาเสียง แต่สำหรับดิฉัน ถ้าของเก่าพูดแล้วไม่ทำ อย่าไปหวังเลยว่าของใหม่ พูดแล้วจะทำ!!! ใครเชื่อ? ไม่เชื่อแน่นอน!!! นี่คือเรื่องของระบอบอำมาตย์ที่จะเข้าสู่ฤดูหาเสียง


ในส่วนขบวนการประชาชน เมื่อกี้เราพูดหลัก ๆ คือแนวโน้มใหญ่มันเป็นด้านบวก มันเป็นขาขึ้น ฝั่งระบอบจารีตมันเป็นขาลง แต่เขาอยู่สูงและเขาตอกหลักแน่นหนาเลย เขาตอกทุกเสาเลย เสากองทัพ เสากฎหมาย เสาการศึกษา เสาศาสนาวัฒนธรรมประเพณี แล้วระบอบศักดินาบ้านเรามันไม่เหมือนระบอบขุนนางในต่างประเทศ ซึ่งขุนนางในต่างประเทศเขามีอำนาจเพราะเขาเป็นเจ้าที่ดิน ดังนั้นเขาก็จะมีไพร่ติดที่ดิน มีพลพรรคมาก มีอำนาจ มีความมั่งคั่ง สามารถที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ได้แบบอังกฤษ แต่มันก็ใช้เวลายาวนานแบบอังกฤษ เขาถึงมีสภาขุนนางเพราะคนเหล่านี้ก็มีอำนาจ


แต่ของบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ในสมัยโบราณขุนนางก็ต่อสู้เพื่อเป็นกษัตริย์ แต่มาใน ร.5 ท่านได้เปลี่ยนปฏิรูประบบ ดังนั้น กลายเป็นว่าขุนนางก็เป็นข้าราชการ คือใช้ระบบของอังกฤษที่ปกครองอาณานิคม เราก็เป็นเจ้าอาณานิคมนะ ก็เอามาใช้ปกครองประเทศไทย เช่นหัวเมืองฝ่ายเหนือ อีสาน ฝ่ายใต้ เราก็เป็นเจ้าอาณานิคมย่อย เราได้ปฏิรูปการปกครองรวมศูนย์ เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่แข็งแกร่งมาก ขุนนางทั้งหลายจบหมดเลย จะต้องขึ้นอยู่กับศูนย์กลางทั้งหมด


แต่อย่างไรก็ตาม เวลาที่ผ่านมาแม้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ว่าอำนาจจารีตนิยมของเรามันตอก อย่างที่บอก ตอกหลักกองทัพ ตอกหลักยุติธรรม ตอกหลักการศึกษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา มันมีเสาตั้งหลายเสา แล้วไม่มีการต่อต้านจากขุนนาง มันก็กลายเป็นเครือข่ายของระบอบที่ชนชั้นนำที่เป็นผู้ปกครองและอยู่ในฐานะเป็นด้านหลักมาจนถึงปัจจุบันนี้ แต่ว่ากราฟกำลังลดลงเป็นด้านเสื่อม ขณะที่ประชาชนกราฟเป็นด้านบวก แต่ยังต้องไต่ และต้องทำการต่อสู้ทางความคิดของประชาชนให้มากกว่านี้ จาก 70% เป็นประชาธิปไตย ให้มันเป็น 90% เลย เพิ่มมาอีก 20% เลย โดยการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่เลือกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย 70% อันนั้นมันเป็นสัญญาณสำคัญ


มีด้านบวก แต่ด้านลบที่สำคัญก็คือ ผู้นำทั้งหลายถูกจัดการโดยใช้กฎหมาย เขาไม่ได้ใช้อาวุธปราบปรามเหมือนกรณีคนเสื้อแดง ซึ่งดิฉันจะขอพูดในวันหลัง เพราะมีประเด็นมากพอสมควร แต่ว่าคนเหล่านี้ถูกจัดการโดยกฎหมาย จนส่วนหนึ่งต้องลี้ภัย ส่วนหนึ่งต้องอยู่ในเรือนจำ ดิฉันเคยพูดแล้วว่าคนอย่าง “อานนท์ นำภา” เป็นตัวเชื่อมระหว่างประวัติศาสตร์ของคนเสื้อแดง เขาเป็นคนเสื้อแดง เป็นทนายเสื้อแดง แล้วก็มาเป็นทนาย 112 จนกระทั่งตัวเองโดน 112 ด้วย เขาเป็นผู้เชื่อมประวัติศาสตร์ และอาจจะพูดได้ว่า เป็นผู้นำของคนรุ่นใหม่ที่ยังอยู่ในเรือนจำ เพราะส่วนใหญ่ก็จะลี้ภัย



อันนี้ก็แปลว่าระบอบอำมาตย์ใช้กฎหมายกับกระบวนการยุติธรรมในการจัดการกับผู้นำ วิธีคิดของฝั่งจารีตเขาจะมุ่งไปที่แกนนำสำคัญเป็นหลัก สมมุติใครเป็นกบฏก็หัวหน้ากบฎนั่นแหละเป็นหลัก ดิฉันก็เข้าใจที่มีคนส่วนหนึ่งลี้ภัย แต่ว่าอยู่ที่ไหนคุณก็สามารถเป็นนักต่อสู้ได้ จะอยู่ในคุก จะอยู่ที่ไหนก็เป็นนักต่อสู้ได้ ดิฉันเชื่อว่าคุณอานนท์ การที่เขาถูกขังอยู่ในเรือนจำมันเป็นการต่อสู้อีกแบบหนึ่ง ที่เหมือนกับการพลีชีพตัวเองนั่นแหละ มันก็เป็นการต่อสู้อีกแบบหนึ่ง ดิฉันเข้าใจเยาวชนที่จำเป็นต้องลี้ภัย นี่คือด้านลบของผู้นำ


แต่ในความเป็นจริง มันไม่ได้เป็นด้านลบแบบที่ฝั่งจารีตคิด ดิฉันไม่อยากพูดทั้งหมดเดี๋ยวคนมาบอกว่าอย่าไปบอกเขาหมด ก็คือจริง ๆ แล้วปัจจุบันนี้อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องลงถนน ทุกวันนี้ที่เป็นอยู่เขาไม่ลงถนน ไม่ใช่ว่าเขาไม่ต่อสู้ เพราะว่าเขาสามารถต่อสู้ได้โดยทางออนไลน์ ถนนออนไลน์ก็เป็นถนน ก็ขึ้นอยู่กับพลังว่าในออนไลน์มีมากหรือน้อย ดังนั้น แนวรบเมื่อตอนที่ทำสมัยเสื้อแดงก็ถือว่าเป็นเขตยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะชนบท เมือง กรุงเทพฯ แล้วออนไลน์เป็นเขตยุทธศาสตร์ที่ 4 ต่างประเทศเป็นเขตยุทธศาสตร์ที่ 5 มันก็เป็นเขตยุทธศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนเหมือนกัน


เพราะฉะนั้น เขาก็ลงบนถนนออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องมาลงตามถนนจริง แต่ว่าเราก็ไม่รู้ ไม่แน่ อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ด้านลบเรื่องนี้ก็คืออาจจะมีปัญหาเรื่องแกนนำ แต่ว่าประชาชนก็ต้องพลิกแพลง ถามว่าทำไมเราต้องพลิกแพลง ฝั่งอำมาตย์ยังพลิกแพลงเลย คนแก่ ๆ ขนาดฝั่งจารีตเขายังพลิกแพลง เพราะเพื่อเอาชีวิตรอด การต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดมันจะเป็นการต่อสู้ที่เข้มข้น ทำทุกอย่างได้ แต่ว่าคนที่ต่อสู้เพื่อให้ประเทศเจริญมักจะไม่โหดเหี้ยมเท่าการต่อสู้เพื่อรอดชีวิต ฉะนั้นพวกฝั่งระบอบอำมาตย์จะเป็นพวกที่ต่อสู้เพื่อมีชีวิตรอด ดังนั้นพวกฝั่งอำมาตย์จะต่อสู้แบบเรียกว่าโหดเหี้ยมอำมหิต ถ้าไม่งั้นเขาก็ไม่รอด มันต้องพัฒนาจิตใจที่ต่อสู้ กล้าเสียสละ แต่ต้องเข้าใจว่าอีกหนึ่งนั้นอำมหิต


ดังนั้น สิ่งที่ฝากไว้ก็คือ โอเค คุณสามารถมีแกนนำใหม่ คุณไม่จำเป็นต้องลงถนนก็ได้ หรือถ้าคุณลงถนนคุณก็สามารถมีแกนนำคนอื่นได้ เหมือนกับพรรคบางพรรค ระบอบอำมาตย์จัดการเขาทีละแถว เขาก็ต้องสร้างคนใหม่มา แล้วในแกนนำของประชาชนสร้างคนใหม่ง่ายกว่าพรรคการเมืองด้วยซ้ำ เพราะมันไม่มีระเบียบ ใครก็เป็นแกนนำได้ถ้ามีความสามารถ การสร้างแกนนำใหม่ ๆ ขึ้นมาตลอดเวลาก็ยังเป็นภารกิจ

แต่ที่สำคัญคือสนามการต่อสู้จะเป็นสนามการต่อสู้ออนไลน์ และการเปลี่ยนความคิดของประชาชนให้ก้าวหน้า เพราะว่าอาจารย์ผ่านชีวิตในเขตป่าเขา มีอาวุธจริงนะในยุคก่อน แต่ถามว่าคุณมีอาวุธแล้วถ้าสมมุติมีการหนุนช่วยของประเทศอื่นเข้ามา แต่คนในประเทศความคิดยังไม่ได้เปลี่ยน มีประโยชน์มั้ย? มันไปต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงความคิดประชาชนให้มากกว่านี้ การมีแกนนำให้มากกว่านี้ การใช้ยุทธวิธีอื่น ๆ ให้มากกว่านี้ มันยังเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะต้องท้อถอยว่า ผู้นำเข้าคุก ถูกจับไปหมด ก็คือเพียงแต่เราต้องพลิกแพลง ก็คุณดูซิ ผ่าน 2475 มาแล้ว พวกระบอบอำมาตย์จนถึงทุกวันนี้ทำไมยังอยู่ได้? อยู่ได้อย่างเต็มที่เพราะเขาสู้ไม่ถอย พลิกแพลงยืดหยุ่น ฝ่ายประชาชนเป็นฝ่ายถูกต้อง เราก็ต้องมีพลิกแพลงยืดหยุ่น ระมัดระวัง แล้วต้องรู้ด้วยว่านี่เป็นสงครามที่ยืดเยื้อ

 

การต่อสู้ของประชาชนกับฝั่งจารีตอำนาจนิยมซึ่งเป็นฝั่งของผู้ปกครอง ยังพยายามที่จะเป็นผู้ปกครองต่อไป และเป็นการต่อสู้ที่เหี้ยมโหดอำมหิต และใช้กลยุทธ์ทุกวิธี เพราะฉะนั้น ฝั่งประชาชนต้องเข้าใจ ต้องมีความระมัดระวังว่าเราจะเจอการต่อสู้ที่เหี้ยมโหด เพราะเขาสู้เพื่อเอาชีวิตรอด แต่เราสู้เพื่อให้ประเทศเจริญขึ้น ใจมันคนละอย่างกันนะ ใจของประชาชนจะไม่เหี้ยมโหดอำมหิต จะพยายามมองด้านบวก ปรองดองกันดีมั้ย? ก็นิรโทษฯ ความเห็นต่างกัน เขาไม่เอา ไม่ยอมนิรโทษฯ ไม่ยอมแก้ไข เพราะเขาบอก “เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย” เดี๋ยวมันจะผุพัง ก็ทำตัวให้มันเป็นไม้สักหน่อยซิ ไม้สักก็ไม่เห็นจะต้องผุพังไปได้เลย ก็ต้องเป็นไม้เนื้อแข็ง ไม่จำเป็นต้องถึงกับเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กก็ได้ เอาแบบโบราณ ๆ


ที่สำคัญตรงนี้ก็คือ ขณะนี้ยังเป็นสงครามที่ผู้ถูกปกครองเป็นฝ่ายรอง ผู้ปกครองด้านจารีตอำนาจนิยมยังเป็นฝ่ายหลัก แต่กำลังเสื่อมลง ฝั่งประชาชนกำลังเติบโตขึ้น อีกอันหนึ่งก็คือ เมื่อฝั่งจารีตใช้กลยุทธ์แยกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยไปรวมอยู่ด้วย นั่นหมายถึงเขาแบ่งแยกประชาชน ดังนั้น ประชาชนส่วนหนึ่งในฝ่ายประชาธิปไตยก็ถูกแบ่งแยกและกลายพันธุ์ ก็กลายเป็นว่าเพื่อผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับจากการได้ตำแหน่งหรือไม่ผลประโยชน์อะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่


เพราะฉะนั้น ส่วนของฝั่งประชาชนขณะนี้อาจารย์ว่าอย่าเสียใจ ในปี 2568 จะเป็นปีที่มันชัดเจนว่าใครเป็นกัลยาณมิตร ใครเป็นมิตรแท้ อาจจะมีส่วนหนึ่งซึ่งยังตัดสินใจไม่ได้ ก็ให้ความรู้ ให้เรายังเป็นกัลยาณมิตรกันได้ แต่ว่าสิ่งที่เราแยกมิตรแยกศัตรูก็คือ ใครที่ข้ามไปอยู่ฝั่งผู้กระทำต่อประชาชน และทำอย่างโหดเหี้ยมอำมหิต คุณลืม 2553 ไปแล้วหรือ? ใครเป็นผู้กระทำ? แล้วถ้าไม่ใช่เพราะเราทวงความยุติธรรม ถ้าไม่ใช่ความยุติธรรมคืบคลานเข้าไปหาใกล้เขา เขาจะทำรัฐประหาร 2557 ทำไม? ไม่จำเป็น เขาไม่จำเป็นต้องทำรัฐประหาร 2557 ก็ได้



แต่เขาต้องทำ! เพราะว่าสู้เพื่อชีวิตไง เอาชีวิตรอด ดังนั้น ใครที่คิดว่าการเป็นแฟนคลับพรรคการเมือง แล้วก็คิดว่าเป็น 3 ก๊ก ไม่ใช่ระหว่างฝ่ายผู้กระทำกับฝ่ายผู้ถูกกระทำ คุณไปอยู่ฝ่ายกระทำ ฝั่งฝ่ายที่เป็นประชาธิปไตยอย่าเสียใจ 1) เราต้องช่วยกันทางความคิด 2) มันจะคัดกรอง ใครเป็นแถวหน้า? ใครเป็นแถวกลาง? ใครเป็นแถวหลัง? มันจะคัดกรองไปเรื่อย ๆ อาจารย์เดินทางผ่านหัวเลี้ยวหัวต่อมาตลอด ตั้งแต่ 2516 เราก็เสียมิตรก่อนหน้านั้นไปเพราะพวกนั้นไม่สนใจการเมือง แล้วพอมาถึง 2519 เราก็เสียมิตรส่วนหนึ่งไป ชีวิตก็หักเหต้องเข้าอยู่ในเขตป่าเขา เพราะเจอการกระทำที่อำมหิต แม้กระทั่งในสนามหญ้าในบริเวณมหาวิทยาลัย ซึ่งรับไม่ได้


มาปี 2535 จนกระทั่งมาปี 2549 มันมีหัวเลี้ยวหัวต่อ อย่าได้เสียใจ เพราะคุณยังมีเพื่อนร่วมเดินทางใหม่ และมันจะคัดกรองคนที่ไม่สามารถเดินทางร่วมกันกับนักต่อสู้ไปได้ ขอให้ภาคภูมิใจในฐานะนักต่อสู้ของประชาชน และดังที่ได้พูดว่า เราต้องยกย่องเกียรติภูมิของนักต่อสู้ประชาชนให้สูงเด่น เราไม่ได้อยู่ในคอก เราเป็นเสรีชน ยอมรับความรู้และข้อมูลต่าง ๆ เรื่องการโหวตนั่นเป็นวิธีการ และอย่าลืมว่าปีนี้ 2568 จะเป็นปีที่เข้าสู่การหาเสียง เพราะว่าเขาอาจจะต้องยุบสภาก่อน 2570 ก็ได้ หรือมีอะไรเกิดขึ้นก่อน 2570 ก็ได้ ตัวประกันมีเยอะแยะไป สถานการณ์การเมืองของรัฐบาลจะถูกรุกฆาต ไม่ว่าจะเป็นคดีชั้น 14 ไม่ว่าจะเป็นคดี 112 อาจจะมองในแง่ดีโลกสวยก็ได้ว่า ไม่เป็นไร แต่มันก็ไม่แน่นอน มันขึ้นอยู่กับว่าพรรคที่ข้ามขั้วไปทำตัวเป็นเด็กดีอยู่ในโอวาทแค่ไหน


นี่ก็คือสถานการณ์ปี 2568 เปลี่ยนแปลงความคิดประชาชน แล้วอย่าไปเสียดายว่าบางครั้งเราอาจจะต้องเสียมิตรร่วมรบไปจำนวนหนึ่ง แต่เราได้คนใหม่มา เพราะว่ากราฟประชาชนนั้นขึ้น ก็ไม่มีอะไรที่ต้องเสียใจ แต่จะเป็นปีที่คุณจะเผชิญการโฆษณาหาเสียงเป็นอย่างหนัก ก็ให้ระมัดระวังในสิ่งนี้ด้วย และภายในปี 2568 ก็จะรู้แหละว่า พรรคที่ข้ามขั้วไปจะไปรอด หรือไม่รอด ตัดสินกันในปี 2568 นี่แหละดิฉันว่า


วันนี้ก็ขอลาไปก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #การเมือง2568 

“นายกฯ” เข้าขอพรปีใหม่ “พล.อ.สุรยุทธ์” ประธานองคมนตรี พร้อมสักการะพระแก้วมรกต-ศาลหลักเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคลในการทำงาน

 


นายกฯ” เข้าขอพรปีใหม่ “พล.อ.สุรยุทธ์” ประธานองคมนตรี พร้อมสักการะพระแก้วมรกต-ศาลหลักเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคลในการทำงาน


วันที่ 3 มกราคม 2568 เวลา 15.00 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลนนท์ ประธานองคมนตรี ที่ทำเนียบองคมนตรี เพื่อกราบขอพรเนื่องในเทศกาลปีใหม่ โดยพล.อ.สุรยุทธ์ ได้อวยพรให้นายกรัฐมนตรี ประสบความสำเร็จในการทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง


จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้ไปไหว้พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่บ้านของไทย ภายในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จากนั้นเดินทางไปไหว้ศาลหลักเมืองเพื่อความเป็นศิริมงคลในการทำงาน โดยมีประชาชนมาขอถ่ายภาพเป็นจำนวนมาก

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์




พริษฐ์ ชี้ ด่านแรกสำเร็จแล้ว ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไข รธน. ให้จัดทำ รธน.ใหม่ด้วยประชามติ 2 ครั้ง ชวนจับตาการพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา 14-15 ม.ค. หวังเห็น “แพทองธาร” แสดงบทบาทนำหาเอกภาพพรรคร่วมดันจัดทำ รธน.ใหม่สำเร็จ

 


พริษฐ์ ชี้ ด่านแรกสำเร็จแล้ว ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไข รธน. ให้จัดทำ รธน.ใหม่ด้วยประชามติ 2 ครั้ง ชวนจับตาการพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา 14-15 ม.ค. หวังเห็น “แพทองธาร” แสดงบทบาทนำหาเอกภาพพรรคร่วมดันจัดทำ รธน.ใหม่สำเร็จ

 

วานนี้ (2 มกราคม 2568) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคประชาชน โพสต์ข้อความ ระบุว่า ด่านแรก ทำสำเร็จแล้ว! ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไข รธน. ให้จัดทำ รธน. ฉบับใหม่ด้วยประชามติ 2 ครั้ง จ่อคิวพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา 14-15 ม.ค. โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้

 

[ ด่านแรก ทำสำเร็จแล้ว! ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไข รธน. ให้จัดทำ รธน. ฉบับใหม่ด้วยประชามติ 2 ครั้ง - จ่อคิวพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา 14-15 ม.ค. ]

 

ในช่วงก่อนปีใหม่ไม่นาน ผมได้รับแจ้งถึงความสำเร็จและความคืบหน้าเล็กน้อยเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผมได้พยายามผลักดันมาตลอด (โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของ 2567) เลยขอสรุปมาให้ทุกท่านครับ

 

1. ณ เวลานี้ ทางเว็บไซ์รัฐสภาได้มีการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้ว ว่าทางประธานรัฐสภาได้ตัดสินใจบรรจุร่างแก้ไข รธน. ที่ผมและพรรคประชาชนเสนอ เพื่อให้มีการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ด้วยประชามติ 2 ครั้ง เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ( https://shorturl.at/WYQWJ )

 

2. การตัดสินใจครั้งนี้ของประธานรัฐสภานับเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

3. ตั้งแต่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรนูญ 4/2564 ออกมาเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ทางประธานรัฐสภา (โดยคำแนะนำของคณะกรรมการของประธานรัฐสภา) ไม่เคยบรรจุร่างแก้ไข รธน. ดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เพราะไปตีความว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องทำประชามติเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ครั้ง ก่อนจะสามารถบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้ (จึงทำให้จำนวนประชามติเพิ่มขึ้นจาก 2 ครั้ง เป็น 3 ครั้ง)

 

4. แม้ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และนักวิชาการหลายฝ่าย มองว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าให้ทำประชามติเพิ่มขึ้นจาก 2 ครั้งมาเป็น 3 ครั้ง แต่หากประธานรัฐสภา (และคณะกรรมการของประธานรัฐสภา) ยังคงยืนยันคำเดิม และไม่เปลี่ยนใจหันมาบรรจุร่างแก้ไข รธน. เข้าสู่ระเบียบวาระ ประตูสู่การลดจำนวนประชามติจาก 3 เหลือ 2 ครั้ง ก็จะยังถูกล็อกไว้

 

5. เมื่อตอนต้นปี 2567 พอประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างดังกล่าว ทางพรรคเพื่อไทยได้พยายามจะเปลี่ยนใจประธานรัฐสภา โดยใช้วิธีการขอมติจากรัฐสภาให้ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยให้ชัดว่าประธานรัฐสภาบรรจุร่างดังกล่าวได้หรือไม่

 

6. แต่พอเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญตอน เม.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญกลับมีมติเอกฉันท์ไม่รับเรื่องดังกล่าวมาวินิจฉัย เลยทำให้ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ จนทำให้รัฐบาลถอดใจและ ครม. จึงมีมติให้ยอมเดินตามเส้นทางการทำประชามติ 3 ครั้ง (โดยพ่วงเงื่อนไขว่าจะไม่ทำประชามติครั้งแรกจนกว่าจะแก้ พ.ร.บ. ประชามติ เสร็จ)

 

7. แต่การแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ก็ยืดเยื้อกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้เพราะความเห็นต่างระหว่าง สส. กับ สว. (จนวันนี้ถูกเพิ่มเวลาไปอีก 180 วัน และทำให้ไม่สามารถเสร็จสิ้นได้จนถึงครึ่งหลังของปี 2568) จนทำให้ตัวแทนรัฐบาลหลายคนออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะถอดใจ ว่าการมี รธน. ฉบับใหม่ ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป (ซึ่งเป็นเป้าหมายและนโยบายของรัฐบาลเอง) เป็นไปไม่ได้แล้ว

 

8. ตอน ต.ค. 2567 ผมเลยได้เสนอว่าพวกเราทุกฝ่ายน่าจะร่วมกันลองอีกสักรอบหนึ่ง ในการลดจำนวนประชามติจาก 3 เหลือ 2 ครั้ง เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้การมี รธน. ฉบับใหม่ ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไปยังพอมีความเป็นไปได้ แถมยังเป็นการประหยัดทั้งเวลาของประชาชนในการไปออกเสียง และและงบประมาณในการจัดประชามติ 1 ครั้ง (ประมาณ 3,000 ล้านบาท)

 

9. แน่นอนว่า “ด่านแรก” ที่สำคัญคือทำยังไงให้ประธานรัฐสภา (และคณะกรรมการของประธานรัฐสภา) เปลี่ยนใจและหันมาบรรจุร่างแก้ไข รธน. (ที่เสนอให้มีการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ด้วยประชามติ 2 ครั้ง) เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา

 

10. เพื่อพยายามโน้มน้าวและเปลี่ยนใจประธานรัฐสภา (และคณะกรรมการของประธานรัฐสภา) ผมจึงได้ใช้เวลาช่วงปิดสมัยประชุม (พ.ย. 2567) ในการรวบรวมหลักฐานใหม่ๆที่คณะกรรมการไม่เคยใช้พิจารณามาก่อน ว่าทำไมการทำประชามติ 2 ครั้ง จึงไม่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เช่น

- (i) การรวบรวมคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน

- (ii) การรวบรวมความเห็นนักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญ (เช่น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ / ณรงค์เดช สรุโฆษิต)

- (iii) การขอเข้าพบประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการ

 

11. วันที่สภาฯเปิดกลับมา (12 ธ.ค. 2567) ผมและพรรคประชาชนจึงยื่นร่างแก้ไข รธน. ที่เสนอให้มีการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ด้วยประชามติ 2 ครั้ง เข้าสู่รัฐสภาอีกครั้ง เพื่อทำให้ประธานรัฐภา (และคณะกรรมการของประธานรัฐสภา) ต้องวินิจฉัยอีกรอบหนึ่ง

 

12. ในวันที่ 23 ธ.ค. 2567 ทางคณะกรรมการของประธานรัฐสภาได้เรียกให้ผมไปให้ข้อมูล - ทางผมจึงได้นำเสนอหลักฐานทั้งหมดที่รวบรวมมา และชี้แจงต่อคณะกรรมการร่วมกับคุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา (ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี) และ ตัวแทนภาคประชาชน ที่เห็นตรงกัน

 

13. ภายในวันเดียวกันนั้น ทางผมได้รับแจ้งว่าพวกเราทำสำเร็จ ในการโน้มน้าวคณะกรรมการของประธานรัฐสภา ให้หันมามีมติเสียงข้างมากให้บรรจุร่างแก้ไข รธน. ที่เสนอการทำประชามติ 2 ครั้ง จนนำมาสู่การที่ประธานรัฐสภาบรรจุร่างดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

14. การฝ่าด่านแรกนี้ได้สำเร็จ นับเป็นข่าวดีต้อนรับปีใหม่ เพราะเป็นด่านที่เรายังไม่เคยฝ่าฟันได้สำเร็จมาก่อนตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา

 

15. แต่ในวันที่ 14-15 ม.ค. 2568 นี้ เราจะต้องเผชิญกับ “ด่านที่สอง” ต่อทันที นั่นคือการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไข รธน. ดังกล่าว (ที่เสนอการทำประชามติ 2 ครั้ง) ในวาระที่ 1 - การจะฝ่าด่านนี้ได้ก็ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนของทั้ง สส. และ (อย่างน้อย 1 ใน 3 ของ) สว.

 

16. การได้เสียงสนับสนุนจาก สส. คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาเนื่องจากการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาและประชาชน ซึ่งควรจะผูกมัด สส. รัฐบาลทุกพรรค

 

17. การได้เสียงสนับสนุนจาก สว. เป็นสิ่งที่เราอาจคาดการณ์ได้ยากกว่า หรือคาดว่าจะมีความท้าทายมากกว่า

 

18. หากความเห็นต่างระหว่างสองสภาฯ มีเส้นแบ่งเดียวกัน กับความเห็นต่างระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล บุคคลที่จะต้องลุกขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการแสวงหาเอกภาพระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล (หรือเอกภาพระหว่างสองสภา ก็หนีไม่พ้นนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าของรัฐบาลผสมนี้

 

19. มารอดูกันครับว่าใน 12 วันข้างหน้านี้ นายกฯจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำและความจริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร เพื่อทำให้พรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันผลักดันยโยบายเรือธงของรัฐบาลเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ประสบความสำเร็จตามที่ได้เคยสัญญาไว้กับประชาชน

 

20. เรื่องทั้งหมดนี้ยิ่งตอกย้ำความเชื่อผมว่า “เมื่อมีเจตจำนงชัดเจน การเมืองเป็นเรื่องของความเป็นไปได้” (when there is a will, there is a way) – หวังว่าท่านนายกฯจะคิดคล้ายกัน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รัฐธรรมนูญ #ประชามติ

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2568

อ.ธิดา อวยพรปีใหม่ 2568 ส่งความปรารถนาดีมายังกัลยาณมิตรทั้งหลาย ขอให้ท่านประสบความสมหวังและมีความสุขกับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นนักต่อสู้ประชาชนที่อยู่ที่อยู่ในบ้าน อยู่ในเรือนจำ หรือลี้ภัยไปต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ก็เป็นการต่อสู้ที่ดำเนินต่อไป

‘เท้ง ณัฐพงษ์’ เผย ทีมกฎหมายพรรคประชาชน เตรียมสู้คดี 44 สส.ไว้อย่างดี ชี้ เรื่องนี้ส่งผลต่อสุขภาพทางการเมืองในอนาคต เล็งแก้อำนาจองค์กรอิสระ ย้ำ ไม่ใช่เพื่อพรรค แต่เพื่อรักษาระบบ เชื่อ หากมีการตัดสิทธิ์ ยังมี ‘ดาวเด่น’ อีกหลายคนเดินหน้าต่อ

 


เท้ง ณัฐพงษ์’ เผย ทีมกฎหมายพรรคประชาชน เตรียมสู้คดี 44 สส. ไว้อย่างดี ชี้ เรื่องนี้ส่งผลต่อสุขภาพทางการเมืองในอนาคต เล็งแก้อำนาจองค์กรอิสระ ย้ำ ไม่ใช่เพื่อพรรค แต่เพื่อรักษาระบบ เชื่อ หากมีการตัดสิทธิ์ ยังมี ‘ดาวเด่น’ อีกหลายคนเดินหน้าต่อ


วันนี้ (2 มกราคา 2568) นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงความคืบหน้าในคดี ปปช.ไต่สวนจริยธรรมของ 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกลยื่นร่างพรบ.แก้ไข ม.112 ว่า ทีมกฎหมายได้เตรียมการไว้อย่างดี และตนยังอยากให้ทุกคนกลับมาย้อนคิดอีกครั้ง ว่าที่มาที่ไปของปัญหานี้เกิดจากกติกาที่ไม่ชอบธรรม ทำให้องค์กรอิสระถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หากจะแก้ไขจริง ๆ อาจจะต้องโยงกลับไปที่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง และไม่อยากให้มองเฉพาะคดี 44 สส.พรรคประชาชน อย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นคดีที่อาจส่งผลกระทบกับสุขภาพทางการเมืองและระบบการเมืองของประเทศในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมา ก็เคยเกิดประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระไม่เหมาะสม ที่ส่งผลกระทบถึงพรรคเพื่อไทย อย่างเช่นในกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน ต้องหลุดออกจากตำแหน่ง


นายณัฐพงษ์ ย้ำว่า จุดยืนของพรรคประชาชนไม่ได้ต้องการผลักดันแก้ไขในเรื่องนี้เพื่อคนใดคนหนึ่ง หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นการแก้ที่ตัวระบบ เพื่อทำให้ตำแหน่งขององค์กรอิสระเป็นไปตามสากลมากขึ้น


เมื่อถามว่า หากสุดท้าย 44 สส.ของพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจริง พรรคประชาชนมีกำลังพอที่จะเดินหน้าต่อหรือไม่ นายณัฐพงษ์ ระบุว่า ตนเชื่อมั่นเพื่อน ๆ ในพรรคประชาชนที่กำลังทำหน้าที่อยู่ในตอนนี้ ทุกคนจะเห็นว่าการทำหน้าที่ของ สส. ในพรรคประชาชนเรา มีดาวเด่นในสภาหลายคน และเชื่อมั่นว่าไม่ว่าใครในตอนนี้หากต้องถูกตัดสิทธิ์ ในอนาคตก็ยังเชื่อว่าพระประชาชนสามารถเดินหน้าต่อได้ ตราบใดที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #44สส

“ชูศักดิ์” ลั่นเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาฯ แก้รัฐธรรมนูญ ม.256 ไม่สนเสียงร้อง ม.157

 


“ชูศักดิ์” ลั่นเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาฯ แก้รัฐธรรมนูญ ม.256 ไม่สนเสียงร้อง ม.157


วันที่ 2 มกราคม 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่า นายวันมูฮะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะใช้อำนาจสั่งบรรจุร่างจะแก้ไขมาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคประชาชน (ปชน.) จากเดิมที่จะไม่บรรจุ เพราะกลัวจะขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ความเห็นของฝ่ายกฎหมายสภาฯ เปลี่ยนแปลงไป และได้มีการประสานไปยังแต่ละพรรคการเมืองว่า จะเสนอร่างประกบด้วยหรือไม่ ในส่วนพรรคเพื่อไทย ก็เคยเสนอไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้บรรจุ ซึ่งพรรคจะประชุมกันในวันที่ 7 ม.ค.นี้ ว่าจะเสนอร่างที่มีอยู่แล้วหรือไม่


นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพรรคเพื่อไทย คือการแก้มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการมี สสร. 200 คนแบ่งตามจังหวัดและจำนวนประชากร


เมื่อถามว่ามีคนออกมาท้วงว่าหากไม่ทำประชามติ 3 ครั้ง จะผิดกฎหมาย นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ แต่ถ้าบรรจุไปแล้ว และหากมีคนขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ถือเป็นเรื่องดีจะได้วินิจฉัยไปเลยว่าสรุปแล้วจะเป็น 2 หรือ 3 ครั้ง ทั้งนี้ หากทำประชามติ 2 ครั้ง มีโอกาสที่การแก้รัฐธรรมนูญจะเสร็จทันรัฐบาลนี้ เพราะจะย่นเวลาจากที่รอ 180 วัน


เมื่อถามว่านายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่าการแก้มาตรา 256 เลย โดยไม่ทำประชามติก่อน เสี่ยงจะถูกร้องกฎหมายอาญามาตรา 157 นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราทำตามอำนาจหน้าที่ของสภาฯ ไม่ต้องวิตกกังวล ที่ผ่านมาเราคิดเรื่องนี้กันมาก แต่ลืมไปว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาฯ เราก็ทำโดยสุจริตไม่ต้องกลัวอะไร ใครจะร้องก็ว่ากันไป


นายชูศักด์ กล่าวถึงความคืบหน้าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยว่า ขณะนี้มีการพิจารณาว่าจะยื่นประกบกันหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้จะมีการพิจารณาในช่วงปลายสมัยประชุม ซึ่งในส่วนของพรรคเพื่อไทยได้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเสร็จแล้ว แต่ให้รอดูสถานการณ์ก่อนว่าจะยื่นตอนไหน ยืนยันว่าร่างของพรรคเพื่อไทยไม่มีนิรโทษกรรม มาตรา 112


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์

วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568

เคานต์ดาวน์หน้าเรือนจำ ต้อนรับปีใหม่ 2568 จุดพลุ-ร้องเพลง หวังเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมืองได้รับอิสรภาพในเร็ววัน

 


เคานต์ดาวน์หน้าเรือนจำ ต้อนรับปีใหม่ 2568 จุดพลุ-ร้องเพลง หวังเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมืองได้รับอิสรภาพในเร็ววัน


เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กลุ่มมวลชนอิสระ จัดกิจกรรม “ปีใหม่นี้ “เราไม่ลืมเพื่อนในเรือนจำ“” เคานต์ดาวน์ ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับศักราชใหม่แห่งการเปลี่ยนแปลง ระหว่างเวลา 17.00-05.00 น.


บรรยากาศที่หน้าเรือนจำฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีประชาชนกว่า 50 คน เดินทางมาร่วมกิจกรรม โดยภายในงานมีการแจกอาหาร โดย เจ๊จวง-เจ๊เทียม แม่ค้าบะหมี่หมูกรอบที่นำ ส้มตำ-ลาบ มาแจกให้กับประชาชนที่มาร่วมงาน โดยมีการเล่นดนตรีจาก พอร์ท ไฟเย็น , นายณัฐพงษ์ ภูแก้ว หรือ แก้วใส วงสามัญชน , หนวด ริมทาง นอกจากนั้นแล้วยังมีกิจกรรมเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ พร้อมรับของที่ระลึกเป็นแก้วน้ำ


ต่อมาเวลา 19.10 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีรถกระบะของ กรมราชทัณฑ์ ขับมาจอดบริเวณที่จัดกิจกรรม โดยนำโจ๊กหมู มาแจกให้กับผู้ร่วมงาน ในระหว่างนี้ เจ๊ป๊อกกี้ หรือ ภวัต หิรัณย์ภณ กล่าวประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนร่วมเขียนข้อความ ส่งถึงนักโทษทางการเมือง และร่วมกันเก็บขยะ ช่วยรักษาความสะอาดไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับ กทม.


ทั้งนี้ช่วงเวลา 20.30 น. มีการปราศรัยแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยกลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ นายมาซุน สามีของ "มานี" เงินตา คำแสน ผู้ต้องขังคดี ม.112 โดยส่วนหนึ่งนายมาซุน กล่าวว่า ได้สัมผัสความรู้สึกของผู้ต้องขังคดีการเมือง ว่าทำไมไม่ได้รับการประกันตัว เมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ นายมาซุนกล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2567 ตนได้พบนายทวี สอดส่อง ที่ขณะมาแจกของให้กับญาติผู้ต้องขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อทวงถามถึงความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร ด้วย วันนี้ตนขอขอบคุณทุกคนที่มาร่วมงาน ที่มาให้กำลังใจผู้ต้องขังทางการเมืองหลังกำแพงสูง เพราะฉะนั้น เราจะไม่ทิ้งพวกเขา และมาให้กำลังใจ มาร่วมเคานต์ดาวน์ ณ ที่แห่งนี้


ต่อมา เวลา 20.50 น. ได้มีการเปิดคลิปการปราศรัยของนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม และร้องเพลง “บุ้ง” เนติพร ด้วย ด้านนายเทพดรุณ สุรฤทธิ์ธำรง บิดาของนายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ผู้ต้องขังทางการเมือง ได้ร่วมเล่นกีตาร์ ร้องเพลง เป็นกำลังใจให้ลูกชาย และเพื่อนผู้ต้องขังในเรือนจำด้วย


กระทั่งเวลา 00.00 น. ผู้ชุมนุมนับถอยหลัง 10-1 โดยมวลชนร่วมจุดพลุเพื่อส่งเสียงถึงเพื่อนในเรือนจำนานกว่า 3 นาที โดยผู้ชุมนุมเปล่งเสียง “ปล่อยเพื่อนเรา” “ปล่อยนักโทษการเมือง” และมีการจุดพลุ จำนวน 112 นัด เพื่อเป็นกำลังใจให้เพื่อนในเรือนจำ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ปล่อยเพื่อนเรา #สวัสดีปี2568 #นิรโทษกรรมประชาชน