“ชัยธวัช” อภิปรายญัตติขบวนเสด็จ
ชี้เป็นมากกว่าปัญหาการบริหารจัดการ แต่มีบริบททางการเมืองเกี่ยวข้องด้วย
ย้ำต้องมีปัญหาอะไรสักอย่างที่ทำให้คนเปลี่ยนจากการถือกระดาษไปสู่สถานการณ์ที่ไม่มีใครปรารถนา
ขอทุกฝ่ายมีสติ ใช้กุศโลบายการเมืองแก้ปัญหา อย่าผลักใครให้สุดขั้วไปมากกว่านี้
เพิ่มพื้นที่ตรงกลางให้มากที่สุด
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง
“ให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ทบทวนระเบียบ
แผนและมาตรการการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสม ทันสมัย มีการฝึกซ้อม
และประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชนเพื่อเป็นการถวายความปลอดภัยให้สมพระเกียรติ
และรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ”
ซึ่งสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล
และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้อภิปรายคนสุดท้ายในญัตติดังกล่าว
โดยได้อภิปรายให้เห็นถึงบริบททางการเมือง
และเหตุผลที่ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยทางการเมืองให้ความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้
ชัยธวัชระบุว่า
จากการรับฟังผู้อภิปรายหลายท่านจากหลายพรรคการเมือง ทำให้เห็นว่าจริง ๆ
แล้วเราก็มีความเห็นร่วมกันอยู่หลายประการ
ทั้งเห็นตรงกันว่าการรักษาความปลอดภัยให้กับบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ
องค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้นำทางการเมือง
หรือแม้แต่บุคคลสาธารณะที่สำคัญนั้น เป็นเรื่องสำคัญและเป็นหลักปฏิบัติสากล
ประการต่อมา
เราเห็นตรงกันว่าขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เมื่อวันที่ 4
กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปอย่างเหมาะสมแล้ว
อย่างน้อยก็ในแง่ที่ว่าไม่ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนเกินสมควร
และเราต่างก็เห็นตรงกันว่าไม่อยากจะเห็นเหตุการณ์อย่างวันที่ 4
กุมภาพันธ์เกิดขึ้นอีก
ชัยธวัชระบุต่อไปว่า ตนดีใจที่ท่านเอกนัฏ
พร้อมพันธุ์ ผู้เสนอญัตติได้เปิดอภิปรายโดยยอมรับว่า
ตัวเองก็เกิดความรู้สึกโกรธในห้วงเวลาแรกที่ได้รับทราบเหตุการณ์
แต่หลังจากนั้นก็สามารถสงบสติอารมณ์ได้
เพราะนึกถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการประนีประนอม
เมื่อสงบสติอารมณ์ได้ ไม่ใช้อารมณ์โกรธ จึงเกิดความคิดที่จะหาวิธีบริหารจัดการ
ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะบริหารจัดการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ให้บานปลายมากกว่านี้ได้อย่างไร
นี่เป็นประเด็นที่เราควรจะถกเถียงอภิปรายกันให้รอบด้าน
และตนยืนยันว่าเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการถวายความปลอดภัย
เราไม่สามารถพิจารณาเฉพาะเรื่องกฎหมาย ระเบียบ หรือแผนในการถวายความปลอดภัยได้อย่างเดียวเท่านั้น
ชัยธวัชยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น
ซึ่งกระทบกับการถวายความปลอดภัยต่อองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง
โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2520
เคยเกิดเหตุการณ์ลอบทำร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดยะลา
รุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหลายเท่า
จนเกิดความปั่นป่วนในขบวนเสด็จ และยังมีการลอบวางระเบิดใกล้ที่ประทับของพระองค์
การปรับแก้การถวายความปลอดภัยในวันนั้นไม่สามารถพิจารณาเฉพาะกฎหมายและแผนมาตรการในการถวายความปลอดภัยเท่านั้น
เพราะสุดท้ายปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ณ ขณะนั้น และที่น่าเศร้าใจคือเหตุการณ์ในครั้งนั้นนำไปสู่การที่กลุ่มฝ่ายขวา
คือกลุ่มกระทิงแดง พยายามใช้กรณีที่เกิดขึ้นปลุกปั่นกล่าวหาโจมตีว่ารัฐบาลธานินทร์
กรัยวิเชียรในขณะนั้นไม่มีความจงรักภักดีเพียงพอ
จนกระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น
ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า
กรณีที่เรากำลังอภิปรายกันนี้
ต้องยืนยันว่าไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยอันเกิดจากการก่ออาชญากรรมเพื่อหมายปองร้ายพระบรมวงศานุวงศ์
แต่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองและความคิด
เราต้องยอมรับตรงนี้ก่อน จึงจะพิจารณาอย่างรอบด้านได้ว่าจะบริหารจัดการการถวายความปลอดภัยและการแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกี่ยวข้องอย่างไร
“มันต้องมีปัญหาอะไรสักอย่างแน่นอน
ที่รัฐไทยสามารถทำให้คนคนหนึ่งที่แสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองของตัวเองด้วยการถือกระดาษแผ่นหนึ่ง
แล้วทำให้เขาตัดสินใจทำในสิ่งที่คนไทยจำนวนมากไม่คาดคิดว่าจะมีใครกล้า
มันต้องมีปัญหาอะไรสักอย่าง เมื่อประชาชนคนหนึ่งเขาอยากจะพูดแต่เราไม่อยากฟัง
แล้วก็ไม่ต้องการให้คนอื่นได้ยิน แล้วเราก็พยายามจะไปปิดปากเขา
สุดท้ายเขาก็เลยเลือกตะโกน แล้วมันก็นำมาสู่สถานการณ์ที่เราไม่พึงปรารถนา”
ชัยธวัชกล่าว
ชัยธวัชย้ำว่า
สิ่งนี้เป็นบทเรียนที่เราควรจะพิจารณากันหลังจากนี้ โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร
แต่ในขณะเดียวกัน คนที่กำลังตะโกนอยู่
ก็ควรจะไตร่ตรองว่าวิธีการอะไรที่จะทำให้คนหันมาเปิดใจฟังมากขึ้นด้วย
การตะโกนแล้วยิ่งทำให้ไม่มีใครฟังอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเช่นกัน
สุดท้ายเราไม่ควรจะจัดการสถานการณ์ด้วยการผลักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สุดขั้วไปมากกว่านี้
ถ้าถามว่าวันนี้เราจะเสนออะไรไปยังฝ่ายบริหาร นอกจากข้อเสนอเรื่องการทบทวนกฎหมาย
ระเบียบ และแบบแผนต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่ฝ่ายบริหารทำได้คือกุศโลบายทางการเมือง
ชัยธวัชยังระบุด้วยว่า
เป็นเรื่องที่ไม่น่าสบายใจอย่างยิ่ง
เมื่อวันนี้เราได้ยินสมาชิกจากฝั่งรัฐบาลพูดกันถึงขั้นว่าถ้าไม่พอใจก็ให้ไปอยู่ประเทศอื่น
หนักแผ่นดิน นิ้วไหนร้ายก็ตัดนิ้วนั้นทิ้ง
เพราะเราเคยมีบทเรียนมาแล้วว่าการใช้ความจงรักภักดีมาแบ่งแยกประชาชน สุดท้ายไม่สามารถส่งผลดีกับใครเลย
เราเคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มาแล้ว
สุดท้ายต่อให้เราใช้กำลังอาวุธร้ายแรงยิงเข้าไปสู่ประชาชนที่เราไม่อยากฟัง
ฆ่าเขาตายกลางเมือง ลากเขาไปแขวนคอใต้ต้นมะขาม
หรือกล่าวหาผู้คนจำนวนมากว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนสุดท้ายเขาไม่มีทางเลือกแล้วก็ต้องเข้าไปเป็นคอมมิวนิสต์จริง
ๆ ในป่า มันไม่ใช่ทางออกเลย
และสุดท้ายเราก็ต้องจบด้วยการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการนิรโทษกรรม
เปิดโอกาสให้คนที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
“สุดท้ายผมก็หวังว่ารัฐบาลของเรา
สมาชิกผู้แทนราษฎรของเราจะมีสติ
ระงับความโกรธอย่างที่ท่านเจ้าของญัตติเปิดเอาไว้ตั้งแต่แรก
แล้วใช้กุศโลบายทางการเมืองแก้ปัญหา อย่าผลักใครให้สุดขั้วไปมากกว่านี้
แล้วเพิ่มพื้นที่ตรงกลางให้มากที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกันสามารถที่จะหาจุดร่วมกันได้
เพื่อให้ประเทศไทยเราออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาเกือบสองทศวรรษแล้ว
เพื่อที่ประเทศของเราจะได้มีสมาธิเดินหน้าไปเผชิญหน้ากับโลกที่ผันผวนมากขึ้นเรื่อย
ๆ ต่อไป” ชัยธวัชกล่าว