เมื่อวันที่
16 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้องประชุม บ้าน (Barn) ชั้น 1
โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดงาน
ประกาศผลและพิธีมอบรางวัล “รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2566 โดยมีประเภทรางวัลต่าง
ๆ เช่น ข่าวและสารคดีเชิง, ข่าวประเภทสื่อออนไลน์, ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์,
สารคดีหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทรายการโทรทัศน์, ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวรูปแบบคลิปวิดีโอออนไลน์,
ชุดภาพถ่าย Photo Story ในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน”
พุทธณี
กางกั้น ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า
สื่อมวลชนเปรียบเสมือน “แสงเทียน”
ที่ฉายแสงส่องให้คนในสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนเชิญชวนให้เราต่างบ่มเพาะความเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น
“ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิด
‘สื่อมวลชน’ คือฟันเฟืองสำคัญในการทำให้ความจริงปรากฎขึ้นอย่างรอบด้าน ไร้อคติ
โดยยึดหลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน” พุทธณี กล่าว
ทั้งนี้
ผลงานสื่อของ The
101.world ที่ได้รับรางวัล หนึ่งในนั้นคือ รางวัล “ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว
ประเภทสื่อออนไลน์ รางวัลชมเชย [“สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด “
สภาวะยกเว้นอย่างถาวรของผู้ต้องหาคดีการเมือง] โดย วจนา
วรรลยางกูร เรื่อง เมธิชัย เตียวนะ ภาพ
ในส่วนของ
วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ได้ให้สัมภาษณ์กับ
The
101.world ซึ่งเป็นหนึ่งในบทความที่ได้เผยแพร่ในเวลาต่อมา ความว่า
“การจับกุมผู้ต้องหาที่ไม่มุ่งหาผู้กระทำที่แท้จริง”
ผู้ที่ติดตามการเมืองมานับแต่ยุคเสื้อเหลืองเสื้อแดงจะคุ้นเคยกับคำหนึ่งที่คนเสื้อแดงใช้พูดถึงกระบวนการยุติธรรมไทยบ่อยครั้งคือ
‘สองมาตรฐาน’
สำหรับ
วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.)
ในฐานะทนายเสื้อแดงที่เผชิญหน้าคดีที่ถูกเรียกว่า ‘สองมาตรฐาน’ มานับไม่ถ้วนมองว่า
ปัญหาสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายที่ทำให้เรื่องเดียวกันเกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน
จนทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะขัดแย้งตลอดมา
“คนบังคับใช้กฎหมายทำให้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่า
คุณไม่ใช่พวกฉัน คุณจะต้องถูกกระทำแบบนี้หรือผลของคดีคุณจะเป็นแบบนี้
แต่ถ้าเป็นพวกฉันเมื่อไหร่ผลจะออกมาเป็นอีกแบบ
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมาย”
วิญญัติยกตัวอย่างว่า
ในคดีการเมืองโดยเฉพาะช่วงรัฐประหาร 2557
จะปรากฏการใช้อำนาจรัฐทุกรูปแบบเพื่อให้คนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองเป็นผู้แพ้หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลายเป็นคนผิด
เพื่อให้ ‘สอดคล้อง’ กับเหตุผลที่ คสช. ต้องยึดอำนาจ
จนทำให้เห็นมาตรฐานที่แตกต่างกัน
“คำว่าสองมาตรฐานไม่ใช่วาทกรรม สำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับคดีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คำนี้ไม่เกินเลยจากความเป็นจริงเลย”
วิญญัติตั้งข้อสังเกตว่า
ช่วงเหตุการณ์ล้อมปราบปี 2553 เกิดวาทกรรม ‘เผาบ้านเผาเมือง’
ซึ่งนำมาใช้สร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาประท้วง
ต่อมามีการจับกุมผู้ต้องหา ‘คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์’ โดยตั้งข้อหารุนแรงทำให้ผู้ต้องหาไม่ได้ประกันตัว
แล้วยังตอกย้ำวาทกรรมเรื่องคนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีร้ายแรงอื่น ๆ กับคนเสื้อแดง เป็นการสร้างภาพที่น่ากลัว
สะท้อนไปสู่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ให้ผู้ต้องหาเหล่านี้ได้รับการประกันตัว
ผู้ต้องหาคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์คือ
‘สายชล’ และ ‘พินิจ’ เขาทั้งสองติดคุกอยู่ราว 2 ปี 10
เดือน ไม่ได้รับการประกันตัว ที่สุดแล้วศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
แม้ทั้งคู่จะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แต่ก็ติดคุกไปแล้วและวาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองก็ยังทำงานกับความคิดคนในสังคมถึงปัจจุบัน
วิญญัติมองว่า
ภาครัฐใช้งบประมาณจำนวนมากในการหาคนมารับผิดชอบต่อคำกล่าวอ้างเรื่องประชาชนตายเพราะฝีมือของกองกำลังที่แฝงในผู้ชุมนุม
ไม่ใช่ฝีมือของเจ้าหน้าที่
จึงตั้งข้อหาเผาเซ็นทรัลเวิลด์โดยบอกว่าเป็นกลุ่มชายชุดดำที่มีอาวุธ
“เขาอ้างว่าประชาชนที่ตายหกศพวัดปทุมฯ หรือตายที่สะพานผ่านฟ้า
หรือแยกคอกวัว ก็เป็นฝีมือของคนกลุ่มนี้ นะ นี่เป็นความเลวร้ายของการเมืองไทย
ที่ทุกวันนี้คนตายก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม”
ตัวอย่างที่วิญญัติยกขึ้นมาทำให้เห็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกรณีจับแพะในคดีการเมือง
เมื่อภาครัฐมีธงที่ตั้งไว้และใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายทางการเมือง
แม้สุดท้ายผู้ต้องหาหลายคนจะถูกยกฟ้อง แต่นี่ไม่ใช่เรื่องที่ใครควรเผชิญ
“ผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับการประกันตัว นอกจากอิสรภาพที่สูญเสียแล้ว
ทั้งครอบครัว คนข้างหลัง และชีวิตของเขาถูกกระชากออกไปตั้งแต่วันแรกที่ถูกขัง
เขาสูญเสียโอกาสในชีวิต ครอบครัวแตกแยก ครอบครัวเสียเสาหลัก
สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครมาเยียวยาให้กลับคืนได้”
ในฐานะนักกฎหมาย
วิญญัติมองว่า หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ที่นักเรียนนิติศาสตร์ท่องกันนั้นกลายเป็นหลักการสวยหรูที่ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ
“เหตุผลที่เขียนเวลาไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวคือการบอกว่าเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง
เกรงจะหลบหนี แต่เหตุผลที่เขียนไม่ได้คือเหตุผลทางการเมือง
เหตุผลเชิงนโยบายจากบริบทที่มีความเห็นต่างทางการเมือง
ข้อสันนิษฐานที่ว่าให้เป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนจึงใช้ไม่ได้จริง การเลือกปฏิบัติจึงเกิดขึ้นกับคดีเหล่านี้
เพราะที่ผ่านมามีคดียาเสพติด คดีแชร์
คดีฉ้อโกงหลายคดีที่โทษสูงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม
แต่ก็ยังได้รับการประกันตัว
แต่ในคดีการเมืองต้องถูกขังจนคดียกฟ้องนั่นแหละจึงจะยืนยันว่าเขาบริสุทธิ์จริง”
วิญญัติกล่าว
เขายังยืนยันว่า
สิทธิการประกันตัวนอกจะตอกย้ำหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว
จะเพิ่มโอกาสให้จำเลยในคดีอาญาได้มีโอกาสพูดคุยกับทนาย มีโอกาสแสวงหาพยานหลักฐาน
“การประกันตัวทำให้ผู้ต้องหาได้มีชีวิตแบบที่ปุถุชนทั่วไปควรจะมี
เพราะเมื่อเขาเข้าไปอยู่ในห้องขังที่ถูกจำกัด ถูกล่ามตรวน
หรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้ที่เขาเสียไปไม่สามารถเรียกคืน
หลักการให้ประกันตัวจึงจำเป็นมากสำหรับจำเลยคดีอาญา
“จำเลยก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อบ้านเมือง
กฎหมายก็รับรองว่าเขามีสิทธิต่าง ๆ เขาจะถูกกระทำแบบนี้ไม่ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาไม่ได้ไปละเมิดใคร แต่คุณไปยัดเยียดว่าเขาละเมิดคนอื่น
ดังนั้นจะมีอะไรดีไปกว่าการให้โอกาสในการประกันตัว” วิญญัติกล่าว
อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/3T2liP8
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #แอมเนสตี้ #the101world #วิญญัติ #คนเสื้อแดง