วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

#นิรโทษกรรมให้คนเป็นทวงความยุติธรรมให้คนตาย

 


#นิรโทษกรรมให้คนเป็นทวงความยุติธรรมให้คนตาย

 

นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำนปช. ปัจจุบัน กรรมการคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53) ร่วมพูดคุยเรื่องราวช่วงรัฐประหาร49, 57 กับ ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีตสส. พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงใหม่เล่าถึงประสบการณ์ความเป็น “เหยื่อ” ในคดีการเมืองช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 ในงาน Share The Love Forward Party [ส่งต่อความรักแก่กันและกัน ] หนึ่งในแคมเปญ #นิรโทษกรรมประชาชน

 

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จัดกิจกรรม Share The Love Forward Party [ส่งต่อความรักแก่กันและกัน ] ที่Solbar อารีย์ อาคารพหลโยธินเพลส โดยมีจุดรับลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่กำลังรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา นอกจากการลงชื่อที่จุดรับลงชื่อ ยังสามารถลงชื่อได้ทางเว็บไซต์ ซึ่งวันนี้(14 กุมภาพันธ์) จะเป็นวันสุดท้ายแล้ว https://amnestypeople.com

 

ภายในงาน ยังมีวงเสวนานักกิจกรรมตั้งแต่ปี 63 โดย ทำไมต้องนิรโทษกรรม โดยภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์, นิว จตุพร คดี 112 จากการแต่งชุดไทยเดินแฟชั่นที่สีลม และ อาร์ต “ตั้งฮกกี่” ร้านบะหมี่อริราชศัตรู ที่มีรสชาติของ “คนเท่ากัน”

 

จากนั้นเป็นวงพูดคุยทั้งเรื่องใหม่เรื่องเก่าประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร กับ นายแพทย์ เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และปัจจุบันเป็นกรรมการคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53) ระบุว่า นักโทษการเมือง เกิดขึ้นก็เพราะประชาชนมีอุดมการณ์ทางการเมืองเห็นต่างกับรัฐจึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยสันติวิธี

 

ทั้งยังย้ำว่า การนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจึงมีความจำเป็น “นิรโทษให้คนเป็น ทวงความยุติธรรมให้คนตาย” ไม่ใช่แค่คนเป็นที่ได้รับความยุติธรรม แต่เป็นการทวงคืนความเป็นธรรมให้กับวีรชนที่เสียชีวิตเพราะออกมาเรียกร้องทางการเมืองด้วย

 

อดีตแกนนำ นปช. ยังมองว่า หากจะคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม รัฐควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออก การดำเนินคดีหรือแม้แต่การใช้กำลังทางกายภาพกับประชาชนล้วนเป็นความรุนแรงที่รัฐใช้กับประชาชน ดังนั้น หากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนร่วมทำร้ายประชาชน ก็ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม หากไม่สามารถนำเจ้าหน้าที่รัฐเข่นฆ่าประชาชนมาลงโทษได้ ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ก็อาจกระทำความรุนแรงกับประชาชนซ้ำได้อีก

 

ด้านทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีตสส. พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงใหม่เล่าถึงประสบการณ์ความเป็น “เหยื่อ” ในคดีการเมืองช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 โดยมองว่า ‘นิรโทษกรรม’ ทางออกกระบวนการยุติธรรมไทย และคดีจดหมายประชามติเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการปราบปรามผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกในยุคคสช. จนถึงปัจจุบันยังมีผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองจำนวนมาก เยาวชนคนหนุ่มสาวรวมทั้งมาตรา 112 ควรได้รับการปลดพันธนาการทางคดีความ

 

ตลอดการสนทนา ชวนพูดคุยโดยลลิตา มีสุข หรือแป๋ม ผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 ที่ ปมคลิปวิจารณ์การจัดการโควิด-19 ของรัฐบาลไทย

ติดตามชมทั้งหมดได้ที่

https://fb.watch/qc7SH4wWui/?mibextid=Nif5oz

https://www.youtube.com/live/BQd1zzQ4wQs?si=g1XkKBVueNydh9ql

 

ทั้งนี้ช่วงจบงาน มีน้องนักเรียนม.ปลาย เดินมาหานพ.เหวง พร้อมกล่าวขอบคุณการต่อสู้คนเสื้อแดงที่ผ่านมา น้องมองว่าสีแดงเป็นสีแห่งอุดมการณ์ สัญลักษณ์การต่อสู้การต้านเผด็จการ

https://fb.watch/qc8pUYjLOp/?mibextid=Nif5oz

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน