วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

พูดคุยกับ นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำกลุ่ม นปช.: #นิรโทษกรรม ออนทัวร์ ตลาดนกฮูก #นิรโทษกรรมประชาชน เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2567 [ตอนที่ 1/2]


พูดคุยกับ นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำกลุ่ม นปช. [ตอนที่ 1/2]


#นิรโทษกรรม ออนทัวร์ ตลาดนกฮูก #นิรโทษกรรมประชาชน เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2567


นพ.เหวง กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณผู้จัดงานที่จัดให้มีการเสวนาพูดคุยในเรื่องการนิรโทษกรรมประชาชน และขอสวัสดีพี่น้องผู้รักประชาธิปไตยและผู้รักความยุติธรรมทุกท่านในตลาดนกฮูก รวมไปถึงพี่น้องที่รับชมการถ่ายทอดสดออนไลน์ทุกท่าน


ก่อนที่ผมจะเข้าสู่รายละเอียด ผมยืนยันว่าผมสนับสนุนและเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2549 จนถึง 2567 ผมขออนุญาตเพิ่มเติมและฝากไปยังพี่น้องประชาชนทุกท่าน ผมอยากจะเสนอคำขวัญเพิ่มเติมไปจากนี้เพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ก็คือผมเสนอคำขวัญว่า “นิรโทษฯ คนเป็น ทวงความยุติธรรมให้คนตาย” คือเราอย่าคิดถึงคนเป็นอย่างเดียวนะ เราต้องคิดถึงวีรชนประชาชนที่เขาอุทิศชีวิตต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงกับประเทศไทยด้วย เราต้องทวงความยุติธรรมให้เขา


ซึ่งหากมองย้อนอดีตไปประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2549-2567) กลุ่มคนที่เสียสละสูงสุด สำหรับผมนะครับ ผมเห็นว่าก็คือวีรชนคนเสื้อแดงนี่เอง ดังนั้นการนิรโทษฯ ให้คนเป็น เป็นเรื่องจำเป็นดังที่ผมได้กราบเรียนเมื่อสักครู่นี้แล้วว่าเรานิรโทษให้คนเป็นตั้งแต่ปี 2549 จนถึง 2567 แต่ต้องทวงความยุติธรรมให้คนตายด้วย เพราะฉะนั้นการทวงความยุติธรรมให้คนตายก็แปลว่าต้องเอา คน/เจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทำต่อประชาชนอย่างโหดร้ายทารุณ นั่นก็คือใช้กองทัพทั้ง 3 เหล่าทัพ (กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ) รวมทั้งตำรวจ จำนวน 6 หมื่นกว่านาย และกระสุนสงครามที่ใช้กัน 2 แสนกว่านัด นอกจากนี้ยังดำเนินการอย่างอำมหิตที่สุดเลย ก็คือติดกล้องเล็งยิง ถ้าหากท่านผู้ชมยังจำกันได้ น่าจะเห็นภาพซึ่งในวันนั้นมีภาพถ่ายทอดสดไปทั่วโลกคือยิงคนที่เขาถือธงด้วยมือเปล่า เห็นชัด ๆ ว่าคุณถือปืนติดลำกล้องเล็งยิง ขออนุญาตด้วยความเคารพ คำพูดผมอาจจะทำให้เกิดความสยดสยองหรือว่าเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสมในการออกอากาศ แต่เรียนว่าสมองกระจุยทะลักเต็มพื้นถนนเลย พวกนี้เขาไม่กลัวความตายนะ เขาพร้อมพลีชีพต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ

เพราะฉะนั้นผมจึงเชิญชวน ผมอยากเสนอคำขวัญคือ “นิรโทษฯ ให้คนเป็น และทวงความยุติธรรมให้คนตาย” ด้วยนะครับ ต้องอย่าลืมคนตาย ผมขออนุญาตที่จะตอกย้ำในที่นี้ “อย่าลืมคนตาย” ก็คืออย่าลืมวีรชนประชาชนประชาธิปไตยที่พลีชีพเมื่อเดือน เมษา-พฤษภา53


นักโทษทางการเมืองเกิดจากอะไร?


ต้องตอบคำถามนี้ให้ชัดเจนก่อน ถ้าตอบคำถามนี้ชัดเจนแล้วจะเห็นความเป็นเหตุเป็นผลของการนิรโทษเลย “นักโทษทางการเมือง” เกิดขึ้นจากการต่อสู้ของประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐ เพราะเห็นต่างจากหลักการทางการเมืองของรัฐ ดังนั้นประชาชนจึงต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้รัฐเปลี่ยนหลักการทางการเมืองที่พวกเขาเห็นว่าผิด และผมยืนยันว่าการต่อสู้ของประชาชนตั้งแต่ปี 2549 มาจนถึงปี 2567 ประชาชนใช้สันติวิธีทั้งหมดเลย ซึ่งจะมีเหตุการณ์ใหญ่ ๆ อยู่ประมาณ 4 เหตุการณ์ ก็คือมีเหตุการณ์พันธมิตรฯ, มีเหตุการณ์ นปก.-นปช. (ซึ่งผมรวบเป็นอันเดียวกัน) มีเหตุการณ์ กปปส. จากนั้นก็มีเหตุการณ์ของเยาวชนตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2567 ผมยืนยันว่าสันติวิธีทั้งหมด ถึงแม้ว่าผมจะมีความเห็นต่างและมีความเห็นตรงข้ามในทิศทางกับการเคลื่อนไหวของ กปปส. และตรงข้ามกับทิศทางการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ก็ตาม แต่ผมเท่าที่มีโอกาสได้สัมผัสก็คือทางกลุ่มนั้นก็มุ่งประสงค์ที่อยากจะใช้สันติวิธีในการต่อสู้เช่นกัน


เมื่อเป็นอย่างนี้ ประชาชนเขาเห็นต่างจากรัฐและเขาต้องการที่จะให้รัฐเปลี่ยนแปลงทิศทาง เพราะเขาเห็นว่าหลักการของรัฐที่เขาไม่เห็นด้วย จะนำพาประเทศไปสู่หายนะหรือสู่ความเสียหาย เขาก็เลยจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือจำเป็นต้องต้องปรากฏตัวออกมาต่อสู้กับรัฐที่เขาเห็นต่าง แล้วผมยืนยันว่าเขาใช้สันติวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเสื้อแดง เพราะผมไม่ค่อยรู้เรื่องของพันธมิตรฯ มากนัก ผมรู้แต่ข่าวและจอภาพที่ถ่ายทอดออกมาเท่านั้นเอง ส่วนตัวผมมีรายละเอียดของคนเสื้อแดงค่อยข้างจะละเอียด เพราะส่วนใหญ่ผมจะสัมผัสกับพี่น้องประชาชนที่มาชุมนุมในกรุงเทพมหานครค่อนข้างจะทั่วถึง เพราะฉะนั้นผมยืนยันว่าคนเสื้อแดงต่อสู้ด้วยสันติวิธี


ผมเรียนอย่างนี้ คือเราต้องให้ความเป็นธรรมกับการเคลื่อนไหวของประชาชนทุกกลุ่ม อย่างที่ผมเรียนว่าขณะนี้มีอยู่ 4 กลุ่มข้างต้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเพราะมีอุดมการณ์ทางการเมือง มีทิศทางทางการเมืองแตกต่างจากรัฐ ยกตัวอย่างเช่น พันธมิตรฯ เขาอาจจะเห็นว่า ซึ่งเรื่องนี้ด้วยความเคารพ ผมใช้คำพูดรวม ๆ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไปแล้วก็คือว่า พันธมิตรฯ เขากล่าวหาอดีตนายกฯ ทักษิณ ว่าคอรัปชั่นโกงกิน กระทั่งในสมัยโน้นใช้คำพูดที่รุนแรง ขออนุญาตกราบเรียนพี่น้องประชาชนโดยใช้คำพูดของเขานะ เขาใช้คำว่า “โคตรโกง โกงทั้งโคตร” แปลว่าเขาปักใจเชื่อ ซึ่งจริง ๆ คิดยังไงก็ว่ากันไป เพราะฉะนั้นเขาก็เลยออกมาต่อสู้


ส่วนประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ก็คือว่า ถ้าหากเขาเดินเส้นทางระบอบรัฐสภาคือนำไปสู่การเลือกตั้ง เพราะวันนั้นก่อนที่จะมีการยึดอำนาจรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 จะมีการเลือกตั้งวันที่ 25 ต.ค. ซึ่งห่างกันเพียง 34 วันเท่านั้นเอง ทำไมพันธมิตรฯ จึงรอไม่ได้ นี่คือจุดต่างของผม ผมไม่ต้องการที่จะไปโต้แย้งกับเขาเพราะเรื่องผ่านไปตั้งเยอะแล้ว ผมจึงเห็นว่าทิศทางที่เขาเดินไม่น่าจะถูกต้อง เป็นความเห็นส่วนตัวผม เพราะว่ามีอยู่วันหนึ่งเดือนกุมภาพันธ์ เขาเดินเข้าไปในหอประชุมกองทัพบกเพื่อปรึกษาหารือ ซึ่งผมไม่ได้ไปนั่งร่วมคุย แต่ผมเดา และกระแสข่าวข้างนอกก็เดา ก็คุณไปร่วมหัวจมท้ายคุยกันเวลาดึกดื่นประมาณตีหนึ่งตีสอง ทำอะไร? สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการรัฐประหาร มันก็อดคิดไม่ได้ว่าพวกคุณไปปรึกษาหารือกันเพื่อทำรัฐประหาร หรือเปล่า?


และต่อมาพันธมิตรฯ เรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งการใช้มาตรา 7 มันไม่ใช่เป็นเส้นทางประชาธิปไตย นี่เป็นจุดที่ผมเห็นต่างกับพันธมิตรฯ แต่ว่าภาพรวมทั้งหมดก็คือพันธมิตรฯ เขามีความไม่พอใจรัฐบาลทักษิณ เขาคิดว่าทักษิณ ชินวัตร (นี่คือของเขานะไม่ใช่ผม) เขาใช้คำว่า “โคตรโกง” ฉะนั้นเขาเลยต่อสู้กับรัฐบาลทักษิณ คุณต่อสู้ได้ครับ แต่ผมพอเห็นการยึดอำนาจรัฐประหาร ผมปวดร้าวหัวใจมาก คิดว่าทำไมคุณรออีก 34 วันไม่ได้ คุณยึดอำนาจทำไมวันที่ 19 กันยายน 2549 ผมไม่ได้ฟันธงนะ ผมตั้งข้อสังเกตนะ คุณไปหารืออะไรกันในคืนวันนั้นตอนดึกเดือนกุมภาพันธ์ เพราะมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ภาคเหนือท่านหนึ่งที่รวมอยู่ใน คปค. คมช. (ลองไปตรวจดูจากข่าวในอดีตที่ผ่านมา) เขาบอกว่าการรัฐประหารวันนั้นเตรียมการกันมาล่วงหน้า 7 เดือน


ยังไงก็ตามกลับมาประเด็นก็คือว่า กลุ่มนี้เขาเริ่มต้นจากความไม่พอใจต่อรัฐบาลทักษิณและออกมาเคลื่อนไหว เขายืนยันว่าเขาก็สันติวิธีทั้งหมด กรณีของพันธมิตรฯ นี่ก็เหมือนกันถ้าหากยังมีคดีความที่ตกค้างอยู่ มันเกิดขึ้นจากความเห็นทางการเมืองเขาไม่เห็นด้วยกับนายกฯ ทักษิณ ผมก็คิดว่าควรจะได้รับนิรโทษฯ ผมยืนยันว่านิรโทษฯ ประชาชนทั้งหมดที่เห็นต่างจากรัฐตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2567 ถ้ามีการกล่าวหาว่าคนโน้นคนนี้ไปใช้อาวุธสงคราม คุณก็สืบสวนสอบสวน เอาหลักฐานมายืนยัน แล้วก็ว่ากันไป เพราะว่าขณะนี้เท่าที่ผมฟังดู ความคิดเห็นค่อนข้างจะไปทางเดียวกัน ก็คือควรจะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งขึ้นมาตรวจสอบ อันนี้ก็ว่ากันไป แต่สำหรับผม ผมเห็นด้วยกับการนิรโทษฯ ประชาชน แต่ผมต้องตอกย้ำตลอดเวลาว่านี่เป็นคำขวัญใหม่ ซึ่งพูดตรง ๆ ว่า อ.ธิดา เป็นคนคิดขึ้นแล้วผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ผมก็เลยนำมาขยายความ


คุณอย่าลืมนะครับ นิรโทษฯ คนเป็น แต่ต้องทวงความยุติธรรมให้คนตายด้วย นั่นก็คือเจ้าหน้าที่รัฐที่เข่นฆ่าประชาชนไม่ควรได้รับการนิรโทษฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีบทบาทโดยตรงไม่ควรได้รับการนิรโทษฯ


กรณีที่ 2 คือ นปก.-นปช. ที่จริงทันทีที่เกิดการรัฐประหาร 19กันยา49 ก็ปรากฏคนขึ้นมาต่อต้านรัฐประหารเยอะแยะ มี “กลุ่มต่อต้าน19กันยา” เกิดขึ้นในจุฬาลงกรณ์ แล้วไปชุมนุมกันที่สยามสแควร์ ต่อมามี “คนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ” ต่อมามี มูลนิธิวีรชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อมามี “สมาพันธ์ประชาธิปไตย” แล้วก็มีประชาชนจำนวนมากปรากฎตัวออกมาเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยไปตั้งเวทีปราศรัยโดยใช้ลังไม้ฉำฉาทำเป็นเวที ที่จริงผมต่อสู้ทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2510 ผมต่อสู้กับรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ผมต่อสู้กับรัฐบาลจอมพลถนอม จอมพลประภาส แล้วผมก็เข้าร่วม 14 ตุลา16 ความที่ผมมีบทบาทเด่นมากเพราะผมเป็นนายกสโมสรของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเขาหมายหัวเลยว่ามหิดลเป็นแหล่งซ่องสุมของคอมมิวนิสต์ สมัยโน้นใช้ “คอมมิวนิสต์” มาเป็นข้อกล่าวหา แต่สมัยปี 2553 เขาใช้ “ล้มเจ้า” มาเป็นข้อกล่าวหา


สมัยนั้นเมื่อมีการตั้งข้อกล่าวหาแล้วเข้าป่า มันมีการนิรโทษกรรมมั้ย?


คือหลังจากที่รบกันมาอย่างสาหัสสากรรจ์ มีครูบาอาจารย์ของผมมาบอกว่าทางฝ่ายรัฐเขาส่งมือปืนมาซุ่มยิงคุณ 2 คน และขณะนั้นก็มีการไล่ล่าสังหารนักศึกษาและผู้นำชาวนามาตามลำดับ “นิสิต จิรโสภณ” อนุญาตนะ โดนถีบตกรถไฟแล้วหาว่าเมาและตกรถไฟเพราะความเมาของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่ ผมเป็นคนไปอุ้มศพถ้าผมจำไม่ผิด มาที่รพ.ศิริราช แล้วไล่ฆ่ามาเรื่อย ๆ พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง พ่อหลวงศรีธน ยอดกันทา อะไรต่าง ๆ อย่างนี้เป็นต้น ส่วน อมเรศ ไชยสะอาด ถูกยิงบนศาลาวัดกลางวันแสก ๆ ขี่มอเตอร์ไซด์มาแล้วยิงท่ามกลางสายตาผู้คน เขาฆ่าคนมาเป็นลำดับ คนที่เขาเห็นว่าเป็นศัตรู พวกนี้ไม่ถูกจับสักคน


แล้วในปี 2516 มันมีการนิรโทษฯ ปี 2519 ก็มีการนิรโทษฯ การนิรโทษฯ สมัยโน้นก็ทำให้คนทำผิด (เจ้าหน้าที่รัฐที่เข่นฆ่าประชาชน) ลอยนวลไปเลย และ 6ตุลา19 ก็นิรโทษฯ ทั้งหมดเลยหลังจากที่คดีความขึ้นต่อหน้าศาลและมีประชาชนไปรับฟังเยอะ ขออนุญาตที่จะเรียนด้วยความเคารพเพราะเป็นประโยชน์ ก็คือ พี่ทองใบ ทองเปาด์ เพื่อต่อสู้คดีเปิดโปงฝ่ายยึดอำนาจจนใกล้สาวไปสู่ต้นตอ ทางโน้นก็เลยประกาศนิรโทษฯ ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชน ความจริงคล้าย ๆ มันดี คล้าย ๆ รัฐจะผ่อนเบาให้อภัยประชาชน ความจริงก็คือนิรโทษฯ พวกเขา


เพราะฉะนั้นมันก็เลยเกิดเหตุต่อมาปี 2535 ก็เอาอีก เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ผมจึงกราบเรียนพี่น้องประชาชนว่า ถ้าเรายังไม่เอาเจ้าหน้าที่รัฐที่สังหารประชาชนมารับโทษทางกฎหมายได้สำเร็จ ผมว่าจะเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐมาฆ่าประชาชนสองมือเปล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก คือเจ้าหน้าที่รัฐมีวิธีการปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างทางการเมืองได้ 2 วิธี วิธีหนึ่งก็คือว่าจับแล้วก็นำไปเรือนจำแล้วตั้งคดี ผมไม่ก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลนะ เพราะศาลท่านพิจารณาพิพากษาไปตามสำนวนที่ปรากฏ แต่ผมมองไปยังตำรวจ


กลับมาที่คนเสื้อแดง คือแรก ๆ 14ตุลา16 ก็แล้ว ฆ่าคนอย่างนี้คือบินเฮลิคอปเตอร์แล้วก็ยิง มีการตั้งปืนกลอยู่บนตึก ผมจำไม่ได้ตอนนี้เป็นตึกการบินไทยยิงลงมาบนถนนราชดำเนิน ผมก็อยู่แถบนั้น มองก็เห็น ก็คือมันฆ่าประชาชนสองมือเปล่าชัด ๆ เขากล่าวหาประชาชนเป็นญวน เป็นแกว เป็นพวกเวียดนาม มีรองเท้าแตะยาง มีซากหมา เป็นการใส่ร้ายป้ายสี


หลัง 6ตุลา19 มีนักศึกษาเข้าป่าไปร่วม ๆ 2 หมื่น ผมไม่สามารถยืนยันตัวเลขได้ ปรากฏว่าการสู้รบเข้มข้นขึ้น และปรากฏว่าแต่ละปีทางฝ่ายในป่าก็ตายเหมือนกันแต่ตายไม่มาก แต่ที่ผมติดตามข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ ทางฝ่ายรัฐที่ไปสู้รบกับคอมมิวนิสต์ตายปีหนึ่งร่วม 700 มันก็เลยถึงจุดปี 2523 ก็เลยเกิดแนวความคิดทางทหารประชาธิปไตย สู้กับ ทหารเผด็จการอย่างรุนแรง ก่อนที่จะเอาชนะได้ อันนี้ก็ต้องให้เครดิต พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พอท่านเป็นนายกฯ ท่านก็เลยประกาศคำสั่ง 66/23 คือถ้าไม่มีการประกาศ 66/23 ถ้ารบกันผมว่าตายทั้งสองฝ่ายอีกเป็นจำนวนมาก ฝ่ายรัฐอาจจะตายมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะว่าฝ่ายพคท. ทางชัยภูมิเขาได้เปรียบกว่า และจิตใจสู้รบของกองทัพปลดแอกพคท.มันกล้าหาญและฉลาดมาก ก็เลยนำไปสู่คำสั่ง 66/23 เขาเรียกพัฒนาบ้านเมือง ต้อนรับทุกคนกลับมาร่วมพัฒนาบ้านเมือง ผู้ร่วมพัฒนาชาติ


ผมกลับมาประมาณปี 2525 ก็ไม่คิดว่ามันจะเกิดการยึดอำนาจรัฐประหารอีก ผมจึงกราบเรียนท่านผู้ชมทางบ้าน การรัฐประหารไม่ใช่ไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ คุณเขียนเท่าไหร่ เขาก็ฉีกทิ้ง เพราะว่าปี 2516 พอมีการเคลื่อนไหวของประชาชนทั่วทั้งประเทศ ซึ่งการเคลื่อนไหวของ 14ตุลา16 ยิ่งใหญ่มาก ผมว่ายิ่งใหญ่ไม่น้อยไปกว่าหรือใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง หลังจาก 2516 ประชาชนชนะ ก็เลยมีการร่างรัฐธรรมนูญประชาชนโดยอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นประธาน ในนั้นเขียนไว้ชัดเจน ผมจำเลขมาตราไม่ได้ ว่าการรัฐประหารยึดอำนาจนิรโทษฯ ไม่ได้ แต่คุณดูซิครับ เกิดเหตุการณ์ 2519 เขาฉีกเลย


และขออนุญาตที่เป็นความจริงสำคัญเลย คือที่คนโต้แย้งว่า 112 แก้ไม่ได้ ไม่จริงครับ! เพราะว่า 112 เขียนใหม่หรือเรียกว่าแก้ก็ได้ โดยคณะรัฐประหารปี 2519 เป็นข้อที่ 1 ของฉบับที่ 41 [ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 134 หน้า 46 (ฉบับพิเศษ) วันที่ 21 ตุลาคม 2519] ซึ่งอันนี้ต้องให้เครดิต อ.ธิดา ได้ไปค้นคว้าไว้ เขาแก้มาแล้ว ที่จริงในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นสมัยที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์รุ่งเรืองที่สุด ถ้าหากพระองค์ท่านจะใช้อำนาจและบารมีของพระองค์ท่านทำให้การลงโทษคนที่ดูหมิ่นดูแคลนหรืออาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ให้รุนแรงก็ได้ แต่สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ลงโทษแค่ 3 ปี ไม่มีความผิดขั้นต่ำ แล้วมาในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ก็เพิ่มมาเป็น 7 ปี ทีนี้มาสมัยอาจารย์ปรีดี ตรงนี้ก็เลยมีการเปลี่ยนแปลงโทษอีกด้วย ก็คือเพิ่มเติมไปว่า ถ้าหากว่าการนั้นเป็นความจริง เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณายกโทษ


นี่คือประวัติศาสตร์ของ 112 และ 112 ที่ใช้กันอยู่ปัจจุบัน แก้ไข หรือยกร่าง หรือมาจากอำนาจของคณะรัฐประหาร การต่อสู้กับ 112 ปัจจุบันคือการต่อสู้กับผลพวงหรือมรดกบาปของคณะรัฐประหารปี 2519 มองให้ชัด ๆ จะได้ไม่ไข้วเขว

.

กลับมาปี 2535 ผมไม่คิดว่ามันจะเกิดเหตุการณ์ปี 2535 สมมุติว่าคนที่อายุประมาณ 10 ขวบที่รู้เรื่อง จนถึงปัจจุบันก็อายุประมาณ 40 กว่า จะเห็นภาพเลยนะ ทหารยิงหนักเลย วันนั้นที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ประชาชนเขาไม่กลัวทหารเลยนะ ไม่รู้ไปเอารถเมล์มาจากที่ไหน 3 คัน พอมาถึงใกล้โรงแรมรัตนโกสินทร์ ทหารนี่หมอบราบกับพื้นแล้วก็ยิง ตอนนั้นผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ผมดูจากภาพปรากฏในสื่อ ผมเข้าใจว่าคนบนรถเมล์คงจะเสียชีวิตทั้งหมด เสียหรือไม่เสียผมไม่รู้ เพราะผมไม่ได้ไปตรวจสภาพสนาม เรียก “สนามฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐฆ่าประชาชน” ดีกว่า ผมไม่อยากจะเรียก “สนามรบ” เพราะประชาชนไม่ได้รบกับทหาร


ฉะนั้นปี 2535 ก็นิรโทษฯ อีกละ เพราะเหตุว่าปี 2516, 2519 เจ้าหน้าที่รัฐที่สังหารประชาชนไม่ถูกลงโทษ 2516, 2519 มีการยึดอำนาจ คนยึดอำนาจไม่ถูกลงโทษ เพราะเขานิรโทษกรรมตัวเอง มันก็เกิดอีก เพราะเขามีแบบอย่างว่าถ้ารัฐประหารสำเร็จ ไม่ถูกลงโทษ ก็สามารถรัฐประหารไปเรื่อย ๆ ผมไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นอย่างนี้เพราะผมกลัว ที่ออกมาพูดเพราะผมกลัว ไม่อยากให้ประเทศไทยมีการรัฐประหารยึดอำนาจอีกต่อไป ถ้าไม่ถูกลงโทษ ต่อไปก็เอาอีก ก็นี่ไง พวกนั้นเขายึดอำนาจสำเร็จ ไม่เคยถูกลงโทษสักทีเพราะออกนิรโทษกรรมตัวเองได้ หนึ่งในนั้นก็คืออาจนิรโทษฯ ทั้งฝ่ายผู้ยึดอำนาจและฝ่ายประชาชน เขาอ้างอย่างนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ไปเรื่อย ๆ เจ้าหน้าที่รัฐที่สังหารประชาชนก็ลอยนวลไปเรื่อย ๆ


เพราะฉะนั้น 2535 ก็แล้ว ผมก็ไม่คิดว่าจะเกิดรัฐประหารปี 2549 พอหลังรัฐประหารกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยก็รวมตัวกันขึ้น รวมกลุ่มกันยากนะ ตอนแรกมีประมาณ 20 กว่ากลุ่ม หลัง ๆ ก็ค่อย ๆ ขมวดปมเข้ามา ก็มีตอนนั้นเขาเรียก PTV หรืออะไรก็ไม่รู้ เข้ามาร่วมด้วย ก็ก่อรูปขึ้นเป็น นปก. ขึ้นมาก่อนก็คือ “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ” ที่จริงมันมีการเคลื่อนไหวเยอะแต่ผมขออนุญาตเล่าสั้น ๆ ก็แล้วกัน การเคลื่อนไหวที่สำคัญก็คือตอนนั้นประชาชนเขาต้องการคำตอบ ที่ผมได้กราบเรียนพี่น้องประชาชนเมื่อสักครู่ไปแล้วว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านมีคุณูปการในการที่ยุติสงครามกลางเมือง ก็คือประกาศคำสั่ง เป็นเพียงแค่คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 เปิดประตูต้อนรับคนที่อยู่ในป่าให้กลับมาร่วม รวมทั้งครอบครัวทั้งหมด ที่จริงถ้านับทั้งประเทศเป็นหมื่น คนที่เคยจับอาวุธยิงเจ้าหน้าที่รัฐ คนที่เคยไปปล้นสถานีตำรวจ หรืออาจจะไปยึดค่ายทหาร ยึดอาวุธทหารมา ต้อนรับกลับมาทั้งหมด ไม่มีความผิดอะไรทั้งสิ้น นี่เป็นตัวอย่าง


กลับมาที่ปี 2553 ก็เลยรวมตัวกัน ปรากฎว่าในปีนั้นคนเขาไม่เข้าใจเลยต้องการที่จะได้คำตอบ นปก. ก็เลยเคลื่อนตัวไปที่หน้าบ้านพลเอกเปรม หน้าบ้านสี่เสาฯ ตั้งคำถามว่า พลเอกเปรมทำไมถึงแต่งชุดทหารไปยังโรงเรียนนายร้อยทหารเหล่าต่าง ๆ แล้วพูดไปในทำนองประมาณว่า ทหารอาจจะไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลก็ได้ เพราะรัฐบาลเป็นเพียงจ๊อกกี้ ท่านไปค้นดูก็แล้วกัน พลเอกเปรมท่านพูดอย่างนั้น พวกเราก็เลยจะไปถามว่าที่พลเอกเปรมพูดอย่างนั้นมีความหมายอย่างไร? แล้วระบอบประชาธิปไตยมันเป็นไปได้ไหมที่จะให้ทหารไม่ฟังคำสั่งของรัฐบาลพลเรือน พวกเราไปโดนจับเลย เพียงแต่พูดบนถนนนะ ไม่ได้เข้าบ้านนะ


ผมไม่ก้าวล่วงคำพิพากษาของศาลเพราะว่าศาลท่านจะพิจารณาพิพากษาตัดสินไปตามสิ่งที่ปรากฎอยู่ในสำนวน อยู่ที่ว่าตำรวจเขาทำสำนวนอย่างไร อัยการเพิ่มเติมสำนวนอย่างไร และมีการต่อสู้คดีกันอย่างไร ท่านก็เลยตัดสินมา ตอนแรกพวกผมโดน 6 ปี 6 เดือน ต่อมาศาลท่านบอกด้วยความกรุณาลดให้เหลือ 4 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ลดเหลือ 2 ปี 8 เดือน ต่อมาศาลฎีกาท่านพิพากษาว่า 2 ปี 8 เดือน พวกผมเข้าไปอยู่ในเรือนจำ แต่ว่าด้วยพระบารมีปกเกล้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงพระราชทานอภัยโทษลงมา พวกผมก็เลยได้มีโอกาสได้ออกจากเรือนจำเร็วกว่ากำหนด ไม่เช่นนั้นคงจะต้องติดคุกอีกหลายปีเหมือนกัน


นั่นคือนปก. ตอนนั้นรัฐบาลน่าจะเป็น พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็เลยวางแนวทางที่จะร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ถ้าหากยังจำกันได้ เขาบอกรับ ๆ ไปก่อนแล้วไปแก้เอาข้างหน้า ตอนนั้นหลังจากที่พวกผมโดนจับเข้าไปในเรือนจำแล้ว ข้างนอกก็เลยมีการปรับองค์กรใหม่เป็น นปก. รุ่นที่ 2 พอพวกผมได้รับการประกันตัวจากเรือนจำก็ไปประชุมกันใหม่แล้วตั้งเป็น นปช. ขึ้นมา ตอนนั้นยังไม่ปรากฏเรื่อง “เสื้อแดง” ปรากฎเรื่องเสื้อแดงก็ต่อเมื่อมีการตั้งเป็นประเด็นว่าให้ประชาชนมาลงประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 ตอนนั้นต้องให้เครดิน “หนูหริ่ง” สมบัติ บุญงามอนงค์ เขาเป็นคนแรกที่คิดขึ้นว่า นัดคนที่ต่อต้านรัฐประหารใส่เสื้อแดง แล้วไปกินที่มาบุญครอง ตอนหลังเป็นเรื่องของการเดินรณรงค์เพื่อต่อต้านรัฐธรรมนูญ 2550 ของคณะคมช. พวกเราก็เลยเสนอให้ทุกคนใส่เสื้อแดงเลย


ผมขออนุญาตที่จะกราบเรียนพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ต้องไม่สับสนนะ คำว่าคนเสื้อแดง มันจึงเป็นที่มาของคนเสื้อแดง คือเสื้อแดงทีแรกที่นปช.คิดขึ้นมาก็ได้บอกให้พี่น้องประชาชนสนับสนุน ไม่ได้ไปบังคับใครนะ สนับสนุนการใส่เสื้อแดงเพื่อแสดงให้เห็นชัดว่าไม่เอารัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ปรากฏว่าพรึบเลย ทหารที่เป็นพลทหารนะ เวลาอยู่ต่างจังหวัด เอาปืนไปจี้ยายที่ใส่เสื้อแดงให้ถอดออก ตอนนั้นผมมีคลินิกอยู่แถว ๆ ม.เกษตร ตรงข้ามเป็นสลัม เขาก็มาร้องไห้กับผม ผมถามว่าคุณร้องไห้เรื่องอะไร เขาบอกว่าทหารมาลากไปแล้วบังคับให้รับรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยเผด็จการและดำเนินการโดยเผด็จการเพื่อให้ประชาชนมารองรับ ประชามติจึงเป็นประชามติกำมะลอ รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยกำมะลอ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #หมอเหวง #นิรโทษกรรมประชาชน