แถลงการณ์แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
เรื่อง
กรณีนายกรัฐมนตรีได้กล่าวข้อความอันเป็นที่น่ากังวลต่อการสร้างความขัดแย้งรอบใหม่
สืบเนื่องจากกรณีที่นักกิจกรรมทางการเมือง
‘ตะวัน’ และเพื่อน ได้ถูกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)
ที่นำโดยนายอานนท์ กลิ่นแก้ว ผู้อ้างตนว่าเป็นกลุ่มคนปกป้องสถาบันฯ
ทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมทางการเมืองที่ทำกิจกรรมบริเวณห้างสยามพารากอน
โดยใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายและข่มขู่นักกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะอย่างโจ่งแจ้ง
และพบว่าเหตุการณ์นี้ได้มีการตระเตรียมการล่วงหน้าไว้แล้ว
โดยต่อเนื่องจากแถลงการณ์ฯ ครั้งก่อนหน้านี้
เมื่อวานนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความบนแพล็ตฟอร์ม X (Twitter) ว่า
ผมและคณะรัฐมนตรีไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงและขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อปกป้องสถาบันฯ
ครับ” โดยมีแอคเคาท์พรรคเพื่อไทยรีโพสต์ข้อความดังกล่าว
พวกเราเห็นว่า
การสื่อสารในครั้งนี้ที่ออกมาจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในการแสดงจุดยืนสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อปกป้องสถาบันฯ
มีประเด็นที่อาจทำให้ประชาชนเกิดคำถามได้
เช่นการที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเลือกที่จะกล่าวเพียงว่า
ไม่สนับสนุนการใช้ความความรุนแรง
แต่ไม่ได้มีท่าทีแสดงความกังวลต่อความรุนแรง(ทางกายภาพ)ต่อร่างกายที่ได้เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งเป็นเยาวชน
โดยกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ได้มีการระดมพล
ตระเตรียมการกระทำการอันเป็นความรุนแรงล่วงหน้าอย่างโจ่งแจ้งโดยเป็นการเย้ยหยันต่อกฎหมาย
ดังที่น่าจะทราบกันโดยทั่วไปแล้ว
และนอกจากความรุนแรงทางกายภาพที่เกิดขึ้น เราอยากจะเรียกร้องให้ท่านทำความเข้าใจเพิ่มอีกว่าความรุนแรงทางกฎหมายนั้นมีอยู่จริง และได้เกิดขึ้นกับผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกทุกฟากฝ่ายมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารในปี 49 ที่มีการดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองทุกฝ่าย
การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเป็นเรื่องที่ดี แต่กฎหมายควรถูกบังคับใช้เพื่อปกป้องและเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ในปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายยังคงไม่เป็นธรรมและเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีเพียงฝ่ายผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองเท่านั้นที่ถูกกฎหมายบังคับใช้เพื่อการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายว่าด้วยการชุมนุม หรือ กฎหมายอาญามาตรา 112 เองก็ดี
พวกเราขอช่วยท่านชี้ถึงหน้าที่ของนายกฯ ที่เป็นฝ่ายบริหารว่า ท่านมีหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามข้อตกลงฯ ปฏิญญา ที่ได้ลงนาม (signed) หรือให้สัตยาบัน (ratified) ไว้ รวมไปถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย Universal Periodic Review (UPR)
ซึ่งภายใต้กระบวนการของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) รอบล่าสุด หลายประเทศไทยแนะนำให้มีการแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (Lese-majeste Law) รวมไปถึงได้มีการแนะนำให้มีการแก้ไขลดโทษในการตัดสินความผิดให้มีความได้สัดส่วน (proportionate) โดยคำนึงถึงสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม และสิทธิในการประกันตัวในกระบวนการศาลระหว่างรอการตัดสิน ตามหลักดำเนินคดีอาญา บทสันนิษฐานอันเป็นหลักการสำคัญที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษา ถึงที่สุดว่าได้กระทำผิด (Presumption of innocence) ซึ่งเป็นหลักการที่มุ่งคุ้มครองสิทธิอันเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร และคณะรัฐมนตรีในการออกนโยบายการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อคงไว้เพื่อความปลอดภัยของสาธารณะ ความเสมอหน้าต่อกฎหมายของคน ทุกคน ทุกฝ่าย ปฏิบัติตามหลักสากล คำแนะนำของทั้งในประเทศและต่างประเทศ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อันจะนำไปสู่สังคมที่อยู่ร่วมกัน โดยสามารถจัดการความขัดแย้งได้อย่างที่จริง และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจึงมองว่าการที่นายกรัฐมนตรีโพสต์ข้อความในลักษณะดังกล่าวมีปัญหาหลัก ๆ อยู่ 3 ประเด็น
1. เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าเป็นการสนับสนุนการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา
ม.112 ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างรุนแรง
2. ไม่ได้มีวิธีการจัดการปัญหาความขัดแย้งอย่างเป็นรูปธรรม
3. เป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นใจกลางของความขัดแย้งดังกล่าว
เนื่องจากบรรยากาศแห่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ ม.112 ซึ่งเป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ของสถาบันฯ และมิอาจหาผลดีจากสิ่งเหล่านี้ได้เลย
จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมือง
อย่างน้อย 5027 ราย ใน 3014 คดีตั้งแต่การประกาศใช้กฎหมายทุกหมวดทุกมาตราเพื่อรับมือกับการชุมนุม
โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2563
จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าความรุนแรงทางกฎหมายก็สามารถทำให้ประชาชนเดือดร้อนเช่นกัน
ซึ่งการที่ประชาชนเดือดร้อนจากคดีการเมือง
เดือดร้อนจากการบังคับใช้ ม.112
เป็นประเด็นที่นายเศรษฐาเคยยอมรับและสัญญาว่าจะแก้ในเวทีหาเสียง
อย่างเช่นตอนกล่าวว่า “เราจะไม่เห็นการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง”
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจึงขอยืนยันว่าไม่ควรมีฝ่ายใดถูกใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามเพียงเพราะแค่เห็นต่างทางการเมือง
การละเมิดสิทธิเสรีภาพมิใช่ทางออกและอาจสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ให้เกิดขึ้น
เราขอฝากข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลของนายเศรษฐา
ทวีสิน ใน 3 ข้อหลัก ๆ คือ
1.
ไม่สนับสนุนการใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามคนเห็นต่าง
2.
วางตัวเป็นกลางและเป็นเจ้าภาพในการพูดคุยเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งเหล่านี้
3.
ส่งเสริมและสร้างพื้นที่อย่างเป็นทางการไว้พูดคุยเพื่อแก้ปัญหาความเห็นต่างทางการเมืองของประชาชน
การใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดย่อมเป็นสิ่งที่ดีเมื่อทำเพื่อประโยชน์สุขของปวงประชา
หาใช่เพื่อขจัดทำร้ายหรือทำลายผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง
เราจึงคาดหวังอย่างยิ่งว่าผู้มีอำนาจในขณะนี้จะไม่ลืมว่ากฎหมายมีไว้เพื่อปกป้องประชาชนด้วย
มิใช่แค่สำหรับบุคคลหรือสถาบันใดสถาบันหนึ่ง
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
13
กุมภาพันธ์ 2567
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม