วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

“ทนายกฤษฎางค์” ซัด รัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมต้องรับผิดชอบ กรณีจับนักข่าว 2 คน การจับกุมวานนี้ ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 


“ทนายกฤษฎางค์” ซัด รัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมต้องรับผิดชอบ กรณีจับนักข่าว 2 คน การจับกุมวานนี้ ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2567) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส พร้อมด้วย ทนายคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ ประเด็น #นักข่าวโดนจับ ก่อนนำตัวทั้งสองฝากขังศาล


โดย ทนายคุ้มเกล้า กล่าวว่า จากกรณีที่เป็นข่าววานนี้ที่มีการจับกุมนักข่าว 2 คนตามหมายจับของศาลอาญา โดยหมายจับนี้ออกเมื่อ 22 พ.ค. 2566 จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2566 กรณีมีนักกิจกรรมไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการพ่นสีที่กำแพงวัดพระแก้ว ซึ่งคดีดังกล่าวได้มีการฟ้องและเตรียมการสืบพยานแล้ว เวลาผ่านมาเกือบ 1 ปี ก็ได้มีการใช้หมายจับดังกล่าวจับกุมนักข่าว 2 คน โดยเป็นนักข่าวจาก “ประชาไท” 1 คน และจาก SPACEBAR ซึ่งวานนี้ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ให้ความช่วยเหลือในชั้นจับกุม และได้ทราบว่าทั้งสองคนถูกตั้งข้อกล่าวหา เป็นผู้สนับสนุนทำให้เสียหายและทำลายซึ่งโบราณสถาน ตามพ.ร.บ.โบราณสถาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท ซึ่งโทษฐานสนับสนุนจะลงโทษ 3 ใน 4 ซึ่งถือว่าฐานความผิดเกี่ยวกับคดีนี้ก็เป็นโทษสูงมาก


ทนายคุ้มเกล้า กล่าวต่อว่า ในชั้นสอบสวนเบื้องต้นทั้ง 2 คนให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและยืนยันว่าในวันเกิดเหตุได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่นำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริง และเมื่อวาน (12 ก.พ.) ทนายได้ขอประกันในชั้นสอบสวน โดยฐานความผิดและพฤติการณ์ของทั้ง 2 คน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้ประกันในชั้นสอบสวนและได้มาขออำนาจศาลฝากขังในวันนี้ ซึ่งทนายยังไม่ได้รับทราบว่าพนักงานสอบสวนใช้เหตุอะไรในการอ้างขอฝากขัง


สุดท้าย ทนายคุ้มเกล้า กล่าวว่า ในส่วนของวงการวิชาชีพสื่ออาจจะต้องตั้งคำถามกับพนักงานสอบสวนในพื้นที่และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงแนวปฏิบัติในการดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าว เพราะปัจจุบันผู้สื่อข่าวมีทั้งสังกัดและเป็นสื่ออิสระ บรรทัดฐานหรือการยืนยันพฤติการณ์ของผู้ที่ไปทำข่าวเป็นอย่างไร ซึ่งจะกลายเป็นภาระของบุคคลนั้น ๆ ต้องไปต่อสู้ในคดีอาญาซึ่งมีต้นทุนที่สูงมาก และคดีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้สื่อข่าวถูกดำเนินคดี นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 5 เคส


ด้านทนายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ในความเห็นของผม กรณีไปจับผู้สื่อข่าววานนี้เป็นเรื่องแปลกประหลาด คิดว่ารัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ผมคิดว่าสื่อมวลชนควรเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบว่าทำไมตำรวจทำเช่นนี้ อย่างกรณี “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” หรือ “อนุสาวรีย์หลักสี่” หายไปประมาณ 7-8 ปีแล้ว หลักฐานข้อมูลก็มาก ตำรวจไม่เห็นจับคนที่ขนไป คนทั่วไปก็จะเห็นว่าเป็นการดำเนินกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน คือนักข่าวไม่ใช่โจรผู้ร้าย ทำไมโจรผู้ร้ายคุณให้ประกันตัว ไม่ได้แปลว่าเขาผิดนะ คดีที่ฆ่ากันที่ชลบุรี คุณให้ประกันตัวไป 8 แสน อันนี้เป็นสิทธิ์ของเขาอยู่แล้ว


ผมตั้งคำถามว่าทำไมตำรวจไม่ให้นักข่าวประกันตัว อันนี้เป็นคำถามที่ผมอยากให้ผู้สื่อข่าวทุกคนรักษาสิทธิเสรีภาพของตัวเอง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แน่นอนว่าสิทธิของสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการทำข่าว แสดงความคิดเห็น ซึ่งเมื่อใดที่สื่อมวลชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ อยู่ด้วยความหวาดกลัวแบบทุกวันนี้ เราไม่ต้องทำอะไรกันหรอก ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องหยามเกียรติของสื่อมวลชนไทย และที่สำคัญที่สุด พ.ค. นี้เราจะไปเสนอขอเป็นตัวแทนจากอาเซียน เป็นมนตรีสิทธิมนุษยชนซึ่งต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วไป ทั้งในอเมริกา ในฟินแลนด์ ในเกาหลีเหนือ เรามีหน้าที่ไปดูแล และถ้าเราทำตัวแบบนี้ ในฐานะคนไทย ผมว่าอย่าไปเลือกเลย ถ้าเลือกไปเราก็เสียชื่อเสียง ผมคิดว่าเสียงของพวกเราน่าจะเรียกร้องไปที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่า ท่านกำลังทำอะไรอยู่? คุณเดือดร้อนเรื่องโน้นเรื่องนี้ โกรธเป็นฟืนเป็นไฟได้ แล้วผมถามว่าเรื่องนี้ที่สื่อมวลชนโดน ไม่เห็นมีรัฐมนตรีสักคน หรือนายกฯ ออกมาพูดเลย ทนายกฤษฎางค์กล่าว


ทนายกฤษฎางค์ กล่าวอีกว่า ข้อหาที่เขาตั้งกับผู้สื่อข่าวทั้ง 2 คนคือข้อหาเป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่ร่วมกัน ซึ่งผมว่าถ้าพวกคุณไปทำข่าว กปปส. เดินขบวนยึดสนามบินดอนเมือง ถามว่าพวกคุณต้องไปสนับสนุนด้วยหรือ? วันนี้ผมจะมายื่นประกันตัวผู้สื่อข่าว 2 คนที่ถูกจับ ผมมีส่วนสนับสนุนด้วยหรือ? ผมว่าจะเลอะเทอะกันไปใหญ่แล้ว ผมบอกได้เลยว่าการจับกุมผู้สื่อข่าวเมื่อวานนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการอุ้มหายซ้อมทรมาน ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ผมหวังว่าสื่อของเราไม่ว่าจะเห็นด้วยกับทิศทางการเมือง จะซ้ายหรือขวา ทุกคนควรมีอิสระ ต้องให้เสรีภาพเขาตราบใดที่เขาไม่ได้ไปหมิ่นประมาทคนอื่นหรือทำอะไรที่เป็นความผิดอาญา เพราะว่าสื่อก็คือประชาชน ถ้าสื่อไม่รายงานข่าว ประชาชนจะรู้ได้อย่างไร?


สุดท้าย ทนายกฤษฎางค์ กล่าวว่า วันนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะมาคัดค้านการฝากขังว่า การฝากขังผู้สื่อข่าวทั้ง 2 คนไว้ไม่เป็นเหตุตามกฎหมาย ตำรวจไม่มีความจำเป็นต้องสอบสวนเพราะคุณสอบสวนมา 6 เดือนแล้ว เขาก็ไม่ได้หลบหนี เพราะคุณออกหมายจับเขาตั้งแต่ พ.ค. 2566 ทนายกฤษฎางค์ทิ้งท้ายว่า วันนี้ถ้าใครเจอนายกฯ ช่วยถามด้วยว่าเรื่องนี้เห็นอย่างไร?


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นักข่าวโดนจับ #TLHR