“ก้าวไกล” รับหลักการร่างแก้ไข พ.ร.ก.ประมงทุกฉบับ “พิธา” อภิปรายหนุน
ชี้ร่างของก้าวไกลเน้นท้องถิ่นมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรทางทะเล
ฝากรัฐบาลมองวิสัยทัศน์ประมงในอนาคต ต้องพัฒนา เศรษฐกิจควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อม
วันที่
22 กุมภาพันธ์ 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
มีการนำร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ทั้ง 7 ฉบับที่เสนอโดยพรรคการเมืองต่าง ๆ
กลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้ขอนำร่างฯ ทั้ง 7 ฉบับไปศึกษาอีก
15 วัน
ก่อนจะเสนอร่างของคณะรัฐมนตรีประกบเข้ามาสู่การพิจารณาร่วมกันในการประชุมครั้งนี้
รวมเป็น 8 ฉบับ
โดยในวาระนี้
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล
ได้ร่วมการอภิปรายเพื่อสนับสนุนหลักการสำคัญของทุกร่างฯ ให้ผ่านวาระที่ 1 เพื่อเข้าสู่การพิจารณาต่อไป
พิธาระบุว่า
ตนขอเริ่มต้นด้วยการเตือนสติสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมวันนี้ว่า
พ.ร.ก.ประมงประกาศบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2558 ล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว สภาฯ
ถึงเพิ่งจะได้เริ่มอภิปรายร่างแก้ไข พ.ร.ก.ประมง ก่อนสมัยสภาฯ
จะสิ้นสุดลงจนทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปรอบหนึ่งแล้ว
แสดงให้เห็นถึงแรงเฉื่อยของสภาฯ แห่งนี้ในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน
เตือนสติกันอีกครั้งว่าในปี
2558 ที่มีการออก พ.ร.ก.ประมง
กฎหมายและระเบียบของสหภาพยุโรปมีสถานะเป็นเพียงกฎหมายภายในภูมิภาค
ที่สมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องปฏิบัติตามเท่านั้น แต่ประเทศไทยกลับต้องปฏิบัติตามด้วย
เพราะมิฉะนั้นจะไม่สามารถส่งสินค้าประมงไปขายสหภาพยุโรปได้
และเตือนสติกันอีกครั้งหนึ่ง
ว่าประเทศไทยส่งออกสินค้าประมงราว 2 แสนล้านบาทต่อปี
แต่ส่งออกไปยุโรปแค่ร้อยละ 6.7 เท่านั้น
แต่คนที่ต้องรับกรรมคือชาวประมงทุกคนไม่ว่าจะส่งออกไปยุโรปหรือไม่
นี่คือความอยุติธรรมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
วันนี้จึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกคนจากทุกพรรคจะรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้
ตั้งกรรมาธิการ และผ่านกฎหมายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
พิธากล่าวต่อไปว่า
ผลกระทบของอุตสาหกรรมประมงที่เกิดขึ้นนั้นหนักและยาวนานมาก ระหว่างปี 2560-2566 การส่งออกสินค้าทางการประมงลดลงไปร้อยละ 11 โดยต้องไม่ลืมว่าการส่งออกไม่ได้มีแค่การจับปลา
แต่ยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ สะพานปลา การขนส่ง
รวมถึงโรงงานน้ำแข็ง ตัวเลขที่หายไปสะท้อนความซบเซาผ่านจำนวนผู้ซื้อปลา-แพปลา จาก 2,006
เที่ยวต่อวันในปี 2558 ลดลงเหลือเพียง 1,597
เที่ยวต่อวันในปี 2564 หรือหายไปร้อยละ 25
ยังไม่รวมอุตสาหกรรมโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำเค็มที่หายไปอีกร้อยละ 24
ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแค่ในแง่ของเศรษฐกิจอย่างเดียว
แต่ชาวประมงกว่า 4,632 คนต้องกลายเป็นผู้ต้องหา
ต้องรับโทษปรับ จำคุก เล่นกันจนถึงขนาดบีบให้ชาวประมงต้องขายเรือไปเป็นจำนวนมาก
การปรับตัวให้สอดคล้องกับหลักการ
IUU
Fishing ไม่ใช่ปัญหา แต่รัฐบาลต้องให้โอกาสชาวประมงในการปรับตัวด้วย
ไม่ใช่ปรับจนล้มละลาย มีกฎหมายแล้วก็ต้องมีระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่าน
และมีกองทุนประมงที่ทำให้เขาสามารถปรับตัวได้
แน่นอนว่ากฎหมายต้องทำให้ถูกต้องและศักดิ์สิทธิ์
แต่มันได้สัดส่วนหรือไม่กับอาชญากรรมที่เขาก่อ
“เพราะฉะนั้นถ้ามีกฎหมายที่เข้มแข็ง ไม่เป็นอำนาจนิยมมากเกินไป
และมีส่วนร่วมจากชาวประมง ชาวประมงก็จะไม่ต่อต้านหรือไม่ต้องเจ็บปวดขนาดนี้
กระบวนการในการปรับปรับไปในทิศทางหนึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
แต่ความเร็วในการบังคับใช้ก็ต้องค่อย ๆ ปรับตัว ไม่ใช่การที่รัฐออกกฎหมายมาทุ่มใส่ชาวประมงอย่างเดียว
แต่รัฐต้องทุ่มความช่วยเหลือและงบประมาณให้ชาวประมงสามารถที่จะลืมตาอ้าปากและปรับตัวไปได้ด้วย”
พิธากล่าว
พิธากล่าวต่อไปว่า
นี่คือการเดินทางร่วมกันของรัฐและชาวประมงอย่างมีส่วนร่วม ตนจึงขอเรียกร้องให้สภาฯ
แห่งนี้นอกจากจะรับหลักการร่างฯ ของ ครม.และพรรคอื่น ๆ แล้ว
ยังอยากให้รวมร่างของพรรคก้าวไกลเข้าไปพิจารณาด้วย เพราะร่างฯ
ของพรรคก้าวไกลเชื่อในการส่งเสริมศักยภาพของชาวประมง
การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในระยะยาว และเน้นให้ท้องถิ่นดูแลทรัพยากรของตัวเอง
โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
นอกจากนี้
ร่างฯ ของพรรคก้าวไกลจะมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการประมงจังหวัด”
ที่จะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการประมงตามความเหมาะสมของพื้นที่
ไม่ใช่การตัดเสื้อตัวเดียวเป็นเสื้อโหลให้ทุกคนใส่เหมือนกัน เช่น
สามารถขยายขอบเขตการทำประมงและการอนุรักษ์เป็น 12 ไมล์ทะเลได้ ทั้งนี้
องค์ประกอบของคณะกรรมการประมงจังหวัดจะต้องมีสัดส่วนจากภาคประชาชนไม่น้อยกว่า 4
คน โดยให้ประธานเป็นนายก อบจ.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตำแหน่ง
และให้มีตัวแทนจากเทศบาลและ อบต.ด้วย
พิธากล่าวต่อไปว่า
สิ่งสำคัญอีกประการที่จะขาดไม่ได้ ก็คือวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการประมงของประเทศไทย
ที่ตนขอให้คณะกรรมาธิการ คณะรัฐมนตรี และทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องคำนึงถึง 3 หลักการสำคัญ
กล่าวคือ
1)
การรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรประมง ต้องนึกถึงคำว่า “Blue
Economy” หรือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล
โดยเปลี่ยนหลักคิดจาก “จับมากได้น้อย” เป็น “จับน้อยได้มาก”
2)
วิถีชีวิตชาวประมง
ต้องเปลี่ยนจากการใช้กฎหมายบีบบังคับเป็นการเพิ่มเทคโนโลยีให้ชาวประมง
โดยคิดถึงเรื่อง “Precision Fishery” เช่น
ออกแบบอวนที่มีช่องให้สัตว์น้ำอนุบาลสามารถลอดออกไปได้
ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังคำนึงถึง
3)
ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ต้องใช้เทคโนโลยีชีวภาพการประมง (Marine
Biotechnology) ที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าประมง
มากกว่าจะเป็นเพียงแค่การทำประมงในพื้นที่ทางทะเล
ซึ่งมีความเป็นไปได้มากมายที่รอเราอยู่
“เพียงแต่เราจำคีย์เวิร์ด 3 คำนี้ไว้
ก็จะสามารถเห็นได้ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าการประมงของประเทศไทยหน้าตาจะเป็นแบบใด
ที่มีทั้งสมดุลในเรื่องของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
การดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวประมง และที่สำคัญ
คือการทำให้การประมงเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยต่อไปชั่วนิรันดร” พิธากล่าว