วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

“ธิดา” นำ คปช.53 แถลงกรณี การทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดง 2553 ต่อพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล ประกาศ “ทวงความยุติธรรมให้กับคนที่ตายในอดีต คนที่เป็นในปัจจุบัน และอาจจะตายในอนาคต”

 


“ธิดา” นำ คปช.53 แถลงกรณี การทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดง 2553 ต่อพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล ประกาศ “ทวงความยุติธรรมให้กับคนที่ตายในอดีต คนที่เป็นในปัจจุบัน และอาจจะตายในอนาคต”


วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 10.00 น. ที่ สำนักงานกฎหมายธนา เบญจาทิกุล หมู่บ้านชวนชื่นโมดัชวิภาวดี เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ โดย อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ พร้อมด้วย นพ.เหวง โตจิราการ, ทนายโชคชัย อ่างแก้ว และญาติวีรชน เมษา-พฤษภา 53 ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง "การทวงความยุติธรรมให้วีรชนคนเสื้อแดง 2553" ต่อพรรคการเมืองทั้งพรรคฝ่ายค้านและพรรคฝ่ายรัฐบาล


อ.ธิดา กล่าวว่า วันนี้เรามีความจำเป็นต้องจัดแถลงข่าวในนามของ คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 หรือ คปช.53 ซึ่งเป็นการปฏิบัติภารกิจต่อเนื่องจาก นปช. การปราบปรามคนเสื้อแดงปี 2553 เรื่องราวและคดีความต่าง ๆ ถูกแช่แข็ง ตั้งแต่การทำรัฐประหารเป็นต้นมา บัดนี้เหลือเวลาอีกไม่นานที่จะครบกำหนดอายุความ แม้ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคการเมืองฝ่ายเสรีนิยมรวมกันแล้วเป็น 64% ของผู้มาออกเสียง ซึ่งน่าจะได้เป็นรัฐบาลร่วมกัน


แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะมีรัฐบาลผสมและฝ่ายเสรีประชาธิปไตยแยกเป็นฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แต่เราไม่สามารถปล่อยเวลาให้ผ่านไปเฉย ๆ 4 ปีได้ เป็นความจำเป็นที่เราจะต้องขับเคลื่อนภารกิจจาก นปช. ซึ่งยังไม่เสร็จสิ้น องค์กรนำนปช.ต่างแยกย้ายไปทำภารกิจของตนเอง ส่วนองค์กร คปช.53 ได้เริ่มต้นเมื่อปี 2565 มีการก่อตั้งอย่างเป็นทางการที่อนุสรณ์สถาน 14ตุลา เมื่อ 10 ธ.ค. 65 และดำเนินการขับเคลื่อนเรื่อยมาเป็นลำดับ


เรามองว่าเราเสียเวลามากมายกับการทำรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ ดังนั้นเราจึงเริ่มต้นในช่วงปี 2565 ก่อนจะมีการเลือกตั้งในปี 2566 เราจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อน เพราะมีพรรคการเมืองที่อ้างตัวเองว่าเป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ไม่เอาคนสืบทอดอำนาจ มีอยู่หลายพรรค ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประชาชน ให้ประชาชนเลือก และผลเลือกตั้งก็คือว่าเป็นเรื่องที่ดีดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น คือ 64% ของผู้มาเลือกตั้งเลือกพรรคฝ่ายเสรีประชาธิปไตย แต่เราก็ได้รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลผสม


เนื่องจากเราเหลือเวลาไม่นานที่คดีจะหมดอายุความ และเราจะรอเลือกตั้งครั้งหน้าให้มีรัฐบาลฝ่ายเสรีประชาธิปไตยทั้งหมด เราก็รอไม่ได้ ดังนั้น การขับเคลื่อนของ คปช.53 ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อทำภารกิจที่คั่งค้างอยู่ เรารู้สึกเป็นหนี้ในฐานะที่อาจารย์เป็นอดีตประธานนปช. และเป็นแกนนำที่อยู่มาจนกระทั่งถูกทำรัฐประหาร ถือว่าเป็นภารกิจที่ร่วมกับคณะญาติ และคณะทนาย เราทวงความยุติธรรมในอดีตให้คนตาย ทวงความยุติธรรมให้ประชาชนและเยาวชนในปัจจุบัน และทวงความยุติธรรมให้ลูกหลานในอนาคตด้วย ถ้าความยุติธรรมในอดีต (2553) ไม่ได้รับการสะสาง นั่นก็หมายความว่าไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าลูกหลานในอนาคตจะถูกฆ่าตายมือเปล่าอย่างโหดเหี้ยม


ปรากฏว่าทั้งหมดร่วม 100 ศพ ผ่านการไต่สวนไป 33 ศพ ยังเหลือไม่ได้ทำการใด ๆ อีก 62 ศพ เพราะถูกฟรีซแช่แข็ง ไม่กระทำตามกฎหมาย ตรงข้ามกับคดีชายชุดดำ คดีขอนแก่นโมเดล คดีต่าง ๆ ที่จะสร้างความชอบธรรมว่าคนเสื้อแดงเป็นพวกมีระเบิด เป็นพวกก่อความรุนแรงก็ถูกเอามาฟ้องร้อง ปรากฏว่าศาลยกฟ้องหมด ในบรรดา 33 ศพ มีจำนวน 17 ศพที่ผ่านการไต่สวนของศาล บอกชัดเจนว่าผู้ที่ทำให้เกิดการตายคือเจ้าหน้าที่รัฐ อีก 15 ศพ ศาลบอกไม่รู้กระสุนมาจากที่ไหน


เรามีการขับเคลื่อนเมื่อ 23 ก.พ. 66 ตอนนี้ครบ 1 ปีพอดี เราคิดว่าสมควรแก่เวลาที่พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ที่จะได้พิจารณาในสิ่งที่เคยให้คำมั่นสัญญาทั้งในวันที่ 23 ก.พ. 66 ก่อนการเลือกตั้ง และวันที่ 10 เม.ย. 66 วันนี้เรามีเอกสารที่ทวงคำมั่นสัญญาเป็นจดหมายเปิดผนึกต่อพรรคการเมืองเพื่อถามว่าสิ่งที่คุณให้คำมั่นสัญญาในวันที่ 10 เม.ย. เราจะนำเอกสารไปมอบให้พรรคเพื่อไทยในวันที่ 27 ก.พ. 67 เวลา 10.00 น. และวันที่ 29 ก.พ. 67 เวลา 10.00 น. มอบให้พรรคก้าวไกลที่รัฐสภา


เราจำเป็นต้องสื่อสารให้ทราบว่า เราไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง เพราะการแก้กฎหมาย (รายละเอียดตามจดหมายเปิดผนึก) 8 ข้อ โดย 3 ข้อแรก คือ 1) ให้ตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายรัฐบาลที่มีอำนาจสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ตัวแทนฝ่ายผู้สูญเสีย นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย เพื่อตรวจสอบคดีความที่ถูกแช่แข็ง บิดเบือน ไม่ปฏิบัติกฎหมายรัฐไทยตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม หมายรวมทั้งคดีความที่ปฏิบัติต่อเยาวชน-ประชาชน หลัง 2563 เป็นต้นมา


เราหวังว่าคณะกรรมการดังกล่าวควรจะเกิดขึ้น แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะอยู่ในขั้วร่วมกับพรรคที่มีการสืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาลเดิม อย่างไรก็ตามข้อเสนอข้อนี้ของเราเป็นข้อเสนอตามกฎหมาย ทั้งชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมาย คือคุณต้องไปเร่งรัดคดี คนตายโดยไม่มีการไต่สวนการตายมันผิดกฎหมายนะ สิ่งที่รัฐไทยทำ โดยเฉพาะตำรวจ อัยการ ดีเอสไอ ที่ทำในช่วงรัฐประหาร แช่แข็งคดีเหล่านี้ นั่นคือการผิดกฎหมาย ไม่ว่ารัฐบาลบางพรรคอาจมาจากการสืบทอดอำนาจก็ตาม เราเชื่อว่าสิ่งที่เราเสนอในข้อ 1 ควรจะได้รับความเห็นชอบ


2) แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระธรรมนูญศาลทหาร, พระธรรมนูญศาลยุติธรรม, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีที่ทหารและนักการเมืองทำความผิดทางอาญาต่อประชาชน ให้ขึ้นศาลพลเรือน ไม่ใช่ทหารขึ้นศาลทหาร นักการเมืองขึ้นศาลนักการเมือง ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทำให้ทหารและนักการเมืองไม่ได้ถูกดำเนินคดีเฉกเช่นประชาชนทั่วไป


การตายร่วม 100 ศพ กระทั่งทหารด้วย นอกจากจะไม่ได้รับการไต่สวนชันสูตรพลิกศพให้ครบ แล้วคดีที่ดำเนินไปก็ถึงจุดตีบตัน เราต้องยืนหยัดให้ได้ว่า เราต้องยืนหยัดในการต่อสู้เพื่อทำความจริงให้ปรากฎ ให้รัฐบรรลุนิติรัฐ นิติธรรม จะก้าวสู่การปรองดองได้อย่างไรถ้าคุณปล่อยให้การฆ่าคนร่วม 100 คนเงียบสงัด ถ้าปล่อยให้คนตายฟรี ๆ อย่างนี้ ด้วยความโหดเหี้ยมเช่นนี้ เขาก็ทำแล้วทำอีกเหมือนการทำรัฐประหารที่ทำแล้วทำอีก

 

เราหวังเป็นอย่างยิ่งใน 2 ข้อแรก เราต้องการผลักดันให้บรรลุในช่วงรัฐบาลสมัยนี้ ซึ่ง และเราหวังว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ได้ครบ 4 ปี


ส่วนข้อ 3) ในจดหมายเปิดผนึก คือขอให้ลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะกรณีเหตุการณ์ 2553 ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่ประการใด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามที่อัยการศาล ICC ได้มาแจ้งไว้กับรัฐบาลเพื่อไทยเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2555


ในส่วนนี้เรายังไม่ได้ยินพรรคที่พูดชัด ๆ บางพรรค แต่ไม่เป็นไร ในความคิดของดิฉัน ใน 2 ข้อแรก ขอให้ผลักดันในบรรลุเป้าหมายได้ อีก 5 ข้อที่เหลือในจดหมายเปิดผนึก ดิฉันต้องการแจ้งกับพี่น้องประชาชนว่า ความยุติธรรมมันขึ้นอยู่กับระบอบ กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายก็ขึ้นอยู่กับระบอบ นอกจากเราทวงความยุติธรรม เราต้องทวงการเมืองให้ได้การเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพราะความยุติธรรมในระบอบอื่น ในระบอบของจารีตก็จะเป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตยก็จะเป็นอีกแบบ นั่นก็คือความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับผู้ปกครองหมดไป แต่ถ้าไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับผู้ปกครองก็ยังดำรงอยู่ และความยุติธรรมจะไม่ใช่ของประชาชน แต่เป็นความยุติธรรมเท่าที่ผู้ปกครองจะมอบให้เท่านั้น


ดังนั้น กระบวนการทวงความยุติธรรมจึงต้องผนวกเข้ากับการเรียกร้องประชาธิปไตย และทำให้ประเทศนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีการปฏิรูปการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในอีก 5 ข้อ ก็เป็นเรื่อง 1) การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2) แก้ไขกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 3) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกองทัพ และองค์กรอิสระอย่างจริงจัง 4) กระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลางไปยังภูมิภาค แก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ 5) ให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด หรือมาจากประชาชนโดยอ้อม ผ่านการคัดสรรตามโควตาสส.ในรัฐสภาของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งทั่วไป


ทั้งหมดนี้คือข้อเรียกร้องทวงความยุติธรรมและทวงอำนาจประชาชนคืนมา เพื่อให้อนาคตของประเทศสามารถเดินหน้าไปได้  แต่ถ้าแม้มีเหตุใด ๆ เกิดขึ้น เช่น อาจมีการทำรัฐประหาร หรือมีการยุติการทวงความยุติธรรม เราก็ยังต้องเดินหน้าต่อแม้กระทั่งศาลอาญาระหว่างประเทศ


แต่เนื่องจากเราเป็นความต่อเนื่องของ นปช. เรามีขอบเขตในการทำงานว่าเรื่องที่เราเป็นเจ้าภาพคือเรื่องปี 2553 แต่เรื่องปัจจุบันและอนาคต เราคงไม่ใช่เจ้าภาพ แต่เราจะเป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญ ในวันที่ 27 ก.พ. นี้ เราจะเดินทางไปพรรคเพื่อไทย วันที่ 29 ก.พ. จะเดินทางไปรัฐสภา ครั้งนี้ไม่ใช่การทวง แต่เราจะไปเพื่อไปแปลงให้ข้อเรียกร้องและคำมั่นสัญญาเป็นการปฏิบัติ อย่างน้อยทั้งข้อ 1 ตั้งคณะกรรมการฯ และ ข้อ 2 แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญอยากเรียนว่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เราจำเป็นต้องขอความร่วมมือ แม้เราจะเสียใจที่ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่เราต้องเดินหน้าต่อ อ.ธิดา กล่าว


นพ.เหวง กล่าวใน 3 ประเด็น โดยประการแรกคือ การปรากฏตัวของ คปช.53 เท่ากับบอกกับประชาชนไทยทั้งประเทศว่าวีรกรรมของวีรชนประชาธิปไตย เมษา-พฤษภา53 ไม่สูญเปล่าแน่นอน ผม, อ.ธิดาและคณะทั้งหมดยืนยันว่า ตราบเท่าที่เรายังมีลมหายใจ เรายืนยันเดินหน้าทวงความยุติธรรมให้กับวีรชนประชาธิปไตย เมษา-พฤษภา53 โดยเราต้องเอาคณะรัฐประหารมาลงโทษ เพราะ ศอฉ.จำนวนหนึ่งได้กลายรูปเป็นคณะรัฐประหาร ปี 57 เอาคนฆ่าประชาชนและคนสั่งฆ่ามารับโทษทางกฎหมาย ดังนั้น การทวงความยุติธรรมให้กับวีรชนประชาธิปไตย เมษา-พฤษภา53 เท่ากับ สร้างหลักการใหญ่ให้กับประเทศไทยว่า ถ้าทำสำเร็จ ต่อไปนี้จะไม่มีทหารเผด็จการฆ่าประชาชนสองมือเปล่ากลางถนนอีกต่อไป อยากให้พรรคการเมืองนักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมองให้ทะลุให้ถึงแก่น เราต้องการหยุดการฆ่าประชาชนสองมือเปล่ากลางถนนโดยทหารขวาจัด จะไม่มีการฆ่าประชาชนกลางถนนและปิดประตูการยึดอำนาจรัฐประหารในประเทศไทยอีกต่อไป


ประการที่สอง วันที่ 27 ก.พ. นี้ เวลา 10.00 น. จะไปถามพรรคเพื่อไทยถึงคำมั่นสัญญาที่เคยรับปากไว้ จะทำหรือไม่? ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน เพื่อตรวจสอบคดีความที่ถูกแช่แข็ง บิดเบือน ไม่ปฏิบัติกฎหมายรัฐไทยตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม และเรื่องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีที่ทหารและนักการเมืองทำความผิดทางอาญาต่อประชาชน ให้ขึ้นศาลพลเรือน ไม่ใช่ทหารขึ้นศาลทหาร นักการเมืองขึ้นศาลนักการเมือง ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้


โดยเฉพาะเรื่องแก้ไขกฎหมาย ซึ่งวิธีที่จะทวงความยุติธรรมให้ได้จริง ๆ ต้องให้ผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล และขณะนี้มีพรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล-พรรคไทยสร้างไทย-พรรคประชาชาติ ที่เราจะฝากความหวังได้ ช่วยกันผลักดันการแก้กฎหมายให้ทหารที่ทำความผิดอาญาต่อพลเรือนต้องขึ้นศาลพลเรือน นี่เป็นการพิสูจน์หัวใจและพิสูจน์แนวทางนโยบายอุดมการณ์ของพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่าเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ หรือเพียงแค่ต้องการดึงคะแนนเสียงทางการเมืองมาเท่านั้นเอง


ประการที่สาม คือ ช่วยสนับสนุนสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เอาคนฆ่าและคนสั่งฆ่าประชาชนปี 2553 มาลงโทษตามกฎหมายให้ได้


ด้านทนายโชคชัย อ่างแก้ว กล่าวว่า “ในส่วนที่เรากังวลมาโดยตลอดก็คือว่า เมื่อเราตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร ข้อเรียกร้องของเรา 8 ข้อ สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เราก็จะต้องผลักดันต่อไป ผลสัมฤทธิ์จะน้อยจะมากเพียงไร เราจะต้องไปให้ถึงจุดที่เราตั้งเอาไว้ ในส่วนการดำเนินการต่อไปอยากจะได้รับความร่วมมือจากญาติซึ่งอายุก็มากขึ้นแล้ว พวกเราก็อายุมากขึ้น เวลาอายุความก็เหลือแค่ 6 ปี ซึ่งระหว่างนี้เป็นเวลาที่เราจะต้องเร่งดำเนินการให้ถึงเป้าหมายให้เป็นผลให้ได้”


อ.ธิดา ทิ้งท้ายว่าเพิ่มเติมว่า แกนนำนปช.คนอื่น ๆ อาจารย์คิดว่าส่วนลึกในหัวใจเขาก็ต้องการทวงความยุติธรรม ส่วนลึก ๆ อาจารย์เชื่อว่าเขาเห็นด้วย แต่ด้วยภารกิจของเขา อย่างคุณณัฐวุฒิเขาก็ทำในส่วนเกี่ยวกับพรรค ที่พรรคเพื่อไทยไปนำเสนอว่าให้ผู้เสียหายฟ้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ได้โดยตรง แต่ปรากฏว่ากฎหมายนี้เพื่อไทยก็ต้องดึงกลับ เท่าที่ทราบคือป.ป.ช.ไม่เอาด้วย เพราะป.ป.ช.บอกว่ารัฐธรรมนูญต้องการให้ป.ป.ช.ฟ้อง ถ้าป.ป.ช.ไม่ต้องการฟ้องก็คือจบ คือป.ป.ช.ทำหน้าที่เป็นศาลเอง เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจนะว่านื่คือระบอบอะไร?


เอาเป็นว่าเรามีเวลาและมีหัวใจที่จะทำ และเราถือว่าเป็นภารกิจที่เรายังทำไม่เสร็จ และเป็นภารกิจที่เกี่ยวข้องกับอนาคต เราจำเป็นต้องทำภารกิจนี้ด้วยจิตสำนึก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะได้มีผลประโยชน์ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับว่าเราหนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เราต้องการเดินหน้าเพื่อประเทศ


“ทวงความยุติธรรมให้กับคนที่ตายในอดีต คนที่เป็นในปัจจุบัน และอาจจะตายในอนาคต” นี่คือคำขวัญของเรา อ.ธิดา กล่าวในที่สุด


สำหรับคปช. 53 จะเดินทางไปทวงคำมั่นสัญญาจากพรรคการเมืองที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง (14 ก.พ. 66)  โดยในวันที่ 27 ก.พ. นี้เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปที่ทำการพรรคเพื่อไทย โดยมี ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้รับเรื่อง และวันที่ 29 ก.พ. เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปที่รัฐสภา เกียกกาย เพื่อยื่นเรื่องต่อพรรคก้าวไกล


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คปช53 #ทวงความยุติธรรม #เมษาพฤษภา53