“ก้าวไกล” หนุนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกฉบับ
“พิธา” ชู 4 เสาที่รัฐควรพัฒนาให้พี่น้องชาติพันธุ์
ที่ดินทำกิน-วัฒนธรรม-การศึกษา-สัญชาติ
วันที่
28 กุมภาพันธ์ 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
มีการพิจารณาร่าง
พ.ร.บ.เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
ซึ่งเสนอโดยพรรคก้าวไกล ภาคประชาชน พรรคการเมือง และคณะรัฐมนตรี รวม 5 ฉบับ โดยในส่วนของพรรคก้าวไกล เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ
สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เป็นผู้อภิปรายหลักการและเหตุผลของร่างฯ
เลาฟั้งระบุว่า
แม้รัฐธรรมนูญจะรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไว้อย่างครอบคลุม
แต่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยก็ยังคงมีสถานะเป็นพลเมืองชั้นสอง
ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิ
อีกทั้งยังมีกฎหมายและนโยบายที่จำกัดสิทธิในที่ดินและทรัพยากร
โดยเฉพาะกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้
ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ
และไม่มีโอกาสในการพัฒนาพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง
มีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกัน
ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงใน 20 จังหวัดภาคเหนือกว่า 3,458
หมู่บ้าน ประชากร 1.12 ล้านคน กลุ่มชาวเล 46
ชุมชน 14,000 คน และกลุ่มมานิซึ่งแตกออกเป็น 15
กลุ่มครอบครัว
นี่คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐโดยตรง
รวมทั้งกลุ่มที่กลมกลืนกับสังคมไทยไปแล้วประมาณ 4-5 ล้านคน
ที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายโดยตรง แต่วิถีชีวิต วัฒนธรรม
และคุณค่าบางอย่างของกลุ่มชาติพันธุ์เลือนหายไปแล้ว
เลาฟั้งกล่าวต่อไปว่า
การที่กลุ่มชาติพันธุ์ยังมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำและด้อยพัฒนาไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ
แต่เป็นผลมาจากกฎหมายและนโยบายของรัฐที่ไม่เป็นธรรม
กดทับให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิ อยู่ภายใต้กฎหมายที่เลือกปฏิบัติ
ซึ่งเกิดขึ้นมาจากอคติที่ประกอบสร้าง ผลิตซ้ำ
และตอกย้ำอัตลักษณ์ที่เป็นลบของกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นผู้อพยพเข้ามาใหม่
เป็นภัยต่อความมั่นคง เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และเป็นผู้ทำลายป่า
สิ่งเหล่านี้ถูกตอกย้ำกระทั่งในแบบเรียนของนักเรียนนักศึกษา
และในหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจ ทำให้คนมีทัศนคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในทางลบ
สิ่งเหล่านี้อาจแก้ไขได้ยาก
แต่ในทางหลักการก็มีแนวทางที่ต้องทำอยู่อย่างน้อย 2 ประการ คือ 1) การมีกฎหมายรองรับให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความชอบธรรมอย่างชัดเจน
ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิโดยทันที
แต่อย่างน้อยที่สุดก็รับรองความชอบธรรมและทำให้เกิดพื้นที่ในการเจรจาต่อรอง และ 2)
การทำให้คนในสังคมไทยตระหนักว่า
สิ่งที่สังคมรับรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในด้านลบถูกประกอบสร้างขึ้นมา
ไม่ได้เป็นความจริงอย่างนั้นเสียทั้งหมด
ทั้งนี้
เล่าฟั้งระบุว่า ร่าง
พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองของพรรคก้าวไกล
มีสาระสำคัญในภาพกว้าง 3
ประการ ประกอบด้วย
1)
การกำหนดให้มีการคุ้มครองสิทธิเป็นการเฉพาะ
เพราะถึงแม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายแม่บทกำหนดรับรองและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในลักษณะที่เสมอภาคเท่าเทียมกันอยู่แล้ว
แต่ในความเป็นจริงกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังถูกเลือกปฏิบัติหรือไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายได้
เพราะฉะนั้น
สิ่งที่ต้องกำหนดเพิ่มเติมก็คือการห้ามเลือกปฏิบัติหรือการสร้างความเกลียดชัง
โดยเฉพาะจากสื่อและปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐ
การคุ้มครองสิทธิเป็นการเฉพาะ
ประกอบด้วยสิทธิในทางวัฒนธรรม ที่มีมากกว่าเพียงแค่เสื้อผ้าหรือบทเพลง
แต่ยังมีเรื่องของวิถีชีวิต อาชีพ และที่ดิน
โดยเฉพาะการใช้ที่ดินและทรัพยากรจากป่าที่มีรูปแบบแตกต่างออกไปจากระบบที่กฎหมายปัจจุบันรับรอง
รวมถึงสิทธิในการกำหนดตนเอง
เพราะปัจจุบันในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีทรัพยากร
มักจะมีโครงการของรัฐหรือการอนุญาตให้เอกชนเข้าไปดำเนินการบางอย่าง เช่น
การทำเหมือง สร้างเขื่อน ฯลฯ ทำให้กระทบต่อการใช้ที่ดิน ทรัพยากร
และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในชุมชนนั้น
2)
การสร้างกลไกซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทน
เพราะถึงแม้กฎหมายจะรับรองสิทธิอย่างเสมอภาคเท่าเทียม
แต่กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากก็ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้
ถูกเลือกปฏิบัติ หรือไม่สามารถที่จะต่อสู้เรียกร้องสิทธิได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น
การมีองค์กรตัวแทนที่จะมาทำหน้าที่ตรวจสอบและผลักดันให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเข้าถึงสิทธิได้จึงมีความจำเป็นทั้งต่อรัฐและกลุ่มชาติพันธุ์
ในฐานะหน่วยงานกลางที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
3)
การกำหนดให้มีการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
ซึ่งไม่ใช่เป็นการประกาศเขตอภิสิทธิ์ให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์
แต่เป็นเพียงระเบียบในการคุ้มครองวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ในพื้นที่ที่ทับซ้อนกับเขตป่า
เป็นการพยายามสร้างเครื่องมือทางเลือกขึ้นมาในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ป่าไม้หรือที่อื่นของหน่วยงานรัฐกับชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์
การประกาศพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีผลเป็นการยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้หรือกฎหมายอื่น
ๆ ของรัฐในบริเวณนั้น
แต่เป็นการประกาศเขตคุ้มครองเฉพาะในการใช้ประโยชน์และการดูแลรักษาทรัพยากร
โดยเป็นไปตามระเบียบที่รัฐและชุมชนกำหนดร่วมกันขึ้นมา หากผู้ใดหรือแม้กระทั่งสมาชิกของชุมชนทำผิดเงื่อนไข
ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายปกติ
โดยวิธีการประกาศจะเริ่มต้นจากการที่ชุมชนไม่ว่าจะเป็นชุมชนใดชุมชนหนึ่งหรือหลายชุมชน
ร่วมกันจัดทำแผนและระเบียบเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่คุ้มครองขึ้นมา
เมื่อคณะกรรมการเห็นชอบแล้วก็ประกาศกำหนดให้เป็นเขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
ซึ่งเมื่อประกาศออกมาแล้วไม่ได้หมายความว่าจะมีสิทธิทำอะไรได้ทุกอย่าง
แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและสามารถถูกยกเลิกได้หากชุมชนไม่สามารถบริหารจัดการได้ต่อไป
เขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จะให้สิทธิ
2 ประการ คือ 1) การอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติตามระเบียบที่กำหนดขึ้น
แต่จะต้องไม่นำไปสู่การทำลายทรัพยากร 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาอาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
โดยมีเงื่อนไขคือ ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิในที่ดินให้แก่บุคคลใด ๆ
เว้นแต่เป็นการสืบทอดทางมรดก หรือเป็นการดำเนินวิถีชีวิตตามปกติของชุมชน
เลาฟั้งกล่าวทิ้งท้ายว่า
ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการพูดถึงและผลักดันกันมาเป็นเวลานานแล้ว
และคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เอง
โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐอย่างรุนแรงมีความต้องการเป็นอย่างมาก
เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองพวกเขา
ขณะที่
มานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมอภิปรายสนับสนุนร่างฯ ทุกฉบับ
โดยระบุว่า
วันนี้เป็นนิมิตหมายครั้งประวัติศาสตร์ที่มีการเสนอร่างกฎหมายจากทุกฝ่าย
และเห็นร่วมกันว่าจำเป็นจะต้องมีกฎหมายฉบับนี้ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม
เราคือเผ่าพันธุ์และผู้คนที่มาอยู่รวมกันเรียกว่าคนไทย ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง
โดยในทางวิชาการยืนยันแล้วว่าประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 60 ชาติพันธุ์อาศัยอยู่
คิดเป็นประมาณ 6 ล้านคนหรือร้อยละ 10 ของคนทั้งประเทศ
แม้จะมี
สส.หลายคนอภิปรายในวันนี้ว่าประเทศนี้ไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง
การมีชนเผ่าพื้นเมืองจะทำให้การปกครองเกิดความแตกแยก
แต่ตนต้องยืนยันข้อเท็จจริงว่าชนเผ่าพื้นเมืองมีอยู่ในประเทศไทยจริง
ก่อนที่จะมีอาณาจักรต่าง ๆ ของประเทศไทยด้วยซ้ำ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้อายุกว่าหมื่นปี
ในทางวิชาการก็ยอมรับว่ามีชนเผ่าพื้นเมืองดำรงอยู่ที่นี่มานานแล้ว
ถึงแม้ในทางปฏิบัติวันนี้ชนเผ่าพื้นเมืองอาจจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ
ไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ แต่วันนี้สภาฯ
กำลังจะทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองมีตัวตนในทางกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง
ซึ่งประเทศไทยลงนามไว้กับนานาอารยประเทศ
มานพกล่าวต่อไปว่า
การที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องมาเรียกร้องต่อสู้เรื่องนี้
เพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชาติพันธุ์ต่าง ๆ อยู่จริง ทั้งการคุกคาม
การละเมิดสิทธิในที่ดิน หลายหมู่บ้านอยู่มาก่อนจะมีประเทศไทยด้วยซ้ำ
แต่วันนี้เขากลายเป็นคนผิดกฎหมาย หลายหมู่บ้านอยู่อย่างชอบด้วยกฎหมาย
มีผู้ใหญ่บ้าน มีโรงเรียน มีครู มีอนามัย มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
(อสม.) แต่ไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้
เพราะฉะนั้น
สิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์เรียกร้องมาโดยตลอด
คือการคืนสิทธิให้เหมือนกับคนทั่วไปเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรพิเศษ
หลายคนบอกว่าถ้ามีชนเผ่าพื้นเมืองจะเป็นการแยกการปกครอง ตนถามว่าท่านเอาอะไรมาพูด
เราต้องยืนอยู่บนความเป็นจริง และยืนอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้
“ขอให้เราอยู่สงบสุขเหมือนกับคนทั่วๆ ไป รับรองความเป็นตัวตนของเรา
รับรองสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของพวกเรา เขาจะทำไร่หมุนเวียน จะทำเกษตร
จะเลี้ยววัวเลี้ยงควาย จะทำมาหากินอะไรก็รับรองในสิ่งที่เขามี
ที่ไม่เป็นธรรมคืออำนาจของรัฐ และที่สำคัญคือมายาคติ ความรู้สึกของคนในสังคมที่ไม่ยอมรับว่าเราประกอบสร้างจากชนเผ่าต่าง
ๆ ร่วมกันมากมาย ตั้งแต่อดีตประวัติศาสตร์ที่เราอยู่ร่วมกันมาตลอด” มานพกล่าว
มานพยังกล่าวต่อไปว่า
นี่เป็นโอกาสที่จะทำให้ทุกคนได้มีพื้นที่ยืนและมีคุณค่าความเป็นคนเท่ากัน
เราขับเคลื่อนประเด็นกฎหมายเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว
วันนี้เป็นโอกาสของสภาฯ แห่งนี้ สิ่งที่ตนอยากจะเห็นจากเพื่อนสมาชิกในสภาฯ
แห่งนี้คือการทำหน้าที่ครั้งประวัติศาสตร์ให้พวกเราอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ได้
นั่นคือการช่วยกันผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นร่างฯ ของรัฐบาล พรรคการเมือง
หรือภาคประชาชน มาดูรายละเอียดและถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการ
มาตราไหนที่เราเห็นต่างก็เอาเหตุผล ข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์
และข้อมูลระดับสากลมาถกเถียงกัน
“ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในสังคมไทยคือความจริงที่มีอยู่
หน้าที่ของเราก็คือการทำความจริงให้ปรากฏ
รับรองความเป็นตัวตนและความเท่าเทียมกันของคนในสังคมผ่านกฎหมายฉบับนี้” มานพกล่าว
ด้าน
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล
เป็นผู้อภิปรายปิดคนสุดท้าย โดยระบุว่า
สิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกพยายามทำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
มีอยู่ 4 เสาเป้าหมาย คือ 1) การมีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
รวมทั้งการเข้าถึงไฟฟ้า น้ำประปา และสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ๆ 2) การรักษาไว้ซึ่งการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีและภาษาประจำเผ่า 3) การพัฒนาระบบการศึกษาและสาธารณสุข และ 4) การพิสูจน์สัญชาติ
อย่างไรก็ตาม
ปัจจุบันถ้านำ 4
เสาเป้าหมายนี้มาตั้ง
เราจะเห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยยังคงมีปัญหาอยู่
ทั้งเรื่องของการเข้าถึงที่ดินทำกิน
เรื่องภาษาของหลายชนเผ่าพื้นเมืองที่สูญหายไปแล้วอย่างถาวร และยังมีอีก 25 ภาษาที่เสี่ยงจะสูญหายในช่วงชีวิตของเรา เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ที่เห็นได้ชัดว่าอัตราการสำเร็จการศึกษาชั้น ม.6 ระหว่างคนที่ใช้ภาษาไทยกับคนที่ใช้ภาษามากกว่าภาษาไทยต่างกันถึง
2.5 เท่า
รวมถึงเรื่องการพิสูจน์สัญชาติที่ยังล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ
พิธากล่าวต่อไปว่า
จากปัญหาข้างต้น
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้
คือกฎหมาย งบประมาณ และการบริหารงาน โดยในด้านกฎหมาย
กลุ่มชาติพันธุ์มีปัญหากับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินซึ่งทับซ้อนกันอยู่ 3 ฉบับ
คือ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.ป่าสงวน และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ รวมถึงยังมีมติ ครม.ปี 2553
ที่กำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษที่ไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริง
ส่วนด้านงบประมาณ
หากสำรวจในร่างงบประมาณปี 2567
จะพบว่ามีงบประมาณสำหรับการพิสูจน์สัญชาติ 35 ล้านบาท
แต่คนไร้สัญชาติในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 5-8 แสนคน
เมื่อปีที่แล้วรัฐไทยสามารถพิสูจน์สัญชาติได้ 10,000 คน
หากยังคงอัตราเท่านี้ เท่ากับว่าจะต้องใช้เวลาอีก 80 ปีกว่าเราจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับคนไร้สัญชาติในประเทศไทยได้
นอกจากนี้ หากนำคำว่า “ชาติพันธุ์” ไปค้นหาในระบบงบประมาณ จะพบว่ามีอยู่ 3 โครงการ รวมกันแค่ 25 ล้านบาทเท่านั้น
เมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ 7 ล้านคนทั่วประเทศไทยถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก
พิธาย้ำว่า
ร่าง
พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง
ๆ ให้กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้
ทั้งในเรื่องการปลดล็อกให้มีขอบเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิต การบัญญัติรับรองสิทธิ
และการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมในเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณ
โดยสามารถกำหนดให้รัฐบาลออกกองทุนตรวจสอบข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ออกเอกสารรับรองสิทธิในที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์
และสามารถสร้างเศรษฐกิจของชนเผ่าพื้นเมืองต่อไปในอนาคตได้
จึงขอวิงวอนให้เพื่อนสมาชิก สส.ร่วมกันรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ
เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาวิธีการสำคัญในการยกระดับชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ให้ตรงตามเป้าหมายทั้ง
4 เสา
พิธากล่าวทิ้งท้ายว่า
แนวโน้มของโลกตอนนี้พิสูจน์แล้วว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนช่วยรักษาป่าเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างเช่นในประเทศกลุ่มละตินอเมริกา ทั้งโบลิเวีย บราซิล หรือโคลอมเบีย
มีการศึกษาเปรียบเทียบพื้นที่ป่าที่มีชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่กับพื้นที่ที่ไม่มี
พบว่าพื้นที่ที่มีชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่พบการตัดไม้ทำลายป่าน้อยกว่าถึง 3 เท่า
ตนจึงขอให้รัฐไทยเปลี่ยนวิธีคิดจากการมองว่าต้องแยกคนออกจากป่า
เป็นการให้คนปลูกป่า และให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการศึกษา พัฒนา รักษา
และลดการตัดไม้ทำลายป่า
ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับ
“เศรษฐกิจชาติพันธุ์” อาจจะยังไม่ถูกพูดถึงมากในประเทศไทย
แต่วิสัยทัศน์ของตนคิดว่ามีความเป็นไปได้สูง
หากดูตัวอย่างในออสเตรเลียจะเห็นว่ามีมูลค่าสูงถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในแคนาดาสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
ตนจึงอยากให้คณะกรรมาธิการที่กำลังจะตั้งขึ้นเริ่มคิดถึงการเปลี่ยนปัญหาสังคมให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ
เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างที่ออสเตรเลีย แคนาดา
และนิวซีแลนด์ได้เริ่มทำแล้ว
ท้ายที่สุด
ที่ประชุมสภาฯ มีมติรับหลักการร่าง
พ.ร.บ.เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั้ง 5 ฉบับ
และให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาจำนวน 42 คน
โดยกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลมี 6 คน ได้แก่ 1)
มานพ คีรีภูวดล 2) เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล 3)
ณัฐวุฒิ บัวประทุม 4) ภัสริน รามวงศ์ 5)
ชิตวัน ชินอนุวัฒน์ และ 6) สุนี ไชยรส
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ประชุมสภา #พิธาลิ้มเจริญรัตน์ #กฎหมายชาติพันธุ์ #ชนเผ่าพื้นเมือง