“มาริษ”
ย้ำ ปัญหาชายแดน ไทยไม่ตอบโต้ผ่านโซเชียล มีการชี้แจงต่อประชาคมโลกโดยตลอด ขอประชาชนมั่นใจรัฐบาลปกป้องอธิปไตยแน่นอน
วันที่
3 กรกฎาคม 2568 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาขณะนี้ว่า
ปัจจุบันสถานการณ์ความตึงเครียดลดลงในระดับหนึ่ง ไม่มีการปะทะกัน
แต่มีบ้างจากการคงกำลังและอาวุธบริเวณชายแดน ซึ่งรัฐบาลไทยอยากเห็นการปรับลดกำลังในแนวต่าง
ๆ ให้กลับไปอยู่ในช่วงที่ไทย-กัมพูชา มีความสัมพันธ์กันอย่างปกติในช่วงปี 2567
เนื่องจากรัฐบาลไทยกังวลถึงความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่
นายมาริษ
ยังย้ำถึงการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ
ตามที่มีประชาชนอยากให้ฝ่ายไทยดำเนินการแบบตาต่อตาฟันต่อฟันกับอีกฝ่ายว่า
กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาททางการสื่อสารต่าง ๆ จะต้องใช้ช่องทางเป็นทางการ
หรือช่องทางการทูตในการเจรจา หากไปติดตามจากช่องทางที่ไม่เป็นทางการ
โอกาสที่จะมีความไม่เข้าใจกันก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น
จึงจะต้องพูดคุยในช่องทางทางการกับฝ่ายกัมพูชา พร้อมยอมรับว่า
ปัจจุบันโซเชียลมีเดียมีบทบาทมาก และมีหลายมุมมองซึ่งอาจจะถูกต้องบ้าง หรือผิดบ้าง
แต่กระทรวงการต่างประเทศมีความเข้าใจและมอบหมายว่า ใครจะออกมาตอบโต้ประเด็นใด
หรือถ้าเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับการทูต
ก็อาจจะต้องให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการ พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยและรัฐบาลไทย
ไม่ต้องการตอบโต้ฝ่ายใดผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะไม่ใช่ช่องทางทางการ
และจะชี้แจงผ่านช่องทางทางการเท่านั้น และขอให้ใช้วิจารณญาณด้วยว่า เมื่อมีการพูดหรือสื่อสารไปแล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไร
ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบ และจริยธรรมของแต่ละคน
ส่วนฝ่ายไทยสื่อสารกับเวทีโลกน้อย
จนทำให้ไทยดูเป็นรองในหลาย ๆ เรื่องหรือไม่นั้น นายมาริษ ย้ำว่า
กระทรวงการต่างประเทศ ทั้งตนและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้สื่อสารกับประชาคมโลก
สังคมไทย และทุกฝ่ายในช่องทางการทูตมาอย่างต่อเนื่องกับนานาประเทศ ถึงจุดยืน
ความประสงค์ และความถูกต้อง ตามที่ประเทศทั้งสอง
มีพันธกรณีที่จะต้องมาแก้ไขปัญหาโดยการเจรจาสองฝ่าย
จึงเรียกร้องให้กัมพูชาให้ความสำคัญกับการเจรจาในกรอบทวิภาคีโดยเร็วต่อไป
แต่การใช้โซเชียลมีเดียเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ถ้าเกิดผลกระทบ
ก็ควรรับผิดชอบในสิ่งที่จะเกิดขึ้น และต้องพิจารณาว่ จะต้องตอบโต้ในขั้นใด
รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ จะต้องรักษาช่องทางทางการ และเลือกประเด็นการตอบโต้
เพื่อไม่ให้ลำบากต่อการเจรจาในอนาคต
นายมาริษ
ยังกล่าวถึงการเจรจาเส้นเขตแดนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
และไม่มีใครต้องการให้ประเทศสูญเสียอธิปไตย จึงเป็นการยากและต้องใช้เวลาในการถกเถียง
พร้อมตอกย้ำและยืนยันว่า ไทยจะปกป้องอธิปไตยแน่นอน จึงขอให้สังคมมั่นใจ
และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียใด ๆ
ทั้งสิ้น ดังนั้น จะต้องหลีกเลี่ยงการเกิดความสูญเสีย
และทำให้ประชาชนบริเวณชายแดนได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติและสงบสุข
หลีกเลี่ยงผลกระทบจากความตึงเครียด
ส่วนกรณีที่ฝ่ายกัมพูชายังคงพยายามนำข้อพิพาทพื้นที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลกนั้น
นายมาริษ ย้ำว่า ประเทศไทยและหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศมหาอำนาจ
ไม่ได้รับเขตอำนาจศาลโลกมาตั้งแต่ปี 2503 ดังนั้น ศาลโลกจึงไม่มีอำนาจพิจารณาในเรื่องนี้และด้านอื่น
ๆ อย่างแน่นอน จึงไม่ได้กังวลใด ๆ แต่กระทรวงการต่างประเทศ
ก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามเพื่อเตรียมความพร้อม พร้อมย้ำว่า
การประชุมคณะกรรมาธิการ JBC เมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายนที่ผ่านมา
ถือว่าประสบความสำเร็จในการวางกรอบการทำงานด้านเทคนิคของเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายในการจัดทำหลักเขตแดนร่วมกันต่อไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่า
กลไกทวิภาคียังสามารถทำงานต่อไปได้ และสร้างความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเขตแดน
ส่วนกรณีที่ผู้นำกัมพูชา
ได้กล่าวในลักษณะเรียกร้องและอยากจะเห็นการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลไทยว่า
กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าการแสดงความเห็นของผู้นำกัมพูชาในเรื่องนี้ที่กระทำผ่านสื่อออนไลน์ต่าง
ๆ มีเนื้อหาแทรกแซงกิจการภายในของไทย อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎบัตรอาเซียน
กฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ
ที่ไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
จึงได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ มุ่งสื่อสารกับประชาคมโลกในช่องทางที่เหมาะสมถึงการกระทำดังกล่าวที่ไม่ถูกต้อง
และไม่ปรารถนาให้ตอบโต้กันในสื่อสังคมออนไลน์ตามที่เป็นกระแส เนื่องจาก
ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาระหว่างกัน
นายเบญจมินทร์
สุกาญจนัจที อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ
ชี้แจงถึงกรณีที่มีผู้ที่มอง MOU43 ทำให้ไทยเสียเปรียบในการเจรจา
เสี่ยงเสียดินแดนและอธิปไตยว่า MOU43 ยังเป็นกลไกทวิภาคีที่ยังได้ใช้
และเป็นพันธะกรณีต่อทั้งสองฝ่ายที่ต้องดำเนินการ เนื่องจากเป็นสนธิสัญญาอย่างหนึ่งที่ทำขึ้นระหว่างไทย-กัมพูชา
ซึ่งคู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามที่สัญญาไว้ และย้ำว่าใน MOU43
กำหนดให้มีคณะกรรมาธิการ JBC ไทย-กัมพูชา ซึ่ง JBC สามารถกำหนดประเด็นเร่งด่วนในการเจรจาได้ และหากฝ่ายกัมพูชาเห็นว่า 4 พื้นที่เป็นข้อกังวล ก็สามารถนำมาเร่งกระบวนการปักปันเขตแดนได้
ซึ่งผลการประชุม JBC เมื่อ 14
มิถุนายนที่ผ่านมา ฝ่ายไทยก็สามารถดำเนินการได้สำเร็จในระดับหนึ่ง ทำให้ขณะนี้ทราบว่าหลักเขตแดน
73 หลักที่ได้ดำเนินการมากว่า 100 ปี
อยู่ในจุดใดบ้าง และมีจุดใดที่เห็นตรงกันหรือขัดแย้งกัน
พร้อมยังตกลงที่จะใช้โดรนในการจัดทำแผนที่ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการปักปันเขตแดน
และทั้ง 2 ฝ่ายจะงดเว้นการดำเนินการใด ๆ
ที่จะไปเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศ รวมถึงการระงับข้อพิพาท-ความตึงเครียดต่าง ๆ
ก็จะต้องดำเนินการอย่างสันติผ่านการเจรจาทวิภาคี 2 ฝ่าย
อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
ยังย้ำว่า MOU43 เป็นการตีกรอบการเจรจา และการดำเนินการเพื่อให้เกิดแผนที่ที่มีความชัดเจน
ไม่ได้ทำให้เสียดินแดนใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งแผนที่ที่ได้ ก็จะต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
และคณะรัฐมนตรี จะต้องเสนอต่อรัฐสภาพิจารณา
ส่วนกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่ระบุฝ่ายไทย
ยอมรับแผนที่ 1:200,000
ของกัมพูชานั้น อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ย้ำว่า การประชุม JBC
ไม่มีประเด็นดังกล่าวในการหารือ ซึ่งฝ่ายไทยก็แปลกใจ
เหตุใดจึงมีการสื่อสารในลักษณะนี้ออกมา แต่ก็มองเป็นเทคนิคของฝ่ายหนึ่ง
ในการส่งสัญญาณผิด ๆ ต่อมวลชนภายในของอีกฝ่าย พร้อมย้ำว่า
เป้าหมายสุดท้ายคือการเกิดแผนที่ร่วมของทั้ง 2 ฝ่าย
ซึ่งจากการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีไทย และประธานาธิบดีฝรั่งเศส
ทางฝรั่งเศสก็พร้อมสนับสนุนเอกสารเพิ่มเติม
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กระทรวงการต่างประเทศ #ชายแดนไทยกัมพูชา