ศาลฎีกาไต่สวนพยานบังคับโทษ "ทักษิณ" ชั้น 14 จำนวน 9 ปาก พยานบางคนให้การวกวน/ตอบไม่ตรงคำถาม จำเหตุการณ์ไม่ได้
วันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 ในคดีการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไปรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยวันนี้มีพยานที่ศาลให้เข้าเบิกความ 9 ปาก เป็นกลุ่มพัศดี ผู้ช่วยพัศดีเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และผู้คุมเวรที่เฝ้านายทักษิณ ชินวัตร ประจำอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ในช่วงที่ถูกคุมขัง ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566
ช่วงเช้าผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์ เริ่มเข้าสู่การไต่สวนตั้งแต่เวลา 09.00 น. ไต่สวนพยานได้ 5 ปากแรก ประเด็นที่ศาลไต่สวนคือ ภาพรวมขั้นตอนการรับนักโทษ หรือ การรับนายทักษิณจากศาลฎีกาเข้าสู่เรือนจำ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ไปจนถึงเหตุการณ์การส่งตัวนายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ขั้นตอนการคุมขังนายทักษิณในโรงพยาบาลตำรวจ และขั้นตอนการเข้าเยี่ยมนายทักษิณว่าเป็นญาติหรือบุคคลอื่น
สำหรับ 5 ปาก ที่เข้าเบิกความช่วงเช้าประกอบไปด้วย 1. นายสัญญา (สงวนนามสกุล) เจ้าพนักงานราชทัณฑ์อาวุโสปฎิบัติหน้าที่พัสดุเวร 2. นายสมศักดิ์ (สงวนนามสกุล) ปฎิบัติหน้าที่หัวหน้าเวรผู้ช่วยพัศดี 3. นายจารุวัฒน์ นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ (สงวนนามสกุล) 4. นายธีรศักดิ์ (สงวนนามสกุล) หัวหน้าการตรวจค้น และ 5. นายเทวรุทธ นักอบรมศูนย์วิชาชีพ ปฎิบัติหน้าที่ส่งตัวนายทักษิณ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเบิกความของพยานทั้ง 5 ปากในช่วงเช้า บางคนใช้เวลาไต่สวนนาน เนื่องจากเบิกความสับสน ตอบไม่ตรงคำถาม จำเหตุการณ์ไม่ได้ และพูดวกวน
ช่วงบ่ายศาลไต่สวนพยานอีก 4 ปาก ประกอบด้วย 1. นายนพรัตน์ (สงวนนามสกุล) 2. นายเจนวิทย์ (สงวนนามสกุล) 3. นายศิวพันธ์ (สงวนนามสกุล) และ 4. นายนิภัทรชล (สงวนนามสกุล) ใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ทำหน้าที่เฝ้านายทักษิณที่โรงพยาบาลตำรวจ ประเด็นที่ศาลซักถามถึงข้อเท็จจริง การพักรักษาตัว และการอยู่จริงของนายทักษิณภายในห้องผู้ป่วย รวมถึงบุคคลที่เข้าเยี่ยม และการตรวจโรคของแพทย์ การใช้ชีวิตของนายทักษิณ ตอนที่อยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
ช่วงท้ายศาลมีคำสั่งว่า ให้คู่ความและผู้เข้าฟังการพิจารณางดการเผยแพร่การเบิกความของพยานบุคคลและพยานเอกสาร ที่ศาลไต่สวน หลังพบมีผู้เข้าฟังและผู้สื่อข่าวบางรายนำคำเบิกความไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านสื่อช่องต่าง ๆ ศาลจึงกำชับผู้เข้าฟังให้ผู้เข้าฟังการพิจารณาคดี ให้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด หลังทนายของจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกข้อกำหนดพิจารณาคดีในทางลับ แต่ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรให้ต้องพิจารณาทางลับ แต่กำชับให้ผู้ฟังการพิจารณาคดี ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด
สำหรับการพิจารณานัดถัดไปศาลนัดวันที่ 15 กรกฎาคม โดยมีการนัดหมายไต่สวนผู้บริหารกรมราชทัณฑ์