ศาลอาญายกคำร้อง ‘ธงชัย วินิจจะกูล’ ขอไต่สวนกรณี “ตรวนข้อเท้า” อานนท์ นำภา ให้การใช้เครื่องพันธนาการสอดคล้องตามเจตจำนงกฎหมาย ระบุไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
วันนี้ (21 ก.ค. 68) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ เวลา 09.00 น. มีนัดไต่สวนกรณีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนโดยพลันและยุติการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีของมนุษย์ ต่ออานนท์ นำภา ในกรณี “การใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขัง” เพื่อยืนยันว่าสำนักงานศาลยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์จะพิจารณาการใช้กุญแจข้อเท้าและโซ่ล่ามผู้ต้องขังรายอื่น เป็นรายกรณีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สิทธิของผู้ต้องขังได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและหลักตามสิทธิมนุษยชน ต่อมาหลังไต่สวนพยานเสร็จ ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ระบุโดยสรุปว่า ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2568 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ได้ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนโดยพลันและยุติการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อนายอานนท์ นำภา หลังพบเห็นอานนท์ปรากฏตัวในชุดนักโทษพร้อมกุญแจเท้าทั้งสองข้างระหว่างการเดินทางมาศาลและในห้องพิจารณาคดี ธงชัยมองว่าการใส่ชุดนักโทษ การใส่กุญแจเท้า หรือการใส่โซ่ล่ามระหว่างการพิจารณาคดี ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผิดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงอาจเป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 26 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และทบทวนการใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขัง โดยเฉพาะผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ให้สอดคล้องกับข้อห้ามตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 ที่มีใจความว่า “ห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง”
สำหรับช่วงเช้าวันนี้ ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 708 มีประชาชนเดินทางมาร่วมรับฟังการพิจารณาคดีด้วย โดยศาลได้ไต่สวนพยานผู้ร้อง 4 ปาก ได้แก่ อานนท์ (ผู้เสียหาย) และพยานผู้เชี่ยวชาญ 3 ปาก (ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ, ด้านพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ, ด้านประวัติศาสตร์ราชทัณฑ์) จนเสร็จสิ้น ศาลจึงนัดฟังคำสั่งในช่วงบ่าย
ต่อมาในช่วงบ่าย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) เปิดเผยว่า ศาลมีคำสั่ง ‘ยกคำร้อง’ โดยระบุว่าข้อเท็จจริงในเบื้องต้นจากการไต่สวนรับฟังได้ดังนี้ “เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ใช้เครื่องพันธนาการ กุญแจ และโซ่ตรวนกับอานนท์ นำภา ผู้เสียหาย ในระหว่างการเบิกตัวจากเรือนจำมายังศาลอาญาเพื่อพิจารณาคดีจริง
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การกระทำของเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ดังกล่าวมีมูลเพียงพอจะเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำตามมาตรา 6 พ.ร.บ.ทรมานหรือไม่ เห็นว่ามีการใช้เครื่องพันธนาการ จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพและอาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้เสียหายและบุคคลอื่นอยู่บ้าง แต่จะต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิจนเกินขอบเขตแห่งความจำเป็นหรือไม่ เมื่อ พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 ได้ให้อำนาจหน้าที่ในการใช้เครื่องพันธนาการเมื่อคุมตัวผู้ต้องขังไปนอกเรือนจำ เพื่อความปลอดภัยและเพื่อป้องกันการหลบหนีได้ ดังนั้นการกระทำของเจ้าหน้าที่จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายบัญญัติไว้
ส่วนการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่ เห็นว่าการกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้จะต้องกระทำเกินเลยไปกว่าความจำเป็น ความปกติในการควบคุมตัว และมีลักษณะเป็นการจงใจลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำเป็นสำคัญ แต่จากการไต่สวนในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว
ส่วนประเด็นที่เจ้าหน้าที่อาจมิได้จัดทำบันทึกเหตุผลความจำเป็นในการใช้เครื่องพันธนาการนี้เป็นรายการอย่างชัดเจนตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 21 อนุ 4 เห็นว่า แม้บันทึกเหตุผลจะเป็นหลักการปฏิบัติที่สำคัญ แต่ก็ยังมิอาจนำมาเป็นเหตุผลชี้ขาดว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 6 ได้โดยในทันที เพราะการวินิจฉัยความผิดตามมาตรา 6 ยังคงต้องพิจารณาจากลักษณะของการกระทำและผลการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ
เมื่อข้อเท็จจริงชั้นไต่สวนเบื้องต้นยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่กฎหมายบัญญัติ คำร้องของผู้ร้องจึงยังไม่มีมูลเพียงพอที่ศาลจะออกหมายเรียกพยานฝ่ายผู้ถูกร้องมาไต่สวนต่อไป จึงมีคำสั่งยกคำร้อง”
เมื่อข้อเท็จจริงชั้นไต่สวนเบื้องต้นยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่กฎหมายบัญญัติ คำร้องของผู้ร้องจึงยังไม่มีมูลเพียงพอที่ศาลจะออกหมายเรียกพยานฝ่ายผู้ถูกร้องมาไต่สวนต่อไป จึงมีคำสั่งยกคำร้อง”
หลังจากฟังคำสั่งศาล ทนายความ ได้แก่ รัษฎา มนูรัษฎา, พรพิมล มุกขุนทด และพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า การย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักการสากลและที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ควรจะได้รับการพิจารณาว่ามีมูลที่จะเรียกให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์มาให้เหตุผล แต่ศาลได้สั่งยกคำร้องและแจ้งให้อุทธรณ์ต่อศาลสูง
แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่าคดีในลักษณะนี้เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเสรีภาพของประชาชน การไต่สวนโดยพลัน มีเหตุผลสำคัญคือเพื่อที่จะยุติและป้องปรามการละเมิดสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับการใส่เครื่องพันธนาการในห้องพิจารณาคดี โดยทนายความและอานนท์ จะยื่นอุทธรณ์คดีทั้งเนื้อหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อไป
ซึ่งในประเด็นข้อกฎหมาย พยานผู้เชี่ยวชาญได้ให้การและกล่าวถึงการพิจารณาคดีในศาลต่างประเทศ อาทิ ประเทศแคนาดา ฝรั่งเศส และเยอรมัน ไม่ได้มีการใส่เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขังคดีอาญาในศาล และประเด็นสำคัญคือตามรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” แม้ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ใช้ดุลยพินิจ แต่กฎหมายไม่ควรที่จะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด
ส่วนประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ อานนท์ยังไม่ได้เป็นผู้ต้องขังในคดีที่ถูกพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด อีกทั้งไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และเดินทางมาตามศาลทุกนัด จึงไม่มีเหตุอันสมควรในการใช้เครื่องพันธนาการ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อานนท์นำภา