วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

ก้าวไกลขอรัฐบาลทบทวนคำถามประชามติ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อลดความเสี่ยงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไม่สำเร็จ

 


ก้าวไกลขอรัฐบาลทบทวนคำถามประชามติ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อลดความเสี่ยงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไม่สำเร็จ

 

วันนี้ (24 เมษายน 2567)พรรคก้าวไกลได้โพสต์เพจทางการของพรรคระบุข้อความ พรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอดว่า เราสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้จริงโดยเร็วที่สุด

 

หลังจากการประชุม ครม. เมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) รัฐบาลได้แถลงเห็นชอบในหลักการให้เริ่มต้นเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามเส้นทาง “ประชามติ 3 ครั้ง” (ตามข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาฯ ที่ตั้งโดยรัฐบาลและนำโดยภูมิธรรม เวชยชัย) โดยให้มีการจัดประชามติครั้งที่ 1 ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ด้วยคำถามที่ว่า

 

ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 (บททั่วไป) และ หมวด 2 (พระมหากษัตริย์)?”

 

ในขณะที่เรารอการเผยแพร่มติ ครม. สู่สาธารณะ และรอการออกประกาศฯในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ พรรคก้าวไกลขอย้ำอีกรอบให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนเรื่อง “คำถามประชามติ” ดังกล่าว ซึ่งเรามองว่าเป็นคำถามประชามติที่มีปัญหาและเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดลงและไม่ประสบความสำเร็จ

 

#1 คำถามประชามติของรัฐบาล เพิ่มความเสี่ยงที่ประชามติครั้งแรกจะไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน เนื่องจากเป็นคำถามที่มีการ “ยัดไส้” เงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยในตัวคำถาม

 

การบรรจุเงื่อนไขหรือรายละเอียดเรื่องหมวด 1-2 ในตัวคำถาม จะทำให้ประชาชนบางคนที่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับอีกบางส่วนของคำถาม (เช่น เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับการล็อกหมวด 1-2) อาจไม่แน่ใจว่าจะลงมติเช่นไร

 

หากประชาชนแต่ละคนที่มีจุดยืนดังกล่าวตัดสินใจลงคะแนนไม่เหมือนกัน (เช่น บางคนลงคะแนน “เห็นชอบ” / บางคนลงคะแนน “ไม่เห็นชอบ” / บางคน “งดออกเสียง”) ก็จะหมายความว่าในบรรดาคนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่ทุกคนที่จะลงคะแนน “เห็นชอบ” เหมือนกันอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงที่ประชามติจะไม่ผ่าน (ยิ่งหากการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ เรื่องเกณฑ์ “เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ทันประชามติครั้งแรก)

 

หากประชามติไม่ผ่านเพราะเหตุผลดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดลง แต่ยังจะก่อปัญหาในการตีความต่อไปในอนาคต ว่าเหตุผลที่ประชามติไม่ผ่านเป็นเพราะอะไร (เช่น เป็นเพราะประชาชนไม่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือ เป็นเพราะประชาชนไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขเรื่องการล็อกหมวด 1-2)

 

2 คำถามประชามติของรัฐบาล เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบปัญหาเชิงกฎหมาย

 

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญแต่ละหมวดมีความสัมพันธ์กันโดยธรรมชาติ ดังนั้น เมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป) การแก้ไขข้อความหรือเนื้อหาใด ๆ ในหมวด 3 เป็นต้นไป อาจนำไปสู่ความจำเป็นทางกฎหมายที่จะต้องแก้ไขบางข้อความหรือเนื้อหาในหมวด 1-2 ให้สอดคล้องกันกับหมวดอื่นๆ

 

ตัวอย่าง: หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการยกเลิกวุฒิสภาและหันมาใช้ระบบสภาเดี่ยว ก็ควรมีการตัดคำว่า “วุฒิสภา” หรือ “สมาชิกวุฒิสภา” ที่ปรากฎในหมวด 1-2 ออก (เช่น ในมาตรา 12 ที่กำหนดว่าองคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา) เนื่องจากไม่มีสิ่งที่เรียกว่าวุฒิสภาแล้ว

 

แต่หากหมวด 1-2 ถูกล็อกไว้ การแก้ไขข้อความดังกล่าวจะทำไม่ได้และอาจนำไปสู่ปัญหาเชิงกฎหมาย

 

3 คำถามประชามติของรัฐบาล เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่สามารถแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างได้และไม่สะท้อนฉันทามติใหม่ของประชาชนทุกคนในสังคมได้อย่างแท้จริง

 

เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญ คือการออกแบบกติกาการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง

 

ที่ผ่านมา การแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1-2 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปกติ ทุกครั้งที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (รวมถึงตอนจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 / 2550 / 2560) ยิ่งไปกว่านั้น มาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญได้ห้ามไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ให้มีการการแก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ (ไม่ว่าในหมวดใด) ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ

 

ดังนั้น หากประชาชนบางกลุ่มอยากปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนในหมวด 1-2 โดยที่การแก้ไขดังกล่าวไม่เป็นการกระทบรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ การไปล็อกไม่ให้เขาแม้กระทั่งได้เสนอความเห็นของเขาด้วยเหตุและผลอย่างมีวุฒิภาวะในพื้นที่ที่ควรปลอดภัยอย่าง สสร. (แม้ในที่สุด สสร. ส่วนใหญ่อาจจะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเขา) อาจทำให้การแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองในบริบทปัจจุบันมีความท้าทายมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ถูกมองว่าสะท้อนฉันทามติใหม่ของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง

 

ข้อกังวลทั้งหมดที่พรรคก้าวไกลมีต่อคำถามประชามตินี้ เป็นข้อกังวลที่เราได้พยายามสะท้อนต่อรัฐบาลและต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

 

ในเมื่อการทำประชามติแต่ละครั้งคาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท และต้องอาศัยเวลาอย่างน้อย 3-4 เดือน เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะออกแบบคำถามประชามติที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดลงโดยไม่จำเป็น

 

เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว พรรคก้าวไกลจึงขอเสนออีกครั้งก่อนที่จะสายเกินไป ให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนและหันมาใช้คำถามหลักของประชามติครั้งแรกที่เปิดกว้าง (เช่น “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่?”) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเลือกคำถามประชามติที่ทางคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นฯ ของรัฐบาลเอง (นำโดย นิกร จำนง) เคยได้เสนอให้คณะกรรมการศึกษาฯ ของรัฐบาลพิจารณา เพื่อเพิ่มโอกาสที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จ

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ประชามติ #รัฐธรรมนูญ