วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2567

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ : ก่อนจะนิรโทษกรรมต้องทำให้อุณหภูมิบรรยากาศทางการเมืองลดลง ต้องค้นหาความจริงให้กับผู้ที่เสียชีวิต นอกเหนือไปจากการจ่ายเงิน

 


#14ปีเมษาพฤษภา53 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา


ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ : ก่อนจะนิรโทษกรรมต้องทำให้อุณหภูมิบรรยากาศทางการเมืองลดลง ต้องค้นหาความจริงให้กับผู้ที่เสียชีวิต นอกเหนือไปจากการจ่ายเงิน


ยอมรับว่ากดดันมากที่ต้องพูดหลังพี่เต้นนะคะ เพราะว่าแต่ก่อนเวลามาชุมนุมเสื้อแดง พอพี่เต้นพูดเสร็จปุ๊บ หายหมดเลยหน้าเวที เป็นคนหนึ่งเหมือนกันที่แบบว่าทุกครั้งที่มาชุมนุม แจมก็จะมาอยู่หน้าเวที พอพี่เต้นพูดจบปุ๊บ ก็กลับเหมือนกันนะ พอรู้ว่าจะต้องพูดหลังพี่เต้นก็กดดันนิดนึง แต่คิดว่าประเด็นหลักใหญ่ใจความที่จะพูดวันนี้ พี่เต้นเองก็ได้พูดไปเกือบทั้งหมดแล้วนะคะ


วันนี้ขอบคุณคณะผู้จัดงาน ขอบคุณญาติวีรชนทุกท่านค่ะ แจมเองก็ยังจำหลาย ๆ คนได้ ยังจำหลาย ๆ เหตุการณ์ที่เกิดในวันนั้นได้ เหมือนที่พี่เต้นบอกค่ะ ทั้งแจม ทั้งคุณชนินทร์เอง วันนี้มีอีกคนหนึ่ง สส.พรรคก้าวไกล คุณสหัสวัต คุ้มคง (คุณเนม) เมื่อ 14 ปีที่แล้วเราก็เป็นนักศึกษา ซึ่งยอมรับเหมือนกันว่าใน 14 ปีก่อน นักศึกษาในม็อบเสื้อแดงมันน้อยมาก เราแทบจะเป็นคนกลุ่มน้อยเนอะที่อยู่ในม็อบเสื้อแดง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ 14 ปีที่แล้วเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง หรือว่าของเด็กคนหนึ่งเหมือนกัน


14 ปีที่แล้วเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แจมกลับมาสนใจการเมืองแบบเข้มข้นขึ้นเหมือนกัน และ 14 ปีที่แล้ว ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าพี่ ๆ วีรชนทุกคน หรือแม้กระทั่งพี่เต้น หมอเหวง อาจารย์ธิดา และอีกหลายคน ก็เป็นเหมือนแรงบันดาลใจที่ทำให้แจมสนใจการเมืองและก็ทำงานทางการเมืองต่อไปเหมือนกัน ก่อนจะเป็นสส.พรรคก้าวไกล แจมเป็นทนายความนะคะ และก่อนจะเป็นทนายความแจมเองก็เป็น Activist คนหนึ่งที่ทำกิจกรรมทางการเมือง


แจมเจอทนายความอานนท์ครั้งแรกก็ไม่รู้จักกันมาก่อนนะคะ แจมเป็นแค่คนเสื้อแดงคนหนึ่งที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพมหานคร แล้วก็ไม่รู้จักใครเลย วันที่มาชุมนุมวันแรกกับพี่น้องเสื้อแดงไม่ได้รู้จักใครเลย แต่แค่เราใส่เสื้อสีแดงแล้วเขาเห็นว่าเราหน้าเด็ก ๆ ป้า ๆ ลุง ๆ แม่ ๆ พ่อ ๆ ทุกคนต้อนรับแจมดีมาก ๆ เพราะเขาจะตื่นเต้นมาที่แบบมีเด็กมาในม็อบ ข้าวปลาอาหารทุกคนก็มาประเคนให้หมด แจมตื่นเต้นมากว่าทุกคนน่ารัก แจมมาคนเดียวนะคะ แจมเข้ามาเรียนในกรุงเทพมหานคร มาเช่าหอพักอยู่แถวดินแดงแล้วก็มาคนเดียว แล้วก็ดีใจมากว่าเราจะได้มาชุมนุมแบบไม่ต้องดูผ่านทีวี ครั้งแรกเหมือนกัน


แล้วก็เหมือนแจ๊คพอตเช่นเดียวกันว่าปีแรกที่เข้ามากรุงเทพฯ ปีแรกที่เข้ามาชุมนุมเป็นช่วงปี 52-53 พอดี เพราะฉะนั้นแจมเองอยู่ในห้วงเวลาของความเจ็บปวดช่วงนั้นกับทุกคนเหมือนกัน เหมือนคุณชนินทร์ เหมือนคุณสหัสวัต เหมือนทุกคนในที่นี้เช่นเดียวกัน หลังจากที่เกิดเหตุการณ์สังหารขึ้นตั้งแต่กระสุนในวันที่ 10 เมษา ซึ่งแจมอยู่ที่เชียงใหม่นะคะ ประตูท่าแพ เราก็กอดคอร้องไห้กันที่เชียงใหม่ กลับจากเชียงใหม่มาถึงกรุงเทพมหานคร ก็เห็นกลุ่มควัน แจมยังจำเหตุการณ์ได้ มันผ่านมา 14 ปี ดูเหมือนจะนาน แต่เชื่อมั้ยว่าแจมยังจำเหตุการณ์ทุกอย่างในวันนั้นได้


และใน 14 ก่อนที่มีการเข่นฆ่ากันกลางเมือง แจมจำได้ว่าวันที่แจมอยู่ในม็อบ คุณพ่อแจมเป็นอดีตทหารกาญจนบุรีนะคะ คุณพ่อโทรมาบอกแจมในม็อบว่า “รีบออกจากที่ชุมนุม เขาจะยิง” แจมเป็นคนหนึ่งที่เถียงพ่อว่า “พ่อ นี่มันปีไหนแล้ว เขาไม่ยิงหรอก มันมีกล้อง มันมีมือถือ ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้” และวันที่แจมกลับมาด้วยความที่อยู่ในที่ชุมนุมเนอะ กลับมาเพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อจะไปชุมนุมต่อ ก็มีการปิดพื้นที่ไม่ให้เข้าไป แจมได้แต่ดูข่าวทางทีวีค่ะ เป็นคนหนึ่งที่ถีบทีวีเหมือนกันเวลามีการรายงานของศอฉ. แจมก็เป็นคนหนึ่งที่ถีบทีวีเหมือนกันนะคะ แล้วก็ดูข่าวอย่างเงียบ ๆ


วันที่เป็นวัน 6 ศพวัดปทุม แจมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ร้องไห้อยู่หน้าทีวี วันที่พี่เต้นพูดถึง “เสียงจากดินถึงฟ้า” เป็นวันที่แจมร้องไห้แบบคุมตัวเองไม่อยู่เหมือนกัน และหลังจากเกิดเหตุการณ์ยิง ยังจำที่ทุกคนสติไม่อยู่กับเนื้อกับตัวได้ แล้วก็มีบุรุษท่านหนึ่งไปผูกผ้าแดงที่ราชประสงค์คนเดียวตอนนั้น ตอนนั้นแจมเองทำงานพาร์ทไทม์อยู่ที่สตาร์บัคราชประสงค์ค่ะ แล้วก็เห็นคนนั้นมายืนผูกผ้าแดง แล้วหลังจากนั้นทุกครั้งที่แจมเลิกงาน แจมก็จะไปผูกผ้าแดงกับเขา จาก 1 คน 10 คน 50 คน 100 คน วันหนึ่งก็มีพวกเราเต็มราชประสงค์ แจมจำเหตุการณ์วันนั้นได้ตลอด


หลังจากนั้นแจมก็เรียนจบปริญญาตรี แล้วก็ได้เจอพี่อานนท์อย่างที่เคยบอกไป ตอนนั้นแจมกำลังเรียนกฎหมายอยู่ ยังไม่ได้จบ เจอพี่อานนท์ครั้งแรกบอกกับพี่อานนท์ว่าจบกฎหมายเมื่อไหร่ ได้ทนายความเมื่อไหร่ 2 ปีนี้ขออนุญาตพักเบรคกับนักกิจกรรมไปเรียน จบทนายเมื่อไหร่แจมจะมาช่วยพี่อานนท์ทำคดีมาตรา 112 ตอนนั้นพูดไปก็ยังไม่ได้คิดอะไรรู้แค่ว่าอยากช่วยเห็นงานแกเยอะตอนนั้น แล้วก็หายไปถ้าหลาย ๆ คนจำได้แจมจะหายจากวงการไปอยู่ช่วงหนึ่ง ช่วงที่หลาย ๆ คนก็มาชุมนุมกัน


แล้ววันที่แจมจบทนายความมา เหมือนดวงชะตาแจมจะผูกพันกับการเมืองทุกช่วงเวลา แจมจบทนายความปี 2556 ตั๋วทนายแจมคือ 2556 เสร็จปุ๊บกำลังจะว่าความคดีแรก ๆ กำลังจะได้ฝึกทนายความเกิดรัฐประหารปี 2557 ค่ะ จับพลัดจับผลูก็ได้มาเป็นทนายความที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นทนายความคนแรกของศูนย์ทนายความฯ และคดีแรก ๆ ที่ทำก็ไม่พ้นป้า ๆ แม่ ๆ พี่ ๆ แถวนี่ทั้งนั้น ก็รู้สึกได้ทำคดีแล้วก็ได้ต่อสู้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนเสื้อจากนักกิจกรรมมาเป็นเสื้อครุยทนายความแทนในตอนนั้น


ตอนนั้นคิดว่า 2 ปีจะไปสอบอัยการผู้พิพากษา แต่ก็ไม่คิดว่าลุงตู่จะอยู่นานเกินกว่า 2 ปี ก็เลยอยู่กับศูนย์ทนายความฯ จนตอนโสด จนแต่งงาน จนท้องคนแรก วันก่อนจะคลอดลูกคนแรกแจมยังว่าความคดีของพ่อแม่พี่น้องเสื้อแดงอยู่เลย (คดีปาระเบิด) ว่าความเสร็จนัดสุดท้าย อีก 2-3 วัน แจมก็คลอดลูกเลย ท้องลูกคนที่สอง แจมก็ยังว่าความคดีเสื้อแดงอยู่เหมือนเดิม แล้วเป็นลูกความคนเดิมด้วย เขาก็บอกว่ารอบหน้าเจอกันทนายจะท้องอีกคนมั้ย?


เราก็เห็นความยากลำบากของการทำงานในกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกันกับที่พี่เต้นบอกเมื่อกี้เลย เราเห็นทางตันในหลาย ๆ ครั้งเนอะพี่เต้นเนอะ บางคดีที่เราคิดว่าเราเรียนกฎหมายมามันควรจะเป็นแบบนี้ แต่พอสุดท้ายปลายทางแล้ว มันก็ไม่เป็นแบบที่เราคาดไว้ คดีมาตรา 112 แจมเป็นพยานให้กับพี่เต้นได้นะ ในวันนั้นแจมเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วย วันนั้นที่เชิญพี่เต้นมาแจมอยู่ในห้องนั้นด้วย แล้วก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเนอะ เห็นถึงความเป็นไปได้


วันแรกที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเราก็มีคำถามเหมือนหลาย ๆ ท่านนั่นแหละค่ะ ว่ามันจะช่วยแก้ปัญหามากหรือน้อย คณะกรรมาธิการนี้แจมขออัพเดตต่อจากคุณชนินทร์ละกันว่าตอนนี้จริง ๆ เราตั้งไว้ 60 วัน แต่ด้วยความที่ว่ามันมีกระบวนการค่อนข้างเยอะ เพราะว่าคดีการเมืองพอเราขอข้อมูลไปขอข้อมูลมามันมีเป็นหมื่นเป็นแสนคดี อาจจะต้องใช้เวลาในการจัดระบบระเบียบว่ามันมีคดีอะไรบ้างที่จะเข้าเงื่อนไขการนิรโทษกรรม


แต่อย่างที่บอกว่าเราก็ยืนยันในห้องกรรมาธิการทุกครั้ง แจมเป็นหนึ่งคนที่ยืนยันทุกครั้งว่าเราไม่สามารถทิ้งกลุ่มคนในคดีมาตรา 112 ได้ แจมเป็นคนหนึ่งที่พยายามอธิบายให้หลาย ๆ ท่านในกรรมาธิการเข้าใจว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีการเมืองอย่างไร ซึ่งก็ต้องพูดกันตามตรงว่าหลาย ๆ พรรคที่ตอนแรกเหมือนจะแข็งกร้าวในเรื่องนี้ แต่พอเราได้คุยกันหลาย ๆ ครั้งในหลาย ๆ นัดที่เราได้ประชุมกัน ท่าทีของแต่ละพรรคก็เปลี่ยนแปลงไป ถึงแม้ท่านไพบูลย์ นิติตะวัน จะแย้งอยู่บ่อย ๆ ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วในคณะกรรมาธิการเราค่อนข้างเห็นตรงกันว่าเราจะไม่ทิ้งคดีมาตรา 112 ก็ขออัพเดตประมาณนี้ เดี๋ยวจะมีการขยายเวลาเพื่อศึกษาอย่างเต็มที่ ก็คาดหวังว่าทางพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย และหลาย ๆ พรรค เราจะช่วยกันซัพพอร์ทในเรื่องของการตราพ.ร.บ.นี้ขึ้นมาด้วยกัน


ส่วนในเรื่องของ ป.ป.ช. พี่เต้นได้อธิบายไปแล้ว ส่วนเรื่องของการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจศาลทหาร ได้คุยกับพี่ต๋อม ชัยธวัช ไว้แล้วว่าเราก็จะผลักดันเรื่องนี้ต่อเหมือนกัน และไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล อย่างที่เราประกาศไปตั้งแต่วันแรก เราจะเป็นฝ่ายค้านเชิงรุกค่ะ กฎหมายไหนที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน กฎหมายไหนที่ตรงกับอุดมการณ์ของเรา เราก็จะร่วมผ่านไปด้วยกัน นะคะ ต้องขอบคุณพรรคเพื่อไทยไว้ล่วงหน้าด้วยนะคะ


วันนี้ก็จริง ๆ เป็นงานรำลึกค่ะ ด้วยบรรยากาศทำให้ต้องเปลี่ยนเนื้อหาใหม่พอสมควรเหมือนกัน ก็ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมงาน ก็คงจะได้เจอกันอีกหลาย ๆ ครั้งเนอะ แจมก็เคยมาอยู่ตรงนี้ถ้ายังจำกันได้ เคยมาร้องเพลง 6ตุลา อยู่ แจมก็มาทุกปีค่ะ ถึงแม้วันนี้จะมาในชุดของนักการเมืองหรือว่าสส.ก็ตาม แต่ยืนยันรับตรงนี้ว่า เราไม่เคยลืมเลยว่าเรามาจากไหน เราไม่เคยลืมว่าเราผ่านอะไรมาด้วยกัน แม้บางครั้งจะมีการถูกป้ายสีมาว่าเราเป็นเสื้อแดงปลอมไปบ้าง หรือเป็นสลิ่มบ้างก็ตาม แต่ด้วยความที่วันหนึ่งเรามาเป็นนักการเมืองคิดว่าเราก็ต้องใจกว้างมาขึ้น ยอมรับความเห็นของหลายฝ่าย ขอให้ทุกคนใจเย็น เราผ่านเหตุการณ์ที่เราทะเลาะกันมา เสื้อแดง เสื้อเหลือง แจมไม่อยากจะเห็นเหตุการณ์แบบนั้นในวันนี้ อยากให้ทุกท่านใจเย็น ในคณะกรรมาธิการวันแรกมันก็เดือด ๆ เหมือนกัน ตอนหลังก็พยายามใจเย็นต่อกันมากขึ้น เพราะว่าเราจะมองปลายทางไปด้วยกัน


วันนี้ก็ขอขอบคุณทุกท่านนะคะ เป็นกำลังใจให้กันและกันค่ะ อะไรที่เราเดินไปแล้ว พรรคก้าวไกลเดินไปแล้ว อาจจะดูไม่โอเค เตือนกันได้ ด่ากันได้นะคะ เราไม่รู้อนาคตจะเป็นยังไง และวันนี้อยากพูดถึงทนายอานนท์ด้วยเหมือนกันนะคะ ทนายอานนท์ นำภา เขาเป็นทนายพี่เลี้ยงของแจมเลย ตอนที่แจมเป็นทนายความแรก ๆ ยังไม่ได้ทำคดีอื่น ทำคดีการเมืองก่อน พี่อานนท์เป็นทนายพี่เลี้ยงคนแรก ๆ ของแจม


อยากฝากไปยังรัฐบาลด้วยจริง ๆ ซึ่งพูดในกรรมาธิการไปหลายครั้ง ทุกครั้งเลยด้วยซ้ำ ทุกครั้งที่มีการประชุมเรื่องนิรโทษกรรมแจมจะพูดเรื่องหนึ่งทุกครั้ง ไปดูบันทึกประชุมได้ คือก่อนจะมีการนิรโทษกรรมเราต้องทำให้บรรยากาศทางการเมืองลดอุณหภูมิลงก่อน สิ่งหนึ่งที่ทำได้ก็คือการให้ประกันตัวนักโทษการเมืองที่กำลังถูกขังอยู่ตอนนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าจะนิรโทษกรรมเมื่อไหร่ แต่ระหว่างนี้ที่เราประชุมสัปดาห์ละครั้ง แต่ทุก ๆ วันที่เรารอมันคือคนในเรือนจำที่รออยู่เหมือนกัน และเวลาของเขายาวนานกว่าเราแน่นอน


และนอกจากเรื่องของการประกันตัว ก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ในประเทศอื่น ๆ ที่เขามีเหตุการณ์สลายการชุมนุมหรือเหตุการณ์เข่นฆ่าที่เขาทำกันก็คือ การต้องค้นหาความจริงให้กับผู้ที่เสียชีวิตด้วย การค้นหาความจริงเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่เป็นกระบวนการเยียวยา นอกเหนือไปจากการจ่ายเงิน นอกเหนือไปจากคดีความต่าง ๆ การเยียวยาคือการเยียวยาจิตใจ ทำอย่างไรให้ผู้เสียชีวิตถูกพูดถึงในมุมที่คนทุกคนเข้าใจว่าเป็นผู้เสียสละจริง ๆ เป็นวีรชนจริง ๆ ป้ายรายชื่อที่เห็น วันหนึ่งก็อยากจะเห็นมันถูกสลักลงไปในแผ่นไม้หิน ไม่ได้อยู่แค่ในฟิวเจอร์บอร์ด วันหนึ่งมันต้องมีแบบนั้น และแจมก็เชื่อว่าเราจะเดินทางไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าวันข้างหน้าจะเป็นชื่อพรรคอะไรก็ตาม ขอบคุณมากนะคะ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คปช53 #คนเสื้อแดง #ก้าวไกล