วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2567

ปาฐกถาของ ศ. ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ : ขอให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ของประชาชนยั่งยืนสถาพรต่อไป ขอให้ชัยชนะของประชาธิปไตยของประชาชนจงมาถึงในวันหนึ่งข้างหน้า

 


#14ปีเมษาพฤษภา53 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา


ปาฐกถาสั้นโดย ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้อง ญาติพี่น้องผู้เสียสละในเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 มวลชนเสื้อแดงที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 2553 และต่อมา จนถึงท่านผู้มีเกียรติ นักศึกษา และประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกท่านที่มาร่วมงานในวันนี้ ผมขอขอบพระคุณ คุณหมอเหวงและอาจารย์ธิดาที่กรุณาเชิญผมมาร่วมงานครั้งนี้และให้เกียรติในการกล่าวปาฐกถาสั้น ๆ สำหรับงานสำคัญในวันนี้


ก่อนอื่นขอคารวะและขอสดุดีจิตใจของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนที่ไม่กลัวความยากลำบากไม่กลัวตายของทุกท่านในขบวนการคนเสื้อแดงในวันนี้ และขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อญาติพี่น้องของผู้เสียสละที่ล่วงลับไปแล้ว


ถ้ามองในแง่ของประวัติศาสตร์ผมคิดว่าการต่อสู้ของขบวนการคนเสื้อแดงโดยเฉพาะในเดือนเมษา-พฤษภา 2553 มีลักษณะที่สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนไทย ถ้าหากว่าเรามองย้อนกลับไป เราเริ่มหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเป็นขั้นแรก เราก็คงต้องยึดถือเอาการเปลี่ยนแปลงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาระบอบอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนเป็นครั้งแรก


จากนั้นมา การเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวเพื่อที่จะไปบรรลุจุดหมายของประชาธิปไตยให้สมบูรณ์มันผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบันนี้ประมาณ 90 ปี ถ้ามองในแง่ของชีวิตคน ๆ หนึ่ง 90 ปี มันไม่น้อย นานมาก นานกว่าหลาย ๆ คน แต่ถ้ามองในแง่ของประวัติศาสตร์สังคมทั่วโลก 90 ปี ไม่ยาว ไม่นานเท่าไหร่ จริง ๆ แล้วก็ยังสั้น ประวัติศาสตร์สังคมอย่างน้อยที่สุดมันยาวเป็นถึงร้อยเป็นพันปี


เพราะฉะนั้น การมาชุมนุมกันเพื่อมารำลึกถึงเหตุการณ์การต่อสู้ของคนเสื้อแดงวันนี้ ผมคิดว่ามีลักษณะที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่อยากจะกล่าวย่อ ๆ ในที่นี้ก็คือว่า ผมคิดว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงปี 53 เป็นครั้งแรกที่มวลประชาชน โดยเฉพาะคนที่อยู่นอกศูนย์กลาง คนที่เรียกว่าอยู่ในหัวเมืองชนบท นอกเมืองหลวงจำนวนมากตัดสินใจเคลื่อนขบวนเข้ามาเพื่อทำการประท้วงเรียกร้องสิทธิทางการเมืองอันสมบูรณ์ของพวกเขากันเอง ไม่ใช่ร้องขอให้ตัวแทน ไม่ใช่ร้องขอให้ผู้มีอำนาจหรือผู้มีบารมีมาช่วยหาหรือสร้างประชาธิปไตยให้ แต่เป็นการต่อสู้ของพวกเขากันเองเป็นครั้งแรก


ทีนี้ถ้าเรามองกลับไป ทำไมการเข้ามาของประชาชนจากหัวเมืองจากต่างจังหวัด คนที่เคยเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของกรุงเทพฯ กรุงสยาม จึงมีความสำคัญ


ประวัติศาสตร์ไทยนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนาดใหญ่ที่เปลี่ยนจากระบอบเดิมที่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบใหม่นั้น จริง ๆ เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปประเทศเป็นการใหญ่ และที่สำคัญคือการรวมศูนย์อำนาจการปกครองเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการลดทอนอิทธิพลอำนาจการปกครองของท้องถิ่นของหัวเมืองชั้นนอกได้แก่ อีสาน ภาคเหนือ จนถึงภาคใต้ ปัตตานีทั้งหมด ก็เกิดการต่อต้านจากหัวเมืองทั้งประเทศ เกิดกบฏ ตั้งแต่กบฏไพร่ กบฏแพร่ที่เมืองแพร่ กบฏเงี้ยว และกบฏผีบุญที่อีสาน และกบฏพญาแขกปัตตานี 7 หัวเมือง อันนี้คือเหตุการณ์ในยุครัชกาลที่ 5


สิ่งสำคัญก็คือว่า การลุกขึ้นต่อสู้ครั้งแรกนั้นประชาชนถูกปราบ กองกำลังจากศูนย์กลางจากกรุงเทพฯ พุ่งตรงไปสู่หัวเมืองทุกที่ จากเหนือ จากอีสาน ลงไปถึงภาคใต้ เพราะฉะนั้นถ้ามองจากประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวการต่อสู้นั้นประชาชนถูกปราบจากศูนย์กลางตลอดเวลา ประชาชนหัวเมืองอย่างดีที่สุดก็แค่ประท้วงส่งเสียงมา แล้วก็ถูกกองกำลังส่วนกลางออกไปปราบเขาด้วยเครื่องมือที่เหนือกว่าทุกอย่าง


เพราะฉะนั้นตรงนี้คือประเด็นที่ผมอยากจะเน้นความสำคัญว่า ผมคิดว่าการเคลื่อนขบวนของเสื่อแดงปี 53 เป็นครั้งแรกที่ประชาชนจำนวนมากเป็นแสนคนที่เดินทัพเดินทางเข้ามาด้วยรถ ด้วยเรือ ด้วยเท้า ด้วยจักรยาน ด้วยทุกอย่างเท่าที่จะมาได้ มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานครเป็นขบวนยาวเหยียดหลายวัน แล้วก็ตั้งหลักในการประท้วง เรียกร้องสิทธิในการเมืองอันสมบูรณ์ของเขาขึ้นมา เป็นครั้งแรกที่ประชาชนจากหัวเมืองเดินทางเข้ามาล้อมกรุงเทพฯ แล้วก็ดำเนินการต่อสู้เรียกร้องอย่างสันติด้วยสองมือ ด้วยสติปัญญา ด้วยความสามัคคีของประชาชนกันเองทั้งนั้น เพราะฉะนั้นตำนานการต่อสู้นี้มันถูกเขียนไว้หลายที่หลายแห่ง มันจะไม่เลือนหายไป มันจะอยู่ต่อไป


แต่ที่สำคัญก็คือการเข้ามาของประชาชนที่มีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่นอน ที่ต้องการอิสระเสรีภาพของเขา ความเสมอภาค ความเท่าเทียมและความยุติธรรม มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย และผมยังคิดว่าต่อไปก็จะเกิดยากด้วย ฉะนั้นเสื้อแดงปี 53 จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ หน้าที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนไทยในรอบ 100 ปี


อันนี้ผมคิดว่าจึงเป็นมรดก เป็นความทรงจำ เป็นประสบการณ์ เป็นบทเรียนที่คนเสื้อแดงปี 53 ต้องรักษา ต้องถ่ายทอด ต้องผดุงความรับรู้อันนี้ไม่ให้สูญหายไป และผมคิดว่าดูจากเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 53 มาจนถึงปัจจุบันนี้ หลายอย่างก็เริ่มคลี่คลายไปตามแนวทางการต่อสู้ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่ทางฝ่ายแกนนำ หมอเหวง อ.ธิดา ได้ช่วยกันสร้างตั้งแต่โรงเรียนการเมือง การเข้าร่วมขบวนการต่อสู้ต่าง ๆ ผมคิดว่าทำให้การเคลื่อนไหวในระบอบที่เรียกว่าการเลือกตั้งตามระบอบที่รัฐบาลต้องการให้เกิดขึ้น ในที่สุดแล้วก็จะได้รับอิทธิพลทางตรงหรือทางอ้อมจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ทำให้การเลือกตั้งต่อมา ซึ่งส่วนใหญ่เราจะพ่ายแพ้ สู้อิทธิพลท้องถิ่น อิทธิพลเมืองหลวงไม่ได้ เรารู้ว่าการเลือกตั้งนั้นไม่เคยบริสุทธิ์และยุติธรรม มันถูกจัดตั้ง มันถูกทำให้เป็นไปตามคำสั่งของผู้มีอำนาจตลอดเวลา


จนกระทั่งการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังนี้ ที่เราเริ่มเห็นว่ามีพรรคการเมืองที่เข้ามาสืบทอดเจตนารมณ์อุดมการณ์ในการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเกิดขึ้นมา ผมไม่ต้องบอกก็ต้องรู้ว่าพรรคอะไรที่ตอนนี้มวลชนเสื้อแดงกำลังให้การสนับสนุนอย่างเต็มใจอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น อันนี้คืออานิสงส์ของการต่อสู้ ถึงแม้ว่าเราจะถูกปราบ เสียชีวิต 99 ศพอย่างน้อย แต่ว่าผลพวงที่สร้างสถาบันทางการเมืองที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างสันติ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าทางฝ่ายรัฐเป็นคนร่างกฎเกณฑ์ก็ตามเพื่อเขาได้เปรียบ แต่ว่าเมื่อประชาชนจำนวนล้านที่ออกมา เราสามารถที่จะสร้างชัยชนะของพรรคการเมืองของประชาชนขึ้นมาได้เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเลือกตั้งที่ปลอม ๆ มาตลอด


เพราะฉะนั้น อันนี้คือความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ซึ่งหมอเหวงและอาจารย์ธิดามีส่วนอย่างยิ่งในการเมือง ซึ่งผมก็ติดตามและรับฟังมาตลอดว่าสิ่งที่แกนนำเหล่านี้ได้ทำขึ้นมาไม่สูญหาย ผมคิดว่าเป็นดอกผลที่ทำให้การต่อสู้ของคนเสื้อแดงจะดำรงต่อไปในประวัติศาสตร์


เราไม่มีเวลามาก จะขออนุญาตสรุปการพูดวันนี้เพียงเท่านี้ว่า 


“ขอให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ของประชาชนยั่งยืนสถาพรต่อไป ขอให้ชัยชนะของประชาธิปไตยของประชาชนจงมาถึงในวันหนึ่งข้างหน้า” 


ขอบคุณครับ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คปช53 #คนเสื้อแดง