วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

“พริษฐ์” เปิด 3 ข้อเสนอเร่งด่วนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ (1) รัฐบาล-ฝ่ายค้านหารือประธานสภาฯ ให้เดินหน้าประชามติ 2 ครั้ง (2) หากต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ควรออกแบบคำถามหลักของประชามติครั้งแรกให้เปิดกว้าง และ (3) เปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญเพื่อร่วมแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ

 


พริษฐ์” เปิด 3 ข้อเสนอเร่งด่วนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ (1) รัฐบาล-ฝ่ายค้านหารือประธานสภาฯ ให้เดินหน้าประชามติ 2 ครั้ง (2) หากต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ควรออกแบบคำถามหลักของประชามติครั้งแรกให้เปิดกว้าง และ (3) เปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญเพื่อร่วมแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ

 

วันที่ 22 เมษายน 2567 พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมรัฐบาลมีแผนจะเสนอให้ ครม. เดินหน้ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการทำประชามติรวมกัน 3 ครั้ง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องที่รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนประชามติ ว่าในภาพรวม พรรคก้าวไกลอยากเห็นการเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้จริงโดยเร็วที่สุด

 

โจทย์เรื่องควรทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง เป็นข้อถกเถียงที่มีมานานและไม่ควรเป็นเหตุให้การเดินหน้าเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าช้าไปมากกว่านี้ ตนจึงมี 3 ข้อเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้ ก่อนการประชุม ครม. ที่จะเกิดขึ้นในวันอังคาร ซึ่งคาดว่าจะมีมติให้เดินหน้าการทำประชามติ 3 ครั้ง

 

ข้อเสนอที่ 1 ตนอยากให้ สส. รัฐบาลและฝ่ายค้าน ร่วมมือกันในความพยายามครั้งสุดท้าย เพื่อโน้มน้าวให้ประธานรัฐสภาพิจารณาทบทวนบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เพื่อเดินหน้าตามเส้นทางประชามติ 2 ครั้ง เพราะหากสำเร็จ จะประหยัดทั้งเวลาและงบประมาณ

 

ตนเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเห็นตรงกัน ว่าการที่ประธานรัฐสภาบรรจุร่างดังกล่าว จะเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 และความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก (อย่างน้อย 5 จาก 9) การตีความเช่นนี้ยิ่งได้รับคำยืนยันที่ชัดเจนขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องโดยให้เหตุผลส่วนหนึ่งว่า “ได้วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว” ในคำวินิจฉัย 4/2564 และแผนผังที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ออกมาที่ระบุชัดว่าขั้นตอนทั้งหมดในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จำเป็นต้องมีประชามติแค่ 2 ครั้ง

 

สำหรับใครที่กังวลว่าแม้ประธานรัฐสภายอมทบทวนและบรรจุร่าง สมาชิกรัฐสภาบางส่วน (โดยเฉพาะ สว.) ที่ไม่เห็นด้วย อาจพยายามยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เราอย่าลืมว่าการยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องอาศัยมติเสียงข้างมากของรัฐสภา ดังนั้นหาก สส. รัฐบาลและฝ่ายค้าน ยืนยันร่วมกันว่ารัฐสภาจะเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อได้ ก็ไม่มีทางที่เสียงสนับสนุนให้ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) จะมีเพียงพอ

 

สำหรับใครที่กังวลว่าแม้ประธานรัฐสภายอมทบทวนและบรรจุร่าง ร่างดังกล่าวก็อาจจะไม่ได้เสียงสนับสนุนจากอย่างน้อย 1 ใน 3 ของ สว. ซึ่งจำเป็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เราอย่าลืมว่าอีกไม่ถึง 1 เดือน กำลังจะมีกระบวนการคัดเลือก สว. ชุดใหม่ 200 คน หากกระบวนการเดินหน้าได้อย่างราบรื่นตามกรอบเวลาที่กำหนด สว.ชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่จะถึงนี้ และอาจมีมุมมองต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมือนกับ สว. ชุดปัจจุบัน 250 คน

 

พริษฐ์กล่าวต่อว่า ข้อเสนอที่ 2 หากความพยายามของเราไม่สำเร็จ และมีความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ตนอยากให้รัฐบาลเลือกคำถามหลักของประชามติครั้งแรกให้เปิดกว้าง เพื่อเพิ่มโอกาสที่ประชามติจะได้รับความเห็นชอบจากประชาชน

 

คำถามประชามติที่ถูกเสนอโดยคณะกรรมการศึกษาฯ (“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”) เป็นคำถามที่มีการ “ยัดไส้” เงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยในตัวคำถาม ซึ่งอาจทำให้ประชาชนบางคนที่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับอีกบางส่วนของคำถาม ไม่รู้ว่าจะลงมติเช่นไร ซึ่งเสี่ยงจะทำให้ในบรรดาคนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะลงคะแนน “เห็นชอบ” เหมือนกัน อย่างเป็นเอกภาพ

 

ตนเห็นว่ารัฐบาลควรใช้คำถามหลักของประชามติครั้งแรกที่เปิดกว้าง เช่น “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่?” เพื่อทำให้คนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกคน (ไม่ว่าจะเห็นต่างกันในรายละเอียดบางส่วน) ลงคะแนน “เห็นชอบ” เหมือนกัน อย่างเป็นเอกภาพ และเพิ่มโอกาสที่ประชามติครั้งแรก (หากจำเป็นต้องจัด) ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน

 

ซึ่งคำถามลักษณะเปิดกว้างเช่นนี้ ไม่ได้เป็นเพียงข้อเสนอของพรรคก้าวไกลและภาคประชาชนบางกลุ่ม แต่ยังเป็นหนึ่งในตัวเลือกคำถามประชามติที่ทางคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นฯ ของรัฐบาล ที่นำโดยคุณนิกร จำนง ได้เสนอให้คณะกรรมการศึกษาฯ ของรัฐบาลด้วยเช่นกัน แต่คณะกรรมการศึกษาฯ ที่นำโดยคุณภูมิธรรม เวชยชัย ตัดสินใจไม่เลือก

 

พริษฐ์กล่าวว่า ข้อเสนอที่ 3 คือไม่ว่ารัฐบาลจะลงเอยที่ทางเลือกไหนระหว่างประชามติ 2 ครั้งหรือ 3 ครั้ง สิ่งที่รัฐบาลควรร่วมมือกับฝ่ายค้านทำทันที คือการเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญเพื่อเร่งแก้ไข พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2564 ให้ทันกรอบเวลาที่จะมีการจัดทำประชามติ เพราะทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเห็นตรงกันว่า พ.ร.บ.ประชามติ ปัจจุบันมีข้อกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไข “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” (Double majority) ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างแต่ละฝ่าย เพราะเปิดช่องให้ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ประชามติผ่าน อาจเลือกใช้วิธีนอนอยู่บ้านและไม่ออกมาใช้สิทธิ เพื่อหวังคว่ำประชามติ โดยการกดสัดส่วนผู้ออกมาใช้สิทธิลง แม้ฝ่ายตนเองจะมีจำนวนน้อยกว่าฝ่ายที่ต้องการให้ประชามติผ่านก็ตาม โดยทั้ง 2 พรรคได้ยื่นร่างแก้ไขเข้าสู่สภาฯ ตั้งแต่ต้นปี ตอนนี้ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นและบรรจุเข้าระเบียบวาระการะประชุมแล้ว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชามติ #รัฐธรรมนูญใหม่