วันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2567

‘ภัทรพงษ์’ ผิดหวัง รัฐบาลจัดงบแก้ฝุ่นไม่สะท้อนความรุนแรงของปัญหา มีแต่คำพูด แต่ไม่ให้งบประมาณ แนะข้อเสนอ ‘แปลนตึก 5 ชั้น’ แก้

 


ภัทรพงษ์’ ผิดหวัง รัฐบาลจัดงบแก้ฝุ่นไม่สะท้อนความรุนแรงของปัญหา มีแต่คำพูด แต่ไม่ให้งบประมาณ แนะข้อเสนอ ‘แปลนตึก 5 ชั้น’ แก้ฝุ่นพิษทั้งโครงสร้าง คืนอากาศบริสุทธิ์เป็นของขวัญปีใหม่ประชาชน

 

วันที่ 4 มกราคม 2567 ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วันที่สอง ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคก้าวไกล พูดถึงงบจัดการปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่แม้รัฐบาลจะยกให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่เมื่อดูในเอกสารงบประมาณ กลับน่าผิดหวัง เพราะไม่ได้สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหา ไม่ทำให้รู้สึกถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาตามที่พูดไว้

 

ภัทรพงษ์ระบุว่า เอกสารงบประมาณรายจ่าย เปรียบเสมือนการบอกภารกิจพร้อมตัวเลขงบประมาณที่รัฐบาลจะทำให้กับประชาชน เป็นหลักฐานพิสูจน์สิ่งที่นักการเมือง ผู้บริหารประเทศ หรือคณะรัฐมนตรีได้เคยพูด เคยแถลง เคยสัญญากับประชาชน คนจะพูด พูดอะไรก็ได้ แต่สิ่งเดียวที่โกหกประชาชนไม่ได้คือตัวเลขงบประมาณ

 

ตนเคยอภิปรายในวันแถลงนโยบายของนายกฯ เมื่อเดือนกันยายน 2566 ว่าปัญหานี้ ต้องแก้ทั้งโครงสร้าง โดยวันนั้นได้เปรียบเทียบเป็นการสร้างตึก 5 ชั้น ที่เริ่มตั้งแต่การวางฐานรากด้วยข้อกฎหมาย จากวันนั้นถึงวันนี้ พรรคก้าวไกลยื่นร่างกฎหมาย 4 ร่าง โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ที่จะมีส่วนช่วยทำให้ตึก 5 ชั้นตึกนี้มั่นคงได้

 

อย่างไรก็ตาม การสร้างชั้น 1-5 เพื่อแก้ไขปัญหานี้ทั้งโครงสร้าง ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารด้วย จึงจะขอสํารวจงบประมาณของรัฐบาล ดูว่าสิ่งที่รัฐบาลพูดไว้ มีอะไรบ้างที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ. งบฯ และมีอะไรบ้างที่พูดอย่างเดียวแต่ไม่คิดจะทำ

 

ในชั้นที่ 1 สาธารณสุข น่าผิดหวังมากที่งบประมาณสาธารณสุข มีโครงการเกี่ยวข้องกับประเด็น PM2.5 เพียงแค่ผิวเผินเท่านั้น แผนยุทธศาสตร์จัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม 298 ล้านบาท ฟังดูดี แต่เข้าไปดูในรายละเอียด 292 ล้านเป็นโครงการยกระดับโรงพยาบาล Green and Clean ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากฝุ่นพิษ ส่วนอีก 6.2 ล้านบาทเป็นของกรมอนามัยที่ปีนี้ตั้งเป้าจะลดจำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจให้ได้ 5%

 

ซึ่งพอไปเจาะดูตัวเลขงบประมาณให้ละเอียดขึ้น ก็จะเหลือเพียง 2.8 ล้านบาทเท่านั้นที่เป็นโครงการเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษอากาศ เงิน 2.8 ล้านบาทนี้ เทียบเท่ากับโครงการจัดซื้อเครื่องวัดค่า PM2.5 และ PM10 เครื่องเดียว ที่จังหวัดสระบุรี กับวิกฤตที่กระทบสุขภาพ และพรากชีวิตคนที่เรารักไป รัฐบาลจัดงบได้แค่นี้หรือ

 

ทั้งที่ปัญหานี้มีความรุนแรง ข้อมูลจากกรมการแพทย์ อัตราส่วนโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดอยู่ในภาคเหนือ ปี 2556-2560 ตัวเลขของมะเร็งปอดอยู่อันดับ 2 ของทั้งเพศชายและหญิง แต่เมื่อเทียบกับภาคอื่น พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอด ภาคเหนือนําห่าง

 

ทั้งที่เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรผู้สูบบุหรี่ ภาคเหนือมีอัตราผู้สูบบุหรี่น้อยที่สุดในประเทศ จากข้อมูลทั้งหมดแสดงว่า ผู้ชายภาคเหนือมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าภาคอื่นๆ 1.4 เท่าและผู้หญิงภาคเหนือก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าที่อื่นๆ ถึง 1.7 เท่า ทั้ง ๆ ที่ตัวเลขผู้สูบบุหรี่ในภาคเหนือ มีน้อยกว่าตัวเลขผู้สูบทั่วประเทศถึง 10%

 

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ภาคเหนือ ในปี 2566 มียอดผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจทั้งประเทศอยู่ที่ 6,826,577 คน กว่าครึ่งของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งเกินค่ามาตรฐาน

 

ประชาชนเขาไม่ต้องดูตัวเลขพวกนี้ เพราะพวกเขาเจอปัญหานี้ด้วยตัวเองกันไปแล้ว แต่รัฐบาลต้องเข้าใจตัวเลขพวกนี้ก่อน ถึงจะจัดงบประมาณไปแก้ปัญหาได้ ท่านจัดงบมาแบบนี้ อดสงสัยไม่ได้ว่า ท่านเข้าใจปัญหาของประชาชนบ้างหรือเปล่า เปลี่ยนจากดูแลปัญหาปากท้อง มาดูแลปอดของประชาชนบ้างได้ไหม”

 

เมื่อมาดูว่า ครม. มีแนวทางอย่างไรในด้านนี้บ้าง หนึ่ง ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำห้องปลอดฝุ่น แต่งบ 67 ไม่มี งบ 65 66 ก็ไม่มี ในอดีตมีเพียงการใช้งบจาก สสส. องค์การอนามัยโลก และการรณรงค์ให้ภาคประชาชนเข้าร่วมโครงการแบบอาสาเท่านั้น ตัวเลขยอดรวมปัจจุบัน กรมอนามัยแจ้งไว้ที่ 1,178 แห่ง แต่เมื่อเช้านี้ผมเข้าเว็บไซต์กรมอนามัยยังขึ้นโชว์ที่จังหวัดเชียงใหม่เพียง 4 จุดเท่านั้น

 

สอง ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ งบประมาณไม่เห็นเช่นเคย ทุกวันนี้เห็นแต่เครือข่ายมลพิษออนไลน์ที่จะช่วยประเมินสุขภาพพร้อมให้คำแนะนําผ่าน LINE official แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงระบบออนไลน์ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเสริมมาตรการออนกราวน์ โดย อสม. เข้าไปด้วย โดยทั้งหมดต้องเตรียมงบประมาณในการแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นพิษ และจัดงบประมาณการเฝ้าระวังโรคและสุขภาพในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 อย่างรุนแรง เหมือนที่รัฐบาลจัดโครงการลักษณะเดียวกันนี้กับเขตพื้นที่ EEC ที่ไม่ได้มีความรุนแรงขนาดภาคเหนือด้วยซ้ำ

 

นี่คือข้อเสนอแนะแนวทางเพื่อทำให้ชั้นสาธารณสุขนี้เกิดประโยชน์สูงสุดจากงบประมาณของรัฐบาล สะท้อนปัญหาได้ดียิ่งขึ้น

 

สำหรับในชั้นที่ 2 ไฟเกษตร ตนตั้งความหวังไว้สูงมาก เพราะ รมว.เกษตรฯ เป็นอดีตประธาน กมธ.วิสามัญการแก้ปัญหา PM2.5 อย่างเป็นระบบ ซึ่งในผลการศึกษาของ กมธ. ชุดนั้น ชัดเจนว่ารัฐต้องมีนโยบายเพิ่มแรงจูงใจและมาตรการควบคุมการลดการเผาในด้านการเกษตรที่ชัดเจน

 

เมื่อมาดูงบปี 67 มีโครงการสำหรับพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือที่เจอปัญหาฝุ่นพิษอย่างรุนแรงมาตลอด วงเงิน 15.12 ล้านบาท เพื่อลดการเผามาทำปุ๋ยหมัก โดยมีเป้าหมายว่าจะลดการเผาภาคการเกษตรในพื้นที่ 21,000 ไร่ ในขณะที่ ครม. วางเป้าหมายว่าจะลดการเผาพื้นที่เกษตรลงร้อยละ 50

 

พอมาดูข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ภาคการเกษตรทั้งหมดของ 9 จังหวัดภาคเหนือ อ้างอิงจาก GISTDA ปี 2566 ตัวเลขอยู่ที่ 237,867 ไร่ เพราะฉะนั้นโครงการนี้ตั้งเป้างบประมาณที่มุ่งเป้าเพียงแค่ 2 หมื่นต่อ 2 แสน หรือ 10% เท่านั้น และไม่เห็นโครงการอื่นที่มีเป้าหมายเช่นนี้แล้ว

 

นั่นหมายความว่า ที่พูดไว้ว่าจะลดการเผาหลักแสนไร่ แต่ตั้งงบมาแค่สองหมื่นไร่ ทำไมมันไม่เหมือนที่คุยกันไว้ แม้จะบอกว่า เรามีโครงการส่งเสริมการหยุดเผา 9.7 ล้านบาท และมีโครงการเฝ้าระวังการเผาซากพืชอีก 7 ล้านบาท แต่ 2 โครงการนี้ตั้งงบเท่ากับปี 66 เป๊ะ และงบกว่า 3 ใน 4 ค่อนไปที่การอบรมสัมมนาอย่างเดียว

 

ที่ประชุม ครม. ยังพูดไว้อีกหนึ่งประเด็น คือระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากการเผา งบ 4.5 ล้านบาทเท่านั้น น้อยกว่างบประมาณโครงการกว๊านพะเยาหลาย ๆ โครงการเสียอีก

 

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของ กมธ. ที่ รมว.เกษตรฯ เคยนั่งเป็นประธาน ยังมีผลการศึกษาว่า ธ.ก.ส. ต้องมีมาตรการการจูงใจเกษตรกรให้ไม่เผาด้วย แต่เมื่อดูงบประมาณ ธ.ก.ส. ด้านนี้ โครงการอุดหนุนเกษตรกรชาวสวนอ้อยไม่เผา 442 ล้านบาท ดูรายละเอียดแล้วเป็นการจ่ายย้อนหลังให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปี 63 และ 64

 

อีกหนึ่งต้นเหตุของไฟเกษตร คือข้าวโพดอาหารสัตว์ ไม่มีงบประมาณสักบาทเดียว ทั้งที่อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรพูดเอง ว่าเราต้องทำระบบกำหนดเขตที่ดินสำหรับข้าวโพดอาหารสัตว์ภายใต้มาตรการเขตเกษตรเศรษฐกิจ จัดทำโครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูงทั้งหมด ทำการเกษตรแบบไม่เผา แล้วทำระบบรับรองสินค้าการเกษตรแบบไม่เผาด้วย

 

ที่ท่านอธิบดีพูด มาถูกต้องทุกอย่าง แต่พูดอย่างเดียว ไม่มีในงบประมาณเลย”

 

งบประมาณจัดทำมาตรฐาน GAP ก็ไม่ต่างอะไรกับปี 66 หนำซ้ำงบประมาณกระทรวงเกษตรฯ ก็ถูกปรับลดจาก 1.26 แสนล้านบาท เป็น 1.18 แสนล้านบาท

 

ท่านนายกฯ ผมทราบว่าท่านลงไปมอบนโยบายให้กรมต่างๆในกระทรวงเกษตรฯ จัดการปัญหา PM2.5 ที่ต้นตอ มีแต่คำสั่งมา แต่เงินไม่มี วิกฤตแบบไหน ท่านจึงจัดงบแบบนี้”

 

โดยใจชั้นที่ 3 ไฟป่า ปีนี้เราเห็นงบประมาณด้านไฟป่าเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีความชัดเจนในหลายๆ ด้าน ทั้งที่เรามีข้อมูล มีความรู้หมด

 

ยกตัวอย่างข้อมูลทางดาวเทียม พฤติกรรมพื้นที่เผาไหม้รายเดือนตั้งแต่ปี 2563-2566 ของภาคเหนือ ระบุอย่างชัดเจนว่าไฟป่ามักเริ่มต้นจากจังหวัดตาก มาที่ลำพูนและเชียงใหม่ตอนใต้ พื้นที่เผาไหม้สะสมของจังหวัดเชียงใหม่ในปี 63 และ 66 ก็แสดงพื้นที่เฝ้าระวังให้เราอย่างชัดเจน ว่าจุดไหนหนักหรือเบา แต่ทําไมเราทำอะไรกับมันไม่ได้ ทําไมไม่เคยมี action plan ที่ต่อเนื่องและจริงจัง

 

อีกทั้งสิ่งที่เป็นปัญหาหลักของไฟป่ามาตลอด คืองบประมาณจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการดับไฟป่าให้กับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ตรงนี้ก็ยังไม่ชัดเจน

- งบประมาณ 80.8 ล้านบาทในการเพิ่มจุดเฝ้าระวังไฟป่า 1,000 จุดในเขตพื้นที่อุทยาน ก็ยังคลุมเครือว่า 80,000 บาทต่อจุดนั้น เป็นการจัดทำระบบ sensor หรือระบบการตั้งหน่วยของอาสาสมัคร

- งบสำหรับโดรนตรวจจับความร้อนเพื่อช่วยในการระบุตำแหน่งของไฟที่ชัดเจนให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปดับไฟได้อย่างถูกจุด ก็ยังไม่เห็นในรายละเอียด

 

แต่สิ่งที่ตนผิดหวังมากที่สุด คืองบประมาณยังคงกระจุกที่ส่วนกลาง ไม่ได้กระจายมายังคนที่อยู่ใกล้ปัญหามากที่สุด นั่นก็คือท้องถิ่น

 

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นของบในการป้องกันและจัดการไฟป่าไปทั้งหมด 1,709 ล้านบาท สำหรับ อปท. 2,368 แห่ง แต่กลับได้งบมา 50 ล้านบาทเท่านั้น ตัวเลขนี้ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้วเลย งบห้องปลอดฝุ่นก็ไม่มีให้ท้องถิ่น งบไฟป่าก็ไม่มีอีก ท้องถิ่นในพื้นที่ป่าก็มีงบประมาณต่อปีน้อยอยู่แล้ว จะเอางบประมาณที่ไหนมาจัดการปัญหานี้

 

ท่านนายกฯ จะให้นักการเมืองท้องถิ่นต้องควักกระเป๋ากันเอง เพื่อหาทุนมาดับไฟป่าอย่างนั้นหรือ”

 

อ้างอิงจาก GISTDA พื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนที่เผาไหม้ในปี 2566 ของเชียงใหม่จังหวัดเดียวอยู่ที่ 1 ล้านไร่ แม่ฮ่องสอน 1.7 ล้านไร่ กี่ปีต่อกี่ปีมาแล้วที่เราเห็นว่าเจ้าหน้าที่กรมอุทยานและกรมป่าไม้ มีไม่เพียงพอต่อการดับไฟป่า และหลายครั้งก็ไม่สามารถเข้าถึงจุดดับไฟได้ไวเท่ากับคนในพื้นที่

 

ผมหวังว่าเราจะไม่ได้เห็นพี่น้องของเราที่เข้าไปดับไฟ โดยที่ไม่ได้รับอุปกรณ์การป้องกันใด ๆ จากงบประมาณของรัฐบาล ขอให้ท่านนายกชี้แจงให้ท้องถิ่นทั่วประเทศได้ฟัง ว่าทำไมท่านถึงตัดงบท้องถิ่นลงเยอะขนาดนั้น และทําไมเราจึงไม่สามารถจัดสรรงบประมาณด้านไฟป่าให้คนที่อยู่ใกล้ปัญหามากที่สุดได้”

 

สำหรับชั้นที่ 4 การแจ้งเตือนและการเก็บข้อมูล เพื่อสามารถพยากรณ์ค่า PM2.5 ล่วงหน้าได้แม่นยํามากขึ้น เราจำเป็นต้องมีเครื่องวัดระดับความสูงชั้น PBL หรือชั้นบรรยากาศที่อยู่ใกล้ผิวโลก ชั้นบรรยากาศนี้คือชั้นที่มลพิษไม่สามารถผ่านได้ ทำให้หากชั้นบรรยากาศนี้ตำลงเท่าไร ความหนาแน่นของฝุ่นละอองก็จะมาก

ขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เราได้เห็นสิ่งนี้ในงบประมาณรายจ่ายเสียที

 

แต่สิ่งที่ผิดหวังคือในงบ 67 นี้ เรากลับมีโครงการเพียงแค่ กทม. ที่เดียวเท่านั้น และในแผนงบประมาณผูกพันปี 67-68 วงเงิน 127 ล้านบาท จะทำได้แค่ 3 ที่ คือ เชียงใหม่ สงขลา และ กทม.

 

ในส่วนการแจ้งเตือน เราได้เห็นงบประมาณการแจ้งเตือนผ่านสัญญาณโทรศัพท์ 135 ล้านบาทของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งคาดว่าจะเป็นการทำ Cell broadcast entity เพื่อจัดการข้อมูลเตือนภัยและส่งข้อความไปยัง cell broadcast center ซึ่งตรงนี้ตนยังไม่เห็นในเอกสารงบประมาณฉบับนี้

 

ดังนั้นขอแนะนําให้กระทรวงดิจิทัลฯ ใช้งบการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation) ของ กสทช. จัดทำไปเลย เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยด้วยระบบ cell broadcast สามารถเริ่มต้นได้ก่อนปี 2568 เรื่องนี้ขอฝากทางกระทรวงมหาดไทยไปยังกรม ปภ. เพราะปัจจุบันแค่ app thai disaster alert ยังแจ้งเตือนกันไม่ได้

 

เพราะฉะนั้นถ้ายังเป็นแบบนี้ ต่อให้มีเทคโนโลยี เราก็ไม่มีข้อมูลไปแจ้งเตือนประชาชน

.

นอกจากนี้ ขอเสนอแนะเพิ่มเติมคือการใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมเพื่อประเมินปริมาณใบไม้ร่วง จะทำให้เราประเมินถูกว่าในพื้นที่ไหนมีใบไม้แห้งที่เป็นเชื้อเพลิงมากหรือน้อย และทำให้เราสามารถวางแผนจัดทำแนวกันไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะจากข้อมูลทางดาวเทียม มีแนวกันไฟหลายแนวที่ทำขึ้นมาโดยอ้างอิงจากข้อมูลในอดีต ทำให้เสียทั้งแรงกายและงบประมาณ แต่หากนําเทคโนโลยีมาใช้ประมวลผล จะใช้งบประมาณในการทำแนวกันไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

อีกส่วนหนึ่งที่ช่วยดับไฟตั้งแต่ต้นลม คือ sensor detect ไฟป่า เคยมีงานวิจัยไปทดลองที่ลำพูนมาแล้วว่าการแจ้งเตือนไฟป่าให้คนในพื้นที่เข้าไปดับได้ตั้งแต่แรกเริ่มนั้น จะสามารถลดความรุนแรงและการลุกลามของไฟได้ ทั้งหมดนี้คือเหตุผล ว่าทําไมเราถึงต้องกระจายงบประมาณในการดับไฟไปยังคนที่อยู่ใกล้ปัญหาอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

และชั้นที่ 5 ศูนย์บัญชาการ ขอตั้งคำถามถึงรัฐบาล คือในปีนี้ รัฐบาลจะแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นพิษให้ประชาชนด้วยวิธีใด และเกณฑ์การแจ้งเตือนอยู่ที่เท่าไร

 

นอกจากนี้ในส่วนระหว่างประเทศ หรือฝุ่นพิษข้ามพรมแดน กระทรวงการต่างประเทศตั้งเป้าลดความเสี่ยงผลกระทบจากภัยธรรมชาติและจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยงบประมาณ 797.5 ล้านบาท แต่ไม่บอกรายละเอียดอะไรเลย มีเพียงแค่ 2 ตัวชี้วัดลอย ๆ ก็คือข้อเสนอของไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ 80% และความสำเร็จของไทยในการจัดหารือสัมมนา ตลอดจนพัฒนามาตรฐานภายในประเทศให้เป็นสากล 70%

 

ขอถาม รมว.ต่างประเทศ ว่าท่านจัดงบประมาณตรงนี้มาเพื่ออะไร ต่อให้เราผ่านตัวชี้วัดทั้งสองตัวนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าเราสามารถลดความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศได้เลย”

 

จากการประชุม ครม. มีมติให้กระทรวงต่างประเทศดำเนินการเจรจาประเทศเพื่อนบ้านตามกลยุทธ์ฟ้าใสหรือว่า CLEAR sky strategy ที่เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ไม่เคยเห็นผลลัพธ์แม้แต่ตัวอักษรเดียว

 

ตนจึงขอเสนอแบบนี้

- C commitment ดำเนินการตามข้อตกลงอาเซียน เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านแล้วตั้งเป้า

หมายจำนวนจุดความร้อนในปี 2567 และ 2568 ให้ชัดเจน

- L Leverage ใช้ข้อตกลง ASEAN ไม่ว่าจะเป็นหมอกควันข้ามแดนหรือ ATIGA ในการต่อรองแก้ไขประกาศการนําเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านให้เอื้อกับประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ประโยชน์ของนายทุน และกำหนดมาตรฐานของหนังสือรับรองสินค้าว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่วมกันใหม่ให้ชัดเจนในด้านการเผาหรือการก่อให้เกิดฝุ่นพิษ

- E experience sharing แลกเปลี่ยนการฝึกอบรมอาสาระหว่างประเทศ ทำอาสาข้ามพรมแดน

- A air quality network ทำฐานข้อมูลให้ครอบคลุมเครือข่ายประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อช่วยในระบบการแจ้งเตือนในพื้นที่ชายแดนและการลุกลามของไฟในแนวเขตป่าติดต่อระหว่างประเทศ

- R response รับมือกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดนโดยการลงทุน sensor ตรวจไฟป่า สนับสนุนงบประมาณช่วยประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการเผา และนําส่วนนี้เข้าไปเพิ่มน้ำหนักในการต่อรอง เป็น leverage ในชั้นตัว L อีกทางหนึ่ง


จากเอกสารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่นายกฯ ยกให้เป็นวาระแห่งชาติ สิ่งที่เราได้เห็นคือ

- งบประมาณรายจ่ายด้านสาธารณสุข ที่จัดมาโดยไม่ได้สะท้อนถึงวิกฤตปัญหา

- งบไฟเกษตรที่มีแต่คําพูด แต่กลับไม่มีเงิน

- งบไฟป่าที่ยังคงกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ไม่ได้กระจายสู่ท้องถิ่น ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลชุดที่แล้ว

- งบการพยากรณ์และการแจ้งเตือนที่ทำให้เรายังวิ่งตามเทคโนโลยีมาตรฐานสากลไม่ทันและติดขัดในภาคปฏิบัติ

- งบการบัญชาการ ที่นอกจากจะไม่ได้กระจายอำนาจแล้ว งบฝุ่นพิษข้ามแดนก็ยังคลุมเครือ

 

จึงหวังว่าวันนี้ รัฐบาลจะนําสิ่งที่ตนอภิปรายเสนอแนะไปพิจารณาแก้ไข เพราะถ้าจะจัดงบกันแบบนี้ ทางแก้มีทางเดียวคือต้องจุดธูปขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภาวนาให้ธรรมชาติ ทุเลาเบาบางไปกว่าเดิม ถ้าธรรมชาติปรานี ประชาชนก็พ้นภัย แล้วก็ต้องสวดมนต์อ้อนวอนให้ประเทศเพื่อนบ้านเลิกเผาด้วย แต่ก็ไม่รู้จะเลิกหรือไม่ เพราะทุกวันนี้รัฐยังไม่มีมาตรการใด ๆ กับการนําเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ที่มีที่มาจากการเผาเลย

 

ซึ่งส่วนนี้ ขอให้ รมว.พาณิชย์ เร่งดำเนินการพิจารณาตามข้อเสนอแนะที่ตนเสนอผ่านกระทู้สดไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาด้วย

 

ในอีกไม่กี่สัปดาห์ เราจะเจอกับปัญหา PM2.5 ที่รุนแรงอีกครั้ง จะรอดูว่าประชาชนพอจะมีความหวังกับการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ได้หรือไม่ ประชาชนภาคเหนือกําลังรอตัดสินท่านอยู่ ตนและพรรคก้าวไกลจะติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด และหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่ให้ความสนใจกับประเด็นนี้เพียงแค่ช่วงที่มีปัญหา แต่พอฝุ่นเบาบางลง ก็ปล่อยปละละเลยไม่วางแผนเตรียมการใดๆ อย่างเช่นที่ผ่านมา

 

ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ปี 2567 นี้ ของขวัญที่ประชาชนอยากได้จากท่านคงไม่ใช่คําอวยพร หรือคํามั่นสัญญาใด ๆ แต่ของขวัญที่ประชาชนอยากได้ คืออากาศบริสุทธิ์ที่พวกเขาสามารถหายใจได้ เด็กๆ ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านได้ และเราไม่ต้องยิ้มให้กันภายใต้หน้ากากอนามัย ขอแค่เท่านี้ มอบให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน” ภัทรพงษ์กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ประชุมสภา #งบ67 #PM25