วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2567

“รังสิมันต์-รอมฎอน” กมธ.ความมั่นคงฯ รับหนังสือนักกิจกรรมชายแดนใต้กรณีถูกใช้กฎหมายปิดปาก ชี้วิธีคิดหน่วยงานความมั่นคงมีปัญหา-แก้ปัญหาไม่ได้ ห่วงการดำเนินคดีจะก่อผลเสียต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ จ่อเชิญหน่วยงานชี้แจง 25 ม.ค. นี้

 


รังสิมันต์-รอมฎอน” กมธ.ความมั่นคงฯ รับหนังสือนักกิจกรรมชายแดนใต้กรณีถูกใช้กฎหมายปิดปาก ชี้วิธีคิดหน่วยงานความมั่นคงมีปัญหา-แก้ปัญหาไม่ได้ ห่วงการดำเนินคดีจะก่อผลเสียต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ จ่อเชิญหน่วยงานชี้แจง 25 ม.ค. นี้

 

วันที่ 17 มกราคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา นักกิจกรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อร้องเรียนกรณีที่แม่ทัพภาคที่ 4 ฟ้องร้องดำเนินคดีนักกิจกรรมในพื้นที่ ทั้งกรณีการสวมชุดมลายู และการจัดกิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ โดยมี รังสิมันต์ โรม และรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนคณะกรรมาธิการฯ เข้ารับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว

 

รังสิมันต์ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้ารัฐยังใช้วิธีคิดภายใต้กรอบ “ความมั่นคง” แบบเดิมก็คงจะได้ผลแบบเดิม ที่ผ่านมาแม้ตนและเพื่อน สส.จากหลายพรรคจะได้ทำหน้าที่ผู้แทนเป็นปากเป็นเสียงอย่างเต็มที่แล้ว แต่ลำพังกลไกรัฐสภาอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ภาคประชาชนหลายฝ่ายก็พยายามทำทุกวิถีทางในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าวิธีคิดที่ผ่านมาของรัฐอาจจะทำให้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้

 

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ซึ่งมี สส.จากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคน และมีตัวแทนจากหลายพรรคการเมือง ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยในวันที่ 25 มกราคมนี้จะมีการประชุมกันในประเด็นการใช้กฎหมายและการคุกคามต่อทั้งนักกิจกรรมและประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งตนหวังว่าจะมีตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึง กอ.รมน. เข้าร่วมด้วย เพื่อนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันได้

 

ยืนยันว่าเราอยากเห็นสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จริง การแก้ปัญหาต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นสะพานในการแก้ปัญหาที่ประชาชนได้รับความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด” รังสิมันต์กล่าว

 

ขณะที่รอมฎอนระบุว่า ความน่าสนใจของกรณีนี้คือ นิยามของคำว่า “ความมั่นคง” ควรครอบคลุมกว้างแค่ไหน โดยขณะนี้คณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ไม่ได้ดูแค่เรื่องของการทหารหรือความมั่นคงในแบบจารีตเท่านั้น แต่เราดูไปไกลกว่านั้น ซึ่งรวมถึงการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ดังนั้น รัฐต้องมีนิยามเกี่ยวกับความมั่นคงใหม่ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงและเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น

 

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากมิติของการดำเนินคดีแล้ว ยังมีผลกระทบในทางการเมืองและนโยบายการสร้างสันติสุขของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลต่อผู้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากมาย ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎรควรจะได้เป็นพื้นที่ในการพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน เราอาจจะได้นิยามความหมายใหม่ของคำว่าความมั่นคงที่เป็นธรรมต่อประชาชนมากขึ้น” รอมฎอนกล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ชายแดนใต้ #ความมั่นคง