สภาฯ
มีมติเอกฉันท์ รับหลักการ “พ.ร.บ.อากาศสะอาด” ทั้ง 7 ฉบับ “ภัทรพงษ์” อภิปรายสรุปจุดเด่น “ร่างฯ ก้าวไกล”
บังคับจัดทำรายงานปล่อยมลพิษทางอากาศตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
มีบทลงโทษทั้งทางแพ่ง-อาญา-มาตรการทางสังคม
วันที่
17 มกราคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการจัดการอากาศสะอาดจำนวน 7 ฉบับ จากทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน
ต่อเนื่องมาจากการประชุมเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 โดย ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคก้าวไกล
ผู้เสนอ “ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการปล่อยมลพิษข้ามพรมแดน”
ได้เป็นผู้อภิปรายสรุปในส่วนของพรรคก้าวไกล
ภัทรพงษ์ระบุว่า
สถานการณ์อากาศเป็นพิษเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไขทั้งระบบ
ซึ่งร่างฯ ของพรรคก้าวไกลมีจุดเด่นที่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาใน 7 ประเด็นหลัก
ได้แก่
1)
สิทธิของประชาชนในการเข้าตรวจโรค
และสวัสดิการในการรับการรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
2)
การกระจายอำนาจในการจัดการปัญหาระดับจังหวัด
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟป่าหรือ PM2.5 ไปยังนายก อบจ.
เพราะประชาชนต้องการให้คนที่ตนเลือกตั้งเข้ามาเป็นหัวเรือในการขับเคลื่อน
มากกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอายุเฉลี่ยเพียง 1-2 ปีแล้วย้ายไป
3)
ปัญหาไฟจากภาคเกษตร ร่างฯ
ของพรรคก้าวไกลระบุชัดเจนในการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ต้องมีการจัดทำงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลดการเผาในภาคเกษตรให้ชัดเจนมากขึ้น
4)
ปัญหาจากการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ ร่างฯ
ของพรรคก้าวไกลระบุอย่างชัดเจนไม่ให้มีการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ที่มีที่มาจากการเผา
5)
ในด้านระบบการแจ้งเตือน ร่างฯ ของพรรคก้าวไกลระบุชัดเจนมากที่สุด
ว่าการแจ้งเตือนต้องเกิดขึ้นแบบเฉพาะเจาะจงพื้นที่ เมื่อมีค่า PM2.5 เกินกว่าค่ามาตรฐานที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดไว้เกิน 24
ชั่วโมง
6)
ในด้านคณะกรรมการหลักที่มีอำนาจกำกับดูแลปัญหา ร่างฯ
ของพรรคก้าวไกลกำหนดให้ใช้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชุดเดิมที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยเพิ่มเติมบทบาทหน้าที่สำคัญคือ
การจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นพิษเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพราะที่ผ่านมา
ภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ แก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 อย่างไรประชาชนไม่เคยทราบ
แต่ด้วยร่างฯ นี้ เราจะเห็นการจัดทำรายงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สภาฯ
พิจารณาร่วมกันทุกปี
7)
ในด้านการจัดการปัญหาที่ต้นตอ ร่างฯ
ของพรรคก้าวไกลกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องจัดทำรายงานการปล่อยมลพิษทางอากาศครอบคลุมทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน
(supply chain) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
และต้องมีมาตรการลงโทษที่ชัดเจนทั้งทางแพ่งและทางอาญา
รวมทั้งมาตรการเปิดเผยรายชื่อผู้กระทำผิดให้สาธารณะได้รับทราบ
ภัทรพงษ์กล่าวต่อไปว่า
หลังจากร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการจัดการอากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับผ่านวาระหนึ่งในวันนี้
จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณากฎหมายดังกล่าวต่อไป
และจะมีการนำข้อดีของแต่ละร่างฯ มาประกอบกัน เพื่อให้ได้
พ.ร.บ.ที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประชาชนมากที่สุด
จึงขอให้ประชาชนทุกคนร่วมกันติดตามการปรับปรุงรายละเอียดของกฎหมายในชั้นกรรมาธิการต่อไป
หลังการอภิปรายสรุปจากผู้เสนอร่างกฎหมายทุกภาคส่วน
สภาฯ ได้มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดทุกฉบับ โดยลงคะแนนเห็นด้วย 443 เสียง
ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง
และไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยกำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติ 15
วัน