วันศุกร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2567

“พริษฐ์” เผย กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เชิญ “ผู้ว่าชัชชาติ” ร่วมหาทางออกเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดร่างผังเมือง กทม. พร้อมตั้ง 5 โจทย์หารือสัปดาห์หน้า

 


พริษฐ์” เผย กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เชิญ “ผู้ว่าชัชชาติ” ร่วมหาทางออกเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดร่างผังเมือง กทม. พร้อมตั้ง 5 โจทย์หารือสัปดาห์หน้า

 

วันที่ 12 มกราคม 2567 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ได้มีมติเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงและหารือเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อกรณีร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ในการประชุมสัปดาห์หน้าวันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม 2567 ที่รัฐสภา

 

จากทั้งความเห็นของประชาชนที่ปรากฎในสาธารณะ และจากข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการที่ได้ไปสังเกตการณ์การประชุมรับฟังความเห็นประชาชนที่จัดโดย กทม. เมื่อวันที่ 6 มกราคม ทางคณะกรรมาธิการเห็นถึงปัญหาของกระบวนการรับฟังความเห็นที่ผ่านมา เช่น ประชาสัมพันธ์ที่สร้างความรับรู้ได้อย่างจำกัด การเผยแพร่ข้อมูลหรือแบบฟอร์มที่ยากต่อการทำความเข้าใจ หรือรูปแบบการจัดเวทีที่ไม่เปิดพื้นที่และจัดสรรเวลาเพียงพอให้กับประชาชนในการแสดงความเห็น

 

แม้ทาง กทม. ได้ประกาศขยายเวลาในการรับฟังความเห็นไปจนถึงสิ้นเเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นเพียงการขยายเวลาการรับเอกสาร ทางคณะกรรมาธิการจึงยังมีความกังวลว่าเท่านั้นอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา จึงได้เชิญ ผู้ว่า กทมฯ บริษัทที่ปรึกษา คณะกรรมการผังเมืองกรุงเทพมหานคร และกรมโยธาธิการและผังเมือง มาร่วมหาทางออกในการประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ สัปดาห์หน้า โดยจะมีการหารือประเด็นเบื้องต้นดังต่อไปนี้

 

1. กทม. มีแผนเชิงรุกหรือจะดำเนินการอย่างไรในห้วงเวลาที่ขยายเพิ่มขึ้นมา เพื่อออกแบบกระบวนการรับฟังความเห็น ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการสร้างความรับรู้และรวบรวมความเห็นให้ครอบคลุม

 

2. กทม. จะหาข้อยุติอย่างไรสำหรับประชาชนในหลายพื้นที่ที่จะถูกผลกระทบโดยตรงจากการขยายถนนและเวนคืนที่ถูกเสนอโดยร่างผังเมืองใหม่

 

3. กทม. มีแผนจะจัดทำ “ผังเมืองเฉพาะ” นอกเหนือจาก “ผังเมืองรวม” หรือไม่ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดผังเมือง รวมถึงรับประกันกลไกการชดเชยความเสียหายที่เป็นธรรมมากขึ้นสำหรับประชาชนที่ถูกลิดรอนสิทธิ

 

4. กทม. จะเปิดเผยรายงานผังเมืองให้สาธารณะหรือไม่ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจถึงหลักเกณฑ์ในการออกแบบ รวมถึงมั่นใจว่าร่างผังเมืองปัจจุบันที่ถูกริเริ่มตั้งแต่ก่อนปี 2562 ได้มีการคำนึงถึงข้อมูลและพฤติกรรมประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (เช่น จำนวนประชากร รถไฟฟ้าสายที่เปิดใหม่ ผลกระทบจากโควิด)

 

5. กทม. ได้มีการรับฟังความเห็นและร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองกับประชาชนตั้งแต่ตอน “ต้นทาง” ของกระบวนการจัดทำร่างผังเมืองเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากขั้นตอนรับฟังความเห็น ณ ปัจจุบันเป็นเสมือนการรับฟังความเห็น “กลางทาง” ที่ความเห็นประชาชนจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญได้ยาก

 

พริษฐ์กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้แสดงความเห็นว่าพร้อมฟังเหตุผลของประชาชน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จึงอยากชวนผู้ว่าฯ ชัชชาติ มาร่วมกันหาทางออกกับผู้แทนราษฎรในสภาฯ เพื่อปรับปรุงกระบวนการที่ต้องไม่เพียงแต่รับฟังความเห็นประชาชนอย่างเดียว แต่นำความเห็นพวกเขามาประกอบการพิจารณาและตัดสินใจในเรื่องผังเมืองที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตชาว กทม. ทุกคน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ผู้ว่ากทม #ผังเมือง