วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2567

“ชูศักดิ์” นำ สส.เพื่อไทย แถลงเหตุยื่นร่างแก้ไขรธน.เพิ่มเติม หวังพึ่งศาลรธน.เหตุ เห็นต่างจากคณะกรรมการฯ ที่รัฐบาลตั้ง

 


“ชูศักดิ์” นำ สส.เพื่อไทย แถลงเหตุยื่นร่างแก้ไขรธน.เพิ่มเติม หวังพึ่งศาลรธน.เหตุ เห็นต่างจากคณะกรรมการฯ ที่รัฐบาลตั้ง


วันนี้ (22 มกราคม 2567) นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และสส.พรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่ง ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) ซึ่งสส.พรรคเพื่อไทย 122 คน ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภาไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา


นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่ยื่นญัตตินี้เนื่องจากคณะกรรมการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งขึ้นตามนโยบายในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้มีการประชุมกันและมีข้อสรุปแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เราทราบว่ามีข้อสรุปว่าควรทำประชามติ 3 ครั้ง


กล่าวคือ ครั้งที่ 1 ถามประชาชนก่อนโดยยังไม่มีญัตติเสนอสภา ว่าสมควรจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือไม่?


ครั้งที่ 2 ถามประชาชนเมื่อมีญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 แล้ว และรัฐสภาอนุมัติในวาระที่ 3 แล้ว


ครั้งที่ 3 ถามประชาชนเมื่อ สสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว


นายชูศักดิ์กล่าวว่า การทำประชามติ 3 ครั้ง คงจะใช้เวลาและงบประมาณพอสมควร เท่าที่ทราบแต่ละครั้งใช้งบประมาณร่วม 4 พันล้าน ทำประชามติ 3 ครั้ง ก็ลองคำนวณดู


คณะทำงานของพรรคเพื่อไทยได้ศึกษาเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน เราเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่บอกว่าเมื่อจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องถามประชาชนเสียก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ การถามประชาชนก่อนยังมีความสับสนไม่ตรงกันว่าถามในช่วงใด ถามในเวลาใด ซึ่งคณะกรรมการก็ตัดสินใจว่าก็ถามก่อนเลยโดยยังไม่มีญัตติ


แต่คณะทำงานของพรรคเพื่อไทยเห็นว่า ถ้าจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 บวกกับการจัดตั้งสสร. แล้วให้สภาพิจารณาเป็น 3 วาระ หลังจากจบวาระที่ 3 แล้ว จึงถามประชาชนใน 2 ประเด็น คือ 1) เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 หรือไม่? 2) ท่านเห็นควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือไม่ โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่เกิด ก็ถือได้ว่าเราปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว คือถามประชาชนก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


ถ้าเป็นไปตามที่คณะทำงานของพรรคเพื่อไทยเห็น ก็จะสรุปได้ว่า จะถามประชาชนเพื่อทำประชามติเพียง 2 ครั้ง ซึ่งจะสามารถย่นระยะเวลาและไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น และคำตอบอยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่พรรคเพื่อไทยเสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่มีเจตนาอื่น นอกจากการหาช่องเพื่อส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งวิธีการดังกล่าว คณะทำงานของพรรคเพื่อไทยคิดว่า ถือเป็นช่องทางที่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ไม่ใช่ประเด็นที่จะขัดกับคำสั่งของ


นอกจากนี้ นายชูศักดิ์ ยังได้กล่าวว่า คณะทำงานของพรรคฯ มีมติว่าจะขอแก้ไขกฎหมายประชามติด้วย ซึ่งขณะนี้ยกร่างเสร็จแล้ว 3 ประเด็น คือ 1) แก้กฎหมายประชามติให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา แต่มีเงื่อนไขว่าเสียงข้างมากนั้นต้องไม่ต่ำกว่าเสียงที่ประสงค์ไม่ลงคะแนน 2) ประชามตินั้นอาจทำไปพร้อม ๆ กันกับการเลือกตั้งทุกระดับ เพื่อประหยัดงบประมาณ และ 3) เสนอให้สามารถนำเทคโนโลยีอื่น เช่น ใช้วิธีการลงประชามติทางไปรษณีย์ได้


นายชูศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การขอแก้ไขกฎหมายประชามตินี้ เตรียมเสนอเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เพื่อให้สส.ของพรรคร่วมลงชื่อก่อนส่งให้ประธานสภาต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เพื่อไทย #ประชามติ #แก้ไขรัฐธรรมนูญ