วันศุกร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2567

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมยื่นหนังสือทำเนียบ 15 ม.ค. นี้ ขอนัดพบนายกฯเศรษฐา หารือแนวทางการทำประชามติ เพื่อหาทางออกจากวิกฤติรัฐธรรมนูญ ปี 2560

 


กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมยื่นหนังสือทำเนียบ 15 ม.ค. นี้ ขอนัดพบนายกฯเศรษฐา หารือแนวทางการทำประชามติ เพื่อหาทางออกจากวิกฤติรัฐธรรมนูญ ปี 2560

 

วันนี้ (12 มกราคม 2567) เวลา 10.00 น. ณ อาคาร All Rise ที่ทำการสำนักงานโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) หรือไอลอว์ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ จัดแถลงข่าว “Con for All ขอเข้าพบนายกฯ”เพื่อเปิดเผยถึงการเตรียมยื่นหนังสือขอเข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ณ ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 15 มกราคม 2567 นี้ เพื่อหารือทางออก และชี้แจงแนวทางในการการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

ทั้งนี้โดยสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 66 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ได้แถลงผลสรุปการทำงานตลอดสามเดือน โดยมีสาระสำคัญว่า จะจัดทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง และการทำประชามติครั้งแรกจะใช้คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ทำให้กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรนูญ มีความรู้สึกผิดหวังและมีความกังวลถึงอนาคตของการทำประชามติที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากการทำประชามติจะเป็น ‘ประตูด่านแรก’ ของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ข้อสรุปของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ กลับไม่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของประชาชนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง และคำถามประชามติที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ เสนอยังมีปัญหาเรื่องความไม่รัดกุม อาจจะเป็นชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองจนนำไปสู่การปิดประตูการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้

 

โดยนายนันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร ตัวแทนจากคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนได้ยื่นเสนอคำถามประชามติไปยังคณะรัฐมนตรีให้จัดออกเสียงประชามติภายใต้เงื่อนไขว่าต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งมีประชาชนร่วมลงชื่อไม่น้อยกว่า 211,904 คน แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ให้ความเห็นชอบกับคำถามดังกล่าว

 

ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการประชามติฯ ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น ได้มีข้อสรุปว่าจะทำประชามติทั้งหมดสามครั้ง โดยการทำประชามติครั้งแรก จะถามเพียงคำถามเดียวแต่มีสองประเด็น คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่า เป็นการถามคำถามที่มีประเด็นซ้อนกัน ประชาชนไม่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนได้

 

ด้าน นายรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวต่อว่า คำถามประชามติของคณะกรรมการประชามติฯ มีลักษณะของการนำเจตจำนงที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาปนกับประเด็นเชิงเนื้อหาภายในรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ใช่เรื่องที่ควรจะพูดคุยกันในขั้นต้นเพราะอาจจะทำให้ผู้ที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือผู้ที่อยากแก้ไขประเด็นใดในหมวด 1 หรือหมวด 2 ออกไปลงคะแนนไม่เห็นชอบจนนำไปสู่การทำประชามติไม่ผ่าน และทำให้รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองตามมา

 

คำถามของ Con For All จึงไม่ใช่เป็นเพียงการเน้นย้ำหลักการเพียงอย่างเดียว แต่คือการสร้างหลักประกันว่าเสียงของประชาชนจะมีผลต่อกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อย่างแท้จริง” นายรัชพงษ์ กล่าว

 

ขณะที่นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ กล่าวว่า หลังจากนี้การตัดสินใจเกี่ยวกับการทำประชามติจะอยู่ในมือของคณะรัฐมนตรี ดังนั้น ทางกลุ่มจึงมีข้อเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ดังนี้

 

1. ขอให้ทบทวนการตั้งคำถามประชามติที่คณะกรรมการประชามติฯ แนะนำ เนื่องจากคำถามนี้มีปัญหาในหบายประเด็นที่อาจจะทำให้การทำประชามติไม่ผ่าน

 

2. ขอให้รับรองคำถามประชามติของ Con For All ที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชน พิจารณาควบคู่ไปกับคำถามของคณะกรรมการประชามติฯ

 

หวังว่ารัฐบาลจะไม่ตีตกความทุ่มเทของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชัดเจน เป็นประชาธิปไตย ตามที่รัฐบาลเคยได้หาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้ง โดยไม่ทำให้คำถามประชามติกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งที่อาจจะทำให้ประชามติครั้งนี้ไม่ผ่านและเลื่อนระยะเวลาการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกไป นางสาวภัสราวลี กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #conforall #ประชามติ #รัฐธรรมนูญใหม่