วันจันทร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2567

“ศุภณัฐ” ชี้ทางเลือกปรับปรุงบันไดเลื่อน-ลิฟต์สถานีหมอชิต 2 แนะ รมช.คมนาคมและผู้บริหาร รับฟังปัญหาจากผู้ใช้บริการโดยตรง ไม่ควรคิดเอง

 


ศุภณัฐ” ชี้ทางเลือกปรับปรุงบันไดเลื่อน-ลิฟต์สถานีหมอชิต 2 แนะ รมช.คมนาคมและผู้บริหาร รับฟังปัญหาจากผู้ใช้บริการโดยตรง ไม่ควรคิดเอง

 

วันนี้ (15 มกราคม 2567) ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ เขต 9 พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นกรณีมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงถึงการปรับปรุงแก้ไขสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ หรือหมอชิต 2 ในส่วนของบันไดเลื่อนและลิฟต์ หลังจากศุภณัฐเคยตรวจสอบพบปัญหาหลายประการในการให้บริการประชาชนเมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา

 

ศุภณัฐกล่าวว่า บันไดเลื่อนโดยทั่วไป ถ้าสร้างมาดีและแข็งแรง จะรับน้ำหนักได้สบาย การอ้างเรื่องคนล้น น้ำหนักเกินนั้นคงไม่ใช่ เพราะตามห้างสรรพสินค้าหรือรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็มีคนใช้มหาศาลแต่ไม่มีปัญหา

 

ส่วนเรื่องลิฟต์ ตนยืนยันว่าจะมีคนใช้งานลิฟต์ถ้าตำแหน่งลิฟท์มีความเหมาะสม แต่ทุกวันนี้ลิฟต์ไปอยู่ภายในอาคาร ส่วนฝั่งชานชาลาไม่มี ประชาชนที่มาใช้บริการลงรถบริเวณหน้าอาคาร จะไปซื้อตั๋วภาคอีสานต้องแบกของขึ้นบันไดไปชั้น 3 เพราะถ้าจะใช้ลิฟต์ ต้องแบกของอ้อมไปในอาคารขายตั๋วเพื่อไปขึ้นลิฟต์ จึงสร้างความลำบาก การออกแบบลิฟต์แบบนี้เหมือนไว้ให้พนักงานและผู้บริหารใช้กันเองมากกว่า

 

ศุภณัฐ กล่าวต่อว่า ตนเคยแนะนำทางเลือกในการปรับปรุงบันไดเลื่อนของสถานีหมอชิต 2 แก่ รมช.คมนาคมทั้ง 2 ท่าน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ว่าถ้าจะไม่เสียเงินปรับปรุงบันไดเลื่อน ก็ให้ลองรวมชั้น 3 กับชั้น 1 เนื่องจากเนื้อที่ชั้น 1 ของอาคารผู้โดยสารค่อนข้างใหญ่ สามารถรวมที่ขายตั๋วของภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางไว้ชั้นเดียวกันได้ เพราะทุกวันนี้ที่ขายตั๋วก็ปิดไปครึ่งหนึ่ง ใช้ไม่เต็มศักยภาพ

 

การรวบชั้นและ 1 และชั้น 3 จะช่วยลดค่าใช้ง่ายในการจัดการ หรือ OPEX (Operational Expenditures) ค่าดูแล ค่าจัดการต่างๆ และลดค่าใช้ในการซื้อหรือบำรุงรักษาอาคารสถานที่ หรือ CAPEX (Capital Expenditures) เพราะไม่มีใครขึ้นไปซื้อตั๋วชั้น 3 และสามารถนำเงินไปปรับปรุงชานชาลาให้ประชาชนนั่งรอ มีแอร์ ไม่ต้องสูดควัน จะดีกว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สิน ซึ่งตนไม่ได้บอกว่าตัวเองถูกต้อง แต่ถ้าไม่ต้องการเสียงบประมาณเพื่อซ่อมบันไดเลื่อนจริงๆ ก็ขอให้ลองพิจารณาข้อเสนอนี้ดู

 

นอกจากนี้ ควรรวบที่ขายตั๋วทุกเจ้าให้อยู่ใต้ บขส. เพื่อจะได้ทราบข้อมูลธุรกรรม (Transaction) จริงของแต่ละบริษัท ใช้เนื้อที่และคนขายตั๋วน้อยลง ประหยัดค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัท รวมถึงป้องกันตั๋วผี เพราะ บขส. ขายเองทุกใบ แล้วค่อยเก็บค่าส่วนแบ่ง (Gross Profit)

 

ผมอยากให้ผู้บริหารลองสัมภาษณ์คนใช้บริการเยอะๆ เราคิดเองไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนใช้บริการ คนใช้เขาจะบอกเองว่าปัญหาคืออะไร ล่าสุดที่คณะกรรมาธิการคมนาคมเดินทางไปสถานีหมอชิต 2 ผู้โดยสารบ่นให้ฟังว่าอาหารไม่ค่อยอร่อย ถ้าเราไม่คุยคงไม่รู้” ศุภณัฐทิ้งท้าย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #กระทรวงคมนาคม #หมอชิต2