วันศุกร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2567

ก้าวไกลหนุนรับหลักการ “ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด” ทั้ง 7 ฉบับ “ภัทรพงษ์” ชี้จุดเด่นร่างก้าวไกล ให้อำนาจ คกก.ตรวจสอบการปล่อยมลพิษตั้งแต่ต้นทาง ยก อบจ.หัวเรือแก้ปัญหาระดับจังหวัด ให้อำนาจฟันโทษผู้ประกอบการทั้งทางแพ่ง-อาญา บวกโทษทางสังคม

 


ก้าวไกลหนุนรับหลักการ “ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด” ทั้ง 7 ฉบับ “ภัทรพงษ์” ชี้จุดเด่นร่างก้าวไกล ให้อำนาจ คกก.ตรวจสอบการปล่อยมลพิษตั้งแต่ต้นทาง ยก อบจ.หัวเรือแก้ปัญหาระดับจังหวัด ให้อำนาจฟันโทษผู้ประกอบการทั้งทางแพ่ง-อาญา บวกโทษทางสังคม

 

วันที่ 11 มกราคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการจัดการอากาศสะอาดจำนวน 7 ฉบับ ซึ่งถูกเสนอโดยคณะรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล และภาคประชาชน โดย ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคก้าวไกล ผู้เสนอ “ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการปล่อยมลพิษข้ามพรมแดน” ของพรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างฯ ก่อนจะเปิดให้สภาฯ อภิปรายร่วมกัน

 

ภัทรพงษ์ระบุว่า อากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ ดังนั้น ประชาชนจึงมีสิทธิในการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่เพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงมีสิทธิในการเข้ารับการตรวจสุขภาพ และได้รับสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพซึ่งเป็นผลกระทบมาจากฝุ่นพิษ PM2.5

 

ภัทรพงษ์อภิปรายถึงเนื้อหาหลักในร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า ร่างของพรรคก้าวไกลกำหนดให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ชุดใหม่ ซึ่งขยายบทบาทหน้าที่มาจากคณะกรรมการฯ ชุดเดิม โดยมีอำนาจในการตรวจสอบรายงานการปล่อยมลพิษทางอากาศของผู้ประกอบการตลอดทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ว่ามีการซื้อวัตถุดิบมาจากแหล่งใด มีวิธีการกำจัดเศษวัสดุอย่างไร มีการปล่อยมลพิษระหว่างการขนส่งและกระบวนการผลิตหรือไม่ ทั้งนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะได้รับการสนับสนุน ตรวจสอบ และเร่งรัดการทำงานโดย “คณะกรรมการกำกับ” ที่ภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีโครงสร้างกรรมการในระดับจังหวัด โดยร่างของพรรคก้าวไกลมีรายละเอียดที่แตกต่างจากร่างอื่น นั่นคือการให้อำนาจนายก อบจ. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นหัวเรือการขับเคลื่อนในระดับจังหวัด ขณะที่ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและข้าราชการส่วนภูมิภาคจะเข้ามานั่งเป็นกรรมการ กรรมการในระดับจังหวัดจะมีอำนาจประกาศเขตฝุ่นพิษอันตราย มีอำนาจสั่งห้ามกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดฝุ่นพิษเพิ่มเติม และให้ท้องถิ่นสามารถจัดสรรงบประมาณในการออกมาตรการรับมือ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษได้

 

ในด้านบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ภัทรพงษ์ระบุว่า ร่างของพรรคก้าวไกลเล็งเห็นความสำคัญในการลดความทับซ้อนของกฎหมาย โดยข้อกฎหมายที่เคยมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายมลพิษทางอากาศ ยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ จะไม่หยิบเข้ามาซ้ำซ้อนในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่จะให้อำนาจคณะกรรมการกำกับในการเรียกหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาชี้แจงผลการดำเนินงานในทุกปี และหากหน่วยงานต่าง ๆ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ คณะกรรมการกำกับมีอำนาจแทรกแซงและแก้ไขแนวทางการดำเนินการได้

 

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังบังคับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดสรรงบประมาณในการดำเนินมาตรการสร้างแรงจูงใจลดการเผาในภาคเกษตร และกำหนดให้การมอบหมายหน้าที่เป็นไปตามความเหมาะสมของหน่วยงาน เช่น การเจรจาเรื่องฝุ่นพิษข้ามพรมแดนให้เป็นหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ การพยากรณ์ค่าคุณภาพอากาศล่วงหน้าให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงอุดมศึกษาฯ และกระทรวงดิจิทัลฯ การแจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นต้น อีกทั้งยังบังคับให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องรายงานผลการดำเนินการ แผนงาน และผลลัพธ์ทั้งหมดแก่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินำเสนอรายงานนี้แก่สภาผู้แทนราษฎรในทุก ๆ ปีด้วย

 

นอกจากนี้ ภัทรพงษ์กล่าวว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีมาตรการบังคับที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดน โดยกำหนดห้ามนำเข้าสินค้าที่มีที่มาจากการเผาทุกชนิด และมีโทษบังคับใช้กับผู้ที่เป็นเจ้าของ ครอบครอง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีส่วนส่งเสริมหรือสนับสนุนการกระทำที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษในประเทศไทยจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ

 

ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำให้สามารถเชื่อมโยงผู้กระทำผิดไปถึงบทลงโทษได้ ก็คือรายงานผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยมลพิษ ซึ่งนอกจากโทษทางแพ่งและทางอาญาแล้ว ยังต้องมีบทลงโทษทางสังคม โดยผู้ประกอบการหรือองค์กรที่หากได้รับการพิจารณาแล้วว่าเป็นต้นตอของการปล่อยฝุ่นพิษ จะต้องได้รับการเปิดเผยรายชื่อสู่สาธารณะทั้งหมด ส่วนเงินค่าปรับจากการลงโทษนั้น จะให้เข้าสู่กองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อใช้ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ส่งเสริมงานวิจัย และการทำงานภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ต่อไป

 

หลังการนำเสนอหลักการและเหตุผลจบลง ได้มีการอภิปรายต่อเนื่องโดย สส.จากทั้งฟากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยในส่วนของพรรคก้าวไกล ได้มีผู้อภิปรายเพิ่มเติมหลายคน โดยทั้งหมดต่างสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ โดยย้ำว่าแม้จะมีข้อแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ก็เป็นประเด็นที่สามารถนำไปแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการได้

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังเหลือ สส.ที่ต้องอภิปรายอีกหลายคน ประธานสภาฯ จึงสั่งให้นำร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับไปพิจารณาและลงมติต่อในการประชุมสัปดาห์หน้า

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #PM25 #ก้าวไกล