“ชัยธวัช” ตั้งกระทู้ถามสดรัฐบาล ให้ทวนคำถามประชามติ ไม่แตะหมวด 1-
2 ไร้คำถามสสร. หวั่นเป็นการวางยาจนแก้ รธน.ไม่ได้
ถามยังจับกุมคุมขังประชาชนคดีการเมืองแม้เปลี่ยนรัฐบาล เทียบชั้น 14 สองมาตรฐานหรือไม่ “ภูมิธรรม” แจง ชั้น 14 ป่วยจริง
ชี้ กม.ใหม่ ออกตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ไม่ได้สร้างมาเพื่อใครเท่านั้น
วันที่
11 มกราคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชัยธวัช
ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้าน
ตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีถึงการดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาทางการเมือง ในกรณีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
และนโยบายการฟื้นฟูระบบนิติรัฐที่เข้มแข็ง
ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ภูมิธรรม เวชยชัย
มาเป็นผู้ตอบคำถามแทน
โดยในกรณีเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ชัยธวัชอภิปรายว่ามาจนถึงตอนนี้
คณะกรรมการศึกษาการทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของรัฐบาล ได้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม
2566 ที่ผ่านมา
ว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีจัดทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ โดยครั้งแรกในสามครั้ง
จะถามคำถามเพียงว่า
ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่มีการแก้ไขหมวด 1
และหมวด 2
พรรคก้าวไกลสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยกระบวนการตั้ง
สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และที่ผ่านมาไม่เคยมีข้อเสนอใดๆ
ที่จะให้มีการแก้ไขหมวด 1
หรือหมวด 2 แต่คำถามที่คณะกรรมการศึกษาฯ
กำลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา มีปัญหาต้องท้วงติงกล่าวคือ
1)
คำถามประชามติที่คณะกรรมการศึกษาเสนอนั้น
ขัดต่อหลักการสำคัญที่ว่าประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ
เนื่องจากมีการระบุข้อยกเว้นว่าจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็ได้ แต่ห้ามทำใหม่ทั้งฉบับ
คำถามคือตกลงในสังคมไทย ผู้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับจะมีเพียงคณะรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญตามใจชอบอย่างนั้นหรือ
2)
พรรคก้าวไกลคาดหวังว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในครั้งนี้จะทำให้สังคมไทยที่มีความคิดเห็นแตกต่างขัดแย้งกันมาสิบกว่าปี
สามารถแสวงหาฉันมามติใหม่ร่วมกันได้ผ่านเวทีการจัดทำรัฐธรรมนูญ
และเราไม่เชื่อว่าจะมีความคิดเห็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่ฝ่ายเดียว
ไม่มีใครจะได้อย่างที่ตัวเองต้องการทั้งหมด
แต่การตั้งคำถามประชามติบแบบนี้จะส่งผลให้ประชาชนที่มีความเห็นไม่ตรงกัน
บางส่วนรู้สึกถูกกีดกันออกจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่วันแรก
เราจะสูญเสียโอกาสในการหาฉันทามติใหม่ด้วยคำถามแบบนี้
3)
คำถามประชามติแบบนี้มีปัญหา
เพราะเป็นคำถามที่กังวลมากเกินไปจนอาจไปสร้างปัญหาใหม่โดยไม่จำเป็นขึ้นมา
เนื้อหาในรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 มีการเปลี่ยนแปลงเสมอเมื่อมีการทำรัฐธรรมนูญใหม่
ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
แต่ไม่นานมานี้มีความพยายามสร้างความกลัวและความเข้าใจผิดทางการเมือง
ว่าการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เป็นเรื่องอันตราย
จะไปกระทบกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ทั้งที่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันก็มีข้อจำกัดชัดเจนอยู่แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและรูปแบบของรัฐไม่ได้อยู่แล้ว
นอกจากนี้
ยังอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในเชิงเทคนิคเชิงกฎหมาย
เนื่องจากรัฐธรรมนูญในแต่ละหมวดโยงใยสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
การยกร่างใหม่เกือบทุกหมวดแล้วล็อกไม่ให้แก้ไขในหมวดใดหมวดหนึ่งอาจทำให้เกิดปัญหา
เช่น ในกรณีที่ สสร. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ยกเลิกวุฒิสภา หากปรากฏว่าถ้ามีข้อความใดข้อความหนึ่งที่พูดถึงวุฒิสภาในหมวด
1 และหมวด 2 จะไปตัดข้อความออกในหมวด 1 และหมวด 2 นั้นได้หรือไม่
เช่นเดียวกับปัญหาทางการเมือง
เช่น จากประสบการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ในการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 หลังผ่านประชามติไปแล้ว
ปรากฏว่ารัฐบาลในขณะนั้นแจ้งว่ามีพระราชประสงค์แก้ไขหมวด 1 และหมวด
2 คำถามคือถ้าในอนาคตมีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีกรัฐบาลจะทำอย่างไรในเมื่อล็อกไปแล้ว
4)
ในคำถามที่จะทำประชามตินี้
ไม่มีการระบุว่าจะให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร.
ซึ่งรัฐบาลได้ให้เหตุผลว่าการเสนอคำถาม สสร.
อาจจะถูกนำไปตีความว่าจะกลายเป็นการจัดทำประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
แม้ตนจะพยายามเข้าใจเหตุผล แต่ก็อยากให้รัฐบาลพิจารณาผลด้านกลับของมันด้วย
เพราะอาจกลายเป็นการวางยาให้ตัวเอง
ชัยธวัชกล่าวว่า
สุดท้ายการตั้งคำถามประชามติที่ตั้งเงื่อนไขไว้อย่างไม่มีเหตุผลเช่นนี้
อาจทำให้ประชามติผ่านยากขึ้น
เพราะเป็นคำถามที่แทนที่จะแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างให้มากที่สุด
กลับจะทำให้เสียงแตกและกลายเป็นการวางยาตัวเอง
เป็นการตั้งคำถามด้วยความรู้สึกจงรักภักดีแบบล้นเกิน
อาจทำให้การถกเถียงที่แทนที่จะเถียงกันว่าควรจะมีรัฐธรรมนูญใหม่แทนหรือไม่
กลับจะกลายเป็นการถกเถียงกันในประเด็นว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขหมวด 1 และหมวด
2 หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ตนจึงอยากให้รัฐบาลคิดถึงผลด้านกลับของคำถามแบบนี้
และขอถามว่ารัฐบาลจะมีการทบทวนข้อเสนอคำถามประชามติครั้งที่ 1 ของคณะกรรมการศึกษาฯ หรือไม่
โดยในส่วนของภูมิธรรม
ได้ตอบคำถามกรณีรัฐธรรมนูญ
โดยระบุว่าสิ่งที่ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวมาเป็นมุมมองต่อความขัดแย้งที่มีแตกต่างกัน
รัฐธรรมนูญ 60
ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นก็จริง
แต่จากที่ผ่านมาขณะที่ทั้งสองพรรคเป็นฝ่ายค้านด้วยกัน
ได้มีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหลายครั้งและด้วยทุกวิธี
ก็ปรากฏว่าไม่อาจผ่านได้ทุกครั้ง
จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้
โดยเฉพาะในกรณีของการแก้ไขหมวด
1 และหมวด 2 ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ปรากฏว่าทุกพรรคยกเว้นพรรคก้าวไกลล้วนไม่อยากให้มีการแก้ไขหมวด
1 หมวด 2 เมื่อคณะกรรมการศึกษาฯ
ไปสอบถามทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนในทั้ง 4 ภาค
ก็ออกมามีความเห็นเหมือนกันว่าไม่เอาหมวด 1 และหมวด 2
ทั้งนี้
กระบวนการวันนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนของรัฐบาล ยังคงเป็นขั้นตอนในคณะกรรมการศึกษาฯ
ที่เสียงส่วนใหญ่พิจารณารับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาแล้ว
ยืนยันไม่เอาการแก้ไขหมวด 1
และหมวด 2 แต่อย่างไรก็ตามจะมีการบันทึกความคิดเห็นที่แตกต่างนี้ไว้
สำนักนายกรัฐมนตรีกำลังรวบรวมข้อสรุป และจะพยายามให้เสร็จภายในเดือนมกราคมนี้
ส่วนเรื่อง
สสร. ที่ไม่ตั้งคำถามในครั้งแรก ก็เพราะคณะกรรมการศึกษาฯ อยากให้คำถามมีความชัดเจน
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญบอกชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญ 60 มาจากประชามติของประชาชน
ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ขอให้ไปหารือกับประชาชนก่อน
ถึงได้เอาคำถามเดียวเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น สสร. ยังเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง
ยังไม่จำเป็นต้องสร้างความสับสนในตอนนี้ ไม่ได้มีเจตนาเป็นอื่นแต่อย่างไร
ทางด้านชัยธวัช
ได้ถามต่อในประเด็นที่สอง เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลในการฟื้นฟูหลักนิติรัฐที่เข้มแข็ง
โดยระบุว่าสถานการณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่ก่อนและหลังการมีรัฐบาลชุดใหม่แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย
และในปี 2566
ยังเป็นปีที่มีผู้ถูกคุมขังจากคดีทางการเมืองสูงสุดถึง 56 คน เทียบกับปี 2565 คือ 46 คน
แม้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลใหม่เข้ามา
แต่หลังจากมีรัฐบาลใหม่แล้วก็ยังคงมีการดำเนินคดีทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นอีก
เฉพาะคดีที่เกี่ยวกับ ม.112 เพิ่มขึ้น 9 คดี มีผู้ต้องหาบางรายไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว
สถานการณ์การพิจารณาให้ประกันตัวก็ยังมีหลักเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนแน่นอน
นอกจากคดีทางการเมืองแล้ว
การคุกคามทางการเมืองก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว
ยังคงมีนักศึกษาและประชาชนที่ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเหมือนเดิม
มีการกดดันคุกคามถึงที่พักและที่ทำงาน ถูกสอดแนมในรูปแบบต่างๆ เวลามีบุคคลสำคัญลงพื้นที่
ก็ถูกจับตา ถูกเฝ้าระวัง หรือขอให้ออกจากพื้นที่
ควบคุมตัวชั่วคราวโดยผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีประชาชนถูกคุกคามแบบนี้ไม่น้อยกว่า
203 กรณี เป็นกรณีที่เกิดขึ้นหลังมีนายกรัฐมนตรีใหม่แล้ว 70
กรณี
ชัยธวัชกล่าวต่อไป
ว่าขณะที่สถานการณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีทางการเมืองไม่มีความเปลี่ยนแปลง
ความรู้สึกถึงกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานกลับรุนแรงมากขึ้น
จากกรณีที่มีบุคคลที่ได้รับสิทธิในการรักษาตัวนอกเรือนจำบนชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ
ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับกรณีนักโทษอื่นๆ
ปรากฏว่ายากมากที่จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม
ต้องเป็นกรณีที่เจ็บป่วยร้ายแรงเท่านั้นถึงจะได้รับสิทธิ
“สุดท้าย
สิ่งที่เกิดขึ้นตอกย้ำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเสมอภาคเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรม
รัฐบาลอาจบอกว่าถูกตามระเบียบ แต่ตอนนี้มีผู้ต้องขังได้รับสิทธิรักษาเกิน 120
วันอยู่เพียง 3 คนเท่านั้น” ชัยธวัชกล่าว
ต่อคำถามดังกล่าว
ภูมิธรรมได้ชี้แจงว่าในส่วนของคดีที่ประชาชนหรือนักศึกษาถูกใช้อำนาจไม่ถูกต้อง
รัฐบาลก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการคุกคาม ควบคุมตัว หรือทำให้เกิดความหวาดกลัว
แต่ขณะที่ยังมีกฎหมายอยู่ทุกคนก็ต้องเคารพกฎหมาย
และเจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย หากมีกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมก็ต้องเข้าสู่กระบวนการแก้ไขให้เรียบร้อย
ถ้ามีกฎหมายอยู่แล้วไม่ปฏิบัติก็จะเกิดปัญหาตามมากับเจ้าหน้าที่
ตนจึงขอเชิญชวนว่าอะไรที่เป็นกฎหมายอยู่ก็อย่าเพิ่งไปท้าทายหรือทำอะไรที่ผิด
แต่ถ้าเป็นประเด็นทางการเมืองก็ยังมีวิธีหารือหรือจับมือคุยกัน
หาช่องทางแก้ไขร่วมกันได้ในหลายๆ กรณี
ใช้กระบวนการเสวนาสร้างความเข้าใจกันด้วยสันติ
ถ้าเป็นปัญหาในระดับกฎหมายก็แก้กฎหมาย ถ้าเป็นปัญหาทางปฏิบัติก็มาดูหาทางออกกัน
ถ้ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายจากฝ่ายไหนก็ทำไม่ได้ทั้งนั้น
รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้การจัดการที่ผิดถูกต้องที่สุด กรณีที่มีหลักฐานก็ขอให้นำมา
กรณีที่ไม่มีหลักฐานก็ต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก
ส่วนกรณีชั้น
14 ภูมิธรรมชี้แจงว่าท่านไม่ได้ทำความเข้าใจในรายละเอียดของกฎหมายที่ออกมาให้ชัดเจน
กฎหมายนี้ออกมาเพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ได้เกิดในสมัยรัฐบาลเพื่อไทย
เกิดมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว ที่เล็งเห็นว่าผู้ต้องขังในเรือนจำล้นจริงๆ
จึงพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้เป็นไปตามหลักสากล
ให้มีกฎหมายขยายให้บุคคลที่เจ็บป่วยหรือใกล้พ้นวาระและปฏิบัติตัวดีสามารถใช้ชีวิตข้างนอกเรือนจำได้
พรรคเพื่อไทยไม่ได้สร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อดูแลใคร
และมีกระบวนการยุติธรรมบังคับอยู่แล้ว
อย่าเอาเรื่องที่เป็นกระบวนการปกติมาโยนใส่รัฐบาลให้เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาคกัน